แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๒๐ ความหมดจดแห่งปฏิปทาและญาณปัญญาจนถึงพระนิพพาน
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อม จงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกข์รูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรม พุทธศาสนิกชน ทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายในเรื่องของภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติในหมวดของทางสายเอกถึงความดับทุกข์ ตอนนี้ถึงวิสุทธิ ๗ สองข้อสุดท้ายซึ่งก็จะเป็นตอนจบของทางสายเอกถึงความดับทุกข์อันนี้ จะเป็นในหัวข้อธรรมที่อาจจะยากสักหน่อยหนึ่ง ดังนั้น จึงให้ทุกท่านได้ตั้งอกตั้งใจสดับรับฟังให้เป็นดุจดั่งพานทองรองรับรสแห่งพระธรรมเทศนา วิสุทธิ ๗ ที่เป็นทางแห่งความหมดจด ทางแห่งความหลุดพ้น เป็นปัญญาสุดท้าย เป็นปริญญาสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ที่ชื่อว่าปหานปริญญา ปริญญาในขั้นละ ละกิเลส ละตัวละตนปริญญา ของพุทธเจ้ามี ๓ ด้วยกันญาตปริญญา ตรีรณปริญญา แล้วก็ปหานปริญญา ญาตปริญญา เป็นปริญญาขั้นรู้จัก กำหนดให้รู้จัก แล้วก็ตีรณปริญญา น้อมเข้ามาพิจารณา จากนั้นจึงเป็นปหานปริญญา คือละออกไป ละออกไป ละออกไป กิเลสทั้งหลายจึงจะหมดไป จึงจะถึงความดับทุกข์ได้
วิสุทธิข้อที่ ๖ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือปัญญาที่เข้าถึงความรู้สึกในทางที่ถูก ตรงสู่พระนิพพานโดยถูกต้องแล้ว ความรู้ในข้อปฏิบัติที่ถูกในการเห็นแจ้งอันเป็นเครื่องดำเนินไปสู่มรรคปฏิปทา คือการปฏิบัติตามเส้นทางของมรรคของพระพุทธเจ้าเป็นหนทางที่จะเดินไปสู่ความบริสุทธิ์ คือพระนิพพาน มรรคในที่นี้ ทางในที่นี้ หมายถึงอารมณ์ที่เป็นข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ตัณหาและทิฏฐิ ตัณหาคือความอยากทั้งหลายทั้งปวง ทิฏฐิความเห็นผิด ไม่สามารถเข้าไปในอารมณ์นั้นได้ อารมณ์ของวิปัสสนาคือไตรลักษณ์ ดังที่ได้อธิบายเมื่อวาน การที่พิจารณากายใจนี้น้อมลงสู่ไตรลักษณ์ ส่วนปัญญาเป็นตัวผู้รู้อารมณ์ไตรลักษณ์นั้น ความรู้เช่นนี้แหละจะเป็นปัจจัย ก็คือเป็นเหตุแก่วิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณก็คือ ปัญญาที่เกิดจากการเห็นแจ้งตามความเป็นจริง เห็นอะไร? เห็นกาย เห็นใจ ไม่ใช่เอาตาเนื้อเห็น ถ้าเอาตาเนื้อเห็นนี้ เราก็มองเห็นทุกวันอยู่แล้ว แต่ก็มองไม่ได้เห็นของจริง เพราะมันถูกปิดบังอยู่ จึงต้องใช้ตาใน คือปัญญาจักษุมอง ตาในจะเกิดได้อย่างไร? เกิดจากสติสัมปชัญญะสมาธิ ปัญญานี่แหละเป็นตัวทำงาน แล้วก็จะเป็นปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณนี้ สูงต่อเนื่องขึ้นไปเรื่อยๆ
วิสุทธิข้อที่ ๕ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ที่แปลว่าความหมดจดแห่งการรู้การเห็นว่า อะไรเป็นทาง ไม่ใช่ทางนี้ เมื่อกำจัดวิปัสสนูปกิเลส คือสิ่งที่ทำให้การเจริญสติของเราเศร้าหมอง ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่าง เป็นปีติ เป็นความรู้ที่เป็นมิจฉาญาณ ปัสสัทธิ ความสงบแล้วก็สุข แม้กระทั่งจะเป็นอธิโมกข์-ปักใจเชื่อ อุปัฏฐานะ-สติชัดเกินไป ปัคคหะ-วิริยะมากเกินไป อุเบกขา-วางใจแบบผิด จนกระทั่งตัวสุดท้าย นิกันติ คือชอบในอารมณ์เหล่านั้น จึงทำให้หลงทาง เพราะฉะนั้น เมื่อกำจัดสิ่งเหล่านี้ที่เป็นทำให้วิปัสสนาเศร้าหมองก็คือ วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ไปได้ จึงทำให้วิสุทธิข้อ ๕ หมดจด ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ผู้ปฏิบัติธรรมจนเกิดปัญญาเข้าใจในข้อปฏิบัตินั้นว่าถูกต้อง ปราศจากความเข้าใจผิดโดยประการทั้งปวงแล้ว จึงจะดำเนินไปสู่ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือความเห็นแจ้ง ความบริสุทธิ์แห่งการเห็นที่การดำเนินตามทาง การประพฤติการปฏิบัติที่ถูกต้อง
วิสุทธินี้จะมีวิปัสสนาญาณต่างๆ เกิดขึ้นมา เริ่มตั้งแต่ปัญญาญาณที่เห็นความเกิด-ดับ เห็นความเกิด-ดับของกายของใจนี้ว่ามันไม่ได้เที่ยงนะ มันไม่ได้อยู่ในสภาพเดิม มันไม่ใช่เป็นสภาพที่บังคับบัญชาได้ มันมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา เห็นแต่ความเกิด-ดับ เกิด-ดับ แบบนี้จึงเป็น อุทยัพพยญาณ ที่เป็นปัญญาเห็นความเกิด-ดับ ก็จะเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงโคตรภูญาณ ญาณปัญญาข้ามโคตร ข้ามโคตรจากปุถุชนไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า ท่านก็แยกให้ละเอียดๆ เป็น ๑๐ ญาณด้วยกัน ทีนี้ก็จะได้อธิบายญาณแรกของวิสุทธิข้อนี้ ซึ่งถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ๑๖ จะอยู่ในข้อที่ ๔ แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ๙ จะเป็นข้อแรก เพราะว่าเป็นวิปัสสนาญาณแท้ๆ มีอยู่ ๙ ด้วยกัน
ญาณปัญญาที่เห็นแต่ความเกิด-ดับของรูปขันธ์ ของขันธ์ ๕ นี้ ของกาย ของใจ
ขันธ์ ๕ ว่าโดยย่อก็คือ กายกับใจ รูปก็คือร่างกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็คือ เป็นเรื่องของใจ เห็นการเกิด-ดับของกายของใจนี้ โดยการน้อมลงสู่ไตรลักษณ์ เห็นอย่างนี้ เป็นการเห็นด้วยปัญญา ที่เป็นปัญญาจักษุในปัจจุบันขณะ ปัจจุบันธรรม คือในขณะที่เกิด แล้วก็ค่อยๆ ดับสลายลงไป เห็นแล้วก็เข้าใจสภาวะธรรมดังกล่าวในแง่ของปรมัตถ์ ปรมัตถ์ก็คือว่าสูงสุดของจริง ไม่ใช่สมมุติ เช่นว่า เห็นสังขารขันธ์ สังขารขันธ์ก็คือความคิด ความคิดความปรุงแต่งที่มันผุดขึ้นมา แล้วมันก็ดำรงอยู่ชั่วคราว แล้วมันก็หายไป ความคิดอันนั้น เห็นอย่างนี้ ดังนั้น ความรู้ชัด เห็นในการเกิด-ดับ ชัดเจนอย่างนี้ จึงทำให้ละ ละความว่าเที่ยง ละความสำคัญว่ามันเป็นสุข ละความสำคัญว่าเป็นตัวตนได้ เพราะตั้งแต่เกิดมา เราก็จะเข้าใจผิดมาตลอดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันเที่ยง ความทุกข์ไม่มีหรอก มีแต่ความสุข ดังนั้น คนจึงแสวงหาแต่ความสุข