คัมภีร์สำคัญอื่นๆ
(โดยเฉพาะคัมภีร์ที่ใช้เรียนในหลักสูตรเปรียญธรรม)
บทสรุป
ความสำคัญของพระไตรปิฎก อาจกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
1. พระไตรปิฎกเป็นที่รวบรวมไว้ซึ่งพุทธพจน์คือพระดำรัสของพระพุทธเจ้า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ตรัสไว้เอง เท่าที่ตกทอดมาถึงเรา มีมาในพระไตรปิฎก เรารู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก
2. พระไตรปิฎกเป็นที่สถิตของพระศาสดาของพุทธศาสนิกชน เพราะเป็นที่บรรจุพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ เราจะเฝ้าหรือรู้จักพระพุทธเจ้าได้จากพระดำรัสของพระองค์ที่ท่านรักษากันไว้ในพระไตรปิฎก
3. พระไตรปิฎกเป็นแหล่งต้นเดิมของคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอน คำอธิบาย คัมภีร์ หนังสือ ตำรา ที่อาจารย์และนักปราชญ์ทั้งหลายพูดกล่าวหรือเรียบเรียงไว้ ที่จัดว่าเป็นของในพระพุทธศาสนา จะต้องสืบขยายออกมาและเป็นไปตามคำสอนแม่บทในพระไตรปิฎก ที่เป็นฐานหรือเป็นแหล่งต้นเดิม
4. พระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอ้างอิงในการแสดงหรือยืนยันหลักการ ที่กล่าวว่าเป็นพระพุทธศาสนา การอธิบายหรือกล่าวอ้างเกี่ยวกับหลักการของพระพุทธศาสนา จะเป็นที่น่าเชื่อถือหรือยอมรับได้ด้วยดี เมื่ออ้างอิงหลักฐานในพระไตรปิฎก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงขั้นสุดท้ายสูงสุด
5. พระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานตรวจสอบคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอนหรือคำกล่าวใดๆ ที่จะถือว่าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัยซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก (แม้แต่คำหรือข้อความในพระไตรปิฎกเอง ถ้าส่วนใดถูกสงสัยว่าจะแปลกปลอม ก็ต้องตรวจสอบด้วยคำสอนทั่วไปในพระไตรปิฎก)
6. พระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานตรวจสอบความเชื่อถือและข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ความเชื่อถือหรือข้อปฏิบัติตลอดจนพฤติกรรมใดๆ จะวินิจฉัยว่าถูกต้องหรือผิดพลาด เป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ ก็โดยอาศัยพระธรรมวินัยที่มีมาในพระไตรปิฎกเป็นเครื่องตัดสิน
ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงเป็นกิจสำคัญยิ่งของชาวพุทธ ถือว่าเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา หรือเป็นความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา กล่าวคือ ถ้ายังมีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติ พระพุทธศาสนาก็ยังดำรงอยู่ แต่ถ้าไม่มีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก แม้จะมีการปฏิบัติ ก็จะไม่เป็นไปตามหลักการของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็จะไม่ดำรงอยู่ คือจะเสื่อมสูญไป
นอกจากความสำคัญในทางพระศาสนาโดยตรงแล้ว พระไตรปิฎกยังมีคุณค่าที่สำคัญในด้านอื่นๆ อีกมาก โดยเฉพาะ
(1) เป็นที่บันทึกหลักฐานเกี่ยวกับลัทธิ ความเชื่อถือ ศาสนา ปรัชญา ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม เรื่องราว เหตุการณ์ และถิ่นฐาน เช่น แว่นแคว้นต่างๆ ในยุคอดีตไว้เป็นอันมาก
(2) เป็นแหล่งที่จะสืบค้นแนวความคิดที่สัมพันธ์กับวิชาการต่างๆ เนื่องจากคำสอนในพระธรรมวินัยมีเนื้อหาสาระเกี่ยวโยงหรือครอบคลุมถึงวิชาการหลายอย่าง เช่นจิตวิทยา กฎหมาย การปกครอง เศรษฐกิจ เป็นต้น
(3) เป็นแหล่งเดิมของคำศัพท์บาลีที่นำมาใช้ในภาษาไทย เนื่องจากภาษาบาลีเป็นรากฐานสำคัญส่วนหนึ่งของภาษาไทย การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงมีอุปการะพิเศษแก่การศึกษาภาษาไทย
รวมความว่า การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกมีคุณค่าสำคัญ ไม่เฉพาะแต่ในการศึกษาพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่อำนวยประโยชน์ทางวิชาการในด้านต่างๆ มากมาย เช่น ภาษาไทย ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา โบราณคดี รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา และจิตวิทยา เป็นต้นด้วย
แต่นับว่าเป็นเรื่องแปลก และน่าใจหาย ที่คนสมัยนี้กลับไม่เข้าใจว่า พระไตรปิฎกคืออะไร ทำไมต้องรักษาพระไตรปิฎก ทำไมต้องเอาพระไตรปิฎกมาเป็นมาตรฐานหรือเป็นเกณฑ์วินิจฉัยว่า อะไรเป็นธรรมวินัย อะไรเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า หากปราศจากความเข้าใจพื้นฐานเช่นนี้เสียแล้ว บางคนก็อาจไปไกลถึงขนาดที่ทึกทักเอาผิดๆ ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้า ใครจะว่าอย่างไรก็ได้
