จะนั่งอยู่ในปากงูอย่างไร จึงจะไม่ถูกกับเขี้ยวงู
ให้ใช้หัวใจของพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง เพียงพอ ทันควัน
อยู่อย่างเห็นและมี หรือ อยู่กับพระพุทธองค์อยู่เสมอ เมื่อจะทำ พูด คิดอะไร ก็สามารถทูลถามเสียก่อนได้เสมอ
เห็นพระพุทธเจ้าก็คือเห็นปฏิจจสมุปบาท วิทยาศาสตร์กี่โลก ๆ ก็ไม่ดีไม่เหนือไปกว่าวิทยาศาสตร์เรื่องอิทัปปัจจยตา เพราะไม่มีอะไรที่ไม่เป็นไปตามหลักนี้ ทุกประเด็นในพระไตรปิฎกกว่าตั้ง ๘๔๐๐๐ ประเด็น ทั้งหมดนั้นก็ไม่มีอะไร นอกจากเรื่องที่เกี่ยวกับอิทัปปัจจยตา แม้แต่การบรรลุนิพพาน ก็ต้องมีการปฏิบัติไปโดยลำดับ ๆ ตามอิทัปปัจจยตาที่ก้าวหน้าไปในทางที่ถูกต้อง
ความเป็นวิทยาศาสตร์ของพระพุทธศาสนานั้น มันมีเรื่องตัวจริงของจริง เช่น ความทุกข์มีอยู่จริง เหตุให้เกิดทุกข์มีอยู่จริง ดับทุกข์ได้จริง มีวิธีการดับทุกข์อย่างไร เป็นเรื่องอิทัปปัจจยตาของการปฏิบัติ ไม่ใช่ทฤษฎีที่มักท่องกันได้ทุกคน ร่างกายนี้มันเหมือนกับห้องทดลอง มันมีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ทันควัน ปฏิบัติให้ได้ผลที่ต้องการ การศึกษาต้องศึกษาจากของจริง
เมื่อเรารู้เรื่องอิทัปปัจจยตา มันก็ไม่ยากที่จะเอาพระพุทธองค์จริงมาใส่ไว้ในจิตของเราได้ ให้สมกับคำว่า เห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต เขาเรียกว่ามีพระพุทธองค์อยู่ภายใน อยู่กับเรา เหมือนกับว่าเป็นผู้คุ้มครองได้ หรือตอบปัญหาทุกอย่างที่เราจะถาม
ทำให้เราเห็นโลกแตกต่างจากคนทั่วไป คนทั้งโลกมันเห็นไม่ถูกต้อง เมื่อเราเห็นผิดจากคนทั้งโลก นั่นแหละคือถูกต้อง จากที่คนทั้งโลกเห็นของที่ไม่เที่ยงว่ามันเที่ยง ของที่ไม่ใช่สุขว่าสุข ไม่ใช่ตัวตนว่าตัวตน ไม่น่ารักว่าควรรัก
สรุปความสำคัญของการเห็นว่า สพฺเพ ธฺมมา นาลํ อภินิเวสาย สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น
ที่มา : ธรรมเทศนาล้ออายุ ปี พ.ศ. 2519 เรื่อง โลกวิปริต