แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๘ การกำหนดรู้นิวรณ์ ๕ กิเลสที่มากางกั้นไม่ให้เกิดสมาธิปัญญา
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรมความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ วันนี้ในการบรรยายทางสายเอกถึงความดับทุกข์ เป็นหมวดธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตามกำหนดรู้สภาวธรรม มีอยู่ ๕ หมวดด้วยกัน นั่นก็คือ หมวดนิวรณ์ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ แล้วก็อริยสัจ ๔ วันนี้เป็นหมวดนิวรณ์ คือการกำหนดรู้นิวรณ์ ๕ สภาพความเป็นจริงนั้น ก็คือธรรมะ ไม่ได้เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ทุกอย่างเป็นธรรมะหมด ขึ้นอยู่ที่เหตุ อยู่ที่ปัจจัย ไม่ว่าตัวเรา หรือว่าสิ่งภายนอก ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสภาวะธรรมหมด เราทุกคนต้องเดินตามพระพุทธเจ้า ต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อให้ใจของเราเป็นธรรมะ ให้ใจของเราเป็นธรรมะแล้ว รูปก็เป็นกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เรียกว่าใจ ก็คือตัวธรรมะ ที่เราต้องเวียนว่ายตายเกิด ก็เพราะว่าเราไม่ได้เอาธรรมะ เราเอาอวิชชา เราเอาความหลง มันเลยมีปัญหา พระรัตนตรัยได้แก่ธรรมะที่เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระธรรม เป็นพระอริยะสงฆ์ ปราศจากตัวตนเราเขา เมื่อครั้งพระพุทธกาล พระพุทธเจ้าเอาเรื่องธรรมะมาบอก เอาเรื่องพระนิพพานมาบอก ผู้ที่บวชก็ได้เป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์ ผู้ที่ยังไม่บวชก็เป็นผู้ที่ตั้งมั่นในพระรัตนตรัย เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เพราะจุดมุ่งหมายนั้น เขาไม่ได้เอาสวรรค์ ไม่ได้เอาแต่พรหมโลก แต่ว่าเอาพระนิพพาน คือเอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นหลัก เน้นทุกอย่างสู่พระไตรลักษณ์ เพราะทุกอย่างนั้นไม่เที่ยง มันไม่แน่ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงต้องเดินไปตามธรรมะ ที่เกิดจากสัมมาทิฏฐิ เกิดจากสัมมาสมาธิ ที่เป็นความประพฤติ ที่ประพฤติตนให้เป็นธรรมะ
พระในเมืองไทยเรานี้ หรือว่าทุกประเทศ เดี๋ยวนี้น่ะ จะว่า ๙๙% เขาไม่ได้เอาพระนิพพาน เอาแต่สวรรค์กัน สวรรค์ก็คือความสุขความสะดวกความสบาย พวกเงิน พวกทอง ข้าวของ ลาภ ยศ สรรเสริญ จิตใจไม่ได้เอาพระนิพพาน มันเลยไปไม่ได้ อย่างนี้มันเป็นอารมณ์ของสวรรค์ มันยังมีความสัมพันธ์ มีเพศสัมพันธ์กับรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญอยู่ นี่คือว่า ไม่ใช่พระศาสนา บางคนบางท่านยังไม่เข้าใจ เอาสมาธิเป็นพระนิพพาน มันยังมีความยึดมั่นถือมั่นในระดับหนึ่ง หมวดธรรมเป็นหมวดแห่งปัญญา เป็นหมวดวิปัสสนา เป็นการตัดกระแส ตัดภพตัดชาติ ตัดซึ่งตัวซึ่งตน ถอนสมมติออก ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีผู้หญิง ไม่มีผู้ชาย ไม่มีนักบวช ไม่มีประชาชน ไม่มีวัดบ้าน ไม่มีวัดป่า ไม่มีเถรวาท ไม่มีมหายาน ไม่มีพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู เพราะทุกสิ่งอยู่ที่เราพัฒนาจิตใจของเรา ให้เข้าถึงสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เราเขา มีแต่เรื่องทางจิตทางใจที่มีสัมมาทิฐิ มีสติ มีปัญญา เป็นการเข้าถึงพระพุทธศาสนาอย่างสูงสุดสำหรับผู้มีปัญญา เราทุกคนถึงไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ทำตามอารมณ์ตัวเอง ไม่ทำตามความรู้สึกของตัวเอง เราจะได้เข้าถึงธรรม เพราะมันมีสองอย่าง อย่างแรก ตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง เลยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในบาปกรรม บาปเวร บาปภัย เพราะว่าความเห็นแก่ตัวมาก อันหนึ่งไปทางคนบ้า อันหนึ่งไปทางคนมีปัญญา พระอรหันต์กับคนบ้าตรงกันข้ามเลย คนบ้ามันปล่อยวาง ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม กินเหล้า เจ้าชู้ มันวาง มันว่างหมดทุกอย่าง อะไรมันก็ทำหมด แบบนั้นเขาเรียกว่าปล่อยวางอย่างคนบ้า ทำไมถึงว่าปล่อยวางอย่างคนบ้า เพราะมันอยู่ในอวิชชา อยู่ในความหลง ถ้าทำอย่างพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ ถ้าเข้าสู่กระบวนการศีลสมาธิปัญญาเพราะตัวเรามันไม่มี มีแต่พระธรรม มีแต่พระวินัย มันถึงเป็นพระ เป็นพระวินัย ไม่มีตัว ไม่มีตน เราถึงเข้าถึงความบริสุทธิ์ หมดจด หลุดพ้น เรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด
คนเราต่อให้รวยเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีมันก็ดับทุกข์ไม่ได้ แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะว่านี้มันเป็นเพียงมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ การที่จะถึงนิพพานสมบัติได้นั้น มีอยู่ทางเดียว ก็คือทางสายเอก อันไปสู่ความหลุดพ้นนี่แหละ นั่นก็คือมหาสติปัฏฐาน การประพฤติปฏิบัติธรรม ดูกายดูใจ อยู่ในสติปัฏฐานที่ได้อธิบายมาตั้งแต่ ๗ วันที่แล้วเป็นต้นมาจนกระทั่งถึงวันนี้ บทสุดท้ายของหมวดมหาสติปัฏฐาน ชื่อว่า ธัมมานุปัสสนา คือการตามรู้สภาวธรรม เป็นการกำหนดรู้กายใจ รวมทั้งสิ่งอื่นภายนอกที่ล้วนเป็นสภาวะธรรม ไม่มีบุรุษ สตรี ไม่มีภาวะบุคคล ความเป็นตัวตนเราเขา โดยมองเห็นว่ากายนี้ มันเป็นที่ประชุมของธาตุทั้ง ๔ เป็นภาวะที่คิดอ่านทำการ และไม่ได้ยึดว่าเป็นทาสของใคร ไม่ยึดว่าใครเป็นผู้คิดอ่าน หากมีเพียงสภาวะธรรมทางกายและก็ใจที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปตามเหตุตามปัจจัย ในหมวดที่ผ่านมา พระพุทธองค์ทรงแสดงสภาวะธรรม ปัจจุบันที่จิตรับรู้ คือกองรูป ที่ได้อธิบายไว้ประมาณ ๕ วัน