ในการสังคายนา นอกจากจะประมวลคือรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ ก็มีการจัดหมวดหมู่ไปด้วย การจัดหมวดหมู่นั้นก็เพื่อให้ทรงจำได้สะดวก และง่ายต่อการแบ่งหน้าที่กันในการรักษา กับทั้งเกื้อกูลต่อการศึกษาค้นคว้าด้วย
นอกจากแบ่งโดยส่วนใหญ่เป็น ธรรม กับ วินัย แล้ว ก็ยังมีการจัดแยกซอยย่อยออกไปอีก
ธรรมนั้นต่างจากวินัยซึ่งมีขอบเขตแคบกว่า เพราะวินัยเป็นเรื่องของบทบัญญัติเกี่ยวกับการรักษาสังฆะ คือคณะสงฆ์ไว้ เพื่อให้ชุมชนแห่งพระภิกษุและพระภิกษุณีดำรงอยู่ด้วยดี แต่ธรรมเป็นคำสอนที่ครอบคลุม พระพุทธศาสนาทั้งหมด สำหรับพุทธบริษัททั้ง 4 เนื่องจากธรรมมีมากมาย จึงมีการแบ่งหมวดหมู่ออกไปอีก โดยแยกขั้นแรกเป็น 2 ก่อน คือ
1. ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไปตามกาลเทศะ
เมื่อบุคคลที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปพบทูลถาม พระองค์ก็ตรัสตอบไป คำตอบ หรือคำสนทนาที่ทรงโต้ตอบกับชาวนา พราหมณ์ กษัตริย์ หรือเจ้าชาย แต่ละเรื่องๆ ก็จบไปในตัว เรื่องหนึ่งๆ นี้ เรียกว่า สุตตะ (หรือ สูตร) หนึ่งๆ ธรรมที่ตรัสแสดงแบบนี้ ได้รวบรวมจัดไว้พวกหนึ่ง เรียกว่า สุตตันตะ (หรือ พระสูตร)
2. ธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือธรรมที่แสดงไปตามเนื้อหา ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือเหตุการณ์ ไม่คำนึงว่าใครจะฟังทั้งสิ้น เอาแต่เนื้อหาเป็นหลัก คือเป็นวิชาการล้วนๆ
เมื่อยกหัวข้อธรรมอะไรขึ้นมา ก็อธิบายให้ชัดเจนไปเลย เช่นยกเรื่อง ขันธ์ 5 มา ก็อธิบายไปว่าขันธ์ 5 นั้นคืออะไร แบ่งออกเป็นอะไรบ้าง แต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไรๆ อธิบายไปจนจบเรื่องขันธ์ 5 หรือว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็อธิบายไปในแง่ด้านต่างๆ จนกระทั่งจบเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น ธรรมที่แสดงเอาเนื้อหาเป็นหลักอย่างนี้ ก็จัดเป็นอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า อภิธัมมะ (หรือ พระอภิธรรม)
เมื่อแยกธรรมเป็น 2 ส่วน คือเป็นพระสูตรกับพระอภิธรรม แล้วมีวินัยเติมอีกหนึ่ง ซึ่งก็คงเป็นวินัยอยู่เท่านั้น ก็เกิดเป็นการจัดหมวดหมู่พระธรรมวินัยอีกแบบหนึ่ง เป็นปิฎก 3 ที่เรียกว่า พระไตรปิฎก
ปิฎก แปลว่า “ตะกร้า” หรือ “กระจาด” โดยมีความหมายเชิงเปรียบเทียบว่าเป็นที่รวบรวม ตะกร้า กระจาด กระบุง หรือปุ้งกี๋นั้น เป็นที่รวบรวมทัพสัมภาระอย่างใด แต่ละปิฎกก็รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่จัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ใหญ่อย่างนั้น