แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงนิวรณ์ข้อพยาบาท และได้แสดงอาหารของนิวรณ์ข้อพยาบาท อันได้แก่ปฏิฆนิมิต ความกำหนดหมายกระทบกระทั่ง และการกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการ คือการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย อันเป็นชนวนให้เกิดพยาบาทขึ้น
และก็จะอธิบายเพิ่มเติมว่า อันมานะคือความสำคัญตน ตั้งต้นแต่อัสมิมานะ ความสำคัญว่าเรามีเราเป็น หรือว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา เป็นตัวเรา เป็นของๆ เรา ย่อมเป็นที่ตั้งแห่งปฏิฆะคือการกระทบกระทั่ง เพราะมานะคือความสำคัญหมายนี้เมื่อสำคัญหมายว่าเป็นตัวเราขึ้นแล้ว ก็ย่อมมีตัวเขา และย่อมจะมีการเทียบเคียงกัน
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงถึงมานะ คือความสำคัญหมายที่เทียบเคียงตัวเราตัวเขา (เริ่ม)ไว้ว่า
เมื่อมีมานะคือความสำคัญหมายเทียบเคียงระหว่างตัวเรากับตัวเขาดั่งนี้แล้ว ก็ทำให้เกิดความหมายมั่นต่อไป คือความหมายมั่นว่า เราจะทำอย่างไรแก่เขา หรือว่าเขาจะทำอะไรแก่เรา มีความสำคัญหมายว่าเราทำอะไร เขาทำอะไร จึงทำให้เกิดการแยกพรรคแยกพวก เป็นพวกเราพวกเขา และถ้าเพียงเท่านี้ก็เป็นเหตุให้แยกพวกเราพวกเขา แต่ถ้าแรงกว่านี้ เมื่อมีการกระทบกระทั่งกันขึ้นเป็นปฏิฆะ ก็สืบต่อให้เป็นโทสะ ให้เป็นพยาบาทปองร้ายหมายล้างผลาญซึ่งกันและกัน จึงเป็นเหตุให้มีการปฏิบัติการต่อกัน สุดแต่อำนาจของปฏิฆะโทสะพยาบาทที่บังเกิดขึ้น ดั่งนี้ ล้วนรวมอยู่ในข้อว่ากระทำให้มาก ด้วยการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายทั้งนั้น เพราะเป็นการคิดปรุงหรือปรุงคิดให้บังเกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น ดังที่กล่าว
เพราะฉะนั้น ต้องลดความคิดสำคัญหมายในตัวเราตัวเขา ลดความหมายมั่นในกันและกัน จึงจะทำให้เกิดความปรองดองสามัคคีกัน อันนี้ก็สืบมาจากการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือคิดปรุงหรือปรุงคิด ในทางลดความหมายมั่นในกันและกัน และจะลดความหมายมั่นได้ ก็ต้องลดมานะคือความสำคัญหมายที่เป็นการเทียบเคียง ดังที่กล่าวมาแล้ว และจะลดการเทียบเคียงดังที่กล่าวมาแล้วได้ ก็ต้องควบคุมอัสมิมานะที่เป็นตัวเดิม
คือความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น อันเป็นความสำคัญหมายที่สร้างตัวเราขึ้นมา คอยควบคุมตัวเราด้วยสติ ด้วยปัญญา ตริตรองในทางลดละการส่งเสริมตัวเราของเราให้ใหญ่โต และเทียบเคียงตัวเขาของเขา อันตัวเรานี้ ต้องมีสติต้องปัญญาควบคุมให้ดี จึงจะเป็นไปในทางที่ดี อันเป็นการลดละตัวเราของเรา ไม่เอาตัวเราของเราออกไปรับเรื่องราวทั้งหลายในโลก ที่มีอยู่เป็นอันมาก ทั้งที่เป็นส่วนอิฏฐารมณ์อารมณ์ที่น่าปรารถนา ทั้งที่เป็นอนิฏฐารมณ์อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา
ข้อพิจารณาโดยแยบคาย
และพิจารณาโดยแยบคายว่า อันเรื่องราวทั้งหลายในโลกเป็นอันมากดังที่กล่าวนั้น ล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ต้องมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมดับไป เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่จะเอาตัวเราของเราออกไปรับเรื่องทั้งหลายในโลกดังที่กล่าวนั้น แต่เก็บตัวเราของเราไว้ในภายใน ทำตัวเราของเราให้สงบ ทั้งนี้ต้องอาศัยการทำไว้ในใจโดยแยบคาย อาศัยสติปัญญานั้นเอง
และอีกประการหนึ่ง คุณธรรมสำหรับเป็นเครื่องป้องกัน และเป็นเครื่องดับปฏิฆะโทสะพยาบาท ก็ได้แก่เมตตาคือความที่มีจิตรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข ดังที่เราสวดกันอยู่ว่า