แล้วก็ทุกอย่างมันก็เป็นตัวเป็นตนไปหมด ไม่เห็นมีอันไหนที่มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มองไปก็ตัวเรา ของคนนั้น ของคนนี้ ความรู้สึกมันครอบมาอย่างนี้ตั้งแต่เกิด เพราะกิเลสมันห่อหุ้ม เหมือนกับเปลือกไข่ฟองไข่ กระเปาะฟองมันจะหุ้มเอาไว้ คืออวิชชา มองไม่เห็นความเป็นจริง สิ่งที่จะชำแรกให้เห็นความจริงได้ นั่นก็คือ วิปัสสนาปัญญาที่เกิดจากการประพฤติการปฏิบัติ เจริญสติ เจริญสมาธิตัวนี้ จึงจะไปเห็นของจริงๆ เมื่อเห็นแล้ว มันจะละความสำคัญว่าเที่ยงออกไปได้ มันจะละความสำคัญว่าเป็นสุขออกไปได้ จะละความสำคัญว่าเป็นตัวเป็นตนออกไปได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าสอนแต่เรื่องทุกข์เป็นข้อแรก ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ เปรียบเสมือนกับโลกเรา ท่านบอกว่ามีแต่ความร้อน แต่พอความร้อนน้อยก็กลายเป็นความเย็น อย่างนี้ กายใจของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน มีแต่ความทุกข์ พอมันทุกข์น้อยหน่อย ก็มองเห็นเป็นความสุข แล้วก็ติดในความสุขอันนั้น จึงมองไม่เห็นความเป็นจริง พระพุทธเจ้าเอาของจริงที่ทวนโลกทวนกระแสนี่แหละ เอามาบอก เอามาสอนง่ายๆ ปัญญาขั้นนี้จึงเห็นการเกิด-ดับของกายของใจ ของรูปธรรมนามธรรม กระบวนการของขันธ์ ๕ ด้วยปัญญาที่เห็นด้วยไตรลักษณ์อย่างชัดเจนชัดแจ้ง
ต่อไป เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ญาณต่อไป ปัญญาขั้นต่อไป ท่านใช้ชื่อว่า ภังคญาณ หรือภังคานุปัสสนาญาณ เห็นแต่การแตกดับ เมื่อเห็นการเกิดการดับบ่อยๆ ถี่ขึ้นๆ ชัดเจนขึ้น ก็จะเริ่มคำนึงเด่นชัดขึ้นด้วยปัญญา ในความดับไป มองเห็นเด่นชัดขึ้นไป ที่จิตคือตัวปัญญานี่เอง ถึงการต้องดับสลายไปของกายของใจ ของรูปธรรมนามธรรม ของขันธ์ ๕ เรานี้ เห็นแต่ความดับ ความหมายของพระนิพพาน แปลว่าดับ ต้องเห็นการดับแบบนี้จึงจะเห็นการดับของจริง คือพระนิพพานได้ เพราะฉะนั้น พอญาณปัญญาตรงนี้ เห็นแต่การดับ เห็นได้ชัด อานิสงส์ที่จัดอยู่ในวิสุทธิข้อนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ผ่านญาณปัญญาที่เห็นแจ้ง ที่เป็นวิปัสสนาญาณถึงภังคญาณนี้ ท่านบอกว่าจะได้รับอานิสงส์ ๘ ประการเข้ามาในใจ คือ ละความใคร่ยินดีในภพชาติต่างๆ เพราะรู้แล้วว่ามันไม่ใช่ความสุข ประการที่สอง ละความใคร่ในชีวิต เพราะเห็นแล้วว่าชีวิตเป็นไปเพื่อทุกข์ แล้วก็ต้องการจะแก้ไขให้พ้นทุกข์เท่านั้น อย่างที่ ๓ หมั่นประกอบความเพียรเพื่อจะได้พ้นจากทุกข์ ๔. เลี้ยงชีพด้วยความบริสุทธิ์ ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ๕. ไม่ขวนขวายในทางที่ผิด ให้ผิดไปจากธรรมวินัย ๖. มีความกล้าหาญ ไม่ยอมผิดศีล ไม่เกรงกลัวต่อสิ่งที่จะทำให้เสียศีลธรรม ๗. มีขันติ อดทนอดกลั้น ไม่เป็นไปกับกิเลสของคนอื่น ไม่ตามโลกตามกระแสนั่นเอง เป็นคนสอนง่ายเลี้ยงง่าย ไม่ดื้อรั้น ประการที่ ๘ อดกลั้นต่อความยินดียินร้าย ไม่ตอบสนองกิเลสของตนในอารมณ์ต่างๆ โดยผิดทาง อันนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการที่เห็นแต่ความดับๆๆๆ อย่างเดียว คุณธรรม ๘ ประการนี้ เป็นอานิสงส์อันเนื่องมาจากปัญญาของผู้ปฏิบัติธรรมที่เห็นแต่ความดับของกายของใจ อาศัยคุณธรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยให้ลุถึงความดับทุกข์ ถ้าผู้ใดยังไม่ได้อานิสงส์นี้แล้ว ก็ยากจะดำเนินถึงพระนิพพานได้ อานิสงส์ดังกล่าวมิใช่เกิดจากการให้ทาน มิใช่เกิดจากการรักษาศีลหรือเกิดจากสมาธิ แต่จะต้องได้โดยตรงจากการต่อยอดด้วยปัญญาเท่านั้น
ปัญญาต่อไป ที่เป็นวิปัสสนาญาณต่อไปก็คือ ภยญาณหรือภยตูปัฏฐานญาณ ญาณปัญญาที่มองเห็นสังขารหรือนามรูป กายกับใจนี้ว่ามันเป็นของมีภัย เพราะความที่ไปเห็นด้วยปัญญาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่ไม่เที่ยง มันแปรปรวน แตกสลายยุบยิบๆยับ ไปหมด จนกระทั่งมองแทบไม่ทันนี้ แม้กระทั่งจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว เห็นหมด เห็นการเกิด-ดับชนิดนี้ พอเห็นแบบนี้ จิตมันจะคลายว่ามันไม่มีอะไรเลย มันไม่มีอะไรให้ยึดถือ ยึดมั่นถือมั่นเลย เหมือนหลอดไฟนี้ หลอดไฟที่เรามองเห็นเป็นแสงสว่างต่อเนื่อง แต่ความจริงแล้ว มันคือการเกิด-ดับของอณูแสงที่มันเกิด-ดับไวมากจนกระทั่งเรามองเห็นเป็นแสงสว่างตลอดเวลา แต่เราจะเห็นชัดว่าตอนที่ไฟตกนี้ มันจะพึ่บพั่บๆๆ เพราะมันช้าลง อย่างนี้เป็นต้น
รูปธรรมนามธรรมก็คือกายกับใจ ก็เช่นเดียวกัน จิตของคนนี้ไวมาก ลัดนิ้วมือเดียวเกิด-ดับตั้ง ๑๘ โกฏิขณะ ๑๘๐ ล้านขณะ ตามไม่ทันหรอก ส่วนรูปธรรมก็คือร่างกายนี้ ช้ากว่านั้นนิดหน่อย แต่จะมองเห็นได้แบบหยาบๆ ก็คือ เห็นแต่ความเกิดดับยุบยับๆ มองไม่ทัน ไล่ไม่ทัน แต่รู้ว่ามันเกิด-ดับอย่างนี้นี่เอง ปัญญาชนิดนี้แหละเป็นปัญญาที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติอย่างติดต่อต่อเนื่อง แต่อย่างไรมันก็คือ ยังเป็นโลกียญาณ มันก็ขึ้นๆ ลงๆ ตามสภาพจิต ตามความติดต่อต่อเนื่อง ที่เรียกว่าญาณตก สมาธิตก ก็เกิดขึ้นได้ เพราะขาดการติดต่อต่อเนื่อง แต่มันก็ไม่ได้หายไปไหน พอมาทำต่อยอด มันก็จะต่อยอดไปได้ อย่างนี้ เห็นเป็นความกลัว ความกลัว ถ้าไปยึดถือ ไปอยาก มันก็ต้องก่อทุกข์ ก่อโทษภัย เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไม่มีที่สิ้นสุด จึงเห็นว่ามันเป็นความน่ากลัว จึงคลายความอยาก ความยึด ในกายในใจต่างๆ
