เพื่อน้อมรำลึกอุทิศถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
และในวาระโอกาสที่ยูเนสโก (UNESCO) ได้ยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส บูรพาจารย์แห่งวัดบวรนิเวศฯ และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์แห่งวัดป่า เป็นบุคคลสำคัญของโลก
.
กำหนดการ
๐๘.๔๕ น. ต้อนรับผู้เข้าร่วมศาสนพิธีผ่านทางออนไลน์
๐๙.๐๐ น. สวดมนต์ ทำวัตรเช้า (แปล) และสมาธิภาวนาร่วมกัน
........................
๐๙.๓๐ น. กล่าวบูชาพระรัตนตรัย ไตรสรณคมน์ สมาทานศีล ๕
๐๙.๔๐ น. ปรารภธรรม โดย พระราชวชิรธรรมาจารย์ (สุธรรม สุธัมโม) เจ้าอาวาสวัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) จ.อุดรธานี
๑๐.๒๐ น. ร่วมถวายสังฆทาน และรับพรจากคณะสงฆ์
๑๐.๓๐ น. บูชาพระรัตนตรัย กราบลาคณะสงฆ์
.........................
ปรารภธรรม โดย พระราชวชิรธรรมาจารย์ (สุธรรม สุธัมโม) เจ้าอาวาสวัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) จ.อุดรธานี
เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๖๔
[วาระนี้-วันนี้-ปีนี้]
- วันนี้ (๓ ตุลาคม ๖๔) นับว่าเป็นวันสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพวกเราชาวพุทธไทย เพราะวันนี้ตรงกับวันประสูติของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
- และปีนี้ (๒๕๖๓-๒๕๖๔) ก็นับว่าเป็นที่น่าปีติภูมิใจของชาวพุทธไทย เพราะองค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่อง พระภิกษุไทยเป็นบุคคลสำคัญของโลก ๒ องค์ คือ ๑. สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ๒. หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
[ทำไมยูเนสโกยกย่องพระสงฆ์ไทย ๒ องค์นี้]
- ก็เพราะพระสององค์นี้ได้สร้างประโยชน์ให้โลกเกิดความร่มเย็น กล่าวคือ
๑. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
- เมื่อท่านอุปสมบทเข้ามาในพระพุทธศาสนา ท่านตั้งใจศึกษาตำราพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
- ต้องยอมรับว่าพุทธศาสนาในยุคนั้นย่อหย่อน ความรู้ความเข้าใจจืดจาง นับเนื่องสมัยอยุธยาที่เกิดสงคราม วัดและตำรับตำราถูกทำลาย พุทธศาสนาไทยตอนนั้นเรียกได้ว่าแทบจะเหลือแต่ประเพณี บวชกันตามประเพณี อยู่กันตามประเพณี ทำกันอย่างสักแต่ว่า ไม่ได้มีความเข้าใจอะไรนัก
- สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ท่านขวนขวายศึกษา ค้นคว้า รื้อฟื้นความรู้ เรียบเรียงตำรับตำราส่งเสริมการศึกษาแก่หมู่ภิกษุสงฆ์ ท่านทำไว้มาก มากมายก่ายกอง จนแม้ภิกษุสงฆ์ทุกวันนี้ก็ยังใช้ตำราเหล่านั้นศึกษา ชั้นนักธรรม ตรี โท เอก เปรียญธรรมต่างๆ ล้วนแต่เป็นอานิสงส์จากงานที่สมเด็จพระมาหสมณเจ้าฯ องค์นี้ทำไว้ด้วยความพากเพียร
