มักมีความเข้าใจสับสนกันในเรื่องความจำว่าตรงกับธรรมข้อใด คำว่า สัญญา ก็มักแปลกันว่า ความจำ คำว่าสติ โดยทั่วไปแปลว่าความระลึกได้ บางครั้งก็แปลว่าความจำ และมีตัวอย่างที่เด่น เช่นพระอานนท์ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางทรงจำพุทธพจน์ คำบาลีในกรณีนี้ท่านใช้คำว่าสติ ดังพุทธพจน์ว่า “อานนท์เป็นเลิศกว่าประดาสาวกของเราผู้มีสติ” [1]
เรื่องนี้ในทางธรรมไม่มีความสับสน ความจำไม่ใช่กิจของธรรมข้อเดียว แต่เป็นกิจของกระบวนธรรม และในกระบวนธรรมแห่งความจำนี้ สัญญาและสติเป็นองค์ธรรมใหญ่ ทำหน้าที่เป็นหลัก มีบทบาทสำคัญที่สุด
สัญญาก็ดี สติก็ดี มีความหมายคาบเกี่ยวและเหลื่อมกันกับความจำ กล่าวคือ ส่วนหนึ่งของสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของความจำ อีกส่วนหนึ่งของสัญญาอยู่นอกเหนือความหมายของความจำ แม้สติก็เช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งของสติเป็นส่วนหนึ่งของความจำ อีกส่วนหนึ่งของสติ อยู่นอกเหนือความหมายของกระบวนการทรงจำ
ข้อที่พึงกำหนดหมายและระลึกไว้อย่างสำคัญคือ สัญญา และ สติ ทำหน้าที่คนละอย่างในกระบวนการทรงจำ
สัญญา กำหนดหมายหรือหมายรู้อารมณ์เอาไว้ เมื่อประสบอารมณ์อีก ก็เอาข้อที่กำหนดหมายไว้นั้น มาจับเทียบหมายรู้ว่าตรงกันเหมือนกันหรือไม่ ถ้าหมายรู้ว่าตรงกัน เรียกว่าจำได้ ถ้ามีข้อต่างก็หมายรู้เพิ่มเข้าไว้ การกำหนดหมาย จำได้ หรือหมายรู้อารมณ์ไว้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ใช่นั่น ใช่นี่ (การเทียบเคียง และเก็บข้อมูล) ก็ดี สิ่งที่กำหนดหมายเอาไว้ (ตัวข้อมูลที่สร้างและเก็บไว้นั้น) ก็ดี เรียกว่าสัญญา ตรงกับความจำในแง่ที่เป็นการสร้างปัจจัยแห่งความจำ ลักษณะสำคัญของสัญญาคือ ทำงานกับอารมณ์ที่ปรากฏตัวอยู่แล้ว กล่าวคือ เมื่ออารมณ์ปรากฏอยู่ต่อหน้า จึงกำหนดได้ หมายรู้หรือจำได้ซึ่งอารมณ์นั้น
สติ [2] มีหน้าที่ดึงอารมณ์มาสู่จิต เหนี่ยวอารมณ์ไว้กับจิต คุมหรือกำกับจิตไว้กับอารมณ์ ตรึงเอาไว้ไม่ยอมให้ลอยผ่านหรือคลาดกันไป จะเป็นการดึงมาซึ่งอารมณ์ที่ผ่านไปแล้ว หรือดึงไว้ซึ่งอารมณ์ที่จะผ่านไปก็ได้ สติจึงมีขอบเขตความหมายคลุมถึง การระลึก นึกถึง นึกไว้ นึกได้ ระลึกได้ ไม่เผลอ ตรงกับความจำ เฉพาะในส่วนที่เป็นการระลึกและความสามารถในการระลึก ด้วยเหตุนี้สติจึงเป็นธรรมตรงข้ามกับสัมโมสะ ซึ่งแปลว่าการลืม (สัญญาไม่คู่กับลืม) สติเป็นการริเริ่มเองจากภายใน โดยอาศัยพลังแห่งเจตจำนง ในเมื่ออารมณ์อาจจะไม่ปรากฏอยู่ต่อหน้า เป็นฝ่ายจำนงต่ออารมณ์ จึงจัดอยู่ในพวกสังขาร
สัญญา บันทึกเก็บไว้ สติดึงออกมาใช้ สัญญาดี คือ รู้จักกำหนดหมายให้ชัดเจน เป็นระเบียบ สร้างขึ้นเป็นรูปร่างที่มีความหมายและเชื่อมโยงกันดี (ซึ่งอาศัยความใส่ใจและความเข้าใจเป็นต้นอีกต่อหนึ่ง) ก็ดี สติดี คือมีความสามารถในการระลึก (ซึ่งอาศัยสัญญาดี และการหมั่นใช้สติ ตลอดจนสภาพจิตที่สงบผ่องใส ตั้งมั่น เป็นต้น อีกต่อหนึ่ง) ก็ดี ย่อมเป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้เกิดความจำดี
นายแดง กับนายดำ เคยรู้จักกันดี แล้วแยกจากกันไป ต่อมาอีกสิบปี นายแดงพบนายดำอีก จำได้ว่าผู้ที่ตนพบนั้นคือนายดำ แล้วระลึกนึกได้ต่อไปอีกว่าตนกับนายดำเคยไปเที่ยวด้วยกันที่นั่นๆ ได้ทำสิ่งนั้นๆ ฯลฯ การจำได้เมื่อพบนั้นเป็นสัญญา การนึกได้ต่อไปถึงเรื่องราวที่ล่วงแล้ว เป็นสติ
วันหนึ่ง นาย ก. ได้พบปะสนทนากับนาย ข. ต่อมาอีกหนึ่งเดือน นาย ก. ถูกเพื่อนถามว่า เมื่อเดือนที่แล้ววันที่เท่านั้นๆ นาย ก. ได้พบปะสนทนากับใคร นาย ก. นึกทบทวนดู ก็จำได้ว่าพบปะสนทนากับ นาย ข. การจำได้ในกรณีนี้ เป็นสติ
เครื่องโทรศัพท์ตั้งอยู่มุมห้องข้างหนึ่ง สมุดหมายเลขโทรศัพท์อยู่อีกมุมห้องด้านหนึ่ง นายเขียวเปิดสมุดหาเลขหมายโทรศัพท์ที่ตนต้องการ พบแล้วอ่านและกำหนดหมายเลขเอาไว้ แล้วเดินไปหมุนหมายเลขที่เครื่องโทรศัพท์ตามต้องการ ระหว่างเดินไปก็นึกหมายเลขนั้นไว้ตลอด การอ่านและกำหนดหมายเลขที่สมุดโทรศัพท์ เป็นสัญญา การนึกหมายเลขนั้นตั้งแต่ละจากสมุดโทรศัพท์ไป เป็นสติ
เมื่ออารมณ์ปรากฏอยู่ต่อหน้าแล้ว ก็กำหนดหมายได้ทันที แต่เมื่ออารมณ์ไม่ปรากฏอยู่ และถ้าอารมณ์นั้นเป็นธรรมารมณ์ (เรื่องในใจ) ก็ใช้สติดึงอารมณ์นั้นมาแล้วกำหนดหมาย อนึ่ง สติสามารถระลึกถึงสัญญา คือ ดึงเอาสัญญาที่มีอยู่เก่ามาเป็นอารมณ์ของจิต แล้วสัญญาจะกำหนดหมายอารมณ์นั้น สำทับเข้าอีกให้ชัดเจนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หรือกำหนดหมายแนวใหม่เพิ่มเข้าไปตามวัตถุประสงค์อีกอย่างหนึ่งก็ได้
[2] สติ ด้านหนึ่งแปลกันว่า recall, recollection อีกด้านหนึ่งว่า mindfulness