เมื่อผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติอยู่เนืองๆ ทำให้เกิดขึ้น ทำให้มาก “อาเสวิตา ภาวิตา พหุลีกตา” บาลีจะแปลว่า เสพมากๆ ก็คือ ปฏิบัติมากๆ ทำให้เกิดขึ้น ทำให้มากๆ เจริญมากๆ ซึ่งการที่เห็นการเกิด-ดับนี้ โดยเฉพาะอันที่แล้วที่เห็นแต่ความดับ ดับก็คือนิโรธ นิโรธก็คือดับ คือความสิ้นไป ความเสื่อมไป แล้วก็ความแตกดับของสังขารทั้งปวงเป็นอารมณ์อยู่อย่างนี้ จะเห็นได้ว่า สังขารทั้งหลายคือความคิดความปรุงแต่งที่มันมีแต่ความแตกดับ มันอยู่ในภพทั้ง ๓ กำเนิดทั้ง ๔ คติทั้ง ๕ วิญญาณฐิติ ๗ สัตตาวาส ๙ ทุกหนทุกแห่งมันมีแต่ภัยที่น่ากลัว ปรากฎเป็นของที่น่ากลัว เช่นเดียวกับคนเราที่กลัวสัตว์ร้าย กลัวเสือ กลัวหมี กลัวเสือดาว กลัวยักษ์ กลัวผีปีศาจ กลัวช้างตกมัน กลัวงู กลัวฟ้าผ่า กลัวป่าช้า กลัวสนามรบ เหล่านี้ หรือแม้กระทั่ง กลัวหลุมถ่านเพลิงที่มันลุกโชติช่วง เป็นต้น เรากลัวอย่างนี้ฉันใด การกลัว กลัวภัยในวัฏสงสารก็จะเกิดขึ้นชัดเจนอย่างนี้ จะปรากฏเป็นของที่น่ากลัวมาก ผู้ปรารถนาที่จะพ้นไปนี้ก็จะเห็นอยู่ว่า ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากความน่ากลัวนี้ไปได้ ตรงนี้แหละเรียกว่าภยญาณ ปัญญาที่เห็นแต่ความน่ากลัวภัยในวัฏสงสาร ท่านอุปมาด้วยผู้หญิง ผู้หญิงมีลูก ๓ คน ในการที่ญาณปัญญาที่มีแต่ความกลัวภัยในวัฏสงสารเกิดขึ้นมานี้ มีอุปมาว่า สมมุติว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งมีลูก ๓ คน แล้วลูก ๓ คนทำผิดหนัก ถูกสั่งประหาร ให้ตัดคอลูกทั้ง ๓ คน ผู้หญิงคนนั้นก็ไปดูที่ลานประหาร เขาก็เห็นเพชฌฆาตตัดศีรษะของลูกคนโต ตอนนั้นเธอก็เหมือนใจจะขาด แล้วก็เตรียมการเพื่อจะตัดศีรษะของลูกคนกลาง ที่นี้พอเห็นลูกคนน้อยคนเล็กนี้ ก็รู้เลยว่า อย่างไรก็ต้องตายอยู่ดี จึงทอดอาลัย หมดอาลับ ก็คิดว่าอย่างไรเสีย ลูกคนเล็กก็ต้องตายเหมือนกัน ๒ คนก่อนหน้านี้ ในอุปมานั้น การที่ผู้ปฏิบัติเห็นการดับ การดับของกาย ของใจ ของสังขารความปรุงแต่งทั้งหลายที่เป็นอดีต ก็เปรียบเหมือนกับผู้หญิงคนนี้ เห็นลูกชายคนโตถูกตัดหัว การที่ผู้ปฏิบัติเห็นความดับของสังขาร ความคิดความปรุงแต่งทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน ก็เปรียบเหมือนกับการที่ผู้หญิงคนนี้เห็นลูกคนกลางกำลังถูกตัดคอ การที่ผู้ปฏิบัติเห็นความดับของสังขารของกายของใจนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็เปรียบเสมือนกับที่ผู้หญิงที่เป็นแม่ทอดอาลัยในลูกคนเล็กว่า อย่างไรมันก็ต้องตายแน่นอน ไม่รอดอยู่แล้ว เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นอยู่อย่างนี้ ตรงนี้ ณ ปัจจุบันขณะจึงเป็นภยญาณ ญาณปัญญาที่เห็นแต่ความกลัว กลัวภัย
ปัญญาต่อไปชื่อว่า อาทีนวานุญาณ คำนึงเห็นโทษ พอกลัวแล้วก็เห็นแต่โทษ เมื่อเห็นสิ่งต่างๆ ล้วนแต่ต้องดับสลายไป จึงคำนึงเห็นโทษที่จะเกิดขึ้นว่า จะเกิดทุกข์โทษภัยขึ้น จากการแตกสลายดับไปของสังขารการปรุงแต่ง ของกายของใจ ถ้าไปอยากหรือว่ายึดไว้ ก็จะเกิดทุกข์เกิดโทษ เกิดภพเกิดชาติ เกิดวัฏสงสาร เกิดการเวียนว่ายตายเกิด ไม่สิ้นสุด เมื่อเห็นโทษดังนี้แล้ว การเกิดความรู้สึกว่าเป็นโทษ คือในขณะที่เห็นกายเห็นใจ เห็นรูปเห็นนามดับไป เกิดความรู้สึกว่า เป็นโทษ นอกจากจะเห็นเป็นภัยแล้ว ยังรู้สึกว่าเป็นโทษอีก ท่านเปรียบเทียบให้เข้าใจอย่างนี้ว่า มีผู้ชายคนหนึ่งหาหน่อไผ่เพื่อจะเอาไปขายแล้วก็ทำอาหารในครอบครัว เมื่อเดินไปถึงตรงกอไผ่ เห็นหน่อไผ่อันหนึ่งซึ่งตรงกับจุดประสงค์ อยู่ในกลางกอไผ่ พอชายผู้นั้นจะมุดตัวเข้าไปในกอไผ่ ก็ย่อมจะเกิดความกลัวหนาม กลัวหนามจะทิ่ม กลัวกิ่งไผ่ เหมือนกับปัญญาที่ผ่านมานี้ ที่เป็นภยญาณ ที่เป็นความกลัว แต่เมื่อมุดเข้าไปในกอไผ่แล้ว ก็ย่อมเจ็บปวดไม่มากก็น้อย เพราะหนามไผ่ หรือว่ากิ่งไผ่มันขีดข่วนเอา ต้องเจ็บต้องแสบ ต้องทุกข์ต้องรำคาญ เหมือนกับปัญญาอย่างที่ ๗ เป็นความกลัว แต่เมื่อปรารถนาจะเอาหน่อไผ่ ก็ยังต้องมุดไปข้างหน้า เช่นเดียวกับผู้ปฏิบัติเมื่อถึงปัญญาขั้นนี้ เจริญสติอย่างไม่ท้อถอย เพื่อปรารถนาที่จะละกิเลสอันก่อให้เกิดทุกข์ สู้ต่อไป
ปัญญาต่อมา นิพพิทาญาณ ปัญญาญาณที่คำหนึ่งถึงความเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายกายใจนี้ เบื่อหน่ายรูปนามขันธ์ ๕ นี้ กายกับใจเรานี้ ว่ามันก็ล้วนแต่ไม่เที่ยง มันแปรปรวน มันแตกสลายดับไปในที่สุด ไม่สามารถจะควบคุมบังคับได้ตามปรารถนา จึงเกิดความหน่ายต่อกายสังขารต่อกายต่อใจนี้ เพราะปัญญาที่ไปรู้ตามความเป็นจริงอย่างที่สุดนี่เอง ความหน่ายคลายความยึดถือ ความอยา หรือเหล่าตัณหาทั้งปวงจากการไปรู้ความจริง เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นดังนี้ก็จะเบื่อหน่ายเอือมระอา ไม่อภิรมย์ยินดีในกายในใจนี้ที่มันมีแต่การแตกดับ ซึ่งมันดำเนินไปอยู่ในภพชาติในวัฏสงสารไม่รู้จบ เปรียบเสมือนกับพญาหงส์ทอง ผู้ยินดีอยู่ในป่าหิมพานต์ ไม่อภิรมย์ยินดีในบ่อน้ำสกปรกใกล้ประตูบ้านคนจัณฑาล คือบ้านคนจัณฑาลก็รู้อยู่แล้วว่ามันสกปรกมาก แล้วบ่อน้ำนี้ มันมีแต่ของเน่า ของเหม็น ไม่ว่าจะเป็นหมูเป็นสุนัขสารพัดนี้ไปขลุกอยู่ตรงนั้น ใครไปอินเดียจะเห็นภาพบ่อน้ำคนจัณฑาลเป็นอย่างไร มันเน่า มันเหม็นด้วย เหมือนกับพญาหงส์ทองนี้ ไม่ยินดีอยู่ในบ่อน้ำใกล้ประตูบ้านคนจัณฑาล จะยินดีอยู่แต่ในสระใหญ่ในป่าหิมพานต์เท่านั้น ฉันใด พญาหงส์ คือผู้ปฏิบัตินี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่อภิรมย์ยินดีในสังขารกายใจ ที่มันมีแต่การแตกดับ มีโทษร้าย ซึ่งตนได้เห็นมาอย่างดีแล้ว แต่ทว่า จะยินดีแต่ในอนุปัสสนา ๗ เท่านั้น เพราะว่าเป็นผู้ประกอบแล้ว ด้วยการยินดีในการภาวนา อนุปัสสนา ๗ คืออะไร? คือการที่คำนึงเห็นความไม่เที่ยง เรียกว่าอนิจจานุปัสสนา ก็ย่อมละการยึดถือเก่าๆ ที่คิดว่าทุกอย่างมันเที่ยงได้ อย่างที่สองก็คือ ทุกขานุปัสสนา คำนึงถึงว่าเป็นทุกข์ จะละความสำคัญว่า ทุกอย่างมันมีแต่ความสุข ที่เราหลงกันมาตลอดไปได้ แล้วก็ต่อมาก็อนัตตานุปัสสนา ปัญญาคำนึงว่าเป็นอนัตตา ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่บังคับบัญชาได้ ย่อมละความยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตนได้ ยึดถือว่าเป็นตัวกู ของกูได้
ต่อมาเมื่อเจริญนิพพิทานุปัสสนาญาณ คือ ปัญญาคำนึงถึงความเบื่อหน่าย ย่อมละนันทิ คือความเพลิดเพลินยินดี ในธรรมจักรฯ ท่อนหนึ่งที่บอกว่า “ตัตระ ตัตราภิ นันทินี” ก็คือตัวนันทินั่นแหละ ที่ยินดียิ่งอยู่ในตัณหา อยู่ในภพชาตินั้นๆ อยู่ในความมี ความเป็นอย่างนั้นๆ