- ครูบาอาจารย์ในยุคของพวกเราก็ได้อาศัยร่ำเรียนมาจากตำราเหล่านั้นเช่นกัน จึงนับว่าท่านสร้างประโยชน์แก่พระพุทธศาสนามากมหาศาล ด้วยเหตุนี้องค์การสหประชาติเห็นคุณค่าจึงยกย่องท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก
๒. หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
- แต่เก่าก่อน ความคิดมุ่งมั่นอบรมใจเพื่อมรรคผลนิพพานนั้นแทบไม่มี มรรคผลนิพพานพระอรหันต์คล้ายเป็นเรื่องที่มีแต่ในตำรา เหมือนนิทานปรัมปรา ผู้คนมองพุทธศาสนาเหมือนพิธีกรรม
- เมื่อแรกบวช หลวงปู่มั่นก็มุ่งศึกษาปริยัติธรรม จนความรู้แจ่มแจ้งในธรรมวินัย แล้วท่านก็ตระหนักว่าความรู้การจดจำนั้นไม่เที่ยง จะหนักแน่นมั่นคงได้ต้องนำมาประพฤติปฏิบัติ
- จึงพิจารณาถึงสถานที่สำหรับประพฤติปฏิบัติ พิจารณาถึงคำของพุทธองค์ ที่ว่า “รุกขมูล ร่มไม้ ชายป่า เงื้อม ถ้ำ ป่ารกชัฏ เหมาะสำหรับประพฤติปฏิบัติ เป็นสถานที่ไม่คลุกคลีด้วยผู้คน กิจการงาน เป็นสถานที่ที่บุคคลทั่วไปไม่แสวงหา ไม่ต้องการ แต่ที่นั้นเหมาะสมกับเธอ ที่จะอยู่อาศัย จะชำระใจได้” จึงตกลงใจกับป่า มุ่งสู่ป่า
- หลวงปู่มั่นบอกว่า “ป่าคือมหาวิทยาลัยธรรมะ” ชั่วชีวิตของท่านจึงอยู่แต่กับป่าเขา หลบหลีกจากผู้คน
- ท่านประพฤติปฏิบัติ ชำระจิดใจ จนหายสงสัย ถึงที่สุด จึงยอมรับสานุศิษย์
- เมื่อจะรับสานุศิษย์ก็พิจารณาว่า วัยของท่านนั้นมาก มีเวลาน้อยแล้ว หากเกี่ยวข้องสะเปะสะปะจะได้ประโยชน์น้อย จึงลงใจว่า ต้องรีบเร่งฝึกพระ หากสร้างพระขึ้นมาได้ พระเหล่านั้นก็จะไปสร้างประโยชน์แก่ผู้คน
- ชั่วชีวิตท่านจึงอยู่ป่า มุ่งสอนภิกษุ ไม่ได้มุ่งเน้นอบรมอุบาสกอุบาสิกา
- หลวงปู่มั่นเป็นครูของครู คือท่านมุ่งแต่สร้างศิษย์ สร้างพระแท้ ไม่คำนึงถึงความสะดวกสบายของตัว ทั้งๆ ที่มีผู้คนศรัทธาท่านมาก อยากอุปัฏฐาก อยากให้ท่านไปอยู่ที่สะดวกสบาย แม้ชราแล้ว ท่านก็ไม่ไป ยอมอยู่ในถิ่นทุรกันดานเพื่ออบรมสั่งสอนศิษย์
- ที่อยู่ของหลวงปู่มั่นคือถ้ำผาป่าดอยที่ซึ่งเข้าถึงได้ยาก ท่านใช้ความลำบากคัดเลือกคน ความลำบากในการเดินทาง ความทุกข์ยากในการเป็นการอยู่การใช้ชีวิต เหล่านี้เป็นเหมือนข้อสอบคัดเลือก
- ผู้ที่จะเข้าถึงท่านได้ ต้องหนักแน่น มั่นคง อดทน ตั้งใจจริง ยอมฝ่าเป็นฝ่าตาย สละเป็นสละตาย ผู้ที่จะอยู่กับท่านได้ ต้องสละความสะดวกสบาย คงไว้แต่ความสะดวกในการปฏิบัติธรรม ฉะนั้นผู้ที่เข้าถึงและอยู่ศึกษากับท่านได้จึงเรียกว่าเป็นชั้นหัวกะทิ
- หลวงปู่มั่นก็อุทิศเวลาอบรมสั่งสอนศิษย์เหล่านั้น อย่างเอาจริงเอาจัง ไม่คำนึงถึงความสะดวกสบายขององค์เองเลย ครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นพูดตรงกันว่าอยู่กับท่านตลอด ๒๔ ชั่วโมง เผลอไม่ได้ ประมาทนอนใจไม่ได้ ต้องมีสติกำกับเสมอ ต้องระมัดระวังตลอดเวลา
