เมื่อการติดต่อสื่อสารคมนาคมในโลกสะดวกมากขึ้นแล้ว ครั้นถึงช่วงระยะครบ 25 ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา และประเทศพุทธศาสนาต่างก็จัดงานสมโภชเป็นการใหญ่ในประเทศของตน ก็ได้มีการสังคายนาระหว่างชาติขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. 2497-2499 ที่พระสงฆ์และนักปราชญ์จากประเทศพุทธศาสนาเถรวาททุกประเทศ และประเทศที่มีการศึกษาพระพุทธศาสนา ได้มาประชุมทวนทานพระไตรปิฎกบาลีของพม่าที่เตรียมไว้ พร้อมทั้งพระไตรปิฎกฉบับอักษรต่างๆ ของนานาประเทศ เรียกว่า ฉัฏฐสังคีติ อันที่ยอมรับทั่วไปในประเทศพุทธศาสนาทั้งหลาย
อย่างไรก็ดี หลังจากฉัฏฐสังคีตเสร็จสิ้นแล้วไม่นาน ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนทางการเมืองในประเทศพม่า ซึ่งเข้าใจว่าคงจะเป็นเหตุให้การดูแลรักษาและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคีติ ไม่ดำเนินมาอย่างราบรื่น จนเกิดมีความเข้าใจสับสนขึ้นระหว่างพระไตรปิฎกฉบับเดิมของพม่าที่ใช้เป็นต้นร่างสำหรับพิจารณาในการสังคายนา กับฉบับที่เป็นผลงานของการสังคายนา
บัดนี้ กองทุนสนทนาธรรมนำสุขในพระสังฆราชูปถัมภ์ ได้ดำเนินการนำพระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคีติที่สอบทานโดยที่ประชุมสงฆ์เถรวาทนานาชาตินี้ มาจัดพิมพ์ด้วยอักษรโรมันที่เป็นสากลแก่ผู้อ่านในนานาประเทศ
จากการดำเนินการด้วยความเพียรพยายามอย่างตั้งใจจริง และโดยกระบวนวิธีที่รอบคอบรัดกุม จึงมีรายงานของคณะผู้ทำงานว่า ได้พบพระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคีติที่พิมพ์ต่างวาระ และสามารถกำหนดแยกได้ระหว่างฉบับต้นร่าง กับฉบับที่พิมพ์จากผลงานอันได้ทวนทานแล้ว ตลอดจนรู้เข้าใจฉบับที่พิมพ์ครั้งต่อๆ มาได้ตามเป็นจริง ทำให้ได้ต้นฉบับที่มั่นใจที่สุด กับทั้งยังได้สอบทานกับพระไตรปิฎกฉบับอักษรต่างๆ ของหลายประเทศซ้ำ อีกครั้งหนึ่งด้วย เหมือนกับทำให้จุดหมายของฉัฏฐสังคีติบรรลุผลสมบูรณ์
นอกจากนี้ คณะผู้ทำงานได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศของยุคปัจจุบันที่ล่าสุดมาใช้ประโยชน์ด้วย ทำให้จัดวางระบบการค้นคว้าอ้างอิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ฐานข้อมูลที่พร้อมอย่างยิ่งสำหรับงานอย่างอื่น เกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกที่อาจจะจัดทำต่อไป เช่น การนำข้อมูลลงในซีดีรอม โดยมีโปรแกรมค้นให้สะดวก เป็นต้น
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม แก่นแท้หรือสาระสุดท้ายของงานนี้ก็คือ การดำรงรักษาพระพุทธพจน์ที่สืบทอดมาถึงเราในรูปของพระไตรปิฎกภาษาบาลีไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุด คงเดิมตามที่มีการรวบรวมพุทธพจน์ครั้งแรกในการสังคายนาครั้งที่ 1 ให้ผู้อ่านเข้าถึงคำสอนเดิมของพระพุทธเจ้าโดยตรง โดยไม่มีมติของบุคคลอื่นใดมากีดกัน แม้แต่ความคิดเห็นของพระธรรมสังคาหกาจารย์ ซึ่งหากจะมีท่านก็ได้บอกแจ้งหมายแยกไว้ เป็นการเปิดโล่งต่อการใช้ปัญญาของผู้ศึกษาอย่างเต็มที่