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
อเวรา โหนตุ จงเป็นผู้ไม่มีเวรเถิด
อัพยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกันเถิด
อนีฆา โหนตุ จงเป็นผู้ไม่มีทุกข์กายทุกข์ใจเถิด
สุขี อัตตานัง ปริหรันตุ จงเป็นผู้มีสุขรักษาตนเถิด ดั่งนี้
คิดแผ่เมตตาดังที่กล่าวนี้ โดยเจาะจง และโดยไม่เจาะจงคือทั่วไป แผ่โดยเจาะจงนั้นเรียกว่า โอทิศพรรณา แผ่เมตตาจิตไปโดยเจาะจง เช่นที่ได้มีแสดงเป็นแนวปฏิบัติไว้ว่า แผ่เมตตาจิตไปว่า
สัพพา อิตถิโย สตรีทั้งปวง
สัพเพ ปุริสา บุรุษทั้งปวง
สัพเพ อริยา อริยะบุคคลทั้งปวง
สัพเพ อนริยา ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยะทั้งปวง
สัพเพ เทวา เทพทั้งปวง
สัพเพ มนุสสา มนุษย์ทั้งปวง
สัพเพ วินิปาติกา สัตว์ที่บังเกิดในภพชาติที่ตกต่ำ อันเป็นอบายภูมิทั้งปวง
สุขิตา โหนตุ จงเป็นผู้มีสุขเถิด
กับแผ่ไปโดยไม่เจาะจงอันเรียกว่า อโนทิศพรรณา การแผ่ไปโดยไม่เจาะจงว่า
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
สัพเพ ปาณา สัตว์มีปราณคือมีชีวิตทั้งปวง
สัพเพ ภูตา ภูตะคือสัตว์ที่เป็นแล้วทั้งปวง
สัพเพ ปุคคลา บุคคลทั้งปวง
สัพเพ อัตตภาวปริยาปันนา สัตว์ที่นับเนื่องในอัตตภาพทั้งปวง
สุขิตา โหนตุ จงเป็นผู้มีสุขเถิด
และการแผ่จิตไปด้วยเมตตาดั่งนี้ ท่านก็สอนให้คิดแผ่ไปในทิศทั้ง ๑๐ คือให้คิดแผ่จิตไปด้วยเมตตา ทั้งโดยเจาะจง ทั้งโดยไม่เจาะจง ดังกล่าว ในทิศตะวันออก ในทิศตะวันตก ในทิศเหนือ ในทิศใต้ ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็น ๘ ทิศ และในทิศเบื้องบน ในทิศเบื้องล่าง โดยคิดแผ่ไปว่า โดยคิดแผ่ไปทุกๆ ทิศ ทีละทิศว่า
สัพพา อิตถิโย สตรีทั้งปวง
สัพเพ ปุริสา บุรุษทั้งปวง เป็นต้น โดยเจาะจง และโดยไม่เจาะจงว่า
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นต้น
สุขิตา โหนตุ จงเป็นผู้มีสุขเถิด
ดั่งนี้ ชื่อว่าแผ่ไปทั้ง ๑๐ ทิศ การฝึกหัดปฏิบัติแผ่เมตตาจิตไปทั้ง ๑๐ ทิศดั่งนี้ ย่อมเป็นเครื่องปลูกเมตตาภาวนา
การอบรมเมตตาให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ และเมื่อจิตใจเป็นจิตใจที่มีเมตตาแล้ว ก็ย่อมจะป้องกันไม่ให้เกิดปฏิฆะ เกิดโทสะพยาบาทได้ง่าย และหากว่าเกิดปฏิฆะเกิดโทสะพยาบาทขึ้นแล้ว เมื่อแผ่เมตตาออกไปก็จะดับได้ง่าย การปฏิบัติดั่งนี้ ชื่อว่าเป็นการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย อันเป็นข้อปฏิบัติที่ทุกคนควรฝึกหัดปฏิบัติแผ่เมตตาดังกล่าวนี้ให้มีเป็นประจำทุกวัน ย่อมจะทำให้จิตใจของตนปลอดโปร่ง ไม่มีเวร ไม่มีภัย
อนึ่ง แม้พรหมวิหารอีก ๓ ข้อ ก็ควรหัดคิดแผ่ออกไปเช่นเดียวกัน คือข้อกรุณา ก็หัดคิดแผ่ออกไปว่า ขอให้สตรีทั้งปวงบุรุษทั้งปวงเป็นต้น หรือขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นต้น ทุกขา ปมุติ ชันตุ จงพ้นจากทุกข์เถิด นี้เป็นการแผ่กรุณา และกรุณานี้เองย่อมเป็นเครื่องดับวิหิงสา คือความคิดเบียดเบียนใครให้เป็นทุกข์ต่างๆ
และก็ควรหัดคิดแผ่มุทิตาความพลอยยินดี ในเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข ด้วยหัดคิดแผ่ว่า
สัพพา อิตถิโย สตรีทั้งปวง สัพเพ ปุริสา บุรุษทั้งปวง เป็นต้น หรือ
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งปวงเป็นต้น
มาลัพพะ สัมปัตติโต วิรัติชันตุ จงเป็นผู้อย่าไปปราศจากสมบัติที่ได้แล้วเถิด
เป็นการแผ่มุทิตา และด้วยอำนาจมุทิตานี้ก็เป็นเครื่องดับ อิสสา ความริษยา อรติ ความไม่ยินดีด้วย