เมื่อเจริญวิราคานุปัสสนา คำนึงถึงความคลายกำหนัด ก็ย่อมละราคะยินดีพอใจได้ เมื่อเจริญนิโรธานุปัสสนา ปัญญาเห็นแต่นิโรธคือความดับทุกข์นี้ ย่อมละเหตุให้เกิดทุกข์ คือสมุทัยได้
เมื่อเจริญปฏินิสสัคคานุปัสสนา ปัญญาคำนึงถึงความสละคืน สลัดทิ้ง ย่อมละความยึดมั่นถือมั่นออกไปได้ ตรงนี้ ที่พระพุทธเจ้าจะตรัสเสมอๆ เลยว่า เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดก็ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว คำนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้เยอะมาก จึงเอามาเทียบเคียงตรงนี้ได้ ดังนั้น ผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้จึงเบื่อหน่าย ไม่อภิรมย์ยินดีในกายในใจนี่แหละ แต่จะยินดีแต่ทางแห่งพระนิพพานอันเป็นความสุขสงบอย่างแท้จริง โดยนัยเป็นต้นว่า ความไม่เกิดขึ้นเป็นความดับทุกข์ เป็นแดนเกษม เป็นผู้มีใจโน้มไปในพระนิพพาน โอนเอียงไปในพระนิพพานอันเป็นสันติบท คือ ความสุขสงบโดยแท้
ต่อไป ปัญญาต่อมา มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณปัญญาที่มีความหยั่งรู้ ต้องการจะพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดที่เป็นตัวก่อทุกข์ ก่อโทษ ก่อภัยนี้ ปรารถนาที่จะพ้นไปจากรูปนามขันธ์ ๕ เมื่อกุลบุตรหรือผู้ปฏิบัติธรรมเบื่อหน่ายอยู่ เอือมระอาอยู่ ไม่ยินดีอยู่ด้วยนิพพิทาญาณ จิตก็จะไม่ข้องไม่เกาะ ไม่ติดอยู่ในสังขาร ในความคิด ในกายในใจทั้งหลายแม้แต่อย่างเดียว เขาบอกว่า เปรียบเหมือนอะไร? ที่อยากจะออกไปนี้ เปรียบเหมือนกับสัตว์และบุคคล เป็นต้น อย่างนี้คือ ปลาที่มันติดอยู่ในแห คิดดูว่า มันอยากออกไปมาก คนที่เจริญวิปัสสนาโดยลำดับมา มารู้มาเห็นตรงนี้ อยากจะออกไปจากวัฏสงสาร เหมือนกับกบอยู่ในปากงู เพราะมันก็รู้ มันจะต้องตาย มันจะต้องทุกข์ ความรู้สึกเป็นอย่างนั้น เหมือนไก่ป่าถูกขังไว้ในกรง เพราะไก่ป่านี้ มันหากินอิสระ พอเอาจับมาขังไว้ในกรง มันก็ทุกข์ เหมือนเนื้อกวางที่อยู่ในบ่วงบาศก์อันเหนียวแน่น ติดกับเหมือนงูที่อยู่ในเงื้อมมือของหมองู เหมือนช้างที่ติดหล่ม แล้วมันขึ้นไม่ได้ เหมือนกับพญานาคอยู่ในปากพญาครุฑ เหมือนพระจันทร์เข้าไปในปากราหูที่เกิดจันทรุปราคา เหมือนกับคนที่ถูกศัตรูล้อมเอาไว้ ล้วนแล้วแต่มีความปรารถนาที่จะพ้นไปให้ได้ มุ่งมั่นจะออกไปจากที่นั่นให้ได้ฉันใด จิตของผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น เป็นจิตที่ปรารถนาจะพ้นไป ประสงค์จะออกไปเสียจากสังขารร่างกายนี้ทันใดนั้น ครั้นผู้ปฏิบัติท่านนั้น ปราศจากความอาลัยในสังขารทั้งปวงแล้ว ก็ปรารถนาจะพ้นไปจากสังขารทั้งปวงอยู่อย่างนี้ นี่แหละคือปัญญาขั้นนี้
ต่อไป ชื่อว่าปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่พิจารณาทบทวน เพื่อให้เห็นทางหลุดพ้นไปเสียจากภัยเหล่านี้ ดังเช่น โยนิโสมนสิการ หรือปัญญาหยิบยก ขันธ์ ๕ นี้ กายใจนี้ ขึ้นมาพิจารณาโดยไตรลักษณ์อีกครั้งหนึ่งโดยน้อมไปสู่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เพื่อหาอุบายที่จะปลดเปลื้อง ปล่อยวางในสังขาร ในขันธ์ ๕ เหล่านี้ เพื่อให้หลุดพ้นจากภัยเหล่านั้น ผู้ปฏิบัตินั้น เป็นผู้มีความปรารถนาเพื่อจะพ้นไปเสียจากสังขารทั้งหลาย ซึ่งมีแต่ความแตกดับทุกหนทุกแห่ง จึงเอาสังขารร่างกายตัวเองนี่แหละ พิจารณาขึ้นสู่ไตรลักษณ์ แล้วก็กำหนดรู้ ผู้ปฏิบัตินั้นจะเห็นชัดเจนขึ้นในไตรลักษณ์ คือ เห็นสังขารทั้งปวง
สังขารก็คือกายกับใจนี้ มันไม่เที่ยง โดยเป็นไปชั่วคราว โดยกำหนดได้ด้วยความเกิด ความดับ โดยแตกทำลาย โดยเป็นไปชั่วขณะ โดยความหวั่นไหว โดยผุพัง โดยไม่ยั่งยืน โดยมีความแปรผันเป็นธรรมดา โดยไม่มีสาระ โดยปราศจากความเจริญ โดยเป็นของถูกปรุงแต่งขึ้น โดยมีความตายเป็นธรรมดา เหล่านี้เป็นต้น เห็นเป็นอย่างนี้ แล้วก็เห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงนี้ คือความคิด ความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง มันเป็นทุกข์ ด้วยเหตุทั้งหลาย เช่น เป็นต้นว่า ถูกเบียดเบียนเฉพาะหน้าอยู่เนืองๆ มันทนได้ยาก เป็นที่ตั้งของทุกข์ เป็นโรค เป็นแผลฝี เหมือนกับถูกปืนยิง ถูกลูกศรเสียบ โดยความชั่วร้าย โดยความป่วยไข้ โดยความหายนะ โดยเป็นอุปัทวะ โดยเป็นภัย โดยเป็นอุปสรรค โดยไม่เป็นที่ต้านทาน โดยไม่เป็นที่หลบลี้ โดยไม่เป็นที่พึ่ง โดยเป็นโทษร้าย โดยเป็นต้นเหตุแห่งความชั่วร้าย โดยเป็นฆาตกร โดยมีความเกิดเป็นธรรมดา โดยมีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา มีความโศกเป็นธรรมดา มีความคร่ำครวญเป็นธรรมดา มีความคับแค้นใจเป็นธรรมดา มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา เห็นอย่างนี้ชัดเจนขึ้น เห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงโดยอสุภะ คือโดยความไม่งาม คือว่า โดยเป็นของไม่งาม เป็นของมีกลิ่นเหม็น เป็นของน่าเกลียด เป็นของปฏิกูลไม่สะอาด โดยเป็นการไม่ตบแต่งนะ เป็นรูปพิการ เป็นของควรสลัดทิ้งไป แล้วก็เห็นทุกอย่างเป็นอนัตตา ด้วยเหตุทั้งหลายเป็นต้นว่า เป็นของว่างเปล่า เป็นของสูญ ไม่มีเจ้าของ ไม่มีใครที่จะเป็นใหญ่ ในกายในใจนี้ได้ ไม่ได้เป็นไปในอำนาจของใครๆ เราลองดูสิ ถ้าเราเป็นไปในอำนาจ ถ้ากายใจมันเป็นไปในอำนาจได้ เราคงจะสั่งมันได้ทุกอย่าง สั่งไม่ให้คิด สั่งไม่ให้แก่ สั่งไม่ให้ผมหงอก สั่งไม่ให้ผิวหนังย่น สั่งไม่ให้หูตึง สั่งไม่ให้ฟันผุ สั่งไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ป่วย สั่งไม่ให้เป็นโรคอย่างนั้น ไม่ให้เป็นโรคอย่างนี้ แต่เพราะเราไม่ได้มีอำนาจอะไรๆ ในกายในใจนี้เลย มันจึงเป็นอนัตตา ที่เราเห็นหยาบๆ เห็นง่ายๆ นี้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งไม่ควรยึดถือ ผู้ปฏิบัติท่านนี้ ก็จะเห็นอยู่ดังนี้แหละ ที่เรียกว่า ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์อย่างชัดเจน