นอกจากนี้ ยังมีความสับสนระหว่างตัวหลักการของพระศาสนาเองกับความคิดเห็นส่วนบุคคล ความสับสนนี้ ซึ่งก็คงเกี่ยวเนื่องกับปัญหาแรก ย่อมนำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมายอย่างแน่นอน
ถ้าเราถามว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร หรือสอนเรื่องอะไรว่าอย่างไร เราก็ต้องไปดูพระไตรปิฎกเพื่อหาคำตอบ เพราะเราไม่มีแหล่งอื่นที่จะตอบคำถามนี้ได้
แต่ถ้าเขาถามว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างนี้แล้ว คุณจะว่าอย่างไร เราจะคิดอย่างไรก็เป็นสิทธิของเรา เป็นเสรีภาพของเราที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน
แม้แต่ในกรณีหลัง เพื่อความเป็นธรรมต่อพระศาสดา เราก็ควรจะศึกษาคำอธิบายของท่านในคัมภีร์ต่างๆ ให้ชัดแจ้งก่อน แล้วจึงมาสรุปสิ่งที่ศึกษามาแล้ว ถ้าสรุปดีก็ตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอน สรุปไม่ดีก็ผิดพลาด ก็ต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป แต่อย่างน้อยก็ต้องแยกให้ชัดอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามคำสอนของพระองค์โดยซื่อสัตย์ แล้วเราเห็นว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามอิสระที่เราเห็น แต่เวลานี้คนว่ากันนุงนังสับสนไปหมด
ที่จริงนั้น หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนามีความชัดเจนแน่นอน และไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของความคิดเห็นหรือคาดเดา แต่เป็นเรื่องของหลักฐานที่ชาวพุทธถือกันว่ามาจากพระพุทธเจ้าโดยตรง คือมาในพระไตรปิฎก และมีคัมภีร์อรรถกถาเป็นต้น อธิบายประกอบ ซึ่งชาวพุทธทุกยุคสมัย ถือว่าเป็นเนื้อเป็นตัวของพระศาสนา เป็นหลักสำคัญที่สุด และได้เพียรพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ให้แม่นยำ ด้วยการทรงจำ ศึกษาเล่าเรียน และมีการสังคายนาเป็นงานใหญ่หลายยุคสมัยตลอดมา
ใครก็ตามที่กล่าวอ้างว่าตนปฏิบัติได้โดยไม่ต้องอาศัยพระไตรปิฎก ก็คือ พูดว่า ตนปฏิบัติได้โดยไม่ต้องอาศัยพระพุทธเจ้า เมื่อเขาปฏิบัติโดยไม่อาศัยคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้า เราจะเรียกการปฏิบัตินั้นว่าเป็นพระพุทธศาสนาได้อย่างไร แน่นอนว่า นั่นเป็นการปฏิบัติลัทธิความเชื่อหรือความคิดเห็นของตัวเขาเอง หรือของใครอื่นที่คิดข้อปฏิบัตินั้นขึ้นมา หรืออย่างดีก็เป็นความที่เอามาเล่าต่อจากพระไตรปิฎก แบบฟังตามๆ กันมา ซึ่งเสี่ยงต่อความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยน
ดังนั้น ชาวพุทธทุกคนจึงควรเฝ้าจับตาระแวดระวังบุคคล 2 ประเภท คือ (1) ประเภทที่สร้างความสับสนระหว่างพุทธพจน์ที่แท้กับความคิดเห็นของตน โดยอ้าง “เสรีภาพทางวิชาการ” แฝงมาในรูปที่เรียกว่า “งานวิจัยทางวิชาการ” และ (2) ประเภทที่อ้างว่าสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องอาศัยพระพุทธเจ้า บุคคล 2 ประเภทนี้ ซึ่งหาได้ไม่ยากนักในสังคมปัจจุบันของเรา ย่อมสามารถสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อพระศาสนาในระยะยาวได้โดยแท้ ยิ่งเมื่อมีผู้คล้อยตามด้วยหลงเชื่อโดยง่ายเป็นจำนวนมาก
เราจึงควรตื่นตัวต่อภัยคุกคามและร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหาด้วย การส่งเสริมสัมมาปฏิบัติโดยอิงอาศัยคำสอนที่แท้ ซึ่งเราจะต้องช่วยกันรักษาให้บริสุทธิ์ อันที่จริง ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาฟื้นฟูชาวพุทธให้กลับไปสู่พระธรรมวินัย ให้รู้จักศึกษาพระไตรปิฎกกันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง
อย่างที่กล่าวแล้วก่อนหน้านี้ ตราบใดที่พระไตรปิฎกยังมีอยู่ ตราบนั้นพระพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่ พระพุทธศาสนาอันเป็นของแท้ดั้งเดิม ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีพระไตรปิฎกอยู่ เราก็ยังมีโอกาสที่จะรู้จักพระพุทธศาสนาและได้รับประโยชน์ที่แท้จริงที่พึงได้จากพระศาสนาอันประเสริฐนี้
จึงหวังว่า พระไตรปิฎกบาลีจะเป็นสื่อที่เสมือนพระธรรมทูตผู้จาริกไปกว้างไกล โดยทำหน้าที่แสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามตราบสุดท้าย ตามพระพุทธโอวาทที่ทรงส่งพระสาวกรุ่นแรกไปประกาศพระศาสนา เพื่อให้สัมฤทธิ์จุดหมายแห่งการแผ่ขยายประโยชน์สุขแก่พหูชน คือประชาชาวโลกทั้งมวลสืบไป
1 พิมพ์รวมเป็นหนังสือเล่มเดียวกัน
2 คือ อรรถกถาวินัยที่เรียงลำดับไว้ตอนต้นแล้ว
3 ได้แก่พระไตรปิฎก เล่ม 25 ขุทฺทกปาฐ (5-6/3-4) และสุตฺตนิปาต (317-318/376-387)