ตั้งแต่การดูอานาปานสติ ดูลม การเจริญอิริยาบถ ๔ อิริยาบถย่อยในหมวดสัมปชัญญะ การพิจารณาร่างกาย ที่แยกชิ้นส่วนเป็นอาการ ๓๒ แล้วก็ การพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ๔ แล้วก็จนกระทั่งเห็นเป็นซากศพ อันนี้คือกองรูป กองเวทนา คือความรู้สึกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสุข เป็นทุกข์ ความรู้สึกเฉยๆ แล้วก็จิต จิตก็คือการดูจิตดูใจ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่มันเข้ามาในจิต ไม่ว่าจะเป็นด้านดี ด้านไม่ดี รู้เห็นตามนั้น ที่ได้อธิบายไปเมื่อวาน โดยกองรูปนี้ จัดเป็นรูปขันธ์ ขันธ์ ๕ กองแรกคือรูป เวทนาเป็นเวทนาขันธ์ แล้วหมวดจิตนี้เป็นวิญญาณขันธ์ แต่ในหมวดธรรมานุปัสสนานี้ ทรงแสดงสภาวะธรรมที่เป็นทั้งรูป เป็นทั้งนาม เป็นทั้งกาย ทั้งใจ ทั้งหมด โดยเน้นความเป็นนิวรณ์ ความเป็นขันธ์ คือกองรูปนาม เป็นต้น โดยเฉพาะนิวรณ์ ๕ เป็นสิ่งที่มันเข้ามาในจิตในใจทุกคน นิวรณ์มันคือกำแพงมหึมา มันเป็นเครื่องกั้นศักยภาพของจิตไม่ให้บำเพ็ญกุศลขั้นสูง คือฌาน วิปัสสนา มรรคผล บุคคลที่ถูกนิวรณ์ครอบงำ ย่อมไม่รู้ประโยชน์ตนและก็ผู้อื่น ไม่อาจจะบรรลุสมาธิและปัญญาได้ เพราะฉะนั้นแล้ว คนจะเข้าฌานได้ ต้องกำจัดนิวรณ์ ความยินดีพอใจในเรื่องของกาม ความพยาบาทเบียดเบียน ความง่วงเหงาหาวนอน โดยเฉพาะถีนมิทธะต้องไม่มี ความฟุ้งซ่านรำคาญใจสงบระงับไป ความลังเลสงสัยก็เหือดแห้งไป ต้องระงับนิวรณ์ ๕ ได้ จิตมันถึงจะแนบแน่นเป็นองค์ฌาน ถ้ายังกำจัดนิวรณ์ ๕ ไม่ได้ จะเข้าฌานไม่ได้เลยเด็ดขาด แล้วจะเข้าใจว่าตัวเองเข้าฌานๆ หรือว่าคนนั้นคนนี้เข้าฌาน แต่ถ้ายังมีนิวรณ์ ๕ อยู่ แสดงว่าไม่ใช่ฌาน
อย่างแรกนะ กามฉันทะ คือความยินดีพอใจในกาม สิ่งที่น่าชอบใจ ในรูปก็สวย เสียงก็ไพเราะ กลิ่นก็หอม รสอาหารก็อร่อย สิ่งสัมผัสก็อ่อนนุ่ม จิตที่ถูกนิวรณ์ตัวนี้ คือความยินดีพอใจในเรื่องของกามคุณครอบงำ จะมีสภาพปรุงแต่งไปตามอารมณ์นั้นๆ เหมือนน้ำที่ผสมด้วยสีต่างๆ แล้วก็อย่างที่ ๒ พยาบาท ความไม่พอใจ หงุดหงิด ขุ่นเคือง คิดประทุษร้าย ปองร้าย จิตที่ถูกพยาบาทครอบงำ จะมีสภาพกระวนกระวาย เหมือนน้ำต้มที่มันกำลังเดือดพล่าน แล้วก็อย่างที่ ๓ ถีนมิทธะ คือความง่วงซึมเซา จิตที่ถูกถีนมิทธะครอบงำจะมีสภาพไม่แจ่มใส เหมือนน้ำที่ถูกจอกแหนมาปกคลุม อย่างที่ ๔ อุทธัจจกุกกุจจะ ก็คือความฟุ้งซ่านรำคาญใจ เดือดร้อนใจ จิตที่ถูกความฟุ้งซ่านรำคาญใจครอบงำ จะมีสภาพไม่สงบนิ่ง ซัดส่ายไปมา เหมือนน้ำที่ถูกลมพัดเป็นระลอกคลื่น แล้วก็นิวรณ์อย่างสุดท้ายคือ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง สงสัยในพระธรรม คือ มรรคผลนิพพาน สงสัยในพระอริยสงฆ์ผู้บรรลุธรรม รวมทั้งสงสัยในรูปนามด้วย เหตุมาจากอวิชชา คือความโง่ที่มันติดตัวมาตั้งแต่ทุกภพทุกชาติที่มันสั่งสมมาตลอด อวิชชา ความหลง ความไม่รู้นี่แหละ สงสัยแนวทางการปฏิบัติ หรือสงสัยในคำแนะนำของครูบาอาจารย์ เป็นต้น จิตที่ถูกนิวรณ์ชนิดนี้ ก็คือความลังเลสงสัยครอบงำจะตัดสินใจอะไรไม่ได้ เหมือนน้ำที่ถูกวางไว้ในที่มืด ผสมด้วยโคลนตม ในสังคารวสูตรพระพุทธองค์ตรัสว่า บุรุษผู้มีตา มีจักษุ มีตา ไม่อาจเห็นเงาใบหน้า ในน้ำที่ผสมด้วยสีต่างๆ ได้ เราลองดู น้ำที่มันผสมสี สีแดง สีเขียว สีดำนี้ มองไม่เห็นเงา ต้องเป็นน้ำใสๆ มันถึงจะเห็นเงาหน้าชัด น้ำที่มันถูกต้มจนเดือดพล่าน ที่เปรียบเสมือนใจที่มันคุกรุ่นไปด้วยความโกรธความขุ่นเคืองนี้ มองอย่างไรก็มองไม่เห็นเงา น้ำที่มีจอกแหนปกคลุมเปรียบเหมือนกับถีนมิทธะ ความง่วงความซึมนี้ยิ่งมองไม่เห็นเลย ในน้ำที่ถูกลมพัดเป็นระลอกคลื่นก็เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ไม่เห็น กับในน้ำที่ผสมด้วยโคลนตมอยู่ในที่มืด อันนี้ยิ่งไปกันใหญ่ฉันใด บุคคลก็ย่อมไม่รู้ประโยชน์ตน ประโยชน์คนอื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แล้วก็ไม่เกิดปัญญาหยั่งเห็นสภาวะธรรมอย่างแท้จริง เพราะถูกกำแพง คือนิวรณ์ มาปิดกั้น มาขวางกั้นเอาไว้ฉันนั้น แม้กามฉันทะเป็นต้นนี้ มันจะเป็นเครื่องกั้นสมาธิ เป็นของไม่ดี แต่ถ้าเรากำหนดรู้เท่าทัน ตามสภาวะที่มันเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความชอบในกาม ความพยาบาทขุ่นเคือง ความง่วง ความฟุ้งซ่าน หรือความลังเลสงสัย รู้เท่าทัน บริกรรมก็ได้ หรือว่าเพียงแค่รู้นี้ อาการเหล่านั้นมันก็จะสงบระงับไป เอาของไม่ดีเหล่านี้ เอามาเป็นฐานให้เกิดของดี คือ เกิดสติ เกิดสมาธิ ถ้าไม่มีนิวรณ์ เราก็คงจะไม่รู้จะเอาอะไรมาพิจารณา ในการปฏิบัติธรรม เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำลาย ต้องข้ามกำแพงนี้ไปให้ได้ จึงจะเกิดฌาน เกิดวิปัสสนา เกิดมรรคเกิดผล ถ้าข้ามไม่ได้ มันก็จะติดอยู่แค่นี้ กามฉันทะนิวรณ์ พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ เมื่อความพอใจยินดีในเรื่องของกามมีอยู่ภายในจิต ก็ย่อมรู้ว่า ความพอใจยินดีในกามมีอยู่ในจิตของเรา เมื่อความพอใจยินดีในกามไม่มีอยู่ในจิต ก็ย่อมรู้ชัดว่ากามมันไม่มีอยู่ มันหายไปแล้ว เมื่อความยินดีพอใจในกามมันยังไม่เกิดขึ้น ก็ย่อมรู้ชัดโดยประการนั้น ความยินดีพอใจในกามที่เกิดขึ้นแล้ว มันจะละ มันจะดับ มันจะจาง จะคลายไปด้วยประการใด ก็ย่อมรู้ชัดอาการนั้น ความยินดีพอใจที่มันเกิดขึ้นแล้ว มันจะละ มันจะดับ จะจาง จะคลายไปด้วยประการใด ก็ย่อมรู้ชัดประการนั้น แล้วก็ความพอใจยินดีในกามที่ละได้แล้ว แล้วมันก็ยังไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ด้วยการกำหนดอย่างไร ด้วยการรู้เท่าทันอย่างไร ย่อมรู้ชัดอาการนั้นๆ นี่คือที่พระพุทธเจ้าตรัส
กามนี้เป็นสิ่งที่น่าชอบใจ แล้วกามนี้มันก็เป็นได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม มันมาทั้งในรูปร่างที่เรามองเห็น มาในสภาพความปรุงแต่ง ความคิด อารมณ์ต่างๆ ที่มันเข้ามาทางทวาร ทางประตูที่เราเปิดรับ ประตูตา ประตูหู ประตูจมูก ประตูลิ้น ประตูกาย ประตูใจ แล้วมันเลยเรียกว่าวัตถุกาม คือ เป็นวัตถุที่น่าใคร่ นั่นก็คือกามคุณ ๕ นั่นเอง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ส่วนที่มันเป็นนามธรรม ที่มันปรุงแต่งเข้ามาในจิต คือความชอบกับไม่ชอบ ติดใจในสิ่งที่มันเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั้น พอมันเกิดความปรุงแต่ง ความชอบขึ้นมา เรียกว่าเป็นกิเลสกาม ซึ่งมันปรุงแต่งอยู่ในจิต มีสภาพยินดีพอใจ ผู้ดำรงชีวิตอยู่ในโลกโดยทั่วไป มักจะวนเวียนวนเวียนอยู่กับความคิดที่มันเป็นกิเลสกามตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับสนิท ต้องทำงานหาเงิน หามรุ่งหามค่ำ หรือบางทีนี้ ต้องไปเบียดเบียนชีวิต ไปเบียดเบียนคนอื่น ไปทุจริตโกงกินคอรัปชั่น ก็เพื่อที่จะหาเงิน เพื่อให้ได้เงินมา เพื่อเสพสิ่งที่มีอยู่ เพื่อเสพกามที่ตัวเองหวัง แสวงหาสิ่งที่ยังไม่มี แล้วก็ต้องคุ้มครองรักษาสิ่งที่มีอยู่ ให้มันดำรงอยู่ต่อไป พออยากก็ต้องทำงานหาเงิน เพื่อให้ได้มา พอได้มาแล้ว ก็ต้องหวงแหนรักษาเอาไว้ ต้องเจ็บ ต้องปวด ต้องร้องไห้ ต้องหลั่งน้ำตา ก็เพราะสิ่งเหล่านี้ กว่าจะได้มาต้องรักษาให้มันอยู่ตลอดไป พอมันเสียหายไป พอมันพังไป สูญหายไป ก็เสียใจ ร้องห่มร้องไห้ มันเป็นวงจรอย่างนี้ตลอด แล้วมันก็ปิดกั้นจิตเราไว้ด้วยนะ ทำให้มองไม่เห็นความเป็นจริง มันเลยทำให้ไม่มีโอกาสที่จิตมันจะได้รับความสุขที่สูงไปกว่านั้น ส่วนใหญ่ก็เลยติดอยู่เพียงแค่กามสุข ขยับไปสูงกว่านั้น คือ ฌานสุขไม่ได้ เพราะมันเข้าไม่ถึงฌาน เพราะอะไรล่ะ? ก็เพราะว่าข้ามนิวรณ์ไม่ได้ พอข้ามนิวรณ์ไม่ได้ จะไม่มีโอกาสที่จะสัมผัสในเรื่องของฌานสุข นิพพานสุขได้เลยได้เพียงแค่สมาธิสุข สุขอันเป็นสมาธิเล็กๆ น้อยๆ ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่ที่มันสูงกว่าสมาธิสุข ก็คือ ฌานสุข สุขของผู้ได้ฌานยิ่งกว่านั้นก็คือ นิพพานสุข ถ้าเปรียบไปแล้ว กามสุขมันยังอยู่ในระดับโลกๆ อยู่ในระดับมนุษย์สมบัติและสวรรค์สมบัติแค่นั้นเอง ส่วนสมาธิสุข ฌานสุข มันสูงกว่านั้น เป็นความสุขในระดับพรหมโลก พรหมสมบัติ แต่มันก็ยังมีทุกข์อยู่ มันยังมีความเวียนว่ายตายเกิด ยังมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย มีพลัดพราก ยังปิดอบายภูมิไม่ได้ สุขอย่างยิ่งจึงเป็นนิพพานสุข
ในฉัปปาณโกปมสูตร พระพุทธองค์ตรัสทวาร ๖ ของทุกๆ คนนี้ ที่เป็นประตู ประตูบ้าน เป็นประตูเรือน ประตูกาย ประตูใจของคนทุกคนนี้เปรียบเหมือนกับว่า เรานั่งอยู่ในบ้าน มีประตูอยู่ ๖ บาน ถ้าเราเปิดมันหมดเลยนี้ สารพัดที่จะต้องรับอารมณ์เข้ามา แต่ถ้าเราปิดประตูด้วยการสำรวมอินทรีย์ สิ่งภายนอกมันก็จะเข้ามาในบ้านเราไม่ได้ บ้านก็คือกายคือใจ พระพุทธองค์ตรัสว่า ทวาร ๖ ของทุกคนนี้ เหมือนสัตว์ ๖ ประเภท ที่หลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่สัมผัสและความนึกคิด ตาเหมือนกับงู หูเหมือนจระเข้ จมูกเหมือนนก ลิ้นเหมือนกับสุนัขบ้าน ร่างกายเหมือนกับสุนัขจิ้งจอก แล้วก็ใจก็เหมือนกับลิง ที่ว่าตาเหมือนงูเป็นอย่างไร ตาคนมันชอบดูสิ่งที่ลวดลาย แล้วก็เรื่องปกปิดเร้นลับ อะไรที่คนปกตินี้ ตามันก็จะชอบสอดส่ายไปดู ชอบดูเหลือเกินสิ่งที่มันคนปกปิดเอาไว้ ที่ซ่อนเร้นเอาไว้ ที่ปิดเอาไว้ เร้นลับเอาไว้นี้ ไม่ชอบแลดูสิ่งที่มันเรียบง่ายแล้วก็เปิดเผย ธรรมดาของตาเป็นอย่างนั้น เหมือนกับงูนะ ที่มันชอบเลื้อยไปในที่รกไม่ราบเรียบ ตาคนปกติก็เลยเป็นอย่างนั้น ชอบดูซอกแซกๆ ในสิ่งที่ปิดซ่อนเร้นลับ หูเหมือนกับจระเข้ หูเป็นรูช่องให้เสียงลอดผ่าน เหมือนจระเข้ที่มันชอบอยู่ในโพรง หรือว่าถ้ำใต้น้ำ จมูกเหมือนกับนก จมูกมันชอบสูดดมกลิ่นในอากาศ เหมือนกับนกที่ชอบโผผินบินไปในอากาศ ลิ้นเหมือนกับหมาบ้าน สุนัขบ้านนี้ ลิ้นมันชอบลิ้มรสอาหารหลากหลายของชาวบ้าน มันกินไปทั่ว มันกินไม่เลือก อะไรกินได้กินหมดนะ ไม่ว่าจะเป็นของดีไม่ดี สะอาดไม่สะอาด มันกินไปหมด ลิ้นคนก็เป็นเช่นนั้นเหมือนหมาบ้าน แล้วก็สุนัขบ้านนี้ มันยังชอบคลุกคลีนอนอยู่ในบ้านด้วย มันไม่ออกไปไหน กินแล้วมันก็นอนอยู่บริเวณนั้นแหละ มันไม่ออกไปไหน ส่วนกาย ร่างกายคนนะ เขาบอกว่าเหมือนกับสุนัขจิ้งจอก กายนี้ มันชอบสัมผัส ชอบการสัมผัสของมนุษย์ต่างเพศ โดยเฉพาะถูกเนื้อต้องตัวได้สัมผัสกับเพศตรงข้าม มันยินดีพอใจ ติดอกติดใจ ชอบอกชอบใจ เหมือนสุนัขจิ้งจอก ชอบกินเนื้อมนุษย์ในป่าช้า แล้วมันก็ติดอกติดใจอยู่อย่างนั้น แล้วก็สุดท้าย คือใจคนนี้เหมือนลิง มันมีธรรมชาติซัดส่ายไม่หยุดนิ่ง เปรียบประดุจดังลิงที่มันซุกซนไม่หยุดนิ่ง กิเลสทั้งหลายเป็นสิ่งที่ถูกสะสมเอาไว้ในกระแสจิต ภพแล้วภพเล่า ชาติแล้วชาติเล่า เมื่อพบกับเหตุปัจจัยที่เหมาะสม กิเลสดังกล่าวมันก็จะฟูขึ้นในใจ ส่งผลให้แสดงอากัปกิริยาทางกาย หรือทางวาจา เหมือนกับทารก ตั้งแต่เด็กๆ ที่เกิดมานี้ ยังไม่ได้มีความต้องการทางเพศ เด็กอย่างมากมันก็แค่เล่น เสียใจร้องไห้ก็เพราะว่าสูญเสียของเล่น หรือว่าถูกตี มันคิดได้แค่นั้น เพราะว่าสภาวะร่างกายยังไม่เติบโต พอเมื่อเจริญวัยเป็นหนุ่มเป็นสาว ร่างกายเจริญสมบูรณ์แล้ว จึงเกิดความต้องการทางเพศ กิเลสที่มีอยู่แล้วนี้ในกระแสจิต มันจะปรากฏเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมมูลเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอนุสัยนี้ มันเป็นกิเลสขั้นละเอียด มันหมักหมมอยู่ในกมลสันดาน อยู่ในขันธสันดาน มันสั่งสมมา มันแทบจะมองไม่เห็นนะ อนุสัยกิเลสมันนอนเนื่องอยู่ในจิต บางทีมันมองไม่เห็น กว่าจะเห็นได้นี้ มันจะเห็นด้วยสติ เห็นด้วยปัญญา แล้วก็กิเลสที่มันฟูขึ้นในจิตใจที่เป็นปริยุฏฺฐานกิเลส-กิเลสระดับกลาง ละได้ด้วยสมถะ สมาธิมันข่มเอาไว้ได้ ส่วนกิเลสอย่างหยาบละได้ด้วยศีล พอมีศีล ๕ มันก็ละกิเลสอย่างหยาบ ก็คือ ไม่เบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่น ไม่ไปลักขโมยของเขา ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่เป็นคนที่ปากไม่ดี แล้วก็ไม่ดื่มเหล้า ดื่มเสพติดพวกนี้ กิเลสอย่างหยาบมันละได้ด้วยศีล กิเลสอย่างกลางละได้ด้วยสมาธิ กิเลสอย่างละเอียดที่เป็นอนุสัยกิเลส จนกระทั่งไปถึงรากเหง้าคืออวิชชา มันต้องละได้ด้วยการเจริญสติ เจริญปัญญาที่เป็นวิปัสสนาจริงๆ จึงจะละได้
