แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๙ ความหมดจดแห่งญาณปัญญารู้ทาง และไม่ใช่ทางของการปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระมหาเถรา พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกข์รูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรม พุทธศาสนิกชนทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ วันนี้ก็จะเป็นการบรรยายต่อจากช่วงที่แล้ว ที่เป็นภาคปฏิบัติในเรื่องของทางสายเอกถึงความดับทุกข์ วันนี้จะบรรยายถึงวิสุทธิทั้ง ๗ ซึ่งได้อธิบายมาแล้ว ๔ ข้อด้วยกัน ซึ่งแยกเป็นปริญญา เป็นปริญญาต่างๆ ญาตปริญญา วันนี้เป็นวิสุทธิข้อที่ ๕ ตีรณปริญญาที่เป็นปริญญาเกี่ยวกับการกำหนดให้รู้ให้พิจารณา พิจารณาอะไร? พิจารณาไตรลักษณ์ วิสุทธิก็คือ ความบริสุทธิ์จากกิเลสที่เป็นไปทางกาย ทางใจ แล้วก็ทางปัญญา กายกับวาจารวมอยู่ในหมวดเดียวกันนี้ ก็คือ จะหมดจดได้ก็ด้วยศีล ทางใจแล้วก็ทางปัญญา กล่าวโดยย่อ คือ ศีล สมาธิ ปัญญานั่นเองที่จะเป็นไปโดยบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสทั้งปวง ความหมดจด ความบริสุทธิ์ผุดผ่องจากกิเลสนั้น มี ๓ ระดับด้วยกัน หยาบ กลาง แล้วก็ละเอียด ทั้งทางกาย ทางจิต และทางปัญญา ถ้าหมดจดจากกิเลสโดยศีล เวลาเรามีศีลนี้ ก็ชื่อว่า หมดจดจากกิเลสอย่างหยาบ คือเราจะงดเว้นจากการพูดไม่ดีทำไม่ดีออกไปได้ ถ้าหมดจดโดยสมาธิ ก็จะเป็นการหมดจดจากกิเลสอย่างกลาง กิเลสที่มันมารบกวนจิตใจ ก็จะข่มไว้ สะกดไว้ หรือว่าทับไว้ด้วยกำลังของสมาธิ ถ้าหมดจดด้วยปัญญานี้ เป็นการหมดจดจากกิเลสอย่างละเอียดที่เป็นอนุสัย ที่มันนอนเนื่องอยู่ในกมลสันดานมาทุกภพทุกชาติ ที่มันหมักหมมเอาไว้ นอนเอาไว้ ต่อเนื่องเอาไว้ คำว่าสันตานะหรือว่าสันดานนี้ ภาษาไทยก็เอาตรงตัวบาลี คือสันตานะหรือสันดาน แปลว่านอนเนื่อง มันนอนเนื่อง มันนอนนิ่ง มันนอนแช่อยู่ บางทีมองไม่รู้เลยว่ามันมี แต่ความจริงแล้วมันมี การที่จะเห็นจะรู้ว่ามันมีได้ ต้องเห็นด้วยปัญญา ต้องเห็นด้วยสติ ด้วยสมาธิ พอเห็นมันแล้ว รู้จักมันแล้ว ก็ขจัดมันออกไป ดังนั้นวิสุทธิทั้ง ๗ นี้ จึงเป็นธรรมที่ละเอียดมาก โดยเฉพาะ ๕ ข้อสุดท้าย ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญญา ละเอียดมาก แล้วก็เป็นธรรมชาติชนิดที่นำไปสู่แดนเกษม สู่ความเกษมจากกิเลสเครื่องร้อยรัด ก็คือ พระนิพพาน ผู้ที่จะบรรลุพระนิพพานได้นั้น ต้องดำเนินไปด้วยวิสุทธิทั้ง ๗ นี้ เป็นการสืบเนื่องการปฏิบัติมาจากสติปัฏฐาน จากอริยมรรคมีองค์ ๘ คือดำเนินไปด้วยความหมดจดจากกิเลส วิสุทธิทั้ง ๗ มีการดำเนินที่เกี่ยวเนื่องกับญาณ ๑๖ วิปัสสนาญาณ ๑๖ วันนี้จะขึ้นข้อที่ ๕ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือความเห็นที่บริสุทธิ์ ที่เกิดขึ้นว่า เป็นทางหรือไม่ใช่ทาง มรรคกับอมรรค ทางอะไร? ทางไปนิพพาน กับอะไรที่ไม่ใช่ทางนิพพาน คือสามารถตัดสินใจได้ว่า การยินดีในนิมิตเป็นทางผิด แล้วก็การกำหนดรู้เท่านั้นจึงจะเป็นทางถูก เป็นญาณที่ปรากฏ โดยเฉพาะญาณปัญญาที่ปรากฏตรงนี้ คือ สัมมสนญาณ ชื่อบาลี แต่ความหมายก็คือ ปัญญาที่กำหนดรู้เห็นไตรลักษณ์ เห็นความเกิด ความดับ รูปธรรม นามธรรม แต่รู้ว่ารูปนามดับไป ก็เพราะว่า เห็นรูปนามใหม่มันเกิดขึ้นสืบต่อแทนกันขึ้นมาแล้ว ดังนั้น วิสุทธิข้อนี้ จึงเป็นปัญญาที่รู้โดยถูกต้องแน่นอนแล้วว่า วิธีการใดใช่ทางหรือวิธีการใดไม่ใช่ทาง ทีจะดำเนินไปสู่การดับภพ ดับชาติ ดับวัฏสงสารของตนเอง โดยยกเอาสภาวะธรรมทั้งหลายขึ้นมาพิจารณาเป็นหมวดๆ ตามแนวไตรลักษณ์ ไม่ว่าเราจะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร แต่ละวันนี้อะไรปรากฏชัดขึ้นมา ให้เห็นจริงๆ ด้วยปัญญา แล้วก็น้อมเข้ามาสู่ไตรลักษณ์ว่ามันเกิดขึ้น แล้วมันก็ดำรงอยู่ชั่วคราว แล้วมันก็จะดับสลายไปในที่สุด
ลองสังเกตดู เวลาเราชอบอะไรสักอย่างหนึ่งขึ้นมา มันก็ไม่ได้ชอบตลอดวันตลอดคืนนะ มันปรากฏเกิดขึ้นนิดเดียวนะ พอมันถึงที่ มันก็จะค่อยๆ คลายไป มาแทรกด้วยอารมณ์อื่นแทน เวลาโกรธใครขึ้นมา มันก่อตัวนะ ก่อตัวจากเล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งมันถึงขีดสุด แล้วมันก็จะค่อยๆ เบาลงๆ แล้วมันก็หายไป มาแทรกด้วยอารมณ์อื่น ไม่ว่าจะเป็นสภาวะจิตที่มันดีหรือไม่ดี ก็จะเป็นอย่างนี้ตลอดทั้งวัน ดังนั้น เราจึงต้องพิจารณาน้อมเข้ามาสู่ไตรลักษณ์ ให้เห็นเป็นอนิจจัง คือมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ อยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ พิจารณาอะไร? ขันธ์ ๕ นี่แหละ พิจารณากาย ใจ เรานี่แหละ แต่ละวันๆนี้ ขันธ์ ๕ ที่มันอยู่ในกายเราทำงานตลอด ทั้งการเห็น การได้ยิน การฟัง การได้กลิ่น การรู้รส การถูกต้องสัมผัส และโดยเฉพาะความคิด ทำงานทั้งวัน ทั้งภายนอกภายใน ในขณะที่ผู้ปฏิบัติธรรมนี้พิจารณาไตรลักษณ์อย่างยิ่งยวด ย่อมทำให้เกิดรู้ความเกิดขึ้นแล้วก็ความดับไปของอารมณ์ต่างๆ ของรูปธรรม นามธรรมต่างๆ ในปัจจุบัน ทำให้ทราบว่า สิ่งที่พบนั้นเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ แล้วมันก็ดับไป จึงเข้าใจไตรลักษณ์ว่า เป็นรูปนามไม่เที่ยง เพราะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีสภาพเป็นทุกข์ เพราะถูกความเกิด-ดับมันบีบคั้นอยู่เสมอ แล้วก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเพราะบังคับบัญชาไม่ได้ เราไปสั่งกาย สั่งใจตัวเองไม่ได้เลย อย่าไปคิดอย่างนี้ อย่าเจ็บ อย่าป่วย อย่าง่วง อย่ามีอารมณ์อย่างนั้น อารมณ์อย่างนี้ สั่งไม่ได้เลย เพราะเราไม่ได้เป็นใหญ่ในกาย ในใจตน ถ้าเป็นใหญ่จริง คงจะบังคับได้ทุกอย่าง คงจะ stop อายุไว้เพียงเท่านี้ อย่าแก่ได้ไหม อย่าตายได้ไหม แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันบังคับไม่ได้ เพราะมันเป็นอนัตตา เห็นด้วยปัญญาอย่างนี้ การจะเห็นอย่างนี้มันไม่ใช่เห็นด้วยลูกตาเปล่าๆ มันเห็นด้วยตาปัญญาที่เป็นปัญญาจักษุ ที่พัฒนาจากวิสุทธิตั้งแต่แรก ตั้งแต่ศีลบริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์ที่เป็นสมาธิ พัฒนามาเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้ว่าอะไรคือรูป อะไรคือนาม