แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสชี้แจงแสดงวิธีปฏิบัติอบรมจิต อันเรียกว่าจิตตภาวนาไว้ในพระสูตรหนึ่งที่ชื่อว่า วิตักกสัณฐานสูตร โดยตรัสสอนให้ภิกษุหรือผู้ปฏิบัติ อบรมอธิจิตคือจิตยิ่ง อันได้แก่สมาธิ ให้อาศัยกำหนดใจถึงนิมิตคือเครื่องกำหนดใจ ๕ ประการ
นิมิตเครื่องกำหนดใจ ๕ ประการ
ประการที่ ๑ ได้ตรัสสอนไว้ว่า เมื่ออาศัยทำใจกำหนดนิมิต คือเครื่องกำหนดอันใด อกุศลวิตกคือความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลาย ซึ่งอาศัยฉันทะความพอใจ หรือราคะความติดใจยินดีบ้าง อาศัยโทสะบ้าง อาศัยโมหะ บังเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดใจ หรือทำใจกำหนดนิมิตอื่น จากนิมิตนั้น เมื่อกำหนดนิมิตอื่น คือเครื่องกำหนดใจอย่างอื่นจากนิมิตนั้น
อกุศลวิตกคือความตรึกนึกคิดอันเป็นอกุศลทั้งหลาย ที่อาศัยฉันทะความพอใจ หรือราคะความติดใจยินดีบ้าง ที่อาศัยโทสะบ้าง ที่อาศัยโมหะบ้าง ก็ย่อมดับไป เหมือนอย่างช่างไม้ หรือลูกมือของช่างไม้ ตอกลิ่มสลักที่ละเอียดประณีต ลงไปบนลิ่มสลักที่หยาบในแผ่นไม้ ทำให้ลิ่มสลักที่หยาบนั้นหลุดออกไป โดยลิ่มสลักที่ละเอียดประณีตก็เข้าไปประกอบอยู่แทน ดั่งนี้ ฉันใด
เมื่อตั้งใจกำหนดนิมิตใด อกุศลวิตกทั้งหลายบังเกิดขึ้น ก็ฉันนั้น คือนิมิตที่กำหนด คือเครื่องกำหนดใจที่กำหนด อันเป็นเหตุให้อกุศลวิตกบังเกิดขึ้นนั้น เป็นเหมือนอย่างลิ่มสลักที่หยาบติดอยู่ในเนื้อไม้ เมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้ตรัสสอนให้ทำใจกำหนดนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น ซึ่งอาศัยกุศล นิมิตอื่นที่อาศัยกุศลนั้นจึงเปรียบเหมือนอย่างลิ่มสลักอันใหม่ที่ละเอียด ก็ใช้ลิ่มสลักอันใหม่ที่ละเอียด คือนิมิตเครื่องกำหนดอันอื่นอันใหม่จากนิมิตนั้น คือจากนิมิตที่เป็นเหตุให้บังเกิดอกุศลวิตกนั้น แทน
เมื่อกำหนดนิมิตคือเครื่องกำหนดอันใหม่ ซึ่งอาศัยกุศลแทนดั่งนี้ อกุศลวิตกทั้งหลายก็ย่อมตกไปดับไป เพราะว่านิมิตคือเครื่องกำหนดอันเป็นที่ตั้งของอกุศลวิตกทั้งหลายนั้นดับไปจากจิตใจแล้ว (เริ่ม) จิตใจไม่กำหนดแล้ว อกุศลวิตกทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นจึงต้องดับไปด้วย เพราะอกุศลวิตกทั้งหลายเหล่านั้น อาศัยอยู่กับนิมิตอันเก่า อันหยาบนั้น
เบื้องต้นของผู้ปฏิบัติสมาธิทั้งปวง
วิธีนี้เป็นวิธีที่ ๑ ที่ตรัสสอนไว้ คือตรัสสอนไว้ ว่าให้กำหนดนิมิตคือเครื่องกำหนด ๕ อย่าง อย่างที่ ๑ ก็คือว่านิมิตอันอื่นจากนิมิตอันเก่า อันเป็นที่ตั้งแห่งอกุศลวิตกทั้งหลาย ดั่งที่กล่าวมา วิธีที่ ๑ นี้ก็เป็นวิธีปฏิบัติทั่วไปในเบื้องต้นของผู้ปฏิบัติสมาธิทั้งปวง
เพราะว่าก่อนปฏิบัติสมาธินั้น จิตใจนี้ย่อมกำหนดอยู่ในนิมิตทั้งหลาย คือเครื่องกำหนดใจทั้งหลาย อันเป็นราคะนิมิตหรือว่าสุภนิมิต คือเครื่องกำหนดหมายว่างาม อันเป็นเครื่องกำหนดหมายที่เจือปนด้วยราคะ หรือให้เกิดราคะบ้าง กำหนดอยู่ในปฏิฆะนิมิตคือเครื่องกำหนดหมายที่กระทบกระทั่งใจ อันเป็นชนวนให้เกิดโทสะบ้าง กำหนดอยู่ในนิมิตอันเป็นที่ตั้งของโมหะคือความหลงสยบติดอยู่บ้าง