ท่านอุปมาว่า เหมือนคนจับปลา สมมุติว่ามีชายคนหนึ่งคิดจะจับปลา ไปคว้าเอาสุ่มจับปลา ไปสุ่มลงในน้ำ เราลองนึกภาพตาม แล้วก็พอสุ่มจุ่มลงในน้ำ หย่อนมือลงไปในปากสุ่ม แล้วก็ไปจับเอางู แล้วคิดว่าปลา จับงูไว้ที่คอใต้น้ำ ก็ดีใจว่าจับปลาได้แล้ว จับปลาได้แล้ว ได้ปลาตัวใหญ่จริงๆ จึงยกขึ้นมาดู พอเห็นสวัสดิกะ หรือว่าเหมือนรูปดอกจันที่อยู่ตรงคองูนี้ รู้เลยว่าเป็นงูพิษ พอรู้ว่าเป็นงูก็เลยกลัว เห็นโทษเลยว่า ถ้าถูกมันกัดนี้ต้องตายจึงท้อใจในการจับ ปรารถนาเพื่อที่จะพ้นไป แต่ถ้าไม่จับ มันก็จะแว้งกัด อย่างไรก็ต้องจับเอาไว้ จึงทำอุบายเพื่อที่จะพ้นไป จึงแกะ ปลดมือออกจากงูตั้งแต่ปลายหาง แล้วยกแขนขึ้น แกว่งงูเหนือศีรษะ ๒-๓ รอบ ทำให้งูมันอ่อนแรง ให้งูมันเปลี้ยแล้วก็เหวี่ยงทิ้งไป แล้วก็รีบขึ้นจากน้ำ ยืนมองดูทางที่ตนคิดว่ารอดปลอดภัยจากงูพิษตัวนี้แล้ว ในอุปมานั้น ท่านก็อุปมาให้เห็นชัดเจนเลยว่า เวลาที่ผู้ปฏิบัติที่เห็นชัดเจน แล้วก็เข้าใจว่า การได้อัตภาพเกิดเป็นมนุษย์นี้ แล้วก็ยินดีพอใจมาตั้งแต่แรกที่รู้ความนี้ ก็ยินดีมาตลอด เปรียบเหมือนกับเวลาที่ชายคนนั้ จับงูที่คอมันไว้ ก็ดีใจว่าเป็นปลา การที่ผู้ปฏิบัติทำการย่อยความเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นตัวเป็นตนของกายของใจออกไป แล้วเห็นไตรลักษณ์ เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอย่างชัดเจน เปรียบเหมือนกับการที่ชายคนนั้นนำเอาหัวงูออกมาจากปากสุ่ม ตอนแรกก็ได้คว้านจับอยู่ก็คิดว่าปลา เหมือนคนเราเกิดมาเป็นมนุษย์ก็คิดว่ามีแต่ความสุข ก็หลงระเริง อยู่ในกาม ในกิน ในเกียรติ อยู่ในกาม มีความสุขในการสืบพันธุ์ มีความสุขในรูปสวยๆ เสียงไพเราะๆ มีความสุขในการกินของอร่อยๆ มีความสุขในการมีเกียรติ ในความมี ในความเป็น สุขอย่างนี้ที่คนในโลกแสวงหากัน ดังนั้น จึงเป็นสภาพที่แย่งกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันมาครอง แย่งอำนาจกันเป็นใหญ่ เพราะเห็นว่าเป็นของดี จึงยื้อแย่งชิงกันมา สุดท้าย พอเห็นด้วยปัญญาแล้วนี้ เหมือนกับชายผู้ปฏิบัติธรรมหรือชายคนนี้ดึงขึ้นมาจากน้ำ รู้เลยว่าเป็นงู เพราะเห็นตัวที่ปรากฏที่คองู เขาเรียกว่าตัวสวัสดิกะ หรือที่เราเรียกกันแหละ เหมือนรูปดอกจัน รู้ว่าเป็นงูพิษ เป็นเหมือนกับภยญาณนี้ที่เห็นเป็นของน่ากลัว เหมือนคนกลัวงู ทีนี้ การที่กลัวนี้ พอกลัวแล้วก็รู้เลยว่า เข้าใจด้วยปัญญาที่ความจำตั้งแต่เด็กๆ มาเลยว่า อย่าไปยุ่งกับงู งูมันมีพิษ ขึ้นชื่อว่างูแล้ว ต่อให้มันมีพิษ ไม่มีพิษก็ต้องมีไว้ก่อน เพราะเราดูไม่ออกเลยว่า ตัวไหนที่มีพิษ ตัวไหนไม่มีพิษ งูตัวเล็กๆ ถึงมันจะมีพิษ มันกัดก็ตายเหมือนกัน พอความรู้สึกตรงนี้มันเกิดขึ้นมา ก็หาทางที่จะเอางูตัวนี้ออก แต่ปล่อยมือไม่ได้ ถ้าปล่อยมือมันก็ต้องกัดแน่นอน จึงพยายามจับคอมันไว้ เพื่อที่จะเหวี่ยง เปรียบเหมือนกับว่า นิพพิทาญาณ อาทีนวญาณ ญาณปัญญาที่เห็นโทษ แล้วเกิดความเบื่อหน่าย ถึงเบื่ออย่างไรก็ต้องอยู่กับกาย อยู่กับใจ อยู่กับสังขารนี้ต่อไป เหมือนกับต้องทนจับคองูต่อไป เพื่อที่จะหาทางเหวี่ยงทิ้ง พอรู้แล้วว่า ทำอย่างไรจึงจะพ้นไปได้ ก็เหมือนกับการที่ยกกายยกใจนี้มาพิจารณาสู่ไตรลักษณ์ ให้เห็นชัดเจนด้วยปฏิสังขาญาณ เป็นการเหมือนกับการทำอุบายแห่งการพ้นไปจากงู ความจริงนี้ ชายคนนั้นแกว่งงู ทำให้มันอ่อนแรง ทำให้มันสามารถวกมากัดได้ แล้วปล่อยมันทิ้งไป ไม่ได้ฆ่า เป็นการปล่อยไปอย่างดีฉันใด ผู้ปฏิบัติท่านนี้ก็ฉันนั้น เวียนกำหนด สังขาร ร่างกาย กาย ใจนี้ ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ ทำให้ทุพพลภาพ คำว่าทุพพลภาพ คือไม่ใช่ทำให้กายพิการ แต่ทำให้ถึงความไม่สามารถจะมาปรากฏโดยการเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นของงดงาม เป็นตัวเป็นตนได้อีกต่อไป คือ ต้องพยายามกำหนดให้ติดต่อต่อเนื่อง เจริญสติให้ติดต่อต่อเนื่อง พอเห็นชัดเจนดังนี้ ความสำคัญที่ว่ามันเที่ยง สำคัญที่ว่ามันเป็นสุข สำคัญที่ว่ามันงดงาม สำคัญที่ว่ามันเป็นตัวเป็นตนนี้ มันจะหายไปชั่วขณะที่เรากำหนดรู้ สติรู้เท่าทัน เพราะฉะนั้น จึงกล่าวไว้ข้างต้นว่า กำหนดรู้อยู่อย่างนั้นนี้ เพื่อให้บรรลุถึงอุบายแห่งการพ้นไป เป็นอันว่า ปฏิสังขาญาณ ก็เป็นการกำหนดด้วยเพียงเท่านี้
ต่อไป ขั้นต่อมา สังขารุเปกขาญาณ ญาณปัญญาที่เป็นไปโดยความเป็นกลาง คืออุเบกขา ต่อสังขารร่างกายนี้ เมื่อรู้เข้าใจตามความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงด้วยปัญญา เช่น กายใจนี้ มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันจะเอามายึด เอามาถือ เอามาเป็นที่พึ่งไม่ได้เลย วางใจเป็นกลาง กายสังขารก็ดี ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่ติดใจในกาย ในใจ จึงโน้มไปสู่ความมุ่งที่หลุดพ้ คือพระนิพพาน วางใจเป็นกลาง อุปมาด้วยนกการู้ทิศ คือ ปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมา ถ้าเห็นพระนิพพาน รู้แล้วว่าพระนิพพานนี่แหละเป็นของจริงที่จะหลุดพ้น แต่คือตอนนี้เรารู้ว่านิพพานนี้คือความดับทุกข์ ความรู้อย่างนี้เป็นการรู้จากการฟัง เป็นการรู้จากการจำ เป็นการรู้จำ เราต้องมารู้จริงรู้แจ้งด้วยการเจริญสติ เจริญสมาธิ จะรู้ชัดเจนเลยว่า นิพพานเป็นทางสงบ เป็นทางดับทุกข์ ก็จะสลัดทิ้งความเป็นไปของกายของใจ สังขารทั้งปวง วิ่งเข้าสู่พระนิพพานอย่างเดียว หากแต่ว่ายังไม่เห็นพระนิพพาน เพราะยังไม่ได้ถึงมรรคถึงผล แต่รู้ว่าทางไปเป็นอย่างนี้แล้ว ก็จะพิจารณาแต่กายใจนี้สู่ไตรลักษณ์อย่างเดียว ดำเนินไปอยู่แล้วๆ เล่าๆ เปรียบเสมือนกับนกกาของพวกพ่อค้าที่เดินทางทะเล รู้ทิศทางที่จะไป ทิศเหนือ ใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก รู้ทาง เพราะสมัยก่อนยังไม่ได้มีเข็มทิศ ไม่ได้มี GPS คนสมัยโบราณยังไม่รู้จักใช้เข็มทิศ นักเดินเรือโบราณ เช่น ชาวอินเดีย พวก northman หรือพวกไวกิ้งนี้ ก็จะใช้วิธีปล่อยนกนำทาง จิตก็จะรู้เลยว่า ทางไปสู่นิพพานตรงๆ เป็นอย่างนี้ จิตก็จะวิ่งไปอย่างนี้