อะไรคือกาย อะไรคือใจ อะไร คือธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ แล้วก็กำหนดชัดเจนว่ามันมีเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร ก้าวล่วงพ้นความสงสัยต่างๆ จนกระทั่งมาถึงจุดๆ นี้ เหมือนกับผ่านด่านมาเรื่อยๆ วิสุทธิข้อที่ ๕ นี้ จึงให้เห็นไตรลักษณ์อย่างชัดเจน พิจารณาแล้วก็เปรียบเทียบแม้กระทั่งที่เกิดขึ้นในอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต มันก็อยู่ในสภาพเดียวกัน คือไม่เที่ยง ย้อนมองอดีตจนมาถึงปัจจุบัน ปัจจุบันเป็นอย่างไร อนาคตต้องเป็นอย่างนั้น มันก็ต้องมีความเกิด-ดับ เกิด-ดับตลอดเวลา เห็นเช่นนี้ พิจารณาให้เห็นเช่นนี้แหละ คือเห็นไตรลักษณ์ ยกขึ้นสู่ปัญญา ท่านว่า ปัญญาในการย่อธรรมทั้งหลาย ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน แล้วกำหนดไว้ จึงชื่อว่า สัมมสนญาณ ก็คือ ญาณปัญญาที่พิจารณาชัดเจนถึงไตรลักษณ์ เป็นอย่างไร? คือ ผู้ปฏิบัติธรรมกำหนดรู้ทุกอย่าง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม “อชฺฌตฺตํ วา พหิทฺธา วา” ภายในก็ตามภายนอกก็ตาม “โอฬาริกํ วา สุขุมํ วา” หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม “หีนํ วา ปณีตํ วา” ที่เลวก็ตามประณีตก็ตาม แล้วก็ “ทูเร สนฺติเก วา” ในที่ไกลก็ตาม อยู่ในที่ใกล้ก็ตาม โดยความไม่เที่ยง การกำหนดอย่างนี้ก็เป็นปัญญาญาณ โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา นี่แหละคือปัญญาญาณที่เป็นสัมมสนญาณ
ในปริญญาทั้ง ๓ ที่เป็นปริญญาของพระพุทธเจ้าที่เราต้องมาเรียนรู้นี้ ปริญญาของพระพุทธเจ้าไม่มีใบประกาศ แต่ใบประกาศของปริญญาของพระพุทธเจ้า ก็คือ ความดับทุกข์ที่สามารถละกิเลสไปได้ทีละขั้นๆ ในปริญญาทั้ง ๓ ปริญญาที่รู้จักนี้ ที่ได้อธิบายมาแล้ว แล้วก็ปริญญาที่อยู่ในวิสุทธิข้อนี้ นั่นก็คือ โดยการที่เป็นวิปัสสนา แล้วก็มีไตรลักษณ์นี่แหละ ให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอารมณ์ ยกธรรมทั้งหลายเหล่านั้นขึ้นสู่ไตรลักษณ์นี่แหละ แล้วก็พิจารณาว่า ไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง ความรู้สึกต่างๆ มันก็ไม่เที่ยง ความจำ ความรู้สึก ความคิดอะไรต่างๆ อยู่ในสภาพเดียวกันทั้งหมดคือไม่เที่ยง แล้วมันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่แหละคือ ตีรณปริญญา วิปัสสนาที่มีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์นี้ ถ้ามันพิจารณามากขึ้นๆ แล้วมันละ เพราะมันเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดใคร่จะพ้นไป เมื่อมันละเป็นขั้นๆ ไป จึงจะเป็นปหานปริญญาเป็นปริญญาสุดท้าย เมื่อละได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน ก็คือ จบปริญญาของพระพุทธเจ้า คือพระอรหันต์
ผู้ปฏิบัติที่หยั่งเห็นรูปนาม คำว่ารูปก็คือกาย นามคือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ภาษาธรรม รูปนาม ภาษาเราเข้าใจก็คือ กายกับใจที่มันประกอบกันขึ้นมาจากธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ รวมกันเป็นรูป เป็นนาม เป็นกาย เป็นใจของมนุษย์เราทุกๆ คนนี้ที่หยั่งเห็นรูปนาม โดยความเกิดความดับที่ปรากฏขึ้นในปัจจุบัน ขณะนั้น ผู้ปฏิบัติก็เข้าใจได้ว่า รูปนามเป็นของไม่เที่ยง เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป “อุปฺปาทวยธมฺมิโน” มีความเกิดขึ้นและมีความดับไปเป็นธรรมดา เห็นตรงนี้ รูปนามที่มีความเป็นทุกข์ เพราะว่ามีการถูกบีบคั้น การเกิดขึ้นและการดับไป รูปนามมีความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพราะไม่ได้เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ ผู้ปฏิบัติที่เห็นประจักษ์ในลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ เรียกว่า เป็นการพิจารณาโดยความเป็นไตรลักษณ์ ปัญญาที่รู้เห็นเช่นนี้ ก็จะพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ เมื่อเห็นชัดมากขึ้นๆ ก็จะเห็นแต่ความเกิด ความดับ จะเป็นปัญญาขั้นต่อมา เรียกว่า อุทยัพพยญาณ ปัญญาที่เห็นแต่ความเกิด ความดับ อุทย หรือคำว่าอุทัย แปลว่าเกิดขึ้น วะยะ แปลว่าเสื่อม แปลว่าดับ อุทยัพพย ที่เอามาสนธิกัน แปลว่าเกิด-ดับ ปัญญาที่เห็นแต่ความเกิด-ดับ เกิด-ดับของอะไรล่ะ? อารมณ์ความรู้สึกต่างๆก็คือกายคือใจนี้ เห็นเช่นนี้ ที่มันเห็นความเกิด-ดับๆ เพราะว่าพิจารณาไตรลักษณ์จนช่ำชอง ปัญญาที่พิจารณาเห็นความแปรผันแห่งสภาวะธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน ท่านกำหนดไว้ว่าต้องเป็นปัจจุบัน จะเอาอดีตกรรมมากำหนดไม่ได้ เพราะมันผ่านไปแล้ว จะเอาอนาคตมากำหนดก็ไม่ได้ เพราะมันยังมาไม่ถึง ต้องเป็นปัจจุบัน จึงจะชื่อว่า อุทยัพพยญาณ เป็นอย่างไร? คือ รูปที่มันเกิดขึ้นแล้วเป็นปัจจุบัน ลักษณะความบังเกิดแห่งรูปนั้นชื่อว่าเกิดขึ้น ลักษณะความแปรผันไปเป็นความเสื่อม ปัญญาที่เห็นดังนี้ จึงจะเป็นปัญญาที่นับเข้าในข้อนี้ พอปัญญาที่เห็นความเกิด-ดับ เกิด-ดับ มันเป็นปัญญาที่เป็นปฏิปทาที่ถูกต้องในการที่จะน้อมเอียงไปสู่พระนิพพาน แต่อาจจะยังไม่สมบูรณ์พอที่จะรู้เท่าทันในอารมณ์ของกิเลสคือวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่าง มีโอภาสคือแสงสว่าง นิมิตเป็นต้น ที่มันเกิดขึ้นจากกำลังของสมาธิ ถ้าอารมณ์ของสมาธิมีมากกว่า มันก็จะดึงจิตให้ตกจากอารมณ์วิปัสสนา คือจะไม่เห็นไตรลักษณ์ละทีนี้ เห็นแต่แสง เห็นแต่สี เห็นแต่ความสงบ ก็เลยแช่นิ่งดิ่งแต่อยู่ในความสงบ ติดในสมาธิ แล้วก็บางทีพอเห็นแสงเห็นสี แสงเห็นแสงวูบวาบๆ หรือแม้กระทั่ รู้สึกว่าตัวเองมันสงบ เย็นเหมือนกับอยู่ใต้ท้องน้ำเป็นต้น จึงทำให้เข้าใจผิดคิดว่า ตัวเองบรรลุธรรม ไม่มีกิเลสแล้ว นิพพานแล้ว ความรู้สึกแบบนี้ มันจะมาอิงอาศัยได้ ถ้ารู้ไม่เท่าทันวิปัสสนูปกิเลส เหตุนี้ ความรู้สึกเช่นนี้ที่มันเกิดขึ้น ว่าเราเห็น ว่าเราสงบ เราเห็นแสง เราเห็นสี เรามีปีติอย่างนั้นอย่างนี้ จึงทำให้วิปัสสนาเศร้าหมองตกไปจากวิสุทธิ คือ ไม่เห็นไตรลักษณ์อีกต่อไป ปัญญาไม่เกิด มักจะทำให้หลงทาง ถ้ารู้เท่าทันวิปัสสนูปกิเลสที่เกิดขึ้น จะด้วยการเข้าใจหรือว่าด้วยที่ครูบาอาจารย์แนะนำ ความรู้สึกในอารมณ์ที่เห็นความเกิด-ดับก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความรู้สึกที่ถูกต้องนี้ มันอาจจะกั้นจิตมิให้ตกไปในอารมณ์ที่ผิดอีก ความเข้าใจนี้จึงจะเป็นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เห็นว่าอะไรเป็นทางหรือไม่ใช่ทาง แต่ถ้าหาก สติสัมปชัญญะอ่อน พิจารณาไตรลักษณ์ไม่ชัดเจน วิปัสสนูปกิเลสจะเข้าแทรก