จิตใจของสามัญชนย่อมกำหนดอยู่ในนิมิตคือเครื่องกำหนดหมายที่เป็นสุภนิมิตบ้าง เป็นปฏิฆะนิมิตบ้าง เป็นนิมิตที่เป็นที่ตั้งของโมหะบ้าง ดังที่กล่าวมา เพราะฉะนั้นจึงได้บังเกิดอกุศลวิตกทั้งหลาย คือความตรึกนึกคิดอันเป็นอกุศลทั้งหลาย อันอาศัยฉันทะคือความพอใจชอบใจบ้าง อาศัยโทสะความโกรธแค้นขัดเคืองบ้าง อาศัยโมหะความหลงบ้าง จิตใจปรกติของสามัญชนทั่วไปจึงเป็นดั่งนี้ เพราะฉะนั้น จึงพากันปฏิบัติทำสมาธิ ก็เพื่อที่จะให้จิตใจนี้สงบจากอกุศลวิตกทั้งหลาย คือความตรึกนึกคิดอันเป็นอกุศลทั้งหลาย
อกุศลวิตกย่อมเกิดขึ้นเพราะสุภนิมิต
แต่ว่าอกุศลวิตกนั้นย่อมบังเกิดขึ้นเพราะนิมิตคือเครื่องกำหนดของจิตใจ ฉะนั้นในการที่จะปฏิบัติเพื่อสงบอกุศลวิตก คือความตรึกนึกคิดอันเป็นอกุศลทั้งหลาย จึงจำเป็นที่จะต้องสงบความกำหนด หรือกำหนด หรือสงบความที่อาศัยวิตก หรือสงบความที่อาศัยนิมิต ที่ทำใจกำหนดนิมิตคือเครื่องกำหนดใจ อันเป็นที่ตั้งของอกุศลทั้งหลาย ดังที่กล่าว
ฉะนั้น นิมิตคือเครื่องกำหนดใจนี้จึงเป็นข้อสำคัญของผู้มุ่งปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนกรรมฐานสำหรับที่ผู้ทำสมาธิจะพึงปฏิบัติทำจิตใจ
อันเรียกว่าสมถะกรรมฐาน ส่วนทางปัญญาก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐาน คือกรรมฐานที่เป็นอุบายเรืองปัญญาให้รู้แจ้งเห็นจริง
เหตุที่ต้องกำหนดอสุภนิมิต
ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมะ คือปฏิบัติทำสมาธิในเบื้องต้น จึงจำเป็นที่จะต้องมากำหนดนิมิต คือเครื่องกำหนดหมาย อันได้แก่กรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นเอง ดังเช่นเมื่อต้องการจะปฏิบัติเพื่อดับอกุศลวิตก คือความตรึกนึกคิดเป็นอกุศล ที่เป็นกองราคะ หรือฉันทราคะ ความติดใจด้วยอำนาจของความยินดีพอใจ ก็ต้องกำหนดอสุภนิมิต คือเครื่องกำหนดหมายว่าไม่งาม แทนสุภนิมิต ดังเช่นพิจารณากายนี้ที่แยกออกเป็นอาการ ๓๑ - ๓๒ มีผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น พิจารณาให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่งดงาม
เรียกว่ากำหนดอสุภนิมิต กำหนดหมายว่าไม่งดงามในกายนี้ หรือว่าต้องการจะดับอกุศลวิตกที่อาศัยโทสะ ก็เจริญเมตตาภาวนา คืออบรมเมตตาจิตให้บังเกิดขึ้น แผ่จิตใจออกไปโดยเจาะจงในบุคคลซึ่งเป็นที่รัก หรือบุคคลที่เป็นปานกลาง หรือในบุคคลที่เป็นศัตรูกัน เป็นคนนั้นเป็นคนนี้ หรือในสัตว์เลี้ยงตัวนั้นตัวนี้ เรียกว่าโดยเจาะจง หรือว่าโดยไม่เจาะจง ก็คือแผ่ใจไปในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า ว่าขอให้เป็นสุข เมื่อกำหนดในกรรมฐานคือเมตตาเป็นนิมิต คือเครื่องกำหนดของจิต เมตตานี้ก็ตรงกันข้ามกับปฏิฆะ ตรงกันข้ามกับโทสะ ก็จะดับอกุศลวิตกกองโทสะได้
หรือพิจารณาธาตุกรรมฐาน ว่ากายนี้ประกอบด้วยธาตุดินน้ำไฟลม เป็นธาตุ ๔ หรือเติมอากาสธาตุ ธาตุอากาศขึ้นอีก ๑ เป็นธาตุ ๕ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เมื่อมาปฏิบัติในกรรมฐานข้อนี้ ก็จะทำให้ไม่หลงติดอยู่ในกายอันนี้
