แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงวิธีปฏิบัติประกอบอธิจิต จิตยิ่ง คือสมาธิ ตามที่ตรัสสอนไว้ในวิตักกสัณฐานสูตรโดยลำดับ เมื่อสรุปโดยหัวข้อก็คือ ให้พิจารณาดูจิตของตน ว่ากำลังกำหนดใส่ใจถึงนิมิต คือเครื่องกำหนดหมายอันใดอยู่ อกุศลวิตกความตรึกนึกคิดทั้งหลายอันเป็นอกุศล อาศัยฉันทะความพอใจ ด้วยอำนาจแห่งราคะบ้าง อาศัยโทสะความโกรธบ้าง อาศัยโมหะความหลงบ้าง ก็ให้กำหนดใส่ใจถึงนิมิตอื่น คือเครื่องกำหนดของจิตอันอื่น อันอาศัยกุศล ก็คือพิจารณาหากรรมฐานข้อใดข้อหนึ่งมากำหนดนั้นเอง เช่น กำหนดพิจารณาในกายเวทนาจิตธรรม อันเป็นสติปัฏฐาน เพื่อให้พักจากนิมิตคือเครื่องกำหนด ซึ่งก่อให้เกิดอกุศลวิตกทั้งหลายดังกล่าวแล้ว
ถ้าหากว่าอกุศลวิตกยังไม่สงบ เพราะยังไม่สามารถจะพรากจิตจากนิมิต คือเครื่องกำหนดอันเป็นที่ตั้งแห่งอกุศล ที่กำหนดมาเดิมได้
ก็ให้ใช้วิธีที่ ๒ คือพิจารณาโทษของอกุศลวิตกเหล่านั้น ว่าเป็นความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศล มีโทษ ทำให้จิตเศร้าหมอง ไม่ได้สมาธิ ไม่ได้ปัญญา พิจารณาไปว่ามีโทษอย่างนี้ๆ ตามแต่จะใช้สติปัญญาพิจารณาไป ถ้าหากว่าอกุศลวิตกทั้งหลายยังไม่สงบลงได้ ก็ให้มาใช้วิธีที่ ๓ คือ ไม่ระลึกนึกถึง ไม่ใส่ใจถึง ถ้าหากว่าใช้วิธีที่ ๓ นี้ยังไม่ได้ผล หรือยังไม่สามารถจะสงบอกุศลวิตกได้ ก็ให้มาใช้วิธีที่ ๔ คือกำหนดพิจารณาถึงสัณฐานคือทรวดทรง ของการปรุงวิตก คือตรึกนึกคิดต่างๆ นั้น โดยพิจารณาจับสาวเข้าไปหาต้นว่า อกุศลวิตกเหล่านั้น จิตใจปรุงอยู่อย่างนี้ๆ และติดต่อมา โดยสาวขึ้นไปว่ามีต้นเดิมมาจากเรื่องอะไร จึ่งได้มีความวิตกนึกคิดเป็นอกุศล ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ไม่สามารถจะระงับได้ เพราะว่าได้ติดอยู่ในจิตใจ
ส่วนกรรมฐานที่กำหนดปฏิบัติ เช่นการกำหนดพิจารณาในสติปัฏฐานทั้ง ๔ หรือแม้ข้อใดข้อหนึ่งในสติปัฏฐานทั้ง ๔ เช่นอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก แต่ว่ากรรมฐานก็ไม่สามารถจะแทรกอกุศลวิตกทั้งหลายที่ยังติดอยู่ในจิตได้ จึงพิจารณาดูตัวของความวิตกนึกคิดอันเป็นอกุศลนั้น ว่าคิดอะไรคิดอย่างไรอยู่ในปัจจุบัน และสืบมาจากเรื่องอะไรที่เป็นเบื้องต้น ซึ่งทั้ง ๔ ประการนี้ได้กล่าวอธิบายมาแล้ว
อุปมาเรื่องกระต่ายตื่นตูม
แต่ว่าในข้อ ๔ นี้ คือการจับพิจารณาดูตัววิตกความตรึกนึกคิด อันเป็นตัวอกุศลที่ยังพลุ่งพล่านอยู่ในจิตใจ ยังไม่สามารถจะสลัดออกไปได้ กรรมฐานที่ตั้งไว้ก็ยังไม่แทรกซึมเข้าไปได้ พิจารณาจับดูตัวของความตรึกนึกคิดอันเป็นอกุศลเหล่านั้น ย้อนขึ้นไปหาต้นเดิม
พระอาจารย์ได้อุปมาด้วยเรื่องกระต่ายตื่นตูม โดยที่มีเรื่องเล่าว่า กระต่ายกำลังนอนหลับอยู่ใต้ต้นมะตูม ผลมะตูมหล่นลงมาข้างหู มีเสียงดัง
กระต่ายนั้นได้ยินเสียงมะตูมหล่นดังตูมลงมา ก็ตกใจคิดว่าแผ่นดินถล่ม จึงได้วิ่งหนีออกไปทันที พบสัตว์ทั้งหลายในระหว่างทาง ก็บอกว่าแผ่นดินถล่ม ตนจึงได้วิ่งหนี สัตว์ทั้งหลายก็วิ่งตามกันไปเป็นพรวน เพื่อจะหนีแผ่นดินถล่ม จนถึงกระบวนสัตว์ป่าที่วิ่งไปนั้น ไปพบราชสีห์ซึ่งเป็นจ้าวของสัตว์ป่า ที่ท่านแสดงไว้ว่าเป็นราชสีห์โพธิสัตว์ เห็นบรรดาสัตว์วิ่งกันมาเป็นพรวน จึงได้ไต่ถาม สัตว์ทั้งหลายเห็นราชสีห์ก็หยุดล้อม และกระต่ายก็รายงานราชสีห์ว่าแผ่นดินถล่ม ราชสีห์จึงถามว่าแผ่นดินถล่มที่ไหน ให้กระต่ายพาไป เพื่อจะไปสำรวจดู กระต่ายนั้นแม้จะกลัวอย่างที่สุด แต่ก็ยังกลัวราชสีห์มากกว่า จึงจำต้องนำราชสีห์เดินกลับไปยังต้นมะตูมที่ตนนอนอยู่
เมื่อไปถึงก็ชี้ว่าตนได้นอนอยู่ใต้ต้นมะตูม ก็ได้ยินเสียงแผ่นดินถล่ม ราชสีห์จึงไปตรวจดูตรงที่กระต่ายนอน ก็เห็นผลมะตูมตกอยู่ที่ตรงนั้น จึงได้รู้ด้วยปัญญา ว่าผลมะตูมนี้เองที่หล่นลงมาจากต้น มากระทบพื้นเป็นเสียงดังขึ้น ทำให้กระต่ายตกใจ ราชสีห์จึงได้ชี้แจงเหตุผลดังกล่าวนั้นให้แก่สัตว์ทั้งหลายที่วิ่งตามกระต่ายกันไปเป็นพรวนนั้นฟัง ก็เห็นจริงตามที่ราชสีห์ได้ชี้แจง ก็พากันหายตกใจกลัว
ตัวอย่างของอกุศลวิตก
ตามเรื่องที่เล่านี้ ก็เป็นเครื่องแสดงถึงอกุศลวิตกที่บังเกิดขึ้นแก่กระต่าย พอได้ยินเสียงตูมก็คิดว่าแผ่นดินถล่ม ด้วยกำหนดเสียงดังอันนั้นว่าเป็นเสียงแผ่นดินถล่ม เป็นความคิดเอาเองโดยมิได้พิจารณา อันนี้แหละที่เป็นตัวอย่างของอกุศลวิตก ความตรึกนึกคิดอันเป็นอกุศล ที่อาศัยโมหะคือความหลง เพราะมิได้พิจารณาให้รอบคอบ ความคิดจึงได้เตลิดไปว่าแผ่นดินถล่ม แล้วก็พาให้สัตว์ทั้งหลายพลอยเชื่อว่าแผ่นดินถล่ม วิ่งตามกันไปเป็นพรวน ครั้นไปพบราชสีห์ที่มีปัญญาจึงได้ชี้แจงให้ทราบเหตุผล วิตกของกระต่ายและของสัตว์ทั้งหลายจึงหายไป
วิธีจับพิจารณาอกุศลวิตก
ดั่งนี้ก็คือเป็นวิธีใช้ปัญญาพร้อมทั้งสติ จับพิจารณาดูอกุศลวิตกของตนที่ยังไม่สามารถจะสงบได้ จับตัวอกุศลวิตกนั้นมาตรวจตราดูว่าคิดอะไร คิดอย่างไร เนื่องมาจากเหตุอะไร สาวไปๆ จนพบต้น เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะทำให้อกุศลวิตกดังกล่าวนี้สงบลงได้
การจับพิจารณาดั่งนี้เป็นประโยชน์ แก้จิตที่ไม่สงบให้สงบได้ และบางทีก็ต้องแก้กันนาน เพราะว่าเมื่อแก้เรื่องนี้ ด้วยการจับสาวไปหาต้นเหตุ ว่ามาจากอะไรแล้ว ครั้นพบต้นเหตุแล้วความวิตกนั้นก็สงบ แต่ก็ไปวิตกเรื่องอื่นอีก ก็จับสอบสวนเรื่องอื่นนั้นอีก เรื่องนั้นก็สงบ ก็เกิดวิตกเรื่องอื่นขึ้นอีก ก็จับสอบสวน วิตกนั้นก็สงบ ก็เกิดเรื่องอื่นขึ้นอีก ก็จับสอบสวน บางคราวต้องจับสอบสวนกันอย่างนี้ไปหลายเรื่องหลายราว จนจิตไม่มีที่ๆ จะวิตกไปในอารมณ์ที่เก็บเอาไว้ กรรมฐานที่ตั้งกำหนดก็เป็นไปได้
เพราะจิตนี้ไวมาก เช่น บางทีนั่งกำหนดพิจารณา ในกรรมฐานข้ออานาปานสติ อันเป็นข้อแรกของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตพอจะได้สมาธิ ก็มีเสียงคนเดินมากระทบหู จิตก็ออกไปทันที แพล็บเดียวเท่านั้นจิตวิ่งพล่านไปหลายเรื่องหลายราว ก็ต้องใช้สตินำจิตเข้ามา จับพิจารณาสอบสวนดู ว่าจิตหลุดออกไปคิดในเรื่องอะไรบ้าง เรื่องที่หนึ่งเรื่องนี้ เรื่องที่สองเรื่องนั้น เรื่องที่สามเรื่องโน้น ต่อกันไป เมื่อสอบสวนดั่งนี้แล้ว จิตก็จะสงบ กลับมาตั้งกำหนดในกรรมฐานที่ตั้งไว้ได้ใหม่
เพราะฉะนั้น ท่านจึงยกเอาเรื่องกระต่ายตื่นตูมนี้ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ให้เห็นวิตกของจิตที่อาศัยโมหะคือความหลง ว่าคิดไปใหญ่โตมากมาย
แต่เมื่อจับสอบสวนจริงๆ แล้วก็จะพบต้นเหตุ เมื่อพบต้นเหตุแล้วว่าเป็นความหลงใหลไป จิตก็จะสงบลงได้ นี้เป็นอธิบายในข้อที่ ๔
วิธีที่ ๕ บังคับกาย บังคับจิต
แต่ว่าแม้ใช้ข้อที่ ๔ นี้ยังไม่สงบ ก็ตรัสสอนให้ใช้ข้อที่ ๕ อันเป็นข้อสุดท้าย คือใช้บังคับทางร่างกายได้แก่ กดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานในปากด้วยลิ้น เป็นการบีบบังคับบีบคั้นจิต เมื่อใช้วิธีนี้ก็จะทำให้จิตหยุดวิตกได้ อันนับเป็นข้อที่ ๕ จิตก็จะเดินไปสู่คลองของกรรมฐานที่ตั้งเอาไว้
ผู้ที่ปฏิบัติไปตามวิธีประกอบอธิจิตคือจิตยิ่ง อันได้แก่สมาธิ ตามที่ตรัสสอนไว้นี้ พระองค์ได้ทรงแสดงว่าทำให้เป็นผู้ที่ชำนาญในกระบวนของวิตก คือความตรึกนึกคิด ปรารถนาจะวิตกคือตรึกนึกคิดเรื่องอันใด ก็จะวิตกตรึกนึกคิดเรื่องอันนั้นได้ ไม่ปรารถนาจะวิตกคือตรึกนึกคิดเรื่องอันใด ก็จะหยุดวิตกคือความตรึกนึกคิดเรื่องอันนั้นได้