- การมีสติตลอดเวลา ทำให้อยู่ในแวดล้อมของธรรม มีการควบคุมไม่ให้จิตมันแตกออกนอกวงธรรมะ ฉะนั้นศิษย์ของหลวงปู่มั่นจึงได้ดิบได้ดี กลายเป็นครูบาอาจารย์ผู้ทรงอรรถทรงธรรม ฉลาดรอบรู้ในธรรม อบรมพระอบรมญาติโยมได้อย่างดี สร้างประโยชน์แก่พุทธศาสนาและสังคมมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์สำคัญคือ องค์หลวงตามหาบัว
[หลวงตามหาบัว]
- หลวงตามหาบัวเป็นที่ยอมรับของพระทั้งหลายว่ามีจริตนิสัยคล้ายองค์หลวงปู่มั่นมากที่สุด
- เมื่อแรกบวช องค์หลวงตาได้ศึกษาปริยัติธรรม เมื่อสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค มีความรู้พอประมาณท่านก็มุ่งหน้าหาครูอาจารย์ ท่านลงใจที่จะไปศึกษากับหลวงปู่มั่น จึงดั้นด้นไปหา ...
- หลวงตามหาบัวได้พบหลวงปู่มั่นที่หนองผือนาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร และเคยเล่าให้ฟังถึงช่วงศึกษากับหลวงปู่มั่นที่หนองผือนาในว่า ทางเดินจงกรมที่นั่นตอน ตี๑ ตี๒ มีเสือเดินผ่าน, อาหารบิณฑบาตบางทีได้แต่ข้าวเหนียว ครั้งหนึ่งพระ ๕ รูปได้ข้าวเหนียวและกล้วยมา ๒ ลูก เอามาตัดแบ่งกันกิน อยู่กันมาอย่างนั้น
- หลวงตามหาบัว มีความมุ่งมั่นในการศึกษาปฏิบัติมาก เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของหลวงปู่มั่น เรียกได้ว่าเป็นผู้อุปัฏฐากใกล้ชิด ช่วยดูแลพระเณรกิจการงานในวัด จนท่านก็ได้รับความเคารพเป็นที่ยอมรับในหมู่ศิษย์สายปฏิบัติทั้งหลาย
[หลวงตามหาบัว และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร]
- สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร และหลวงตามหาบัว บวชปีเดียวกัน ทั้งสองสนิทสนมสมาคมกันมาตั้งแต่เป็นพระผู้น้อยจนเป็นพระผู้ใหญ่
- เมื่อกรมหลวงวชิรญาณสังวรได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และหลวงตามหาบัวมาตั้งวัดป่าบ้านตาด ทั้งสององค์ก็ยังไปมาหาสู่ เวลาที่หลวงตามหาบัวลงไปกรุงเทพก็จะไปพักที่วัดบวรฯ และเวลาที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวรมาอีสานก็จะพักที่วัดป่าบ้านตาด
- ทั้งสององค์ต่างเป็นพระที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเอกอุในด้านปริยัติธรรม แต่ทั้งสององค์ก็ไม่นอนใจในปริยัติธรรม ท่านนำมาปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง
[สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร]
- แม้สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร จะมีภาระหน้าที่ในฝ่ายปกครองมาก ท่านก็ยังหาโอกาสปลีกเวลามาพบครูบาอาจารย์และประพฤติปฏิบัติเสมอ
- พ.ศ. ๒๕๑๓ หลวงพ่อบวชใหม่ๆ ไปอยู่กับหลวงปู่แหวน จำพรรษากับหลวงปู่สิม สมัยนั้นสมเด็จพระสังฆราชยังเป็นพระสาสนโสภณ ก็ได้เห็นสมเด็จพระสังฆราชไปพบครูบาอาจารย์ตลอด หลวงพ่อได้เกี่ยวข้องกับท่าน ก็เพราะได้พบท่านตั้งแต่ยังเป็นพระใหม่ๆ
- ครูบาอาจารย์ทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนแต่น่าเคารพ มองไปยามใดท่านก็มีความสำรวม มีความสวยงามในข้ออรรถข้อธรรม สมกับธรรมที่พระผู้มีพระภาคกล่าวว่า ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรรมนั้นล้วนมีความงามทั้งเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ความงามของอรรถของธรรมเป็นเครื่องเพาะปลูกศรัทธา ใครได้พบเห็นก็เกิดความเลื่อมใส แม้ผู้ไม่มีศรัทธา ได้พบเห็นก็ยังให้เกิดศรัทธาได้ ผู้มีศรัทธาอยู่เดิมเมื่อได้พบก็เพิ่มพูนศรัทธายิ่งๆ ขึ้น
- การประพฤติปฏิบัติทางนี้ ล้วนแต่นำความสุขความอบอุ่นร่มเย็นมาสู่ผู้ปฏิบัติทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในป่า ในเมือง ขอเพียงอยู่ที่ไหนก็ให้มีจิตมีใจอยู่ด้วย เพียงมีจิตมีใจอยู่ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็อบรมจิตอบรมใจได้
- แม้พุทธศาสนิกชนไม่มีโอกาสไปอยู่ป่าอย่างผู้ทรงอรรถทรงธรรม แต่ก็อบรมจิตอบรมใจได้ เราอยู่สภาพไหน ก็หาโอกาสอบรมจิตใจ อยู่ที่ไหนก็อบรมใจได้ด้วยกันทั้งนั้น
[ยูเนสโกเห็นแล้ว เราเห็นหรือยัง]
- ชาวต่างชาติ (ยูเนสโก) อยู่ไกลยังรับรู้รับทราบถึงคุณความดี ความเป็นผู้ทรงอรรถทรงธรรมของบูรพาจารย์ พากันยกย่องบูรพาจารย์ไทยเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔ ถึง ๒ รูป
- เราคนไทยถือเป็นผู้ใกล้ชิดกับท่าน เราได้เห็น ได้ซึมซับธรรมะปฏิปทาสู่จิตสู่ใจของเราหรือยัง
- เราควรที่จะภูมิใจและนอบนำคำสอนและปฏิปทาเหล่านั้นมาปฏิบัติ เพราะธรรมะที่พระพุทธเจ้าประกาศสอน ท่านไม่ได้ประกาศเพื่อให้เรากราบไหว้ แต่เพื่อให้เรานำมาปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านอบรมสั่งสอนเรา ก็มีความปรารถนาให้เรานำมาอบรมจิตใจ ให้พ้นจากความทุกข์
[เตรียมดินก่อนเพาะปลูก เตรียมพื้นจิตก่อนภาวนา]
- เราไม่ได้ปฏิเสธธรรมภายนอก เช่น ทาน ศีล นั่นเป็นการปูพื้นฐาน เปรียบได้กับการเตรียมดินก่อนเพาะปลูกของชาวนา
- ชาวนาจะได้กินข้าวก็ด้วยการปักดำ แต่ก่อนที่จะเพาะปลูก ชาวนาต้องเตรียมพื้นฐานให้กับดิน ด้วยการไถ คราด ให้ผืนนาอ่อนนุ่ม ปราศจากวัชพืชเสียก่อนจึงปักดำ เมื่อปักดำต้นกล้าก็เจริญงอกงาม แตกดอกออกรวง เป็นเมล็ดข้าวให้ชาวนาได้ชื่นใจ
- เช่นเดียวกัน ชาวพุทธปรารถนาการพ้นทุกข์ จะพ้นทุกข์ได้ก็ด้วยการอบรมจิต แต่ก่อนจะอบรมจิตเราต้องปูพื้นฐานด้วยทาน ศีล ให้พื้นจิตไม่มีความกังวล ไม่มีเวรภัยก่อกวนใจเสียก่อน จึงจะพร้อมสำหรับการอบรมจิตภาวนา