ทีนี้ก็จะอธิบายวิปัสสนูปกิเลส สิ่งที่ทำให้วิปัสสนาปัญญาหม่นหมอง ทำให้วิปัสสนาเสื่อมไป เพราะผู้ปฏิบัติธรรมเห็นสิ่งเหล่านี้ แล้วก็สำคัญผิดว่าแสงสว่างเป็นต้น คือพระนิพพานแล้วหยุดปฏิบัติ หรือแม้จะไม่สำคัญผิดอย่างนั้น ก็อาจจะยินดีพอใจ พอใจอยู่แค่นี้ ไม่อยากไปต่อ จึงส่งผลให้การเจริญสติขาดช่วง ความก้าวหน้าก็ลดลง แต่ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมเข้าใจว่า เป็นเพียงทางผ่าน เหมือนป้ายบอกทาง มาถึงตรงนี้แล้ว มันต้องไปต่อ อย่าหยุดแค่นี้ ไม่อย่างนั้นก็จะวนอยู่แค่นี้ ไปต่อไม่ได้ แล้วก็กำหนดรู้ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นแสง เป็นสี เป็นอะไรต่างๆ ที่มันเป็นวิปัสสนู มันจะดับลง สิ่งที่ทำให้วิปัสสนาหม่นหมอง ๑๐ ประการย่อมเกิดขึ้น
ในวิสุทธิมรรค ท่านก็กล่าวถึงบุคคลผู้ที่เกิดหรือไม่เกิดวิปัสสนูปกิเลสไว้ดังนี้คือ โดยแท้จริงแล้ว วิปัสสนูปกิเลสจะไม่เกิดขึ้นแก่พระอริยเจ้าผู้บรรลุปฏิเวธแล้ว ไม่เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติผิด ไม่เกิดขึ้นแก่ผู้ละทิ้งกรรมฐาน แล้วก็ผู้ขี้เกียจขี้คร้าน จะไม่เห็นของพรรค์นี้ แต่จะเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ปฏิบัติชอบ พากเพียรไม่ท้อถอย ผู้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนาแล้วเท่านั้น จึงจะเกิดขึ้นได้ เอาง่ายๆ คือเป็นของดี แต่อย่าไปหลง พอหลงเมื่อไหร่ มันจะติดอยู่ตรงนั้น แล้วทีนี้ พึงทราบว่า วิปัสสนูปกิเลสนี้ ในปฏิสัมภิทามรรคท่านอธิบายไว้มี ๑๐ ประการด้วยกัน “โอภาเส เจว ยาเณ จ ปีติยา จ วิกมฺปติ ปสฺสทฺธิยา สุเข เจว เยหิ จิตฺต ปเวธติ อธิโมกฺเข จ ปคฺคเห อุปฏฺาเน จ กมฺปติ อุเปกฺขาวชฺชนายญฺจ อุเปกฺขาย นิกนฺติยา” จิตของผู้ปฏิบัติธรรมย่อมหวั่นไหวเพราะ ๑. แสงสว่าง คือนิมิต ๒. ญาณ ๓. ปีติ ๔. ปัสสัทธิ ความสงบ ๕. สุข ๖. อธิโมกข์ คือความเชื่อมั่น ๗. ปัคคหะ ความเพียรมากเกิน ๘. อุปัฏฐานะ สติที่จดจ่อแต่ขาดสัมปชัญญะ และก็ ๙. อุเบกขา ที่เกิดกับอาวัชชนอุเบกขา ก็คือ พิจารณาโดยสะดวก และข้อสุดท้าย ๑๐. นิกันติ ความชอบใจ ชอบใจในอารมณ์ทั้ง ๙
ข้อแรก โอภาสก็คือแสงสว่าง แสงสว่างนี้ปรากฏขึ้นด้วยอำนาจของสมาธิหรือว่าวิปัสสนาญาณ กล่าวคือ ผู้ที่เจริญสมถะภาวนา แม้กระทั่งเจริญพุทธานุสติ เป็นต้น หรือผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ในช่วงแรกๆ นี้ พอสติสมาธิมีกำลัง ไม่อาจเห็นความเกิด-ดับรวดเร็วของรูปนามได้ ก็จะพบเห็นแสงสว่างด้วยอำนาจของสมาธิ ดังครั้งหนึ่งที่เคยเล่าเรื่องท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ตอนนั้น ที่ท่านได้ยินคำว่าพุทธะ พุทโธจากสหายของท่านที่เป็นราชคหเศรษฐี ท่านก็นึกถึงแต่คำว่าพุทโธทั้งคืน การนึกถึงพุทโธทั้งคืนของท่าน เป็นการภาวนาไปในตัวโดยที่ท่านไม่รู้ตัว เพราะท่านคำนึงถึงแต่พระพุทธเจ้า เมื่อไหร่จะเช้า อยากจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเหลือเกิน เพราะว่าคำว่าพุทโธ พุทโธนี้ เป็นคำที่ยากเหลือเกิน นานเหลือเกินที่มนุษย์ผู้ที่สร้างบารมีมานี้จะได้ยิน บางคนได้ยินก็เฉยๆ ไม่เห็นมีอะไรเลย พุทโธก็พุทโธ ไม่สน แต่สำหรับอนาถบิณฑิกนี้ พุทโธนี่คือ มันกินใจ มันลึกซึ้งเข้าไปในขั้วหัวใจของท่าน เหมือนกับคนที่รอคอยมานานแสนนาน เหมือนกับคนที่ป่วย ป่วยหนัก พอรู้ว่าหมอเก่งที่สามารถรักษาโรคเขาหายได้ เขาจะดีใจขนาดไหน ท่านก็ดีใจแบบขนลุกปีติ นึกถึงแต่พุทโธ พุทโธ ก้องอยู่ในโสตประสาททั้งคืน นอนไม่หลับ จะรอให้เช้าก็ทนไม่ไหว ท่านก็เลยลุกขึ้นเลย เดินเพื่อที่จะไปเข้าเฝ้าพระเจ้านอกเมือง จนไปขอร้องคนเฝ้าประตูเมือง ให้เปิดประตูให้หน่อย จนเวลาตีสี่ (๐๔:๐๐ น.) ตีห้า (๐๕:๐๐ น.) ท่านได้ออกไป ตอนนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ป่าสีตวัน ทางผ่านต้องผ่านป่าช้าผีดิบ อนาถบิณฑิกะเวลาจะไปไหนมีลูกน้องบริวารห้อมล้อม ตอนนี้ท่านไปคนเดียว กลัวก็กลัว กลัวผี กลัวปีศาจ ปรุงแต่งคิดต่างๆ จนกระทั่งในระหว่างทางที่ท่านไปถึงตรงนั้น ท่านก็สะดุดซากศพ เกิดความกลัว ทำให้แสงสว่างที่มันลุกโพลงขึ้นในจิตของท่านนี้อ่อนลงไป ตอนแรก ปีติท่านเกิด แสงสว่างมันเข้ามาในจิตท่านนี้ ปรากฏเหมือนกับว่าตอนนี้เช้าแล้ว ตอนที่ท่านเดินไป พอท่านไปสะดุดซากศพซากหนึ่ง ท่านก็ความกลัวเกิดขึ้น สมาธิตก แสงสว่างหายไป คิดจะกลับไปบ้านเพื่อน แล้วค่อยรอพระพุทธเจ้าตอนเช้าก็แล้วกัน ในขณะนั้น เทวดาผู้รักษาสุสานก็ได้ให้กำลังใจแก่ท่านเศรษฐีว่า ช้างแสนเชือก ม้าแสนตัว รถเทียมม้าอัสดรแสนคัน หญิงสาวผู้สวมใส่ต่างหูแก้วมณีแสนนาง ทั้งหมดนี้ ไม่ควรค่าส่วนเสี้ยวที่ ๑๖ ไม่ถึง ๑ ใน ๑๖ ของท่านนี้ ผู้ก้าวไปเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าเลย ก้าวไปเถิดเศรษฐี การก้าวไปข้างหน้าของท่าน จะเป็นประโยชน์แก่ท่านและชาวโลกมาก เมื่อท่านได้ฟังเช่นนี้ ปีติท่านก็เกิด ได้รับกำลังใจ ท่านนึกได้ว่ามีคนอื่นอยู่ในบริเวณนั้น ไม่ใช่มีท่านเพียงคนเดียว ท่านก็นึกถึงพระพุทธคุณต่อไป พุทโธ พุทโธ ต่อไป ทำให้แสงสว่างปรากฏวาบขึ้นมาในใจของท่านอีกครั้ง ในที่สุดท่านก็เดินทางผ่าความมืดไปได้ จนไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ ตรงนี้ก็คือเกิดจากกำลังของภาวนาพุทธานุสติ แสงสว่างเกิดก็คือเป็นเบื้องต้น
นิมิตที่เป็นแสงสว่าง หรือว่าสิ่งต่างๆ ที่พบในระดับตรงนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน บางทีรู้สึกปีติ อิ่มอกอิ่มใจ สงบเหมือนอยู่คนเดียวในโลก เป็นสุขทางใจที่ไม่เคยพบมาก่อน ศรัทธาเชื่อมั่นเลื่อมใสอย่างแรงด้วยกำลังของสมาธิ ผู้ที่สามารถเห็นประจักษ์ความเกิด-ดับรวดเร็วของรูปนามนี้ อาจจะเห็นแสงสว่างชั่วขณะหนึ่งหรือเห็นเป็นเวลานานๆ เช่นว่า เหมือนกับในขณะนั่งภาวนาหลับตาเหมือนไฟฉายเล็กๆ มาส่องที่หน้า บางทีเหมือนกับไฟหน้ารถขนาดใหญ่มาส่องที่หน้า บางทีเหมือนกับดวงไฟกลมๆ ขนาดเท่าบาตร บางทีเห็นแสงสว่างกลมๆ หมุนเหมือนกับอะไรรอบตัว บางทีเป็นแสงสว่างที่ส่องทั่วห้องให้สว่างไสว บางทีแบบสว่างจ้าเหมือนกับดวงจันทร์ เหมือนดวงอาทิตย์อย่างนั้น เหล่านี้ก็เป็นอาการที่เกิดขึ้น เป็นนิมิต เป็นแสงสว่าง เป็นนิมิตที่เกิดขึ้นจากกำลังของสมาธิ ในบางขณะแสงสว่างปรากฏเป็นเวลานานๆ แม้ผู้ปฏิบัติธรรมจะกำหนดรู้ก็ไม่หายไป ในบางขณะอาจรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่แผ่ซ่านออกมาจากร่างกาย ด้านข้างบ้าง ด้านบนบ้าง ด้านล่างบ้าง สิ่งที่อยู่ในรัศมีของแสงสว่างแม้เป็นเวลากลางคืนก็ปรากฏชัดเหมือนในเวลากลางวัน ในเวลากลางวันก็อาจจะพบแสงสว่างชัดเจนได้ ในบางขณะ แสงสว่างนี้ก็อาจจะทำให้พบเห็นสิ่งที่อยู่ไกลเกินสายตา หรือสิ่งที่ถูกปิดบังเอาไว้มาปรากฏชัดเจนอยู่ตรงหน้า การที่เห็นแสงสว่างเป็นต้นนี้ ไม่ใช่เห็นด้วยตาเนื้อปกตินะ แต่เป็นการเห็นด้วยการรับรู้ ด้วยมโนวิญญาณจิต เช่นเดียวกับการเห็นด้วยตาทิพย์ แต่ไม่ใช่ตาทิพย์ เป็นลักษณะเดียวกัน ไม่ใช่เห็นด้วยตาเนื้อ แต่เห็นด้วยตาใน ในมหาฎีกาวิสุทธิมรรคท่านบอกว่า ประสบการณ์เช่นนี้เหมือนกับเห็นด้วยดวงตาปกติในสถานที่เห็นได้ ขอผู้ปฏิบัติธรรมจงพิจารณาเรื่องนี้ในขณะเพียรปฏิบัติ จนเมื่อปรากฏแสงสว่างขึ้น ก็จะเข้าใจได้ชัดเจนเอง ผู้ปรารภความเพียร เมื่อเห็นแสงสว่างแล้วอาจจะเข้าใจผิดคิดว่า เป็นแสงสว่างที่เกิดจากการบรรลุมรรคผลพระนิพพาน ทำให้สำคัญว่าแสงสว่างคือพระนิพพาน หรือแม้จะไม่ได้สำคัญว่าเป็นคุณธรรมพิเศษ แต่ก็จะพอใจ พอใจในการเห็นดวงไฟ เห็นรูปอะไรกลมๆ พวกนี้ เมื่อพอใจแค่นี้ มันก็ติดแหง็กอยู่แค่นี้ ไปต่อไม่ได้ จึงทำให้การเจริญสติ วปัสสนาปัญญาไม่ต่อเนื่อง เพราะติดในอารมณ์ ติดในนิมิต แสงสว่างอย่างนี้จึงชื่อว่าวิปัสสนูปกิเลส เพราะมันทำให้วิปัสสนาหม่นหมองไป กล่าวโดยตรง กิเลสได้แก่ตัณหา คือความพอใจ มานะ คือความถือตัวว่าเราเห็น ทิฏฐิคือความเห็นผิด ว่าเห็นแล้ว อย่างนี้ มันไปยึด ปกติของพวกนี้เป็นของดี เป็นของที่เป็นเบื้องต้นของการกำหนดสติ สมาธิอยู่แล้ว แต่พอเอากิเลสเข้าไปแทรกว่าเราเห็น เราพอใจ เราชอบ เราดูแล้ว มันมีตัณหา มานะ ทิฏฐิ เข้าไปแทรก มันเลยทำให้วิปัสสนาหม่นหมองไป
ความจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้มันต้องเกิดขึ้นเป็นปกติตามธรรมชาติของจิตเมื่อเป็นสมาธิ โดยเฉพาะในระยะแรกๆ แต่เมื่อผู้ปฏิบัติเข้าใจผิด ไปน้อมเชื่อในความตื่นตาตื่นใจ จึงน้อมคิดปรุงแต่งไปต่างๆ นานาว่า เป็นบุญ เป็นอิทธิปาฏิหาริย์อันตื่นตาตื่นใจ ไปยึดมั่นพึงพอใจหรือว่าน้อมเชื่ออย่างรุนแรงด้วยความไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า โอภาส คือแสงสว่าง แล้วก็นิมิตต่างๆ นั้น เกิดขึ้นด้วยอวิชชา เพราะตรงนี้ ยังเป็นปุถุชนเต็มขั้นอยู่เหมือนเดิม ยังไม่ได้บรรลุอะไร เพียงแค่เป็นสิ่งที่มาให้เห็นแรกๆ จึงทำให้ติดเพลินด้วยนันทิ นันทิคือตัวตัณหา “นนฺทิราคสหคตา” เมื่อเกิดนันทิ คือตัณหา ก็ย่อมเกิดอุปาทาน ยึดไว้ มันก็เลยต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ เกิดขึ้นมาของกองทุกข์ตามมาโดยไม่รู้ตัว จึงเกิดความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆ นานา ไปทางฤทธิ์ ทางเดช ทางบุญ ทางกุศลโดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดอาการที่เรียกกันทั่วไปว่า ติดนิมิต อันนี้คือวิปัสสนูปกิเลสข้อแรก
ต่อไปวิปัสสนูปกิเลสข้อที่ ๒ คือญาณ ญาณคือการเห็นประจักษ์ รูปนามที่เกิด-ดับอย่างรวดเร็วทางทวาร ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนใช้มีดตัดลูกฟักหรือว่าหั่นมะเขือเทศให้ขาดในครั้งเดียว ญาณนี้เป็นปัญญาที่รู้เห็นลักษณะของรูปนามอย่างชัดเจน แล้วก็เข้าใจในพระไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ของรูปนามได้ดี โดยไม่ได้พิจารณาใคร่ครวญตามที่ได้ยินมา แต่ เป็นการรู้เห็นโดยประจักษ์จากโลกทรรศน์ภายในกายของตน ญาณนี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติข้าใจผิดว่าเป็นพระนิพพาน ทำให้ยินดีพอใจ ส่งผลให้การเจริญสติไม่ต่อเนื่อง รูปนามก็ไม่ปรากฏชัดเจน จึงเป็นวิปัสสนูปกิเลส เพราะเอากิเลส ๓ ตัว คือตัณหา มานะ ทิฏฐิ เข้าไปยึดเอาไว้ ตัณหา ก็คือ ชอบ พอใจ มานะก็คือว่า เราเห็นแล้ว เราเก่งเหลือเกิน ตัวนี้แหละ แล้วก็ทิฐิคือเห็นมาแล้ว ๓ อันนี้มันเข้ามายึด ญาณในวิปัสสนูปกิเลสจึงหมายถึงมิจฉาญาณ ไม่ใช่สัมมาญาณ คือความรู้ความเข้าใจแบบผิดๆ เป็นเพียงความรู้สึกว่า ตนเองมีภูมิรู้ ภูมิธรรม หรือความรู้ ความเข้าใจสิ่งต่างๆ หรือธรรมต่างๆ แจ่มแจ้งดีแล้ว ถูกต้องถ่องแท้แล้ว หรือเกิดแต่นามนิมิต ความคิด ความรู้สึกที่มันผุดแสดงขึ้นมาในใจ อันเกิดแต่ใจ หรือว่าสัญญา คือความจำของผู้ปฏิบัติเป็นสำคัญ มิได้เกิดจากปัญญาที่เป็นไปตามหลักเหตุผลที่เป็นผลจากการปฏิบัติ หรือบางทีเป็นเสียงนิมิต เสียงที่ผุดขึ้นได้ยิน แต่ผู้ปฏิบัติอาจจะเป็นเสียงที่มันแว่วมา บางคนบอกว่าได้ยินเหมือนกับคนกระซิบ เหมือนพรายกระซิบ ได้ยินเสียงก้องในหู แว่วในหู มันคือสัญญา สัญญาก็คือ จำได้ว่า เคยฟัง เคยได้ยินมาก่อน อาจจะเป็นอดีตชาติก็ได้ มันปรากฏผุดขึ้นมา อย่าไปใส่ใจอะไร จะเห็นแสง เห็นสี ได้ยินเสียงต่างๆ หรือกลิ่นแปลกๆ อย่าไปใส่ใจ ให้ผ่านมันไป ให้เข้าใจว่ามันเป็นเพียงป้ายบอกทางเท่านั้น แต่ถ้าไปยินดีติดใจเมื่อไหร่ มันจะเป็นความเข้าใจผิดขึ้นมาทันที ดังนั้น เมื่อคิดว่า มีความรู้ความเข้าใจจากมิจฉาญาณดังกล่าวแล้วจึงทำให้เข้าใจผิด หยุดการพิจารณาเข้าสู่ไตรลักษณ์กลางคันก่อนที่จะไปถึงจุดหมายด้วยคิดว่า เข้าใจดีแล้ว ถูกต้องแล้ว คิดว่าได้มรรคผลแล้ว จึงทำให้เกิดทิฏฐิขึ้นมา เชื่อมั่นในตัวเอง ไม่รับฟังความคิดเห็นจากผู้รู้ จากครูบาอาจารย์ที่แนะนำข้อผิดพลาด เพราะหลงคิดแล้วก็เข้าใจว่าตนเองเข้าใจถูกต้องแล้วอย่างแรงกล้า ด้วยอธิโมกข์ คือความเชื่อมั่น จึงเกิดการออกนอกลู่นอกทาง เป็นโทษโดยไม่รู้ตัว ด้วยความหลง ทำให้เกิดอาการติดผู้รู้หรือว่ามิจฉาญาณนั่นเอง อันแรกคือติดนิมิต อันนี้ติดผู้รู้ คือยึดมั่น เชื่อถือในความเชื่อหรือว่าปัญญาที่เกิดขึ้นอย่างผิดๆ ด้วยขาดปัญญา ปัญญาวิสุทธิด้วย ก็เป็นการงมงายอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
ต่อไปวิปัสสนูปกิเลสอย่างที่ ๓ คือปีติ ปีติคือความอิ่มใจที่ปรากฏเกิดขึ้นในขณะปฏิบัติธรรม ปีติมี ๕ ประเภทด้วยกัน อย่างแรกขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย คือความรู้สึกอิ่มใจ โดยมีขนลุกทั่วร่างกาย โดยหนังสั่นบ้าง น้ำตาไหลบ้าง หรือว่ารู้สึกสดชื่นเบาสบาย ปรากฏครั้งเดียวแล้วหายไป นี่คือเล็กน้อย ๒. ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ คืออิ่มใจที่มีลักษณะขนลุกหลายครั้งต่อเนื่อง เหมือนสายฟ้าแลบเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ดังข้อความว่า ปีติที่เกิดขึ้นภายในแก่ผู้แสดงธรรม ผู้ฟังธรรม หรือผู้สอนธรรม ย่อมทำให้ความฟูใจเกิดขึ้น ทำน้ำตาให้ไหล ก่อให้เกิดขนลุก ปีตินั้นทำที่สุดแห่งสังสารวัฏ มีอรหัตผลเป็นจุดหมาย ดังนั้น ความยินดีในธรรมเช่นนั้น จึงยอดเยี่ยมกว่าความยินดีทั้งหมดทั้งปวง อันนี้เป็นคำตอบที่พระนาคเสนตอบพระเจ้ามิลินท์ และทีนี้พระเจ้ามิลินท์ถามต่อว่า ข้าแต่พระนาคเสนผู้เจริญ ผู้ที่ร้องไห้น้ำตาไหลเพราะมารดาเสียชีวิต สามีภรรยาลูกเสียชีวิตนี้ แล้วก็ผู้ที่ร้องไห้ เพราะความปราโมทย์เบิกบานใจในธรรม บุคคลทั้งสองที่ร้องไห้อยู่นั้นต่างกันอย่างไร น้ำตาของใครเป็นยา ของใครไม่เป็นยาขอรับพระคุณเจ้า พระนาคเสนตอบว่า มหาบพิตร น้ำตาของคนแรก คือคนร้องไห้เพราะว่าพลัดพราก เป็นน้ำตาไม่สะอาด ร้อนระอุไปด้วยราคะที่มันย้อมใจ ร้อนระอุไปด้วยโทสะก็คือความเสียใจ แต่น้ำตาของอีกคนหนึ่งที่เกิดจากปีติปราโมทย์เบิกบานใจในธรรมนี้ เย็นสะอาด น้ำตาที่เย็นสะอาดนี้เป็นยา น้ำตาที่ร้อนระอุไม่เป็นยา ท่านตอบเช่นนี้ ต่อไปปีติอย่างที่ ๓ คือโอกกันติกาปีติ ปีติซึมซับ ความอิ่มใจที่ปรากฏคล้ายกับคลื่น ซัดเข้าหาฝั่งสมุทร เกิดขึ้นเอ่อล้นท่วมทับร่างกาย แล้วก็หายไป มากขึ้นมาหน่อย อย่างที่ ๔ อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน อิ่มใจ ทำให้ร่างกายทั้งหมด หรือบางส่วนคล้ายๆ จะลอยขึ้น บางท่านรู้สึกถึงร่างกายบางส่วนลอยขึ้น มือ เท้า ศีรษะไหวไปเอง บางท่านอาจจะลอยตัวเหนือพื้นขึ้นได้ประมาณ ๑ ศอก ในขณะนั่งสมาธิ เป็นต้น ปีติอย่างที่ ๕ ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน คือความอิ่มใจที่ปรากฏความเย็นห่อหุ้มใจไว้ ทำให้เกิดความสบายทั่วร่างกายเหมือนกับลูกบอลที่พองลมเต็มที่ ในขณะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องการอยู่นิ่งๆ อย่างต่อเนื่อง เพียงต้องการเสพรสของปีติ เพราะมันดี มันดี มันน่าชอบใจ มันน่าติดใจ อย่างสงบละเอียดจนกระทั่งไม่ต้องการแม้จะกระพริบตาหรือว่าลืมตาดูสิ่งภายนอก เพราะมันอิ่มอกอิ่มใจเหลือเกิน ดังนั้น ท่านเลยบอกว่า ปีตินี่แหละเป็นอาหารของพรหมทั้งหลาย พรหมทั้งหลายที่อยู่ในพรหมโลกนี้ ท่านไม่ทานอาหาร แต่ท่านมีปีติเป็นภักษา อิ่มอกอิ่มใจอยู่ตลอดกาลจนชั่วอายุขัย เพราะฉะนั้น ท่านจึงมีปีตินี่แหละที่หล่อเลี้ยงกายใจของท่านเอาไว้ ปีติมันคือความอิ่มอกอิ่มใจ พอใครเจอเข้านี้มักจะติด เพราะมันยินดี แต่พระพุทธเจ้าก็บอกว่า มันเป็นเพียงป้ายบอกทาง อย่าไปติดมัน ต้องให้ต่อไป
ต่อไป วิปัสสนูปกิเลส อย่างที่ ๔ คือปัสสัทธิ ความสงบกายแล้วก็ใจ ที่ปราศจากความซัดส่ายฟุ้งซ่าน เพราะจดจ่อเกินไป เหมือนกับการออกจากที่ร้อนระอุไปสู่ที่เย็นสบาย หรือการหายจากความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าโดยฉับพลัน ในขณะที่ความสงบกายใจที่มันปรากฏเกิดขึ้นนี้ จะมีสภาวะธรรมบางอย่างเกิดร่วมกัน ก็คือ ลหุตา-ความเบากายเบาใจ โดยผู้ปฏิบัติธรรมมักจะรู้สึกว่าร่างกายเบาสบาย ในขณะเวลาเดิน เท้าก็มีสภาวะเบาเหมือนหายไป ในเวลานั่ง นอน เหยียด คู้ ร่างกาย หรือว่ามือ มันก็เบาไปหมดนะ เบากายเบาใจ ตรงนี้ก็คือ พอไปติดตรงนี้แล้วจะทำให้สติขาดช่วงไม่ต่อเนื่อง แล้วก็มีอาการอีกอย่างเรียกว่ามุทุตา คือความอ่อนของกายของใจ โดยปราศจากความกระด้าง สามารถตั้งจิตไว้ในอารมณ์ที่ต้องการจะกำหนดรู้ได้ชัดเจน แล้วก็ต้องการจะปฏิบัติธรรมด้วยความสงบ ไม่อยากพบกับบุคคลหรือว่าอารมณ์หยาบๆ แล้วก็มีสิ่งที่เกิดร่วมด้วยก็คือ กัมมัญญตา-ความเหมาะสมในกิริยาของกายของใจ โดยสามารถปฏิบัติธรรมได้นาน ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมงด้วยการนั่งอย่างเดียว หรือบางที ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมงโดยไม่ขยับ ปราศจากความเจ็บปวดในร่างกาย อีกทั้งไม่มีความฟุ้งซ่านหรือการขาดสติกำหนดรู้ คือจิตมันเบา อ่อน ควรแก่การงาน นี่แหละกัมมัญญตา ปาคุญญตา-คล่องแคล่ว ของกาย ของใจ โดยร่างกายเป็นปกติ ไม่ขาดกำลังวังชา แม้จะปฏิบัติธรรมเป็นเวลานาน จิตก็จะกำหนดรู้ได้คล่องแคล่ว เหมือนกับสาธยายบทสวดมนต์ที่ท่องจำได้ดี เป็นอย่างนั้น แล้วก็ต่อมา คือ อุชุกตา-ความเที่ยงตรงของกายของใจ โดยปราศจากความสนใจสิ่งที่ไม่ดี ความต้องการจะปกปิดโทษ หรือว่ามารยาสาไถยที่แสร้งทำเป็นคนดีมีคุณธรรม ความสงบกายสงบจิตนี้ เป็นวิปัสสนูตรงที่เราจะเรียกกันว่า ติดสงบ มีความรู้สึกสงบกายสงบใจอันเนื่องมาจากจิตที่เป็นสมาธิหรือว่าฌาน จิตย่อมไม่ส่งส่ายออกไปปรุงแต่งให้เกิดการผัสสะสิ่งต่างๆ นานา ที่ทำให้มันเกิดเวทนาความรู้สึกต่างๆ ขึ้น จึงย่อมเกิดการผ่อนคลายทั้งกายและใจ จึงไม่ทุกข์ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระวนกระวายอันเป็นไปตามหลักเหตุผล เหตุปัจจัย ที่มันต้องเกิดขึ้นเช่นนี้เป็นธรรมดา แต่ไปติดอยู่ในความสงบสบายเหล่านั้น ด้วยเข้าใจผิดว่า สมบูรณ์ดีแล้ว ทำให้หยุดการปฏิบัติ คิดว่าสงบกายสงบใจดีแล้ว พอใจแล้ว พอพ้นทุกข์ได้แล้วหรือว่ามีปัญญาแค่นี้จึงจมแช่อยู่อย่างนั้น ทำให้ตัดทอนโอกาสอันดีงามในการก้าวหน้าต่อไปข้างหน้า เกิดการหยุดชะงัก ไม่ภาวนาให้เจริญต่อไป หลวงพ่อก็พูดประจำแหละคำนี้ ติดสมาธิ ติดสงบ เลยมีอาการต่อมา คือ เซ่อๆ เบลอๆ งงๆ เพราะว่าจิตใจมันไม่คล่องแคล่ว ไม่ปราดเปรียวว่องไว กลายเป็นการติดเพลินจมแช่อยู่ในความสงบ ซึ่งบางครั้งนี้ เกิดจากการจดจ้องจดจ่อคือหมกมุ่นหรือว่าแช่นิ่งอยู่กับความสงบที่เกิดขึ้นในกายหรือว่าในจิตของตน หรือก็คือ อาการจิตที่ส่งอย่างใดอย่างหนึ่ง จนไม่สังเกตรู้สภาวะรอบข้างใดๆ อย่างมีสติเท่าที่ควร คือ มีสติอยู่กับหรือสมาธิแช่อยู่กับอะไรสักอย่างนี้โดยไม่สนใจสิ่งรอบข้างเลยนะ อาการเบลอๆ เซ่อๆ มันก็จะปรากฏเกิดขึ้นมา ทำให้ธาตุขันธ์นี้แปรปรวน เป็นผลของสมาธิที่ไม่เที่ยง ซึ่งมีการแปรปรวนเป็นธรรมดา เกิดการครอบงำโดยไม่รู้ตัวด้วยความหลง ที่คิดว่าดีแล้ว ถูกแล้วจนขาดการพิจารณาด้วยปัญญาต่อไป นี่คืออาการนี้ มักจะเป็นมากในผู้ที่ปฏิบัติไปในทางมิจฉาสมาธิต่างๆ เช่น นั่งเอาแต่ความสงบ หรือสวดมนต์บริกรรมซ้ำๆ ซ้อนๆ ยาวนานแต่อย่างเดียว แต่ขาดการเจริญปัญญา สติมากแต่ขาดปัญญา เมื่อถูกกระทบจนความสงบหวั่นไหวก็มักจะมีโทสะ กลายเป็นกรรมฐานขี้โกรธตรงนี้แหละ ตามไม่เท่าทันนะ จริงอยู่เวลานั่งอยู่สงบมาก แต่ปัญญาไม่เดิน พอมีอะไรกระทบกระทั่งหน่อย โอ...โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ นี่หรือผู้ปฏิบัติธรรม จะมีอาการที่คนอื่นเห็นแล้วคิดขึ้นมา ผู้ปฏิบัติธรรมเป็นอย่างนี้หรือ ทำไมไฟโทสะมันแรงอย่างนี้ เพราะว่าปัญญาตามไม่ทัน ติดสมาธินาน ปัญญาไม่เดิน เลยเป็นกรรมฐานขี้โกรธ สันโดษขี้ขอ วิปัสสนาบ้ายอ อภิธรรมขี้คุย ที่เขาพูดๆ กันนี่ คือคนที่เรียนแล้ว ทำแล้วไม่ได้ผลของการปฏิบัติจริงๆ ทำแบบครึ่งๆ กลางๆ จึงทำให้เดินหน้าไม่ได้ อันนี้ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส คือติดสงบ
ต่อไปอย่างที่ ๕ วิปัสสนูอย่างที่ ๕ คือติดสุข สุขก็คือความสุขในที่นี้เป็นความสุขที่เกิดจากการเจริญสติ เจริญสมาธิ เป็นความสุขที่นับเนื่องในองค์ฌานแรกๆ นั่นแหละ เป็นความสุขกายที่เกิดขึ้นเพราะว่าความสุขใจ ในขณะที่ความสุขนี้ปรากฏ บางทีนะ โรคที่เคยเกิดขึ้นมันก็อาจหายไป นอกจากนั้น ในบางขณะ อาจจะนึกคิดพิจารณาแล้วรู้สึกเป็นสุขอย่างยิ่ง จนกระทั่งอยากจะบรรยายให้ผู้อื่นฟัง ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยสุขปีติแล้วก็ปัสสัทธิเป็นต้นนี้ ย่อมได้รับความรื่นรมย์ใจที่ยอดเยี่ยมกว่าความรื่นรมย์ของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย เรียกว่าสมาธิสุขหรือฌานสุข มันดี มันยิ่งเหลือเกิน ความสบายกาย สบายจิตทำให้เกิดอาการที่เรียกกันว่าติดสุข เพราะมีความรู้สึกเป็นสุข สบายทั้งกายทั้งใจ ล้วนแต่เป็นผลมาจากกำลังของสมาธิ ยังให้เกิดสารคัดหลั่งจึงทำให้เกิดการติดเพลิน ติดเพลินก็คือมาจากนันทินี่แหละ ไปยึดในความพึงพอใจ ในผลของสุขอันเกิดแต่ฌาน แล้วก็สมาธิโดยไม่รู้ตัว แล้วก็ไม่รู้ตัวเพราะว่าความไม่รู้ จึงทำให้เกิดโทษต่างๆ ตามมา อันเป็นผลเสียต่อกายแล้วก็ต่อจิตอย่างรุนแรง ทำให้การปฏิบัติธรรมต้องหยุดชะงัก เพราะหลงติดด้วยจิตส่งไปด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ ย่อมเกิดอาการที่มันจะนั่งอย่างไรก็จะเอาแต่สุขอย่างเดียว ไม่อยากเดินหน้า เพราะว่าไปเห็นไตรลักษณ์แล้วมันไม่เห็นจะมีอะไรเลย มีแต่เครียด มาสุขแต่ในสมาธิดีกว่า แบบนี้เป็นกันเยอะ ที่เป็นอาการของเอาสมาธิเป็นพระนิพพาน ที่เอาสุขเป็นพระนิพพาน เอาปีติเอาสุขจากสมาธิเป็นพระนิพพานกัน มีมากมายทั่วโลกเลย แล้วสิ่งเหล่านี้มีมาก่อนพระพุทธเจ้าเสียอีก ความสุขในสมาธิ สุขในฌาน ที่เป็นอภิญญา สมาบัติ ๘ เหล่านี้ดับทุกข์ไม่ได้ ขึ้นๆ ลงๆ และยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เป็นแค่อารมณ์ของสวรรค์ อารมณ์ของพรหมโลกเท่านั้นเอง
ต่อไปอย่างที่ ๖ วิปัสสนูอย่างที่ ๖ คืออธิโมกข์ น้อมใจเชื่อ มั่นใจตัวเองมาก เป็นศรัทธา จึงน้อมใจไปเชื่อ แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา มันเป็นศรัทธาที่สูงขึ้นมากกว่าศรัทธาปกติ เขาเรียกว่าอธิโมกข์ คือมันปักใจเชื่อมั่นเลย เกิดจากผลของสติสมาธินี่แหละ เกิดจากผลของสมาธิ กล่าวคือขาดเหตุผลหรือว่างมงาย ไม่มีที่มาที่ไปหรือไม่มีเหตุผลนั่นเอง เนื่องจากประสบความสำเร็จบางส่วนในการปฏิบัติ ทำให้เกิดผลบางสิ่ง เกิดความเชื่อตามที่ได้ยินเขาร่ำลือกันต่อๆ มา บางทีทำให้เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า ซาบซึ้งเลื่อมใส จิตสว่างเจิดจ้าหมายถึงหมดความเศร้าหมอง จึงเกิดการหมายยึดเป็นที่พึ่งทางใจโดยไม่รู้ตัว แต่เป็นไปด้วยการขาดปัญญาหรือว่างมงายอย่างขาดเหตุผล ความเชื่อตรงนี้ มันเกิดขึ้นเพราะว่าสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ พอติดสุข ติดสมาธิ แล้วก็ปักใจเชื่อว่า ตรงนี้ถูก ไม่ประกอบด้วยปัญญา เช่นว่า อยากสร้างโบสถ์ สร้างวิหารใหญ่เกินตัวเพื่อทดแทนพระคุณพระศาสนา มีปีติ อยากตอบแทน อยากสอนธรรมะผู้อื่นตามแนวทางของตน ธรรมะไหล อยากให้ผู้อื่นได้ปฏิบัติเหมือนตนบ้าง อยากทำบุญทำทานต่างๆ เกินฐานะ ทำบุญอะไรต่างๆ นี้ น้อมเชื่อในนิมิตที่เห็นอย่างแน่นแฟ้น น้อมเชื่อปฏิบัติตามคำสอน แต่ว่างมงาย ขาดปัญญา ซึ่งล้วนแต่เป็นไปในลักษณะของที่เรียกว่าทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของตน สีลัพพตุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นว่า สีลพตที่ตนเองปฏิบัตินี้ถูกต้องแล้ว จึงเป็นไปอย่างงมงาย ไม่ประกอบด้วยเหตุผล สัมมาปัญญาจึงไม่เกิด แบบนี้ก็เป็นตัวขวาง เป็นตัวขวาง อธิโมกข์ ปักใจเชื่อแต่ขาดปัญญา
แล้วก็อย่างที่ ๗ ปัคคหะ คือความเพียรที่ประกอบด้วยวิปัสสนา เป็นความเพียรที่สม่ำเสมอ ไม่ตึง ไม่หย่อน ความเพียรดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมเจริญสติ ระลึกรู้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอโดยไม่ต้องจดจ่อมากนัก ความเพียรที่พอดีตรงนี้ แต่ทำไมเป็นวิปัสสนูปกิเลส เพราะยึดตัณหา มานะ ทิฏฐิ ยึด พอใจ เพียรมากจนเกินพอดี หรือบางทีเกินเหตุ ชนิดมุทะลุ จึงย่อมตึงเครียดต่อการปฏิบัติ เนื่องมาจากปฏิบัติผิดวิธีหรือว่าติดตรึงใจในผลของความสุข ความสงบสบาย ติดสุข ติดสมาธิ หรือว่ามีความเข้าใจ แล้วก็ต้องการให้บรรลุสมประสงค์โดยไวด้วยความเพียร จนลืมทางสายกลาง เพราะว่าทำเกินพอดี ทำให้เกิดอาการเครียดต่างๆ ทั้งต่อจิตและก็กาย มักจะเกิดผลที่ตอนแรกนี้ ดีๆ นะ เป็นผลดี แต่พอหลังจากปฏิบัติกำลังสมาธิมากขึ้นๆ นี้ ตามไม่ทัน จึงเป็นแรงขับดัน โลภ โลภในอาการแบบนี้ จึงทำให้เกินพอดี ปัคคหะตัวนี้ จึงเทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง
ต่อไป วิปัสสนาอย่างที่ ๘ คือ อุปัฏฐาน สติ เป็นสติที่ปรากฏชัด ชัดมาก แต่ว่า เป็นสติที่แก่กล้าเกินพอดี แก่กล้าเกินพอดีอย่างไร? ท่านบอกว่า ท่านอุปมาง่ายๆ สติแรกๆ นี้ ผู้ปฏิบัติธรรมบางท่านนี้ พอสติมันจดจ่อต่อเนื่องได้มากขึ้นๆ มันจะชัดเจนในอารมณ์ บางทีนี้ จิตมันใส มันสว่าง สภาวะปัจจุบันปรากฏทันทีอย่างเหมาะสม บางท่านนี้ ภาพเก่าๆ มันผุดขึ้นมา คิดถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้วเหมือนย้อนเวลา ย้อน time machine ไปพบกับเรื่องนั้นอย่างชัดเจน แต่ไม่ควรพิจารณา บางท่านอาจจะรู้สึกย้อนเวลาไปในอดีตชัดเจน เหมือนกำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน เช่นว่า ในขณะที่ตนอายุ ๒ ขวบ ๓ ขวบนี้ รู้สึกว่าตนอยู่ในอ้อมกอดของแม่ อยู่ในเปล อยู่ในเพลงกล่อม ได้กลิ่นแม้กระทั่งผ้าอ้อม กลิ่นของน้ำหอมของแม่ เป็นต้น คือมันชัดเจนเหมือนกับอดีตนั้นมันมาปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เพราะว่าสติมันชัด สติชัดแต่ที่นี้หมายถึงว่า สติแก่กล้าเกินพอดี สติมากเกินพอดีในการปฏิบัติ เช่นว่า จดจ่ออย่างต่อเนื่อง อย่างแรงกล้า เพราะว่าวิริยะมากเกินไป ปกติแล้วสติยิ่งมากยิ่งดี แต่ที่เป็นวิปัสสนูเพราะว่าวิริยะมากเกินไป ไม่ประคองดึงกลับมาด้วยสมาธิ เพราะว่าปรับอินทรีย์ไม่สมบูรณ์นั่นเอง เลยทำให้เฉพาะแต่ในสิ่งที่ยึดเป็นอารมณ์ หรือว่าเฉพาะการปฏิบัติอยู่แต่เท่านั้น ชัดอยู่ตรงนั้นแหละ ขาดสติในสิ่งที่ไม่ได้กำหนด จนไม่รู้ผิดชอบชั่วดี เช่น อะไรชัดก็ไม่รู้ตาม จะเอาแต่อารมณ์เดียว เช่น การเพ่งกสิณก็จะเพ่งอย่างเดียว จะเพ่งโน่นเพ่งนี่ก็จะเพ่งอย่างเดียวเลย ดูอะไรก็จะดูอย่างเดียว ไม่ดูอย่างอื่นรอบตัว เพราะฉะนั้น จึงทำให้ขาดสติ ไม่รู้เท่าทัน อะไรชัดไม่รู้ตามนั้น จะเอาแต่อารมณ์เดียว ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี หรือแม้แต่ในสิ่งที่ถูกหรือผิด ควรไม่ควร จึงเป็นมิจฉาสติ จากสัมมาสติอยู่ดีๆ มันก็กลายเป็นมิจฉาสติ คือ ตั้งจิตอยู่กับสติตลอดเวลาในอารมณ์เดียวอย่างจดจ่อ จดจ้อง จนในที่สุดเป็นสภาวะที่สังขาร สังขารก็คือปรุงแต่ง ในปฏิจจสมุปบาท ที่มันประกอบด้วยอวิชชา คือความหลง ขาดสติในสิ่งที่ไม่ได้กำหนด จนไม่รู้ ทำให้สติล้า ตึงเครียด เกิดอาการต่างๆ เพราะว่า ตึงเครียดจากการปฏิบัติผิดมากเกินไป เพราะไม่ปรับอินทรีย์ให้สมบูรณ์ อันนี้คือตึงเกินไป เอาสติจดจ่อตึงเกินไป สติชัดเกินไป จนขาดสัมปชัญญะหล่อเลี้ยงนั่นเอง เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะต้องคู่กัน ต้องคู่กัน สติต้องคู่กับปัญญา สัมปชัญญะคือตัวปัญญา ทั้งที่สตินั้นก็เป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง จึงควรรู้เท่าทันถึงความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา ที่มีการเกิด-ดับ เกิด-ดับเป็นธรรมดา รู้แต่สิ่งที่สติหรือจิตไปกำหนดแต่อย่างเดียวจนเป็นลักษณะของสมาธิควบไปด้วย จนไม่รับรู้ในสิ่งอันควรอื่นๆ ด้วยนั่นเอง จนในที่สุด สติอยู่แต่กับสิ่งนั้นๆ ที่เป็นอารมณ์จนถอนไม่ขึ้น เพราะฉะนั้น จึงต้องปรับ ถ้าไม่ปรับ มันก็จะเป็นอุปสรรค เป็นวิปัสสนูอย่างนี้
ต่อไปอย่างที่ ๙ อุเบกขา ความวางจิตเป็นกลาง ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าติดอุเบกขา ติดแช่นิ่ง เพราะติดแช่นิ่งอยู่ภายในเป็นกลาง วางเฉยอย่างขาดปัญญา เป็นการวางเฉยแต่งมงาย หลวงพ่อสอนเสมอ วางอย่างไร วางแบบมีปัญญา ถ้าวางแบบขี้เกียจขี้คร้าน วางเฉยแบบขาดปัญญานี้ก็ไม่ถูก วางเฉย ขาดปัญญา แต่ว่ารู้สึกสงบ ไม่ทุกข์ไม่ร้อน จึงไปเข้าใจผิดว่าดีแล้ว ถูกต้องแล้ว เป็นไปในลักษณะแช่นิ่งอยู่ภายในจิตอย่างติดเพลิน เฉื่อยเฉยชา ใจลอย ไม่ยินดียินร้าย ไม่นิ่มนวลควรแก่การใช้งาน จนขาดความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน วางเฉย ตรงนี้แหละคือวางผิดไปหน่อย เลยทำให้เป็นวิปัสสนูปกิเลส เวลาจิตหวั่นไหวหลุดจากองค์ฌาน เหมือนฟ้าผ่าเลยแหละ ที่หลวงพ่อพูด เห็นก็เหมือนฟ้าผ่า ได้ยินคนว่าก็เหมือนฟ้าผ่า เห็นรูปสวยๆ ก็เหมือนฟ้าผ่า ใครด่าเข้ามาก็โกรธเอาง่ายๆ แล้วไปเข้าใจผิดว่า เป็นอุเบกขาในโพชฌงค์ คนละอันกัน อุเบกขาในโพชฌงค์มันต้องเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ เป็นการวางเฉยหรือใจเป็นกลางอันดีงาม คือรู้เห็นตามความเป็นจริง ทั้งในคุณ ในโทษของสภาวะธรรมนั้นๆ แล้ววางใจเป็นกลางอุเบกขา วางเฉยโดยไม่เอนเอียงไปแทรกแซง ไปปรุงแต่งทั้งในด้านดีหรือด้านร้าย ดีหรือชั่ว แบบนี้จึงเป็นอุเบกขาในโพชฌงค์ แต่อุเบกขาที่เป็นวิปัสสนู ก็คือวางผิดที่ วางผิด คือ อาจจะเป็นอุเบกขาที่เกิดจากการปล่อยแช่นิ่งอยู่ในความสงบของมิจฉาสมาธิ หรือฌานแบบผิดๆ ทั้งในสภาพที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว หรือเกิดจากการปฏิบัติชนิดกดข่มไว้ ไม่ได้เกิดจากปัญญาที่เข้าใจ ล้วนแต่เป็นผลของการปฏิบัติผิดวิธี
ต่อไป วิปัสสนูปกิเลสอย่างที่ ๑๐ นิกันติ นิกันติคือความยินดีพอใจ ที่เกิดขึ้น เมื่อพบเห็นแสงสว่างเป็นต้น เห็นปีติ เห็นสุข เห็นอธิโมกข์ ที่ไล่มาตั้งแต่แรกนั้นแหละ นิกันติคือพอใจ เราได้แล้ว เราเห็นแล้ว ความยินดีพอใจดังกล่าวนี้เป็นสภาพละเอียดอ่อน จึงทำให้สำคัญผิดว่าเป็นความรื่นรมย์ภาวนา ไม่ใช่กิเลส ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาอาจจะเข้าใจผิดว่า สภาวะดังกล่าวนี้เป็นคุณธรรมพิเศษ หรือเกิดจากการบรรลุคุณธรรมพิเศษ ความยินดีพอใจนี้เป็นวิปัสสนูปกิเลสอย่างแท้จริง ดังนั้น วิปัสสนาจึงเสื่อมไปด้วยความยินดีพอใจ ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมยึดมั่นความยินดีพอใจนี้ด้วยตัวตัณหา ด้วยมานะว่าเราได้ เราเห็น ทิฐิก็คือเราเห็นแล้ว ทำให้วิปัสสนาเสื่อมเร็วมาก เพราะกิเลส ๓ ตัวนี่แหละ วิปัสสนูปกิเลสที่กล่าวมาทั้ง ๙ นี้ ยกเว้นนิกันติคือตัวสุดท้าย อาจจะปรากฏพร้อมกันในแต่ละครั้ง ส่วนนิกันติความพอใจจะมาปรากฏได้ครั้งละอย่างๆ เช่น พอใจยินดีในแสงสว่างเป็นต้น พอใจยินดีในปีติ พอใจยินดีในติดสุข ติดสมาธิ ติดสบาย ลำดับของวิปัสสนูปกิเลสที่เรียงมาเป็นข้อๆ นี้ ไม่ใช่ว่าต้องเกิดไล่มาจากนิมิต ญาณ ปีติ แล้วก็อธิโมกข์ สุข อุปัฏฐานะ ปัคคหะ อุเบกขาเรื่อยๆ นะ แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดก่อน ที่ท่านเรียงแบบนี้ก็เพราะว่า เรียงให้เข้าใจง่ายๆ มันอยู่ที่ว่าอะไรจะเกิดก่อนเท่านั้นเอง