ต่อไป อนุโลมญาณ ปัญญากำหนดรู้กายใจรูปนามเป็นครั้งสุดท้าย โดยอนุโลมน้อมไปตามลำดับ เมื่อสำเร็จกิจในวิปัสสนาญาณทั้ง ๘ ตั้งแต่ปัญญาที่เห็นความเกิด-ดับ จนกระทั่งมาถึงสังขารุเปกขาญาณ ที่วางเฉยวางใจเป็นกลางในกายในใจนี้ แล้วก็กำหนดไปตามโพธิปักขิยธรรม ที่เป็นทางแห่งการตรัสรู้ จนกระทั่งมาถึงโพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสายเดียวกัน เป็นวิธีเดียวกันทั้งหมด สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมะ ๗ หมวด ที่เป็นอุปมาเหมือนกับการเสด็จเดิน ๗ ก้าวของเจ้าชายสิทธัตถะในวันประสูติ เหมือนกับธรรมะ ๗ หมวด ที่น้อมเอียงโอนเอียงไปสู่พระนิพพาน ญาณปัญญาอันเป็นไปต่อการตรัสรู้อริยสัจ เป็นไปโดยการหยั่งรู้ความเป็นจริง เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขาร ต่อกายต่อใจ ทั้งหลายแล้ว ญาณก็จะคล้อยตามอริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไปเป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ นี่คือวิปัสสนาญาณ ๙ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้
ต่อไป โคตรภูญาณ โคตรภู โคตรแปลว่าชาติ เชื้อสาย แล้วก็อีกคำหนึ่ง คำว่าภู มาจากคำว่าอภิภุยยะ แปลว่าทำลาย โคตรภู จึงแปลว่า การทำลายเชื้อชาติ ปัญญาที่ทำลายเชื้อชาติ ท่านแยกให้เห็นสองอย่าง
มหคตโคตรภู คือ การทำลายเชื้อชาติกามด้วยอำนาจของสมาธิขั้นสูง ในขั้นของสมาบัติ ๘ ที่เป็นอัปปนาขั้นสูงสุดนี้ เป็นสมาธิขั้นสูงที่มันสงบกดทับกิเลสเอาไว้ มันทำให้กามนี้มันสงบ และก็โลกุตรโคตรภู การทำลายเชื้อชาติของปุถุชน ดังนั้น โคตรภูญาณ จึงเป็นญาณครอบโคตรต่อจากอนุโลมญาณ ครอบโคตร ก็คือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างภาวะของปุถุชนที่จะไปเป็นพระอริยเจ้า โคตรปุถุชนกับโคตรอริยเจ้า ตรงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อคั่นอยู่นิดเดียว ความหยั่งรู้ที่เป็นภาวะแห่งการข้ามพ้น จากปุถุชนผู้มีกิเลสหนาแน่นเข้าสู่ความเป็นอริยบุคคล คือพระโสดาบัน จนถึงพระอรหันต์ โดยโคตรภูจิตนี้ หน่วงนิพพานเป็นอารมณ์ ละปุถุชนโคตรทันที เป็นจิตทำลายเชื้อชาติปุถุชน การกำหนดรู้ที่ผ่านมาโดยลำดับนี้ ตัดอารมณ์โลกีย์ ตัดโคตรปุถุชนไม่มีเหลือ เป็นโลกียญาณ ปล่อยวางขันธ์ ๕ ก่อนที่อริยมรรคที่มีนิพพานป็นอารมณ์จะปรากฏครั้งแรก
จะเห็นว่า วิปัสสนาญาณแต่ละลักษณะ ทำให้วิสุทธิเกิดขึ้น โดยเฉพาะปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินี้ ทำให้ญาณปัญญา ๑๐ อย่างนี้เกิดขึ้นมา พอเกิดขึ้นมาแล้ว มันไม่ใช่เกิดขึ้นมาเฉยๆ เกิดขึ้นมาลอยๆ พอเกิดขึ้นมาแล้วมันละ ละไปทีละอย่างๆๆ ท่านอุปมาง่ายๆ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมนี้ เราไม่รู้หรอกว่า วันนี้มันหมดไปเท่าไหร่ กิเลสมันหมดไปกี่เปอร์เซ็นต์ กี่เปอร์เซ็นต์ ท่านทำให้เห็นง่ายๆ เหมือนกับด้ามมีดของช่างไม้นี้ ที่เขาจับมีดฟันไม้ทุกวันๆๆ รอยมือของเขาก็ชัดเจนที่ด้ามมีด เขารู้ว่าด้ามมีดมันสึกไปเพราะรอยมือจับ จับแรงด้วย แต่เขาไม่รู้หรอกว่า วันนี้มันสึกกร่อนไปกี่เปอร์เซ็นต์ แต่เขารู้ว่า มันหมดไปๆ ญาณปัญญาก็เช่นเดียวกัน เมื่อปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ตามมรรคมีองค์ ๘ แล้วนี้ มันจะไปอย่างนี้ มันจะละไป ละไป ละไป เราไม่รู้ว่ามันละไปเท่าไหร่ เพราะปัญญาเราไม่ทัน แต่รู้ว่ากิเลสมันน้อยลง จากเมื่อก่อนเคยโกรธมากก็โกรธน้อย เมื่อก่อนเคยโลภมากก็น้อยลง เมื่อก่อนเคยขุ่นเคืองมากก็น้อยลง เมื่อก่อนเคยหลงไม่เท่าทันสติก็เท่าทันมากขึ้นอย่างนี้ เป็นผลที่ได้จากการเจริญสติ ทีนี้ พอมาญาณทัศนะวิสุทธิ ที่เป็นวิสุทธิข้อที่ ๗ ตัวนี้จะเป็นตัวผล คือเป็นอริยมรรค อริยผลแล้ว
วิสุทธิข้อที่ ๖ ที่เป็นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งการเห็นแจ้งทางปฏิปทาการปฏิบัติเป็น ๑๐ ญาณด้วยกัน พอมาวิสุทธิข้อสุดท้าย ชื่อว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ แปลว่า ความหมดจดแห่งการเห็นที่เป็นญาณปัญญา เป็นปัญญาในมรรคญาณ ผลญาณ เห็นแจ้งพระนิพพาน เป็นปัญญาขั้นสูงสุดของการเจริญวิปัสสนา ของการเจริญมหาสติปัฏฐาน ๔ จนเห็นอริยสัจ ๔ ครบถ้วน จะมีญาณที่ ๑๔ ของญาณ ๑๖ ท่านชื่อว่ามรรคญาณ ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคล เมื่อโคตรภูจิตดับลงไป ญาณข้ามโคตรดับไป คือมันเกิดขึ้นไวมาก จนมองไม่ทันหรอก มองไม่เห็นหรอก เพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียวนี้ แต่ท่านแยกให้เห็นอย่างละเอียดว่า เป็นอย่างนี้ๆ เพราะฉะนั้น เมื่อโคตรภูจิตดับลงไป อริยมรรคเสวยนิพพานต่อชั่วขณะจิตหนึ่ง ญาณปัญญาที่เกิดร่วมกับมรรคจิคนี้ เรียกว่ามรรคญาณ จะเห็นนิโรธสัจในส่วนทุกข์ สมุทัย มรรค เกิดพร้อมกันทั้งสี่เลย เป็นโลกุตระ ท่านเปรียบเหมือนกับคุณสมบัติของดวงไฟ คนสมัยก่อนใช้ตะเกียง เหมือนกับดวงไฟนี้ มันจะทำหน้าที่ ๔ อย่างในขณะเดียวกัน คือ ๑. ทำให้ไส้เทียน หรือว่าไส้ตะเกียงไหม้ ๒. ขจัดความมืด ๓. เกิดแสงสว่าง ๔. ทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงหมดไป ข้อนี้ฉันใด มรรคญาณก็ฉันนั้น ทำให้นิโรธ แล้วก็ทุกข์ สมุทัย มรรคนี้ เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสี่ เลย เริ่มหมดความรู้สึกที่อนุโลมญาณ ก้าวสู่ความดับผ่านญาณข้ามโคตร จนถึงมรรคญาณตรงนี้ ญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นข้อสุดท้ายในวิสุทธิ ๗ ก็จะเห็นชัดเจนขึ้น
ลักษณะการดับนี้ แตกต่างกัน มีลักษณะดังนี้ ลักษณะแรก สังขาร ความคิด ความปรุงแต่ง มันสุขุมละเอียดอย่างยิ่ง ดับไป เรียกว่าดับทางอนิจจัง ทุกขเวทนาเกิดขึ้นอย่างแรงกล้า ในที่สุดมันดับไป อันนี้คือผู้ที่ดูทุกขเวทนา เรียกว่าดับทางทุกขัง ลักษณะที่ ๓ สังขาร ความคิด ความปรุงแต่งต่างๆ มันละเอียดอย่างยิ่ง ค่อยๆ หายดับไป เป็นการดับทางอนัตตา สุดท้ายก็คือ มารวมลงสู่ที่ไตรลักษณ์เช่นเดิม ดับนี่แหละ ดับของไตรลักษณ์
ต่อไป ญาณที่ ๑๕ ผลญาณ ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของปัญญาญาณในอริยผล เมื่อมรรคจิตดับ ผลจิตก็จะเสวยอารมณ์พระนิพพานทันที มรรคจิตผลจิตนี้ มันไม่มีระหว่างคั่น พอมรรคจิตดับไป ผลจิตก็เกิดขึ้นทันที โดยไม่มีระหว่างคั่น ต่อกัน จึงเป็นมรรคเป็นผล ถ้าเรียกเป็นตัวบุคคลก็มีแค่ ๔ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ แต่ให้แยก ก็จะเป็นคู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้แปดบุรุษ ก็คือนับในฝ่ายมรรคกับฝ่ายผลนั่นเอง ทีนี้ พอเป็นผลญาณ ท่านบอกว่า มรรคจิตดับ ผลจิตเสวยนิพพานทันที ๒ ขณะ ญาณที่เกิดร่วมกับผลจิต เรียกว่าผลญาณ เป็นญาณขั้นโลกุตระ ก็คือ เหนือโลก เหนือวัฏสงสาร โลกุตระมาจาก ๒ คำ คือโล กับกุตระ แปลว่า เหนือโลก หรือว่าโลกอุดรนั่นเอง มรรคญาณไม่ว่าชั้นใดเกิดขณะจิตเดียวเท่านั้น ผลญาณก็จะปรากฏ ๒-๓ ขณะจิต การกำหนดรู้ดำเนินต่อไปในโสดาปฏิมรรค โสดาปฏิมรรคนี้พอเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่เกิดขึ้นมาอย่างเดียว จะประหารกิเลส ๕ อย่าง คือ สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน ความเห็นว่าเป็นตัวกู ของกูออกไป ทำลายประหารวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยออกไป ทำลายสีลัพพตปรามาส ความยึดถือว่า คนนี้จะหมดจดบริสุทธิ์ด้วยทางนี้เท่านั้น จะไม่ประพฤติย่อหย่อนอ่อนแอ ที่เรียกว่าไม่ลูบคลำในศีลในข้อวัตร แล้วก็สี่ กามราคะที่จะนำพาไปสู่อบายจะหมดไป จริงอยู่มีกามราคะ แต่กามราคะนั้นจะไม่ทำให้ท่านไปสู่อบายอีกแล้ว แล้วก็ปฏิฆะ คือความขุ่นที่เป็นอารมณ์ของโทสะ มีความโกรธอยู่ มีความขุ่นเคืองอยู่ แต่ความโกรธความขุ่นเคืองนั้น จะไม่ทำให้ไปสู่อบาย
สุดท้ายเป็นปัจจเวกขณญาณ ญาณที่ ๑๖ เป็นปัญญาที่หยั่งรู้ พิจารณาทบทวนกิเลสที่ละ แล้วก็กิเลสที่เหลือและนิพพาน เว้นแต่พระอรหันต์ที่ไม่มีกิเลสที่เหลือ ลักษณะญาณ ผลจิตดับภวังคจิตเกิดสืบต่อแล้ว ก็จะเป็นญาณตัวนี้แหละ พิจารณาว่า อะไรเหลือ อะไรหมดไป ตรงที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นก็มีญาณปัญญารู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว การประพฤติพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว หน้าที่อื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ ไม่มีอีกต่อไป นี่จะเป็นญาณปัญญา เป็นคำอุทานของพระอรหันต์ ท่านรู้ตัวท่านเองโดยอัตโนมัติ นี่แหละคือปัจจเวกขณญาณ เกิดขึ้นมาจากมรรค จากผล การปฏิบัติวิปัสสนา จนบรรลุพระนิพพาน โดยผ่านวิปัสสนาญาณต่างๆ มา เทียบกับวิสุทธิ ๗ มาโดยลำดับ ผ่านครั้งแรกเป็นโสดาบัน ถึงจุดหมายอันยิ่งใหญ่ในชีวิต ได้สมบัติอันเป็นอมฤต แม้สมบัติพระเจ้าจักรพรรดิ สมบัติท้าวสักกะที่เป็นสวรรค์สมบัติ ยอดแห่งมนุษย์สมบัติคือสมบัติพระเจ้าจักรพรรดิ สมบัติท้าวสักกะหรือแม้กระทั่งสวรรค์สมบัติที่ยอด หรือแม้กระทั่งสมบัติของท้าวมหาพรหม ก็เทียบกับความเป็นโสดาบันไม่ได้ เพราะโสดาปัตติผลเป็นโลกุตระสมบัติ ไม่ต้องไปสู่อบายภูมิ ต่างจากมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ ยังเป็นโลกีย์ ยังขึ้นๆ ลงๆ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ภพชาติยังยาวไกล แต่โสดาบันนั้น ย่นเข้ามาเหลือไม่เกิน ๗ ชาติ ผู้ที่ประสงค์จะบรรลุอริยมรรคอริยผลเบื้องสูง ก็ต้องปฏิบัติในทำนองเดียวกันนี้แหละ ปหาน ละสังโยชน์ได้ ๑๐ ประการครบถ้วน ในจิตสันดานขาดสิ้นไป หลุดพ้นจากกิเลสทุกชนิด ไม่มีเชื้อเหลือให้เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในภพใดๆ เลย
ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ เป็นวิธีเข้าถึงอริยสัจธรรมในพระพุทธศาสนาสมบูรณ์อย่างแท้จริง ความจริง วิปัสสนาญาณนี้ที่ผู้ปฏิบัติธรรมทำให้เกิดขึ้นแล้วย่อมทำลายข่ายกิเลสที่ติดตามมาตลอดกาลนาน ที่มันสร้างสรรค์ปั้นแต่งแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ทุกอย่าง มันปั้นเราเป็นอย่างนี้ตลอดเลยให้พินาศไป สายฟ้าฟาดลงมาด้วยความเร็วอันน่าหวาดกลัว ทำลายภูเขาศิลาทั้งหลายให้พังพินาศลงไป วิปัสสนาญาณทำหน้าที่อย่างนั้นแหละ เหมือนไฟไหม้ป่าที่ลุกไหม้ขึ้นมาด้วยแรงพายุ ทำลายป่าให้มอดไหม้ไป เหมือนดวงอาทิตย์ ซึ่งมีรัศมีรุ่งโรจน์ด้วยความร้อนของตน กำจัดความมืดให้สลายไป เพราะฉะนั้น พึงทราบอานิสงส์ในปัญญาภาวนา มีอานิสงส์ที่เห็นประจักษ์ด้วยตนเองเช่นนี้
คำสอนในพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธองค์มีพระพุทธประสงค์ก็เพื่อจะให้สัตว์ทั้งหลายเข้าถึงปัญญาที่เป็นญาณทัศนะวิสุทธิ ที่เป็นสุทธิข้อที่ ๗ นี้แหละ และธรรมทั้งหลายในคำสอนก็จะรวมลงในอริยสัจ ๔ ทั้งหมด ศาสนาพุทธที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีมาหลายล้านชาติ จุดมุ่งหมายก็เพื่อที่จะหยุดการเวียนว่ายตายเกิด เข้าถึงอริยมรรค อริยผล มรรคผล พระนิพพาน มีฐานนี้ ที่มันพาเราอยู่ที่การเวียนว่ายตายเกิด
พวกเรานี้ส่วนใหญ่จะติดวิปัสสนู คือวิปัสสนูปกิเลส ที่มันไม่ใช่ตัววิปัสสนา จึงไปติดในอารมณ์ของสวรรค์ อารมณ์พรหมโลก ศาสนาพุทธต้องให้เข้าใจว่าคือพระนิพพาน คือวิปัสสนา วิปัสสนาก็คือปัญญา พัฒนาไปจนโลกุตระ ปัญญาธรรมดานี้ทำธุรกิจหน้าที่การงานต่างๆ เรียกว่า ปัญญาทางโลกียะหรือทางโลกีย์
