หลายคนอาจสงสัยว่า เมื่อรักษาพระไตรปิฎกด้วยการทรงจำในตอนเริ่มแรก ก็น่ากลัวว่าจะมีการคลาดเคลื่อนเลอะเลือนหลงลืมไป
แต่เมื่อได้พิจารณาไตร่ตรอง ก็กลับเห็นได้ชัดว่า การรักษาด้วยการท่อง โดยสวดเป็นหมู่คณะแล้วทรงจำไว้นั่นแหละ เป็นวิธีที่แม่นยำยิ่งกว่ายุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรเสียอีก
ที่ว่าอย่างนั้นเพราะอะไร ? เพราะว่าการท่องที่จะทรงจำพระไตรปิฎก หรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าธรรมวินัยนั้น ท่านทำด้วยวิธีสวดพร้อมกัน คือ คล้ายกับที่เราสวดมนต์กันทุกวันนี้แหละ เวลาสวดมนต์พร้อมกัน เช่น สวดกัน 10 คน 20 คน 50 คน 100 คนนั้น จะต้องสวดตรงกันหมดทุกถ้อยคำ จะตกหล่นตัดขาดหายไปก็ไม่ได้ จะเพิ่มแม้คำเดียวก็ไม่ได้ เพราะจะขัดกัน ดีไม่ดีก็สวดล้มไปเลย
เพราะฉะนั้น การที่จะสวดโดยคนจำนวนมากๆ ให้เป็นไปด้วยดี ให้สอดคล้องกลมกลืนกัน ก็จะต้องสวดเหมือนกันหมด ท่านจึงรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ด้วยวิธีนี้ คือทรงจำพระไตรปิฎกด้วยวิธีสวดพร้อมกันจำนวนมากๆ โดยพระสงฆ์ซึ่งเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก เพราะรู้อยู่ว่านี่แหละคือพระพุทธศาสนา ถ้าหมดพระไตรปิฎกเมื่อไร พระพุทธศาสนาก็หมดไปเมื่อนั้น ถ้าพระไตรปิฎกเคลื่อนคลาดไป พระพุทธศาสนาก็เคลื่อนคลาดไปด้วย
พระเถระรุ่นก่อนนั้น ถือความสำคัญของพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในยุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วก็ต้องถึงกับพูดกันว่า
“อักษรตัวหนึ่งๆ อันเป็นพระปริยัติศาสน์ของพระศาสดา มีค่าเท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง”
- ญาโณทยปกรณ์
เพราะฉะนั้น ถ้ามองในแง่บวก ก็คือจะต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ดี แม้แต่จารึกหรือสนับสนุนการจารึกเพียงนิดหน่อยก็เป็นบุญเป็นกุศลมาก
แต่มองในแง่ลบก็คือ ถ้าใครไปทำให้ผิดพลาด แม้แต่อักษรเดียว ก็เหมือนทำลายพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นบาปมาก
เพราะฉะนั้นพระเถระรุ่นก่อน ท่านจึงระวังมากในการรักษาทรงจำพระไตรปิฎกไม่ให้ผิดเพี้ยน
ความมั่นใจในความบริสุทธิ์บริบูรณ์นี้ได้รับการย้ำสำทับ เมื่อปรากฏว่าพุทธพจน์เรื่องเดียวกัน ที่อยู่ในที่ต่างหมวดต่างตอน ซ้ำกัน 4-5 แห่ง ในความรับผิดชอบของคณะผู้ชำนาญต่างกลุ่ม โดยทั่วไปยังคงมีถ้อยคำข้อความเหมือนกัน เป็นอย่างเดียวกัน ยืนยันกันเอง แสดงถึงความแม่นยำในการทรงจำและทวนทาน อีกทั้งพระภิกษุแม้เพียงแต่ละรูปก็สามารถทรงจำพุทธพจน์ไว้ได้มากมาย ดังมีตัวอย่างชัดเจนในปัจจุบัน ที่ประเทศพม่า มีพระภิกษุหลายรูปที่ได้รับสถาปนาเป็นติปิฏกธร ซึ่งแต่ละรูปสามารถทรงจำสาธยายพระไตรปิฎกบาลีได้ครบถ้วนบริบูรณ์ นับตามจำนวนหน้าพิมพ์แบบปัจจุบันฉบับของไทยกว่า 22,000 หน้า
พระไตรปิฏกที่เป็นลายลักษณ์อักษรเล่า?