ผู้ที่เข้าใจผิดว่า แสงสว่าง ญาณ และปีติ เป็นต้น ที่ได้พบมาก่อนนั้นเป็นคุณธรรมพิเศษ หรือเกิดการบรรลุธรรมพิเศษ จะทำให้เสื่อมไปจากวิปัสสนา จากการเจริญสติระลึกรู้สภาวะธรรม เขาจะไม่เพียรปฏิบัติเพื่อบรรลุวิปัสสนาญาณขั้นสูงต่อไป เพราะว่าติดใจ พอใจ ด้วยความยึดถือนั่นเอง ยึดถือ ๓ ประการนี้ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ แล้วก็อย่างละ ๓ แบบ ๓ คูณ ๑๐ จึงเป็น ๓๐ แบบ ทิฏฐิคาหะคือยึดถือด้วยทิฏฐิ ยึดถือว่า แสงสว่างเกิดขึ้นแก่เราแล้ว เราเห็นแสงแล้ว แสงสว่างตรงนี้ คนละอย่างกับอโลกะ ที่เป็นแสงสว่างจากมรรค จากผล ที่พระโกณฑัญญะท่านได้รู้สึก คนละอย่างกัน อันนั้นคือ จักขุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา อาโลกะสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา อันนั้นคือ เป็นผลของมรรค ของผล แต่อันนี้ เป็นแค่ด่านต้นๆ โอภาสกับอาโลกะ คนละอย่างกัน ก็จะเข้าใจว่า โอภาสแสงสว่างเกิดขึ้นแก่เรา ก็เข้าใจว่าเป็นนิพพานไปนะ เพราะมันยึด ตัวมานะ ยึดถือด้วยมานะ ถือตัว ถือตนว่า เราเห็น เราได้ มันน่าพอใจ ตัณหาก็ยึด ชื่นชมอยู่อย่างนั้น เป็นอย่างนี้
ข้อความข้างต้น จึงทำให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นอุปกิเลสได้ก็ต่อเมื่อ เข้าไปยึดถือด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ ถ้าไม่ยึดถือด้วยอกุศลดังกล่าวก็ไม่จัดเป็นอุปกิเลส ดังนั้น โพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้ มีสติเป็นต้น ที่ปรากฏชัดในระดับญาณสูงๆ ขึ้นไปในวิสุทธิข้อต่อไปก็จะเกิดขึ้นอย่างดี เป็นของจริง ของแท้ ไม่เรียกว่าอุปกิเลส เพราะว่า สติรู้เท่าทันแล้ว ปรับอินทรีย์สมบูรณ์แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างมันเนื่องกันอย่างนี้ เพราะว่าไม่ได้ทำวิปัสสนาให้เศร้าหมอง ถ้าในวิสุทธิข้อต่อไป วิปัสสนูปกิเลสทั้ง ๑๐ ทำให้จิตงงงันฟุ้งซ่าน ธัมมุทธัจจะ ฟุ้งซ่านในสภาวะธรรม เป็นเหตุให้การปฏิบัติวิปัสสนาเกิดความเศร้าหมอง เพราะไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน เมื่อประสบพบเจอเข้า ผู้ปฏิบัติก็คิดว่าตนเองนั่นแหละบรรลุ หรือไม่เช่นนั้นก็หลง ชื่นชม แวะทางซ้าย ทางขวา ไม่เดินทางตรง ชมดอกไม้ริมทาง ทั้งที่มันคือป้ายบอกทาง แต่เราก็แวะ แวะชมดอกไม้ริมทางที่มันอยู่กับป้ายบอกทาง สุดท้ายก็ไปไม่ถึงสักที เพราะติดอยู่ในกิเลสเหล่านี้ เพราะกิเลสแต่ละอย่างนี้ ทำให้รู้สึกสุขกาย สุขใจอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งนี้ ย่อมทำให้ผู้ปฏิบัติไม่ปฏิบัติต่อไปตามแนวทางที่ควร เมื่อผู้ปฏิบัติได้รู้สึกตัวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกิเลส เพราะว่าตัณหา มานะ ทิฏฐิ เข้าไปยึด ไม่ใช่มรรคผลนิพพาน หรือว่าเป็นของที่น่าชื่นชมยินดี การที่มัวหลงชื่นชมยินดีอยู่กับกิเลสเหล่านี้ เป็นทางผิด ไม่ใช่ทางที่จะพึงเดิน ก็จะปลดปล่อยความหลงผิดนั้นเสีย ไม่นิยมยินดีในกิเลสนั้น กำหนดอย่างไร เห็นสักแต่ว่าเห็น อย่าไปติดใจ ไม่ว่าจะเป็นแสง เป็นปีติ ก็ให้รู้สึกแต่ว่า รู้สึกเท่านั้นแหละ มันจะดับไปเอง เพราะอย่างไรเสียมันไม่แช่อยู่แล้ว จะเป็นแสง เป็นปีติ เป็นสุข เป็นสงบ เป็นปัคคหะ เชื่อมั่น อะไรก็แล้วแต่ มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ให้น้อมเข้ามาสู่ไตรลักษณ์ให้ได้ ผู้ที่ได้รับคำแนะนำจากครูบาอาจารย์ ก็ย่อมจะเข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้เป็นแต่เพียงป้ายบอกทาง แล้วก็ถ้าไปยึดติดเมื่อไหร่ จะเป็นอุปสรรคที่ทำให้วิปัสสนาปัญญาหม่นหมอง ไม่ใช่คุณธรรมพิเศษ หรือเกิดจากการบรรลุคุณธรรมพิเศษ การพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่วิปัสสนามรรคที่ถูกต้อง ที่จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนตกอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์ทั้งสิ้น คือไม่เที่ยง เพราะเริ่มเกิดขึ้นก็เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน การกำหนดรู้เท่าทันรูปนามปัจจุบัน จึงจะเป็นทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นเหตุให้บรรลุต่อๆ ไป เมื่อเข้าใจดังนี้ และหยุดใส่ใจต่อแสงสว่าง ต่อปีติ เป็นต้น เจริญสติ ระลึกรู้สภาวะธรรมต่อไป เมื่อนั้น ความเกิดดับของรูปนาม ย่อมปรากฏชัดเจนแก่ผู้ปฏิบัติ อีกทั้งความไม่เที่ยง คือสภาพเกิดขึ้น และดับไป ความทุกข์ คือความบีบคั้นด้วยความเกิดดับ และความไม่ใช่ตัวตนที่ไม่เป็นไปตามความต้องการย่อมปรากฏชัดเจน ลำดับนั้น การรู้เห็นความเกิด-ดับอย่างรวดเร็วในทุกๆ ขณะ ที่กำหนดรู้นี้ จึงเป็นอุทยัพพยญาณ ปัญญาที่เห็นความเกิด-ดับที่พ้นไปจากวิปัสสนูปกิเลส ปัญญาที่เข้าใจเช่นนี้ว่า วิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้มันไม่ใช่ทาง การใส่ใจสิ่งเหล่านั้นว่ามันไม่ใช่ทาง ปฏิบัติที่ถูกต้อง แต่การกำหนดรู้รูปนามตามความเป็นจริง กาย ใจ ตามความเป็นจริง ให้น้อมเข้ามาสู่ไตรลักษณ์ให้ได้นี้ นี่แหละคือของจริง ของแท้ เป็นทางปฏิบัติที่ถูกต้อง มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิก็จะหมดจด เป็นความหมดจดแห่งการรู้การเห็นว่า อันนี้เป็นทางหรือไม่ใช่ทาง ก็จะเป็นทางให้วิสุทธิข้อต่อไป ขั้นต่อไป หมดจดมากยิ่งขึ้น เป็นทางที่จะน้อมไปสู่มรรคผลนิพพาน
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจขออำนาจแห่งพระรัตนตรัย และบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาให้ทุกท่าน ปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ จะอย่าได้มาพ้องพาน เจริญยั่งยืนนานอยู่ในร่มเงาแห่งพระบวรพระพุทธศาสนา เป็นผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม ถึงมรรคผลพระนิพพานเทอญ