ชื่อหนังสืออาจจะแปลกหู “ละโลก” ไม่ต้องมีคำอธิบาย แต่ท่านผู้อ่านอาจไม่คุ้นกับคำว่า “โบกธรรม” แต่อาตมาคิดว่าวลีนี้สรุปสะท้อนสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะแบ่งปันในหนังสือเล่มนี้ได้ดีทีเดียว
ราชบัณฑิตยสภาอธิบายคำว่า โบก มี 2 ความหมายความหมายหนึ่ง คือ ฉาบให้เรียบ เช่น ผนังตึกมีรอยแยก ต้องจ้างช่างมาโบกปูน และอีกความหมายหนึ่งคือ เคลื่อนไหวไปมาตามกระแส เช่น ธงโบกพริ้วตามกระแสลม มนุษย์เรามีทางเลือกหลักสองทางในความสัมพันธ์และการสนองตอบต่อธรรมชาติเช่นกันเราจะเลือกไม่ยอมรับสัจธรรมว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีความเสื่อมเป็นธรรมดา “โบกธรรม” ด้วยการไม่ยอมรับความจริง ฝืนปกปิดภาวะธรรมชาติอย่างฉาบฉวย เรียบเนียน ซ่อนความไม่สมบูรณ์แบบ เหมือนโบกฉาบปูน หรือจะเลือกยอมรับว่า สรรพสิ่งล้วนไม่แน่นอน ทนอยู่ได้ยาก ไม่อยู่ในความควบคุมของเรา แล้วเคลื่อนไหวตามจังหวะจะโคนชีวิต โบกโบยในกระแสธรรมอย่างปล่อยวางเหมือนปลาว่ายน้ำสุขอิสระ โบกหางไปมาในกระแสธารหนังสือเล่มนี้เป็นประสบการณ์และมุมมองของภิกขุบวชใหม่ผู้ใฝ่รู้และมีความมุ่งมั่นศรัทธาในพระธรรมวินัย ทว่าด้อยความรู้และอ่อนประสบการณ์ หวังว่าผู้อ่านจะได้คุณค่าประโยชน์จากธรรมทานนี้
ผู้เขียนขอถวายคุณงามความดีทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นสักการะแด่พระศรีรัตนตรัย ขอร่วมอนุโมทนากับทุกท่านที่มีส่วนช่วยให้หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้น หากผู้เขียนเข้าใจไม่ตรง ขอผู้รู้โปรดช่วยอธิบายชี้แนะ ถ้ามีข้อผิดพลาด บกพร่อง ประการใด ผู้เขียนขออภัยอย่างจริงใจและน้อมรับมาปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น