ทุกคนให้เข้าใจศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธนี้ต่อยอดทุกๆ ศาสนา ที่เราพากันหลงในวัฏสงสาร หลงในวัตถุ หลงในความสะดวกสบาย ที่เป็นคนรวยอย่างนี้ รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ สิ่งเหล่านี้มันยังเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ แม้แต่นักบวชก็ทำท่าจะไปได้ แต่พอมาหลงในความสุข ในสมาธิ คือยังมีตัวมีตนนี้ มันก็กลายเป็นวิปัสสนู ไปไม่ได้ ที่เรายังต้องการชื่อเสียง ต้องการบ้าน ต้องการรถ ต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ ต้องการแต่ความสงบ เพราะสิ่งเหล่านี้มันก็เป็นความปรุงแต่ง เราต้องรู้จักความปรุงแต่ง เพราะความปรุงแต่งเขาเรียกว่า เป็นโลกโลกีย์ เราทุกท่านทุกคนต้องเปลี่ยนฐานของจิตใจใหม่ จุดมุ่งหมายของเรา พระพุทธเจ้าท่านให้มุ่งไปเรื่องพระนิพพาน พวกสวรรค์ พวกพรหมโลก ให้เป็นทางผ่านของเราเฉยๆ เราต้องดู ฐานของศาสนาพุทธในทุกวันนี้ ถือว่ายังตกอยู่ในวิปัสสนู ทีทำให้หลงทางหมดเลย ไม่เข้าถึงโลกุตระ เรายังตั้งฐานไว้ไม่ถูกต้อง เราต้องพากันมาเสียสละ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันยังเป็นกาม มันยังเป็นโลกีย์ “โลกโลกีย์หลอกให้ทุกข์ทน ชีวิตจึงว่ายวนนรกร้อน โลกุตระนำชนสุขยิ่งจริงเฮย สองโลกไซร้ซ่อนซ้อนแผ่นหล้าเดียวกัน” ทั้งโลกียะ โลกุตระ มันอยู่ในที่เดียวกันนี้แหละ
เราต้องแยกให้เห็นด้วยตาปัญญา คำว่าเปลี่ยนฐานใหม่นี้ หมายถึงว่า เราต้องเปลี่ยนจุดมุ่งหมายใหม่ เราจะได้เข้าถึงศาสนาพุทธแท้ๆ ไม่อย่างนั้นเราก็จะถือพุทธด้วยใบสำมะโนครัวเฉยๆ บวชมามันก็ไปไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้เอามาธรรม เอาพระวินัย ๑๐๐% อย่างที่วัดไปไม่ได้ ก็เพราะว่า ไม่ได้เอาพระนิพพาน บวชมาเอาแค่สวรรค์ เอาแค่สมาธิ เราต้องมารู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ที่ว่าร่างกายนี้ มันไม่ใช่เรา มันเป็นแค่ดิน น้ำ ลม ไฟ มารวมกันเข้า จากธาตุ ๔ มารวมกันเป็นขันธ์ ๕ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รู้กายรู้ใจที่เป็นธรรม สิ่งที่มันนำเรามาเวียนว่ายตายเกิด ที่ใจของเรายังเป็นมิจฉาทิฐิ เรารู้แล้วต้องมาหยุดตัวเอง เอาศีลของพระพุทธเจ้า สมาธิ ปัญญานี้ มารู้กาย รู้ใจ มารู้แล้ว ต้องหยุด หยุดกิเลสอย่างหยาบด้วยศีล หยุดกิเลสอย่างกลางด้วยกำลังของสมาธิ หยุดกิเลสอันละเอียดด้วยกำลังแห่งวิปัสสนาปัญญา เราต้องทำอย่างนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็จะไม่รู้แจ้งเห็นจริง เราต้องมารู้แจ้งว่า อันนี้เราจะไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ เราต้องมาหยุดทำกรรม ตัดกระแสแห่งการเวียนว่ายตายเกิด จึงจะเป็นผู้ที่เที่ยงแท้ต่อพระนิพพาน ชีวิตของเรานี้ จึงจะเป็นผู้ที่ประเสริฐ วิสุทธิ
วิปัสสนาญาณที่ได้บรรยายมานี้ เป็นความรู้ขั้นภาวนามยปัญญา ที่เกิดจากการลงมือประพฤติ ลงมือปฏิบัติอย่างถูกต้อง ด้วยการดูกายดูใจ ที่สุดของโลกก็อยู่ที่กาย อยู่ที่ใจ ที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ ที่มีใจครองนี่เอง เราประพฤติปฏิบัติถูกต้องตามขั้นตอนของการปฏิบัติ แล้วก็ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่า ผู้หนึ่งผู้ใดจะต้องรู้ และเข้าใจญาณเหล่านี้เสียก่อน แล้วต่อจากนั้นค่อยลงมือปฏิบัติในภายหลัง ไม่จำเป็นต้องรู้ละเอียด แต่ความเป็นจริงนี้ จะรู้หรือไม่รู้ ก็บรรลุธรรมได้เท่ากัน ถ้าหากปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ พระพุทธเจ้าตรัสรับรองไว้แล้วว่า ตราบใดที่ยังมีการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ หากผู้ปฏิบัติอยู่ในสถานที่เหมาะสม มีสัปปายะ เหมาะแก่การบำเพ็ญปฏิบัติธรรม สัปปายะทั้ง ๗ ประการนี้ ๑. อยู่เหมาะสม สงบ พื้นที่สะอาดสะอ้าน ไม่พลุกพล่านจอแจ ๒. การเดินทางเหมาะสม บิณฑบาตสะดวก ไปมาสะดวก หนทางเรียบร้อย ไม่ซับซ้อน ไม่วกไป วนมา ๓. การพูดคุยเหมาะสม สนทนาแต่เรื่องดีๆ ที่สร้างแต่ประโยชน์ตัวเอง ไม่มอมเมาไปในทางที่ผิด ถ้อยคำที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ ๔. บุคคลเหมาะสม มีผู้รู้ มีครูบาอาจารย์ มีกัลยาณมิตรที่คอยชี้แนะ ชักนำไปในทางที่ถูก ที่ควร ๕. อาหารเหมาะสม ๖. อากาศเหมาะสม สดชื่น ร่มรื่น ร่มเย็น ไม่ร้อน ไม่หนาวเกินไป ๗. อิริยาบถเหมาะสม จัดการพื้นที่ ให้ยืน เดิน นั่ง นอน ได้อย่างสะดวกสบาย ไม่อึดอัดในระหว่างประพฤติปฏิบัติธรรมและปฏิบัติถูกต้องตามแนวทางแล้ว วิปัสสนาญาณวิสุทธิก็ย่อมเกิดขึ้นมาเองอย่างไม่ต้องสงสัย
วิปัสสนาญาณเหล่านี้เป็นความรู้แจ้ง เห็นแจ้งในธรรมชาติที่แท้จริง ที่เป็นปรมัตถธรรมของกาย ของใจ ที่มีอยู่ในลักษณะของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่อยู่ในอำนาจของใคร วิปัสสนาญาณเป็นความรู้ระดับสุดยอดของปัญญามนุษย์และเป็นผลสำเร็จที่สำคัญของมนุษย์ วิปัสสนาญาณไม่ว่าจะเป็นโลกียญาณหรือโลกุตระญาณล้วนแต่เป็นส่วนผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในความเป็นมนุษย์ที่จะพัฒนาไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า เมื่อความรู้แจ้งเห็นจริงเหล่านี้พอกพูนขึ้นมามากขึ้นๆ จนทำให้ความรู้สึกนึกคิด ทัศนะที่มีต่อโลกของผู้ปฏิบัติจะเปลี่ยนแปลงไป เป็นการเปลี่ยนฐาน เปลี่ยนแปลงจิตใจ ในที่สุดก็จะสามารถทำลายกิเลส คือความขีดคั่น คือความยึดมั่นถือมั่นอันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง คงเหลือแต่บรมสุขที่ถาวรคือพระนิพพาน ดังนั้น ทางสายเอกทั้งหมดทั้งปวงที่ได้บรรยายมาถึง ๒๐ ตอนนี้ จึงเป็นทางแห่งความพ้นทุกข์ เป็นทางดับทุกข์ที่แท้จริง พระพุทธเจ้าผู้ทรงคุณอันประเสริฐเป็นผู้เลิศกว่ามนุษย์เทพทั้งหลาย
“ทรงชี้ทางสายเอกแก่เวไนย พระจอมไตรตรัสบอกซึ่งครรลอง
เพื่อหมดจดจากกิเลสเผารนจิต รักษาพิษสัตว์ทั้งหลายใจเศร้าหมอง
ก้าวล่วงพ้นโศกาน้ำตานอง คร่ำครวญร้องสะอื้นไห้ใจระบม
เพื่อกำจัดความทุกข์โทมนัส ทุกข์สาหัสเพียงใดหายขื่นขม
บรรลุสู่ธรรมะอภิรมย์ ได้เชยชมอมตมหานิพพาน
มรรคานี้มีปรากฏในพระศาสน์ ทรงประกาศชื่อว่ามหาสติปัฏฐาน
ทางบริสุทธิ์แห่งจิตรู้ตื่นเบิกบาน พ้นบ่วงมารดับสิ้นทุกข์สุขอนันต์”
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาลถึงมรรคผลนิพพานทุกท่านเทอญ