เพราะฉะนั้น เมื่อกามฉันทะ ความยินดีพอใจมันปรากฏเกิดขึ้น จิตของทุกๆ คน หรือว่าจิตของผู้ปฏิบัติ มันจะรับรู้อาการชอบทันที พอเห็นปุ๊บ รู้ไม่ทันมันก็ชอบเลย พอฟังอะไรเข้ามา ถ้ามันถูกใจก็ชอบเลย ถ้าไม่ถูกใจก็ขัดใจ ขุ่นข้องหมองใจ โกรธเลยก็มี ดังนั้น เมื่อสภาวะอาการเหล่านี้มันเกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นความยินดีพอใจ หรือว่าความขุ่นเคืองใจ แม้กระทั่งความง่วง ถ้าเรากำลังเจริญอานาปานสติอยู่ตอนนั้นนะ เราก็มาดูอาการนั้นๆ ที่มันปรากฏชัด หรือว่าใส่ใจการกำหนดให้แรงขึ้น อะไรชัด มันปรากฏชัดดูตามนั้น ที่ท่านว่า ยถาปากะฏัง วิปัสสนา... พึงเจริญวิปัสสนาตามอารมณ์ที่ปรากฏชัด เหมือนกับเราต้องการดูอะไรสักอย่าง สิ่งที่เราจะดูชัดเจนที่สุดนี้ มันจะคมชัด แต่ส่วนที่เหลือมันจะเบลอๆ อะไรชัด ดูอันนั้น แล้วจากนั้นก็กลับมาที่กรรมฐานหลักของเรา คือ ดูลมหายใจ หรือุปมาง่ายๆ เหมือนกับแมลงมุมนี้ เราเห็นใยแมงมุม ตัวแมลงมุมมันจะอยู่ตรงกลางของรังของมัน พอเวลามีอะไรมาติดที่ใยของมัน มันจะเป็นแมลง เป็นมด แมลงมุมที่มันอยู่ตรงกลางใย มันก็จะกระโดดไปกิน พอโดดไปกินแล้วมันก็จะกลับมาตรงกลางเหมือนเดิม พอมีอะไรมาติดอีกมันก็จะกระโดดไปกินอีก มันก็จะกลับมาตรงกลาง เหมือนกับใจเรามีกรรมฐานหลักของเรา คือ อานาปานสติลมหายใจ ในขณะที่เราดูลมหายใจไป มีอะไรมาปรากฏชัด ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บ ความปวด ความดีใจเสียใจ ความชอบไม่ชอบ ความขี้เกียจ ความเซื่องซึม ความง่วง เราก็ดูจนกระทั่งมันดับไป แล้วก็กลับมาที่อารมณ์หลัก คือ ลมหายใจ อย่างนี้เป็นต้น แล้วทีนี้ นอกจากนี้ เมื่อผู้ปฏิบัติรู้กามฉันทะ ความยินดีพอใจในเรื่องของกาม ที่มันเกิดขึ้น ตั้งแต่มันเกิดขึ้นจนกระทั่งสงบไปด้วยการรู้ ครั้งสองครั้งหรือหลายครั้งตามสมควร แล้วก็พึงรู้จิตที่มันผ่องใส เมื่อความยินดีพอใจในกามนั้นมันดับไปด้วย ก็เพียงแค่รู้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะทำให้เราเห็นชัดเจนของความเกิด-ดับของรูปธรรมนามธรรม ความเกิด-ดับของความยินดีพอใจที่มันเกิดขึ้นในเรื่องของกาม การเห็นเช่นนี้ มันได้ปัญญา โดยเฉพาะปัญญาที่มันรู้แจ้งในไตรลักษณ์ ปัญญาที่เห็นความเกิด-ดับ นี่แหละคือวิปัสสนาปัญญา เราสะสมๆ ไปเรื่อยๆ เหมือนกำลังเก็บแต้ม เก็บแต้มกำลังของสติ สะสมให้มันเต็มที่ พอมันเต็มที่ มันก็จะออกดอกออกผลให้เราเห็น เป็นวิปัสสนาญาณที่มันสามารถประหัตประหาร เป็นสมุจเฉทปหานได้
เหตุเกิดของกามฉันทะ ท่านก็บอกว่า คืออโยนิโสมนสิการ การใส่ใจโดยไม่แยบคาย พอเวลาเห็นอะไรก็ไม่ได้ใส่ใจในการพิจารณา ชอบไปเลย ดูไปเลยเต็มที่ ดังนั้น ท่านจึงสอน โดยเฉพาะผู้บวชหรือผู้ปฏิบัติธรรม มีศีลอย่างหนึ่งเพิ่มเข้ามา นอกจากปาฏิโมกขสังวรศีล คือศีล ๒๒๗ ข้อแล้ว ยังมีอินทรียสังวรศีล ศีลคือการสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มองเฉพาะชั่วแอก อย่ามองมาก มองมากกิเลสมันก็เข้ามาก เวลาปฏิบัติธรรม หรือว่าผู้ที่อยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ท่านจึงบอกว่า มีตาก็ให้เหมือนคนตาบอด มีหูก็ให้เหมือนกับคนหูหนวก มีกำลังก็ให้เหมือนกับคนที่อ่อนกำลัง มีปัญญาก็ทำให้เหมือนกับคนโง่ เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนี้ มีตาให้เหมือนคนตาบอด คือ ถ้าเรายังรู้ตัวเองว่า จิตใจตัวเองยังไม่แข็งแกร่ง ยังไม่แข็งแรง อย่าไปมองมั่วซั่วนะ ถ้ามองไปแล้วนี้ มันไม่ได้ตัด มันไม่ได้แต่สักแต่ว่าเห็น มันจะปรุงแต่งไปสารพัด ชอบ-ไม่ชอบ มันปรุงแต่งไปขนาดนั้นนะ ฟังก็เช่นเดียวกัน มันก็ปรุงแต่งไปเรื่อย แม้กระทั่งความคิด มันก็ปรุงแต่งไปเรื่อยๆเพราะฉะนั้น ท่านจึงมีศีลอย่างหนึ่งบอกว่า อินทรียสังวรศีล สำรวมอินทรีย์ จึงมีส่วนช่วยอุปการะ ดังนั้น เหตุเกิดของกามฉันทะก็คือ ไม่ได้พิจารณาใส่ใจโดยแยบคาย ในอารมณ์ที่ตนชอบ ว่าน่าพอใจ หรือว่าความพอใจในกามฉันทะ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตาของเพศตรงกันข้าม อารมณ์ดังกล่าวที่มันเป็นความชอบ ที่เป็นศุภนิมิต นิมิตว่าสวย ว่างาม มันก็จะทำให้กิเลสในใจนี้มันฟุ้งขึ้นมา ถ้าหากเป็นอารมณ์ที่ไม่ชอบ มันก็จะทำให้อารมณ์โทสะ ขุ่นเคืองเป็นปฏิฆะนี้ฟุ้งขึ้นมา ผู้ปฏิบัติที่ขาดสติกำหนดรู้สภาวะปัจจุบัน เมื่อพบกับอารมณ์ที่สวยงาม ก็ย่อมคิดไปด้วยการไม่ได้ใส่ใจโดยแยบคายว่า ก็เลยจะคิดว่ามันสวย มันงาม มันน่าพอใจ มีความสำคัญผิดไปเลยว่า โอ ทำไมมันสวยอย่างนี้ ทำไมมันงามอย่างนี้ ทั้งที่จริงแล้ว เราไม่ได้รู้อารมณ์ที่มันเกิดขึ้นนี้ ที่มันอยู่ชั่วคราวแล้วมันดับไป อันนี้ เพราะว่าเราไม่ได้ใส่ใจ แล้วก็เหตุละ และวิธีหยุดกามฉันทะ นั่นก็คือ โยนิโสมนสิการ หมายถึงว่า ใส่ใจพิจารณาโดยแยบคาย ตั้งใจ ใส่ใจพิจารณา เมื่อเห็น เมื่อฟัง เมื่อได้กลิ่น เมื่อรู้รส สักแต่ว่าให้เป็น หรือมันชอบไปแล้ว ก็รู้หนอ เพียงแต่ว่ารู้ รู้ว่าชอบไปแล้ว รู้ว่าเห็นไปแล้ว รู้ว่าติดใจไปแล้วนี้ บางคนนี้ เมื่อสติยังไม่คมชัดนะ เห็นจนชอบ ปรุงแต่งไปสารพัดแล้วนี่ ถึงจะรู้ทัน รู้ตอนนั้นก็ยังดี หรือบางคนสติดีขึ้น พอเห็นแล้ว มันกำลังจะปรุงแต่ง เท่าทันตรงนั้น ก็พิจารณาตรงนั้น กำหนดรู้ตรงนั้น หรือบางคนเพียงแค่เห็น ก็สักแต่ว่าเห็น ทำอย่างนี้ได้ มันจะตัดไปทุกๆ ขณะ ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะรู้รสอะไรมัน จะเป็นแต่เพียงสักว่าๆ ความจริงแล้วนี้ การละกามฉันทะดังกล่าว เป็นงานของวิปัสสนา ที่จะดับเชื้อกิเลสให้สนิทด้วยการละไปชั่วขณะไปเรื่อยๆ ในขณะที่สติเกิด รู้เท่าทันนั้นนี้ มันเป็นการละทีละขณะๆ ไป
