คัมภีร์วิสุทธิมรรคฉบับภาษาบาลี เป็นผลงานรจนาของพระพุทธโฆสเถระ นักปราชญ์ชาวอินเดีย รจนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๙๕๖ ในคณะสงฆ์คณะมหาวิหาร ณ กรุงอนุราธปุระ ประเทศลังกา (ครีลังกา) เป็นคัมภีร์ที่มีเนื้อหาสาระทั้งด้านทฤษฎีและด้านปฏิบัติอย่างบริบูรณ์ ที่เรียกว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ได้รับการยอมรับจากที่ประชุมคณะสงฆ์คณะมหาวิหาร และเป็นคัมภีร์ที่แพร่หลายออกไปสู่ประเทศต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะประเทศไทยนั้น พระมหาเถระในอดีตผู้มีความรู้แตกฉานในภาษาบาลี ได้ร่วมกันตรวจชำระแล้วจารลงในใบลานเป็นภาษาบาลีอักษรขอม เพื่อกำหนดให้ใช้เป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรในชั้นเปรียญ ๘-๙ ประโยค
ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๕ เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารีมหาเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ ลำดับรูปที่ ๑๔ สมัยดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์ ได้ตรวจชำระและปริวรรตคัมภีร์วิสุทธิมรรค ฉบับใบลานภาษาบาลีอักษรขอม เป็นภาษาบาลีอักษรไทยปัจจุบัน พร้อมทั้งนิพนธ์ประวัติ (พุทฺธโฆสปุปวตฺติกถา) ของพระพุทธโฆสเถระไว้ด้วย การจัดพิมพ์ในครั้งนั้นแบ่งออกเป็น ๓ ภาค หรือ ๓ เล่มสมุดไทย และคณะสงฆ์ไทยใช้เป็นหลักสูตรการศึกษาชั้นเปรียญธรรม ๘-๙ ประโยค สืบมา ตราบเท่าปัจจุบันนี้
สำหรับคัมภีร์วิสุทธิมรรคฉบับแปลเป็นภาษาไทยฉบับนี้ เป็นผลงานแปลและเรียบเรียงโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) อดีตอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งเป็นฉบับที่ได้รับความนิยมของท่านผู้สนใจใฝ่ศึกษาคันคว้าหลักธรรมและปฏิบัติธรรมทั่วไป ให้การยอมรับว่าเป็นสำนวนการแปลที่อ่านเข้าใจง่าย
การแปลและเรียบเรียงคำนึงถึงผู้ที่มีพื้นฐานความรู้ภาษาบาลีน้อยจะอ่านเข้าใจยากเป็นสำคัญ จึงได้นำข้อความบางส่วนในคัมภีร์ปรมัตถมัญชุสามหาฎีกามาขยายเสริมความ ทำให้อ่านเข้าใจง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้น
๐ คำปรารภ ในการพิมพ์ครั้งที่ ๑๒
(ฉบับพิมพ์รวมเล่มครั้งที่ ๙)
คัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสเถระ รจนา
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)
แปลและเรียบเรียง