ช่วงที่ 2 คือ ระยะที่รักษาพุทธพจน์และเรื่องเกี่ยวข้องในพระไตรปิฎกทั้งหมดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือการรักษาไว้กับวัตถุภายนอก เริ่มเมื่อประมาณ พ.ศ. 460 ที่มีการสังคายนาครั้งที่ 4 ณ อาโลกเลณสถาน ในลังกาทวีป
สังคายนาครั้งที่ 4 นี้ เกิดจากเหตุผลที่ปรารภว่า เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองสภาพแวดล้อมผันแปรไป เกิดมีภัยที่กระทบต่อการทำหน้าที่สืบต่อทรงจำพุทธพจน์ และคนต่อไปภายหน้าจะเสื่อมถอยสติสมาธิปัญญา เช่นมีศรัทธาและฉันทะอ่อนลงไป จะไม่สามารถรักษาพุทธพจน์ไว้ด้วยมุขปาฐะ จึงตกลงกันว่าถึงเวลาที่จำต้องจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน
ในแง่หนึ่ง การจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรนี้ ดูเหมือนจะมีความแน่นอนและมั่นคงถาวรดังต้องการ คือจะคงอยู่อย่างนั้นๆ จนกว่าวัสดุจะผุสลาย หรือสูญหาย หรือถูกทำลายไป แต่วิธีรักษาแบบนี้ มีจุดอ่อนที่ทำให้บุคคลเกิดความประมาท ด้วยวางใจว่ามีพระไตรปิฎกอยู่ในใบลานหรือเล่มหนังสือแล้ว ความเอาใจใส่ที่จะสาธยาย ทวนทาน หรือแม้แต่เล่าเรียน ก็ย่อหย่อนลงไป หรือถึงกับกลายเป็นความละเลย
อีกประการหนึ่ง การจารึกในสมัยโบราณ ต้องอาศัยการคัดลอกโดยบุคคล ซึ่งเมื่อมีการคัดลอกแต่ละครั้ง จะต้องมีการพลั้งเผลอผิดพลาดตกหล่น ทำให้ตัวอักษรเสียหายเป็นตัวๆ หรือแม้แต่หายไปเป็นบรรทัด ยิ่งบางทีผู้มีหน้าที่รักษาไม่ถนัดในงานจารเอง ต้องให้ช่างมาจารให้ บางทีผู้จารไม่รู้ไม่ชำนาญภาษาบาลีและพุทธพจน์ หรือแม้กระทั่งไม่รู้ไม่เข้าใจเลย ก็ยิ่งเสี่ยงต่อความผิดพลาด อย่างที่ในสังคมไทยโบราณรู้กันดีในเรื่องการคัดลอกตำรายา ดังคำที่พูดกันมาว่า “ลอกสามทีกินตาย”
ด้วยเหตุนี้ การรักษาพระไตรปิฎกในยุคฝากไว้กับวัตถุนอกตัวบุคคลนี้ จึงต้องใช้วิธีทำฉบับใหญ่ของส่วนรวมที่จารึกและทบทวนตรวจทานกันอย่างดีแล้ว รักษาไว้ที่ศูนย์กลางแห่งหนึ่ง เป็นหลักของหมู่คณะของสงฆ์ทั้งหมด หรือของประเทศชาติ
ประจวบว่า ในยุคที่รักษาพุทธพจน์เป็นลายลักษณ์อักษรนี้ พระพุทธศาสนาได้เจริญแพร่หลายไปเป็นศาสนาแห่งชาติของหลายประเทศแล้ว แต่ละประเทศจึงมีการสร้างพระไตรปิฎกฉบับที่เป็นหลักของประเทศของตนๆ ไว้ และดูแลสืบทอดกันมาให้มั่นใจว่ายังคงอยู่บริสุทธิ์บริบูรณ์ ดังเช่นในประเทศไทย ที่มีการสังคายนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช (หรือ ติลกราช) แห่งอาณาจักรล้านนา และการสังคายนาในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน เป็นต้น
ในเวลาที่เรามีการตรวจชำระพระไตรปิฎกครั้งหนึ่ง เราก็เอาของทุกประเทศมาสอบทานเทียบเคียงกัน เพื่อดูว่ามีข้อความถ้อยคำหรืออักษรตัวไหนผิดเพี้ยนกันไหม อย่างชื่อ พระอัญญาโกณฑัญญะ มีการผิดเพี้ยนกันไปนิดหน่อย ฉบับของเราเป็น อัญญาโกณฑัญญะ ฉบับอักษรโรมันของสมาคมบาลีปกรณ์ (Pali Text Society) เป็น อัญญาตโกณฑัญญะ เป็นต้น ความแตกต่างแม้แต่นิดเดียว เราก็บันทึกไว้ให้รู้ในเชิงอรรถ
แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านล่วงไปเกินพันปี เมื่อนำพระไตรปิฎกที่ประเทศพุทธศาสนาแต่ละประเทศรักษาไว้มาเทียบกัน ก็พูดได้โดยรวมว่า เหมือนกันลงกัน แม้จะมีตัวอักษรที่ผิดแผกแตกต่างกันบ้าง เช่น จ เป็น ว บ้าง เมื่อเทียบโดยปริมาณทั้งหมดแล้ว ก็นับว่าเล็กน้อยยิ่ง แสดงถึงความถูกต้องแม่นยำในการรักษาที่ทำกันมาด้วยความตั้งใจและตระหนักถึงความสำคัญอย่างแท้จริง
เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเถรวาทจึงมีความภูมิใจโดยชอบธรรมว่า เรารักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้เป็นแบบเดิมแท้ ดังเป็นที่ยอมรับกันเป็นสากล คือนักปราชญ์ วงวิชาการทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นมหายาน หรือเถรวาท หรือวัชรยาน ว่าพระสูตรต่างๆ ของพระพุทธศาสนาแบบมหายานที่เป็นอาจารยวาท เป็นของที่แต่งขึ้นภายหลัง ไม่รักษาคำสอนเดิมแท้ๆ ไว้ คัมภีร์ส่วนมากก็สาบสูญไป เขาก็เลยมายอมรับกันว่า คำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้าที่จะหาได้ครบสมบูรณ์ที่สุด ก็ต้องมาดูในพระไตรปิฎกบาลีของพระพุทธศาสนาเถรวาทของเรานี้
การสังคายนานั้นต้องให้รู้ว่าเป็นการที่จะรักษาคำสอนเดิมเอาไว้ให้แม่นยำที่สุด ไม่ใช่ว่าพระภิกษุที่สังคายนามีสิทธิ์เอาความคิดเห็นของตนใส่ลงไป
บางคนเข้าใจผิดว่า ในการสังคายนานี้ ผู้ที่เข้าร่วมสังคายนา จะไปปรับไปแต่งไปทำอะไรกับพระไตรปิฎก ดีไม่ดีอาจจะถึงกับเข้าใจว่ามาแต่งพระไตรปิฎกกันใหม่ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปไกล แสดงว่าไม่รู้จักการสังคายนา และไม่รู้เรื่องอะไรเลย
แต่เราก็ต้องรู้ด้วยว่า ในพระไตรปิฎกไม่มีเฉพาะคำตรัสของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว คำของพระสาวกก็มี เช่นคำของพระสารีบุตรที่ได้แสดงวิธีสังคายนาเป็นตัวอย่างไว้นั้น ก็เป็นพระสูตรอยู่ในพระไตรปิฎก ชื่อ สังคีติสูตร แต่ธรรมที่พระสารีบุตรนำมาสังคายนาไว้ในสังคีติสูตรนั้น ก็คือคำตรัสของพระพุทธเจ้า หรือธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้นั่นเอง นอกจากนั้นก็มีคำสนทนากับผู้อื่น ซึ่งมีคำของผู้อื่นรวมอยู่ด้วยในนั้น
หลักคำสอนอะไรเก่าๆ ก่อนพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับ ทรงนำมาเล่าให้นับถือปฏิบัติกันต่อไป ก็มาอยู่ในพระไตรปิฎกด้วย อย่างเรื่องชาดก เฉพาะส่วนที่เป็นตัวคำสอนแท้ๆ
คัมภีร์ที่นิพนธ์แม้หลังพุทธกาลก็มีบ้าง อย่างในคราวสังคายนาครั้งที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานสังคายนา เรียบเรียงคัมภีร์ขึ้นมาเล่มหนึ่ง (ชื่อว่า กถาวัตถุ) เพื่อชำระคำสั่งสอนที่ผิดพลาดของพระบางพวกในสมัยนั้น
แต่การวินิจฉัยนั้นก็เป็นเพียงว่า ท่านยกเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่โน่นที่นี่ ในเรื่องเดียวกันนั้น มารวมกันไว้เป็นหลักฐานอ้างอิง เพื่อแสดงให้เห็นว่า เรื่องนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร อย่างนี้ก็กลายเป็นคัมภีร์ใหม่ แต่แท้จริงก็เป็นการนำเอาพุทธพจน์ในเรื่องนั้นๆ มารวมไว้ในอีกลักษณะหนึ่ง โดยมีเรื่องราวหรือข้อพิจารณาอะไรอย่างหนึ่งเป็นแกน