[อบรมจิตภาวนาด้วยอานาปานสติ]
- พระพุทธองค์ท่านนำสิ่งที่มีอยู่แล้ว คือลมหายใจ มาเป็นเครื่องมือ
- ลมหายใจเป็นสิ่งที่เรามี แต่เราไม่มีความรู้ความฉลาดพอที่จะเห็นคุณค่า ปล่อยให้ลมหล่อเลี้ยงร่างกายไปวันๆ
- ส่วนองค์ศาสดา ท่านมีความรู้ความฉลาด ใช้ลมหายใจมาเป็นเครื่องอบรมจิต กำหนดลมหายใจเข้า-ออก อย่างมีสติ ดังพุทธประวัติที่ว่า วันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนตะวันตกดิน เจ้าชายสิทธัตถะนั่งใต้โคนต้นโพธิ์ กำหนดลมหายใจเข้า-ออกอย่างมีสติ คือกำหนดลมเข้าก็รู้ ลมออกก็รู้ และก่อนรุ่งแจ้ง พระองค์ก็ตรัสรู้ นี่คือจุดเริ่มต้นขององค์ศาสดา
- จากนั้นทรงนำข้อปฏิบัติทั้งฝ่ายเหตุ ฝ่ายผล มาบอกกล่าวแก่สัตว์โลก
- ผู้มีความเชื่อ ได้ยินได้ฟัง น้อมนำมาปฏิบัติก็สามารถไปถึงจุดหมายปลายทางตามองค์ศาสดา แล้วเราก็กราบท่านเหล่าว่า สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
- สังฆัง สรณัง คัจฉามิ เป็นพยานยืนยันว่าการปฏิบัติตามคำสอน สามารถเข้าถึงธรรมของศาสดาได้
- นับแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีเรื่อยมาจวบปัจจุบัน คำว่า สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ก็มิเคยขาดหาย พิสูจน์ความเป็นอกาลิโกในธรรมของพระศาสดา ว่าตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติถูกต้องตามธรรม โลกก็ยังมี สังฆัง สรณัง คัจฉามิ อยู่ตราบนั้น
[อบรมจิตภาวนาบูชาบูรพาจารย์]
- พวกเรามีบูรพาจารย์ ทั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร, หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเป็นบูรพาจารย์ในฝ่ายการประพฤติปฏิบัติ การน้อมนำปฏิปทาของท่านมาปฏิบัติเป็นการบูชาครูอาจารย์อย่างดีที่สุด เหนือกว่าการบูชาใด
- เราไม่ได้ปฏิเสธการบูชาด้วยสิ่งของอามิส แต่วัตถุไทยทานเหล่านั้นเป็นเครื่องอาศัยได้เพียงชั่วคราว ทว่าการปฏิบัติบูชา นี้สามารถพาผู้ปฏิบัติไปถึงการสิ้นทุกข์แท้จริงได้
- เมื่อเริ่มต้นปฏิบัติอาจล้มลุกคลุกคลาน ก็ขอให้มีขันติความอดทน เริ่มด้วยการเข้าใกล้ครูอาจารย์ ให้ได้ยินได้ฟังได้เห็น แล้วนำไปพิจารณา เมื่อลงใจด้วยเหตุด้วยผลในธรรมนั้นแล้ว ก็นำไปปฏิบัติอบรมจิตใจของตน
- ขอให้เชื่อเถิดว่า ธรรมทั้งหลายจะนำสุขมาให้ ดังเช่นภาษิต “จิตที่อบรมดีแล้ว ย่อมนำสุขมาสู่ตน”
- อย่าได้เป็นเหมือนกับทัพพีในหม้อแกง ที่อยู่ใกล้แต่ไม่ได้รู้รส
- ถ้าพวกเราเป็นผู้ฉลาด ก็ควรน้อมนำคำสอนมาปฏิบัติ ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าอยู่ใกล้ครูอาจารย์ นี้ก็จะการบูชาบูรพาจารย์ เป็นมงคลนำพาเราไปสู่ความสุข ความเจริญ กระทั่งถึงที่สุด พ้นจากความทุกข์ได้สิ้นเชิง