คำว่า พระพุทธศาสนา ว่าโดยทั่วไป มีความหมายกว้างมาก รวมตั้งแต่ หลักธรรม พระสงฆ์ องค์กร สถาบัน กิจการ ไปจนถึงศาสนสถาน และศาสนวัตถุ ทุกอย่าง แต่ถ้าจะเจาะลงไปให้ถึงความหมายแท้ที่เป็นตัวจริง พระพุทธศาสนาก็มีความหมายตรงไปตรงมาตามคำแปลโดยพยัญชนะของคำว่า พระพุทธศาสนา นั้นเองว่า “คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า” นี้คือตัวแท้ตัวจริงของพระพุทธศาสนา สิ่งอื่นนอกจากนี้เป็นส่วนขยายออกหรืองอกขึ้นมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น
เมื่อจับความหมายที่เป็นตัวแท้ได้แล้ว ก็จะมองเห็นว่า ความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา หมายถึงความคงอยู่แห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า หากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเลือนลางหายไป แม้จะมีบุคคล กิจการ ศาสนสถาน และศาสนวัตถุใหญ่โตมโหฬารมากมายเท่าใด ก็ไม่อาจถือว่ามีพระพุทธศาสนา แต่ในทางตรงข้าม แม้ว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรมภายนอกดังกล่าวจะสูญหาย ถ้าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ายังดำรงอยู่ คนก็ยังรู้จักพระพุทธศาสนาได้ ด้วยเหตุนี้ การดำรงรักษาพระพุทธศาสนาที่แท้จริง จึงหมายถึงการดำรงรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
กล่าวให้เฉพาะลงไปอีก คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ก็ได้แก่พุทธพจน์ หรือพระดำรัสของพระพุทธเจ้านั่นเอง ดังนั้น ว่าโดยสาระ การดำรงรักษาพระพุทธศาสนา จึงหมายถึงการดำรงรักษาพระพุทธพจน์
อนึ่ง พระพุทธพจน์นั้น เป็นพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงธรรมและบัญญัติวินัยไว้ ก่อนพุทธปรินิพพานไม่นาน พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองว่าจะไม่ทรงตั้งพระภิกษุองค์ใดเป็นศาสดาแทนพระองค์เมื่อพระองค์ปรินิพพานล่วงลับไป แต่ได้ทรงมอบหมายให้ชาวพุทธได้รู้กันว่า พระธรรมวินัยนั้นแหละเป็นพระศาสดาแทนพระองค์ ชาวพุทธจำนวนมากถึงกับจำพุทธพจน์ภาษาบาลีได้ว่า
โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา
“ดูก่อนอานนท์ ! ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย
ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย โดยกาลที่เราล่วงลับไป”
โดยนัยนี้ พระพุทธพจน์ จึงเป็นทั้งพระพุทธศาสนาคือคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้า และที่ธำรงสถิตพระศาสดา โดยทรงไว้และประกาศพระธรรมวินัยแทนพระพุทธองค์