ด้วยความยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา ก็เห็นว่าสักแต่ว่าเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาส ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ก็ทำให้สงบระงับอกุศลวิตกกองโมหะได้ ฉะนั้น นิมิตคือเครื่องกำหนดหมายที่เป็นฝ่ายกุศล จึงตรงกันข้ามกับฝ่ายอกุศล เมื่อต้องการที่จะดับอกุศลวิตก ก็จะต้องเปลี่ยนมากำหนดนิมิตที่เป็นฝ่ายกุศลแทน
นิมิตเป็นเหมือนอย่างลิ่มสลัก
อันนิมิตคือเครื่องกำหนดของจิตนี้ จะเป็นฝ่ายอกุศลก็ตาม เป็นฝ่ายกุศลก็ตาม ก็เป็นเหมือนอย่างลิ่มสลัก แต่ว่าเป็นลิ่มสลักที่เสียบใจ ในเมื่อนิมิตคือเครื่องกำหนดเป็นฝ่ายอกุศล อันจิตทำใจกำหนด ทำจิตอาศัย ก็ชื่อว่ามีนิมิตอันเป็นฝ่ายอกุศลนั้นเสียบใจ เมื่อมีนิมิตอันเป็นฝ่ายอกุศลเสียบใจ ก็ทำให้บังเกิดอกุศลวิตกเป็นนิวรณ์ต่างๆ คือเป็นกามฉันท์บ้าง เป็นพยาบาทบ้าง เป็นถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบ้าง เป็นอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจบ้าง เป็นวิจิกิจฉาบ้าง จิตก็ไม่ได้สมาธิ ไม่ได้ปัญญา
เมื่อจิตเป็นดั่งนี้ คือประกอบอยู่ด้วยนิวรณ์ทั้งหลายดังกล่าว ก็คือมีอกุศลวิตกทั้งหลายกลุ้มรุมอยู่นั้นเอง ก็ทำสมาธิไม่ได้ ไม่สำเร็จ จิตไม่รวมเป็นสมาธิ จะพิจารณาให้เกิดปัญญาก็ไม่ได้ ไม่เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง เพราะเหตุที่มีลิ่มสลักฝ่ายอกุศล คือนิมิตดังกล่าวนั้นเองเสียบแทงอยู่ในจิต
ฉะนั้น ทางที่จะแก้ให้ทำสมาธิได้ และทำปัญญาได้ ก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยมาตั้งใจกำหนดนิมิตในกรรมฐาน คือเครื่องกำหนดในกรรมฐาน และเมื่อได้ตั้งใจกำหนดอยู่ในนิมิตฝ่ายกุศล คือกรรมฐานดั่งนี้แล้ว ก็ต้องให้นิมิตที่เป็นกรรมฐานนี้เข้าไปตอกนิมิตที่เป็นฝ่ายอกุศลออกไปจากจิต
ถ้ายังตอกออกไปไม่ได้ คือว่านิมิตที่เป็นฝ่ายอกุศลนั้นยังครองจิตอยู่ ยังเสียบอยู่ในจิต ก็คงยังทำสมาธิไม่ได้ ทำปัญญาไม่ได้ อยู่นั้นเอง
ผู้ปฏิบัติต้องรู้วิธีปฏิบัติ
จนกว่าจะตั้งใจอาศัยความเพียรอย่างจริงๆ อาศัยสัมปชัญญะความรู้ตัว อาศัยสติความระลึกได้ ที่กำหนดในนิมิตที่เป็นฝ่ายกุศลคือกรรมฐานนี้จริงๆ ในที่สุดนิมิตที่เป็นกรรมฐานนี้ ก็เหมือนลิ่มสลักอันใหม่ที่ละเอียดประณีต ก็จะตอกลิ่มสลักอันเก่า คือวิตกที่เป็นฝ่ายอกุศลให้หลุดไปจากจิตได้ นิมิตที่เป็นกรรมฐานก็เป็นลิ่มสลักอันใหม่ที่ดีที่ประณีต ก็เข้าไปตั้งอยู่ในจิตแทน เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะได้สมาธิ ได้ปัญญา
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรม คือปฏิบัติทางสมาธิ ทางปัญญา จึงจำเป็นที่จะรู้จักความจริงในวิธีปฏิบัติ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้เป็นข้อที่ ๑ ดังที่แสดงมา
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป