คัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้นั้น เป็นคัมภีร์พิเศษคัมภีร์หนึ่ง หมู่ปราชญ์สงเคราะห์เข้าไว้ในประเภท อรรถกถา ซึ่งมีความสำคัญเป็นที่สองรองลงมาจากบาลี ท่านมหาพุทฺธโฆสเถร ชาวชมพูทวีป รจนาขึ้น ณ ประเทศลังกาสมัยเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว มีหนังสือสำหรับอธิบายขยายความของคัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้อีกคัมภีร์หนึ่ง ซึ่งสงเคราะห์เข้าไว้ในประเภท ฎีกา ชื่อ ปรมตถมณชุสา มหาฎีกา ท่านธมมปาลเถร รจนาขึ้นภายหลังต่อมา ณ ประเทศลังกานั้นเหมือนกัน
ที่ท่านมหาพุทธโฆสเถระตั้งชื่อคัมภีร์ของท่านว่า วิสุทธิมรรค นั้น ท่านได้ให้อรรถาธิบายไว้อย่างแจ่มชัดว่า คำว่า วิสุทธิ หมายเอาพระนิพพานอันเป็นจุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนา พระนิพพานที่ได้ชื่อเช่นนั้น โดยความหมายว่า เป็นสภาพที่บริสุทธิ์หมดจดกิเลสมลทินโดยสิ้นเชิง คำว่า มัคค หมายความว่า หนทาง หรือ อุบายเป็นเครื่องส่งให้ถึง เมื่อรวมเข้าเป็นคำเดียวกันว่า วิสุทธิมัคค ก็ได้ความหมายว่า ทางสู่พระนิพพาน หรือ อุบายเป็นเครื่องส่งให้ถึงพระนิพพาน
ฉะนี้ ผู้ที่อ่านหรือเรียนคัมภีร์วิสุทธิมรรค จึงได้ชื่อว่าอ่านหรือตรวจดูแผนที่ อันชี้บอกทางสู่พระนิพพาน ผู้ที่ลงมือปฏิบัติตามแผนที่ ได้แก่ พยายามรักษาศิล ตามเพศภูมิของตนให้บริสุทธิ์ แล้วเจริญภาวนาสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้ชื่อว่ากำลังเดินไปในทางสู่พระนิพพาน เมื่อได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานลุถึงขั้นญาณทัสสนวิสุทธิแล้ว ได้ชื่อว่า เดินไปถึงจุดหมายปลายทาง คือลุถึงพระนิพพานแล้ว
๐ สารัตถวิจารณ์
คัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสเถระ รจนา
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)
แปลและเรียบเรียง