จำต้องแยกให้ออกระหว่างปรัชญากับศาสนา ปรัชญาเป็นเรื่องของการคิดหาเหตุผล เป็นสำคัญ และถกเถียงกันในเรื่องเหตุผลนั้นเพื่อสันนิษฐานความจริง เรื่องที่ถกเถียงหรือคิดหานั้นอาจจะไม่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่เป็นอยู่ เช่น นักปรัชญาอาจจะถกเถียงกันว่า จักรวาลเกิดขึ้นเมื่อไรและจะไปสิ้นสุดเมื่อไร โลกจะแตกเมื่อไร ชีวิตเกิดขึ้นเมื่อไร เป็นต้น และนักปรัชญาก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินชีวิตตามหลักการอะไร หรือแม้แต่ให้สอดคล้องกับสิ่งที่ตนคิด เขาคิดหาเหตุผลหาความจริงของเขาไป โดยที่ว่าชีวิตส่วนตัวอาจจะเป็นไปในทางที่ตรงข้ามก็ได้ เช่น นักปรัชญาบางคนอาจจะเป็นคนคุ้มดีคุ้มร้าย บางคนสำมะเลเทเมา บางคนมีทุกข์จนกระทั่งฆ่าตัวตาย
แต่ศาสนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติ เรื่องของการดำเนินชีวิตหรือการนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตจริง การปฏิบัตินั้นต้องมีหลักการที่แน่นอนอย่างใดอย่างหนึ่งที่ยอมรับว่าเป็นจริง โดยมีจุดหมายที่แสดงไว้อย่างชัดเจนด้วย
เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติคือศาสนิกชน เริ่มต้นก็ต้องยอมรับที่จะปฏิบัติตามหลักการของศาสนานั้น ตามที่ องค์พระศาสดา ได้แสดงไว้ ซึ่งเราเรียกว่า คำสอน ด้วยเหตุนี้ ศาสนิกจึงมุ่งไปที่ตัวคำสอนของพระศาสดาซึ่งรวบรวม และรักษาสืบทอดกันมาในสิ่งที่เรียกกันว่า คัมภีร์
เมื่อมองในแง่นี้ พระพุทธศาสนาจึงมิใช่เป็นปรัชญา แต่เป็นศาสนา มีพระสมณโคดมเป็นพระศาสดา ซึ่งชาวพุทธทุกคนเชื่อในการตรัสรู้ของพระองค์ สอนวิธีการดำเนินชีวิตที่เมื่อถึงที่สุดแล้วจะนำไปสู่เป้าหมายคือการ หลุดพ้นจากความทุกข์ คัมภีร์ขนาดใหญ่ที่บรรจุหลักคำสอนเรียกว่า พระไตรปิฎก ชาวพุทธที่แท้จะต้องปฏิบัติตามคำสอนให้ถูกต้อง เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากพระศาสนามากที่สุด และเพื่อเป็นหลักประกันวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็จำเป็นต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องพระไตรปิฎก