แล้วท่านก็อธิบายว่า วิธีที่จะทำให้กามฉันทะ ความยินดีพอใจมันเบาบางลงไปได้นั้น มี ๖ วิธีด้วยกัน อย่างแรก เรียนรู้อารมณ์ที่มันก่อให้เกิดความไม่สวยงาม ไม่น่ายินดี อันได้แก่ ซากศพ ดูภาพอสุภะบ่อยๆ นึกถึงภาพเหล่านั้นบ่อยๆ หรือแม้กระทั่งอาการ ๓๒ ที่แยกเป็นชิ้นส่วนนี้ว่า ผมมันก็เป็นอย่างนี้ ขนเป็นอย่างนี้ เล็บ ฟัน หนัง กระดูก เอ็นใหญ่ เอ็นน้อย ที่ได้อธิบายไว้เมื่อหลายวันก่อนนี้ ให้พิจารณาชัดเจนอย่างนั้นแหละ กามราคะที่มันฟุ้งขึ้นมา ในขณะที่เราชอบใจยินดีในร่างกายของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เราชอบ มันจะสงบเบาบางลงไป หรือว่า วิธีที่ ๒ คือ เจริญอสุภะเลยนะ ดึงเข้ามาหาซากศพให้ได้ ต่อให้สวยงามขนาดไหน ดีขนาดไหน จะชอบขนาดไหน อย่างไรก็ไม่พ้นความตาย กายอย่างไรก็ต้องพองออก มันต้องอืด มันต้องมีน้ำเลือด น้ำหนอง น้ำเหลือง มันต้องมีหนอน พิจารณาให้เป็นความไม่สวยไม่งามด้วยอสุภะ ที่ได้อธิบายไว้ในวันก่อน แล้วก็ประการที่ ๓ สำรวมอินทรีย์ คือ ไม่เสพสิ่งที่ชอบใจทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปิดเลย เหมือนเราปิดประตูบ้านน่ะ ไม่รับแขก แต่ก่อนเราเคยรับแขก เป็นอาวาสิกวัตรที่ดี เป็นเจ้าบ้านที่ดี ไม่ว่าจะเป็นอาคันตุกะกิเลส หรืออาคันตุกะจรมาเท่าไหร่ เรารับเต็มที่ ดูเต็มที่ ฟังเต็มที่ ได้กลิ่นก็ดมเต็มที่ อาหารก็อร่อยเต็มที่ ยินดีถูกต้องสัมผัสเต็มที่ ที่นี้เรารู้แล้วนี้ เราอย่าไปรับแขกซี้ซั้ว อย่าไปรับแขกมั่ว ต้องสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่ามองมั่ว เมื่อฟัง ก็สักแต่ว่าฟังให้เป็น ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่นให้เป็น กายถูกต้องสัมผัส หรือว่าลิ้มรู้รสก็ต้องสักแต่ว่าให้เป็น เป็นการปิดประตูบ้าน เป็นการสำรวมอินทรีย์ วิธีนี้ก็จะช่วยให้กามฉันทะ ความยินดีพอใจในกามสงบลง อย่างที่ ๔ รู้จักประมาณในอาหาร กินมากมันก็จะนอนมาก พอกินมากนอนมาก กามมันก็จะฟุ้งมาก เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้จักประมาณในอาหาร จะส่งผลให้กามฉันทะ ความยินดีพอใจในอาหารน่ะ มันหมดลงไปด้วย ถ้าผู้ปฏิบัติไม่รู้จักประมาณ ก็จะเกิดความอยากให้รสอาหารเพิ่มขึ้นๆ จึงควรรับประทานอาหารพอประมาณ โดยหยุดรับประทาน หยุดฉันก่อนที่จะอิ่ม ๔-๕ คำ แล้วก็ดื่มน้ำตาม เช่นนี้ มันก็จะพอดี คือไม่อิ่มเกินไป ท้องไม่แน่นเกินไป ไม่ง่วง อย่างที่ ๕ คบหากัลยาณมิตร คบเพื่อนดีๆ โดยเฉพาะกัลยาณมิตรผู้ที่ละกามฉันทะได้แล้ว ถ้ากัลยาณมิตรที่ละกามได้ จริงๆ ก็มีแต่พระอนาคามีขึ้นไป ต้องคบท่านเหล่านี้ ซึ่งท่านจะสามารถแนะนำสั่งสอนเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติ แล้วก็อย่างที่ ๖ ถ้อยคำ สนทนาพูดคุยกันในเรื่องที่เป็น ที่เหมาะแก่การปฏิบัติที่ละกาม โดยเฉพาะการพิจารณากาย การพิจารณาอสุภะเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่น เหตุไม่เกิดของกามฉันทะ ก็คือ วิธีที่จะทำให้ละกามฉันทะได้โดยเด็ดขาดนั้น ก็มี คือ ละได้ชั่วคราว ละได้เป็นลำดับไป หรือว่าละได้ถาวร การที่เราเจริญสติ เจริญสมาธิ ติดต่อๆ เนื่องนี้ มันละได้เป็นกระแส ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้เป็นพระอนาคามี แต่กามมันก็ไม่ฟุ้ง เพราะมันสงบระงับด้วยการรู้เท่าทัน หรือสงบระงับด้วยกำลังของสมาธิ เพราะฉะนั้น พระโสดาบันนี้ ท่านจึงสามารถละกามฉันทะที่จะนำไปสู่อบายภูมิได้ ท่านยังมีกามคุณนะ ท่านยังเสพกาม ยังมีครอบครัว ยังมีสามี มีภรรยา ยังมีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส อยู่ แต่ความยินดีพอใจของท่านนั้นจะไม่ผิดศีลข้อ ๓ เพราะฉะนั้น พระโสดาบันท่านไม่ผิดศีลข้อ ๓ ที่เป็นเหตุไปสู่อบายภูมิ ไม่ล่วงละเมิดภรรยาของผู้อื่น พระสกิทาคามีท่านก็จะสามารถละกามฉันทะที่หยาบ ที่เป็นการเสพกามได้ ท่านจึงไม่เสพกามอย่างนั้นอีก ส่วนพระอนาคามีละได้อย่างเด็ดขาด ละได้อย่างหมดหมดสิ้น ดังนั้น พระอนาคามีที่ท่านครองเรือนนี้ ท่านจึงนุ่งขาว ห่มขาว ถือศีล ๘ ถึงจะมีภรรยา จะมีสามี แต่จะไม่นอนด้วยกัน เพราะไม่มีความยินดีพอใจในเรื่องของอารมณ์ทางเพศอีกแล้ว ท่านจึงถือศีล ๘ โดยอัตโนมัติ เพราะเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ว่ายังยินดีในรูปราคะ อรูปราคะ ยินดีพอใจในการเกิดเป็นรูปพรหม อรูปพรหมอยู่ อย่างนี้เป็นต้น ส่วนพระอรหันต์ สามารถละได้ทั้งหมด จนกระทั่งถึงอวิชชา จึงรู้เหตุไม่เกิดของกามฉันทะได้อย่างเด็ดขาด หมดสิ้นด้วยอรหัตตมรรค ส่วนผู้ปฏิบัติที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ก็รู้เหตุไม่เกิดของฉันทะได้ด้วยสุตมยปัญญา ปัญญาจากการฟังการเรียนรู้ ปัญญาจากการคิด เมื่อกามฉันทะที่สั่งสมไว้ในกระแสจิต ถูกขจัดไปชั้นแล้วชั้นเล่าด้วยมรรคญาณ หรือว่าด้วยการเจริญสติ ด้วยการรู้ทีละขณะๆๆ จนกระทั่งตัดเด็ดขาด ด้วยมรรคญาณ จะทำให้ไม่ก่อภพ ก่อชาติ ไม่มีภพใหม่อีกต่อไป จึงจะหมดสิ้นได้ ในเรื่องของกามฉันทะ
ต่อไป พยาบาทนิวรณ์ ๕ นิวรณ์ข้อที่ ๒ คือพยาบาทนี้ จิตใจของคนทั่วไป ที่กระทบกับสิ่งที่ไม่ชอบ มันก็จะเกิดความไม่พอใจ แล้วก็จะเกิดอาการทางจิตในทางลบตามลำดับ คือ ความหงุดหงิด หงุดหงิดก็คือปฏิฆะ ความหงุดหงิด ความขุ่นเคือง ก็คือความโกรธ โกรธะ ความคิดของประทุษร้าย คือโทสะ สุดท้ายปองร้าย จะแก้แค้นเป็นพยาบาท ความปองร้ายนี้เป็นพฤติกรรมของจิต เป็นไปในทางผูกใจแก้แค้นเอาคืน หรือแม้ไม่ถึงขั้นลงไม้ลงมือเอาคืน แต่ก็มีอาการขุ่นเคืองอยู่ในจิตตลอดเวลา เพราะมันไม่ปรง ไม่วาง โกรธกันเป็นเดือนก็ไม่หาย โกรธกันเป็นครึ่งปีก็ไม่หาย โกรธกันเป็น ๑๐ ปีก็ไม่หาย ก็เพราะตัวนี้แหละ ตัวพยาบาท เพราะมันผูกเอาไว้ มันตรึงเอาไว้ ตามปกติพยาบาทเป็นสิ่งที่มันพัฒนามาจากความโกรธ พอตามไม่ทัน มันเก็บสะสมเอาไว้ๆ มันจึงเป็นความขุ่นเคือง ประทุษร้าย สุดท้ายเป็นความปองร้าย ดังนั้น เมื่อมันเกิดความโกรธขึ้น รู้เท่าทันตรงนั้น โกรธ โกรธ โกรธหนอก็ได้ โกรธให้รู้ว่าโกรธ ขุ่นเคืองให้รู้ว่าขุ่นเคือง ไม่พอใจให้รู้ว่าไม่พอใจ สติรู้เท่าทันแล้วมันจะดับไปได้ เป็นการชนะอารมณ์ได้ สังเกตดูง่ายๆ ในแต่ละวันเรานี้ ความโกรธเกิดกี่ครั้ง ขุ่นเคืองกี่ครั้ง ขนาดไม่ได้อยู่กับใครนะ อยู่กับตัวเอง อยู่กับคนเดียวนี้ โทสะมันยังเกิดเลย ขุ่นเคืองมันยังเกิดเลย อะไรไม่ได้ดั่งใจหน่อยหนึ่งก็ขุ่นเคืองแล้ว นั่งสมาธิทำไมมันง่วงจัง ขุ่นเคืองอีกแล้ว ทำไมมันไม่สงบขุ่นเคืองอีกแล้ว ทำไมมันไม่สงบเหมือนเมื่อวาน ทำไมเดินจงกรมไม่ดีเหมือนวันก่อน ขุ่นเคืองอีกแล้ว ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ต่อให้อยู่กับตัวเอง มันก็มีความขุ่นเคือง เพราะมันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เดิม เหตุเกิดของพยาบาทคืออะไร? การที่ไม่ใส่ใจโดยไม่แยบคายนั่นเอง แล้วก็เหตุละ วิธีหยุดพยาบาทก็คือ การต้องใส่ใจโดยแยบคาย ด้วยเจริญสติระลึกรู้ เป็นปัจจุบันธรรม เป็นปัจจุบันขณะ เมื่อโกรธก็รู้ว่าโกรธ ขุ่นเคืองก็รู้ว่าขุ่นเคือง ไม่พอใจก็ให้รู้ว่าไม่พอใจ รู้ตามที่มันเป็น รู้ตามที่มันปรากฏชัด พอรู้เช่นนี้แล้ว การรู้ของเรานี้ มันไม่ใช่รู้เฉยๆ แต่มันเป็นการรู้ที่มันไปตัด ไปละ ลดกำลังให้มันจาง มันคลายและดับไปในที่สุด ปัญญาก็เกิด ความสุขก็เกิด รู้ตั้งแต่มันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ มันดับไป ปัญญาชนิดนี้เป็นปัญญาที่เราต้องการในการปฏิบัติธรรม นี่แหละคือปัญญาที่เกิดจากการภาวนาจริงๆ การละพยาบาทดังกล่าวเป็นงานของวิปัสสนา จะดับเชื้อ กิเลสได้สนิท ด้วยการละไปเรื่อยๆ ทีละขณะๆ ไป
ท่านก็บอกถึงวิธี ที่ทำให้ความพยาบาทเบาบางลงไป ๖ ประการคือ ๑. เรียนรู้อารมณ์ที่ก่อให้เกิดเมตตา นั่นก็คือว่า เริ่มเจริญเมตตาภาวนาจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่การอ่านบทแผ่เมตตา หรือการท่อง เวลาโกรธใครขึ้นมา ท่องแต่สัพเพสัตตานี้ มันไม่หายหรอก เพราะจิตไม่ได้ประกอบด้วยเมตตาจริงๆ มันต้องเริ่มมาจากจิตที่รู้ว่าโกรธ ต้องเจริญเมตตา ในบุคคลที่โกรธให้เป็น วิธีนี้มันจะระงับได้ง่าย ถ้าไม่เป็นไง ต่อให้ท่องสัพเพสัตตาเป็นร้อยเที่ยว มันก็ไม่หาย เมตตาจริงๆ มันก็ไม่เกิด ได้แต่เพียงแค่การท่อง สุดท้ายก็ได้แค่สมาธิ ไม่ได้เมตตาจริงๆ เพราะเมตตาไม่เป็น เจริญเมตตาภาวนานี้ ๒. ทำให้เมตตาที่มันปรากฏแล้วในใจมีมากขึ้นๆ เป็นเหมือนกับยานพาหนะพาไปสู่พรหมโลก เป็นที่ตั้งของจิต ดำรงไว้อย่างสม่ำเสมอจนช่ำชอง แล้วก็อย่างที่ ๓ ให้พิจารณาว่ามีกรรมเป็นของของตน ใคร่ครวญกรรมของตนและผู้อื่น ทุกคนมีกรรมเป็นของตน แม้กระทั่งผู้ที่มาทำร้ายเรา ก็เป็นเพียงอุปกรณ์ของกรรม แม้จะไม่มีเขา ก็อาจจะมีคนอื่นมาทำอย่างนี้ หรืออาจจะต้องประสบอุบัติเหตุให้เจ็บตัว เสียหายโดยไม่มีผู้อื่นมาเกี่ยวข้องก็ได้ เห็นกิเลสโดยความเป็นกิเลส อย่าเห็นกิเลสโดยความเป็นคน เอามาใช้ได้เสมอ แล้วก็อย่างที่ ๔ ให้พิจารณาเห็นโทษของความโกรธ ให้พิจารณาเห็นอานิสงส์ของการเจริญเมตตา ๑๑ อย่าง แล้วก็อย่างที่ ๕ คบหากัลยาณมิตรที่ละพยาบาท ละความโกรธได้ แนะนำสั่งสอนเรา เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติ แล้วก็อย่างที่ ๖ สนทนาพูดกัน คุยกัน ด้วยถ้อยคำที่เหมาะแก่การปฏิบัติ ซึ่งเกี่ยวกับการละโทสะได้ เหตุไม่เกิดพยาบาลนี้ ที่มันละได้อย่างเด็ดขาดเลยก็คือ อนาคามีมรรค พระอนาคามีเท่านั้น ที่ท่านไม่มีความโกรธเลย ต่ำกว่านั้นลงมายังมีอยู่ พระโสดาบันก็ยังมี แต่ว่ามีไม่มาก ท่านระงับได้ เพราะสติท่านมี
ต่อไป นิวรณ์อย่างที่ ๓ ถีนมิทธะนิวรณ์ พระพุทธองค์ทรงอธิบายความง่วงซึมเซาไว้ว่า เป็นความเบื่อหน่าย(อรติ) เป็นความเกียจคร้าน(ตันทิ) เป็นการบิดขี้เกียจ(วิชัมภิตา) เป็นความเมาอาหาร(ภัตตสัมมทะ) ความหดหู่ของจิต(เจตโส ลีนัตตัง) แล้วก็เป็นภาวะที่จิตไม่เหมาะควรแก่การบำเพ็ญกุศล เพราะอยากอย่างเดียว คือ อยากนอนเท่านั้น ดังนั้น ถีนมิทธะ มันมีอาการเยอะเหลือเกิน เบื่อหน่าย เซ็ง ไม่อยากทำ ขี้เกียจขี้คร้าน บิดขี้เกียจ กินมากเกินไปก็เมาอาหาร ไม่อยากทำอะไรแล้ว อยากนอนอย่างเดียว แล้วใจก็หดหู่ไม่อยากทำอะไร จิตมันไม่เหมาะไม่ควรที่จะทำให้กุศลเกิดก็ได้ เพราะต้องการอย่างเดียว คือต้องการนอน นี่แหละคืออารมณ์ของถีนมิทธะ ผู้ปฏิบัติควรกำหนดรู้ให้มันชัดเจน จะง่วงหนอๆ ก็ได้ กำหนดรู้อาการง่วงให้มันชัดเจน ท่านก็บอกอุบายวิธีว่า ถ้าในง่วงสุดๆ กลั้นลมหายใจเลย หรือมันคิดมากๆ ฟุ้งมากๆ กลั้นลมหายใจ สุดท้าย มันกลัวตาย มันก็จะกลับมาอยู่กับลมเองแหละ กลับมาอยู่กับลมหายใจเอง
เหตุเกิดของถีนมิทธะก็คือการไม่ใส่ใจ เหตุละ และวิธีห้ามถีนมิทธะก็คือว่า ใส่ใจโดยแยบคาย ด้วยการเจริญสติ ระลึกรู้ในปัจจุบัน เมื่อสติมันเกิดพร้อมกับกุศล ความง่วง ความซึมเซา มันก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะความดีกับความไม่ดีมันจะเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้ ในขณะที่จิตมีกุศล อกุศลมันก็จะไม่มา แต่ในยามใดที่จิตมันมีอกุศล จิตที่มันง่วง ตอนนั้นกุศลจิตจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ดังนั้น เราจึงต้องเอาเครื่องช่วย เครื่องมือคือสติ เมื่อสติมันเท่าทัน กุศลก็เกิด ความง่วงมันก็หายไป จะเป็นแบบนี้
วิธีที่จะทำให้ความง่วง ความซึมเซา มันเบาบางลงไป ๖ วิธีที่ท่านอธิบายไว้ คือ เรียนรู้โทษของการกินมาก อย่างที่ ๒ เปลี่ยนอิริยาบถ คือ ถ้าง่วงในขณะนั่งกรรมฐาน ให้ลุกเดินจงกรม ลืมตาดูแสงสว่าง หรือว่านึกถึงแสงสว่างของดวงจันทร์ ของดวงไฟ แม้กระทั่งแสงสว่างของดวงอาทิตย์ที่มันจ้าเข้ามาในประสาทสัมผัส ความง่วงมันจะหายไป อยู่ในที่โล่งแจ้ง อย่าอยู่ในที่มืดๆ ที่อับนะ มันจะชวนนอน แล้วก็คบหากัลยาณมิตรที่สามารถละถีนมิทธะได้ แล้วก็กล่าวถ้อยคำเหมาะสมแก่การปฏิบัติ ผู้ที่จะละถีนมิทธะได้อย่างเด็ดขาดนั้น มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น พระอนาคามีก็ยังมีความง่วงอยู่ พระโสดาบันก็ยังมี ปุถุชนนี่มีเต็มขั้นเลยนะ เพราะฉะนั้นแล้ว พระอรหันต์ท่านจึงไม่หาว ท่านจึงไม่ง่วงเหงาหาวนอน เพราะท่านละถีนมิทธะได้อย่างเด็ดขาด ๑๐๐% ดังนั้นแล้ว เราจึงต้องมีวิธีดังที่ว่ามานี่แหละ เมื่อมันเกิดขึ้นมานี้ ต้องเป็นผู้ฉลาดในการจัดการกับตัวเอง อย่าให้เป็นทาสของความง่วง นั่งก็หลับ เดินก็หลับ สุดท้ายฌานไม่เกิด สมาธิมันก็ไม่เกิด เพราะว่านิวรณ์ตัวเป้งๆ เลย ก็คือถีนมิทธะมันเกิดขึ้นมาตลอด ในการที่จะมาขัดขวางความดี นี่แหละคือมาร มันคือกิเลสมารมาขัดขวาง ฟังเทศน์ก็หลับ จะนั่งสมาธิก็หลับ จะเดินจงกรมก็หลับ ง่วงทุกๆ กิจ อย่างนี้มันก็ไม่เกิดปัญญา
ต่อไป อุทธัจจกุกกุจจะนิวรณ์ คือความฟุ้งซ่านฟุ้งซ่านรำคาญใจ เหตุเกิดของมันก็คือ การไม่ได้ใส่ใจโดยแยบคาย เหตุละ และก็วิธีหยุดความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ก็คือ ต้องมีสติ เจริญสติระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบัน เมื่อสติมันเกิดร่วมกับกุศลแล้วนี้ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจมันจะเกิดขึ้นไม่ได้ ในขณะที่ฟุ้ง ก็มาดูความฟุ้ง แต่อย่าตามมันไป ฟุ้งก็รู้ว่าฟุ้ง เครียดก็รู้ว่าว่าเครียด รำคาญก็รู้ว่ารำคาญ รู้ตามที่มันเป็น เมื่อรู้ชัดเจน ความฟุ้งมันจะหยุดทันที มันจะถูกแทนที่ด้วยสติ การละความฟุ้งซ่านเป็นงานของวิปัสสนา
วิธีที่ทำให้ความฟุ้งซ่านรำคาญใจเบาบางลงไปได้ ท่านบอกว่ามี ๖ ประการด้วยกันคือ เล่าเรียนหลักธรรมให้มาก จะส่งผลให้ความคิดฟุ้งซ่านน้อยลงไป พิจารณาถึงข้อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง จะทำให้ความฟุ้งซ่านรำคาญใจลดลงไป เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพระวินัย สอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับพระวินัยจนเข้าใจชัดเจน ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างทั่วถึงไม่สงสัย เข้าไปถาม ไปแนะนำ แล้วก็ไปคบหาผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร อย่างเช่นพระอุบาลี จึงจะเหมาะ จึงจะสม เหตุไม่เกิดของอุทธัจจกุกกุจจะก็คือว่า คนที่จะละความฟุ้งซ่านรำคาญใจได้อย่างดีที่สุดนั้น ท่านบอกว่า ละได้ด้วยอรหัตตมรรค มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ท่านไม่ฟุ้ง พระอนาคามีก็ยังมีอยู่ อุทธัจจ กุกกุจจะมันก็ยังเป็นสังโยชน์อย่างหนึ่ง เป็นสังโยชน์กิเลสร้อยรัดใจอย่างหนึ่ง รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สังโยชน์ ๕ นี้ พระอนาคามียังมีอย่างเบาบาง จะละได้ก็อรหันตมรรคเท่านั้น
ต่อไป นิวรณ์สุดท้ายคือ วิจิกิจฉานิวรณ์ ความลังเลสงสัย เหตุเกิดของมันก็คือว่า ไม่ใส่ใจพิจารณาโดยแยบคาย เหตุละ วิธีหยุดก็คือว่า ใส่ใจเจริญสติ ระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบัน เมื่อสติเกิดร่วมกับกุศล มันก็จะสามารถให้ความลังเลสงสัยนั้น มันหยุด มันหมด มันดับไปได้ เมื่อสงสัยก็ให้รู้ว่าสงสัย จะมีบริกรรมว่าสงสัยหนอก็ได้ สงสัยให้รู้ว่าสงสัย ใส่ใจให้มากๆ ความลังเลสงสัยเป็นงานของวิปัสสนา เมื่อใส่ใจมากๆ ท่านก็ให้อุบายวิธี ๖ ประการเช่นเดียวกัน ศึกษาเล่าเรียนหลักธรรมให้มากๆ จะส่งผลให้ความสงสัยในหลักธรรมนั้นน้อยลงไป สอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับพระรัตนตรัยให้ชัดเจน ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างทั่วถึง เพื่อไม่ให้เกิดความสงสัย มีความศรัทธา ปลูกศรัทธาในพระรัตนตรัยให้มากๆ คบหากัลยาณมิตรที่มีศรัทธามาก แนะนำสั่งสอนในการปฏิบัติ แล้วก็ถ้อยคำที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติที่จะละความลังเลสงสัยได้ ผู้ที่จะละวิจิกิจฉาได้ คือโสดาปัตติมรรค พระโสดาบันละความลังเลสงสัย ตัดวิจิกิจฉาได้ ดังนั้น ผู้ที่มีโสดาบันอยู่ในใจ ท่านจะไม่มีความว่าใช่-ไม่ใช่ พระพุทธเจ้ามีจริงไหม พระธรรมมีจริงไหม พระอริยสงฆ์มีจริงไหม การประพฤติปฏิบัติธรรมได้ผลจริงไหม จะไม่สงสัยในเรื่องพวกนี้ ดังนั้น โสดาปัตติมรรคจึงละได้เด็ดขาดในเรื่องของลังเลสงสัย
พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมอันบริสุทธิ์ เพราะว่าพูดออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพูดออกจากใจที่บริสุทธิ์ มีแต่พระมหากรุณา พระเมตตา พระปัญญาคุณ บริสุทธิคุณ ท่านพูดออกจากใจ ออกจากพระนิพพาน ผู้ได้ยินได้ฟัง ถึงรู้ถึงจุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนา คือ เอาพระนิพพาน ไม่หลงอยู่ในมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติหรือว่าในพรหมโลก พระพุทธเจ้ารู้แจ้งหมด เอาสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เดินเหยียบผ่าน พระเรายังไม่เข้าใจพากันบวชเอาแค่มนุษย์ เอาแค่ความเป็นเทวดา มันเลยไปไม่ได้ เพราะว่าเป้าหมายยังไม่ถูก สมัยนี้กับสมัยครั้งพุทธกาลก็อันเดียวกันนั่นแหละ มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก มันก็เหมือนกันหมด การปฏิบัติธรรมน่ะ เราทำกรรมอันใดไว้ มันก็เป็นอย่างนั้น เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้มันต้องมี มันเป็นกระบวนการ เป็นกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท
ให้ทุกคนเข้าใจ สิ่งไหนก็ไม่ดีไม่ประเสริฐเท่ากับการประพฤติการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้า เพียงแต่เราได้ยินชื่อ ก็มีบุญได้กุศลเยอะ เราได้ประพฤติได้ปฏิบัติก็ย่อมมีความสุข มีปีติ เราดูตัวอย่าง พระรูปไหนปฏิบัติธรรม ได้บรรลุธรรมครั้งแรก ทุกองค์ น้ำตาร่วงแทบทุกรูป เพราะมันสงสารตัวเองที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เพราะว่าคนเรามันเกิดมาเพราะความไม่รู้ มันมาเอา มาตามใจตามอารมณ์ ตามความรู้สึก มันคิดว่ามันจะเข้าถึงความดับทุกข์ได้ มันเป็นการที่ไปเร้าอารมณ์ตัวเอง เร้าความหลงของตัวเอง เป็นแมลงที่บินเข้ากองไฟ น่าสลดสังเวช
เราถึงเป็นผู้ที่โชคดี เราพากันมาประพฤติปฏิบัติ เราอย่ามาหลงเลยในวัฏสงสาร เป็นมหาเศรษฐีมันก็แค่นั้น มันยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เป็นเทวดามันก็แค่นั้น ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เป็นพระพรหมก็ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เราต้องมาทำความรู้จัก เรามาคิดดูดีๆ ทุกวันนี้เทคโนโลยีเยอะๆ เทคโนโลยีมันก็มีคุณนะ อย่างรถ แต่ก่อนเราเดินไปก็เหนื่อย ใช้เวลานาน เดี๋ยวนี้ใช้เวลานิดเดียว ยิ่งเครื่องบินก็ยิ่งเร็ว การประพฤติการปฏิบัติ คือยานพาหนะที่นำเราไป ให้เข้าใจนะ ญาณก็คือศีล คือสมาธิ สมาธิคือความตั้งมั่นหนักแน่น ใจต้องเข้มแข็งอย่าไปใจอ่อน ทุกคนใจอ่อนน่ะ ถ้าใจอ่อนมันตัดกรรม หรือว่าตัดกามไม่ได้ เพราะมันไม่แข็งแรงพอ มันไม่คมพอ พลังมันไม่เพียงพอ คำว่ากรรม กับกามมันก็อันเดียวกัน มันติด มันแน่น กว่ามันจะตกลงปลงใจได้นี้ แผ่นดินมันไหวในความรู้สึก
เราต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ เราให้มาเพิ่มศรัทธาให้กับตัวเอง ตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง มันก็คือนิวรณ์ทั้ง ๕ เพราะว่านิวรณ์ ๕ มันตามใจ ตามใจได้เมื่อไหร่ ความสุขความขี้เกียจขี้คร้าน ความสบาย เราไปยินดีในอารมณ์ของสวรรค์ สวรรค์มันก็หมดอายุมันก็ต้องไปนรก คนจะเอา มันก็คือคนหาเรื่องให้ตัวเอง ไม่ได้ตามใจมันก็ฟุ้งซ่าน ทุกคนต้องลบเรื่องอดีตให้เป็นเลข ๐ ให้หมด ทุกคนต้องลบให้เป็นเลข ๐ ทุกอย่างมันต้องเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม เราจะพากันหลงไสยศาสตร์ นั่งสมาธิก็เอาแต่จะหลับ หลับมันเป็นสุขอย่างไร ถึงเวลานั่งสมาธิก็ต้องนั่ง เมื่อพิจารณาธรรมเพื่อสู้กับความใจอ่อนให้มันเข้มแข็ง คนเราจะสุขจะทุกข์มันก็เป็นเพียงเวทนา มันไม่ได้เป็นธรรมอะไร มันเป็นความยึดมั่นถือมั่น เพราะคนทั้งโลกส่วนใหญ่พากันหลงไปหมด เราอยู่กับแต่คนพาล พาเราฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดไม่ดี ปากไม่ดี กินเหล้าเมายา สูบบุหรี่ หนักเข้าไปอีกก็ไปยาม้ายาอี อย่างนี้ไม่ได้
เราต้องมาระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่เป็นบัณฑิตที่แท้จริง เราทุกคนจะค่อยๆ ดีขึ้น ครอบครัวเราก็จะมีความสุข ครอบครัวเราก็จะอบอุ่น ขจัดความขี้เกียจขี้คร้าน มันก็จะทำให้ฐานะของเราดีขึ้น พออยู่พอกิน ไม่มีหนี้ไม่มีสินเพราะความสุขของเราอยู่ที่ปัจจุบัน เราไม่ไปหลงในสมาธิ หลงในสมาธิมันจะไม่อยากทำอะไร มันไม่ได้ มันไม่ถูกนะ เพราะ ศาสนาพุทธเรานี้ไปไกลกว่านั้น ไม่ใช่มาเป็นคนเข้าใจผิด ต้องเป็นคนยิ่งขยันกว่าเก่า รับผิดชอบกว่าเก่า เราดูอย่างพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ อย่างใครเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์ก็ต้องทำงานเสียสละ ถ้าท่านไม่ทำงานเสียสละ ร่างกายก็ไม่แข็งแรง เขาก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม อยู่แล้วไม่ได้เสียสละ ผู้ที่เสียสละ จิตใจถึงจะแข็งแรง ถึงมีพลัง เราจะไปติดทำไมสมาธิ ติดสมาธิหมายถึงว่า ความตั้งมั่นในศีล ในธรรม นั่นคือนิยามของสมาธิ มันไม่ได้ติดสมาธิจริงๆ นะ แต่มันติดขี้เกียจขี้คร้าน แล้วบอกว่าติดสมาธิ แบบนี้มันก็จะเสื่อม ถ้ายังมีตัวมีตน ฌานก็เสื่อมได้ เพราะมันไม่มีวิปัสสนาภูมิ ฌานมันจะเสื่อม พระเทวทัตฌานก็เสื่อม เพราะจะเอา ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง เพราะยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ภิกษุเอย ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นี้ น สีลพฺพตมตฺเตน พาหุสจฺเจน วา ปน เป็นต้น “ภิกษุเอย เพียงมีศีล เพียงมีภูมิปริยัติคงแก่เรียน เพียงพากเพียรปฏิบัติจนได้ฌาน เพียงอยู่ในสถานสงบสงัด ได้รับความสุขของพระอนาคามีที่สามัญชนทั่วไปไม่ได้สัมผัส ถ้าขจัดกิเลสไม่ได้หมด เธออย่าเพิ่งนิ่งนอนใจเลย”
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษา ให้ทุกท่านปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เจริญยั่งยืนนาน เข้าถึงความดับทุกข์ คือพระนิพพานเทอญ