(เริ่ม) และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วกรรมฐานก็จะตั้งมั่น จะเจริญ คือว่าจิตก็จะหยุด ตั้งมั่น จะหยุดสงบ จะเป็นจิตที่มีอารมณ์เป็นอันเดียวตั้งเป็นสมาธิได้ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็จะตัดตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากได้ จะทำลายสังโญชน์คือความผูกจิต หรือกิเลสที่เป็นเครื่องผูกพันจิตได้ จะทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะบรรลุความรู้ความเห็นในมานะความสำคัญตัว และจะตัดมานะคือความสำคัญตัวได้
อะไรเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิตก
อันตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก สัญโญชน์คือความผูกใจหรือเครื่องผูกใจ และมานะคือความสำคัญตัว นี้เอง ซึ่งเป็นเครื่องดึงให้จิตวิตก คือตรึกนึกคิดไปในทางเป็นอกุศลทั้งหลาย
อาศัยฉันทราคะ ความติดใจด้วยอำนาจของความพอใจบ้าง อาศัยโทสะความโกรธแค้นขัดเคืองบ้าง อาศัยโมหะคือความหลงใหลบ้าง ฉะนั้น เมื่อยังตัดตัณหาไม่ได้ ยังทำลายสัญโญชน์คือเครื่องผูกใจไม่ได้ ยังรู้ยังเห็น และตัดมานะคือความสำคัญตัวไม่ได้ จิตก็ย่อมจะยังวิตกคือตรึกนึกคิดไปในอกุศลทั้งหลาย การจะทำกรรมฐาน ก็ไม่สามารถที่จะทำได้สะดวก กรรมฐานจึงไม่ก้าวหน้า จิตก็ไม่สงบ จิตก็ไม่ตั้งมั่น จิตจะไม่มีอารมณ์เป็นอันเดียว จิตไม่เป็นสมาธิ
ไม่ได้สมาธิก็ไม่ได้ปัญญา
และเมื่อไม่ได้สมาธิก็ไม่ได้ปัญญา อันเป็นเครื่องตัดกิเลส เพราะการที่จะตัดกิเลสได้นั้นต้องตัดด้วยปัญญา อันสืบมาจากสมาธิ คือจะต้องพิจารณาด้วยวิปัสสนาปัญญา อาศัยจิตที่เป็นสมาธินั้นพิจารณาขันธ์ ๕ ย่อลงเป็นนามรูป ว่าเป็นอนิจจะไม่เที่ยงอย่างนี้ๆ เป็นทุกขะตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ๆ เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตนอย่างนี้ๆ
น้อมจิตที่เป็นสมาธิคือสงบแล้วไปพิจารณาตรวจตรา ให้เห็นอนิจจะ เห็นทุกขะ เห็นอนัตตา เปลี่ยนจากจากสัญญาคือความกำหนดหมายหรือความจำหมาย มาเป็นตัวปัญญา เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะตัดตัณหา จะทำลายสัญโญชน์คือเครื่องผูก หรือความผูกใจ จะเห็นมานะ จะตัดมานะคือความสำคัญตน ทำทุกข์ให้สิ้นสุดได้
อัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น
อันมานะคือความสำคัญตนนี้ที่เป็นอย่างละเอียด ก็ได้แก่อัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น คือมีเรา เป็นการสร้างอัตตาตัวตนขึ้น เมื่อสร้างอัตตาตัวตนขึ้นว่าเรามีเราเป็น ก็สร้างของเราขึ้น เป็นอันว่ามีเรามีของเรา
นี้เป็นตัวมานะ เป็นอย่างละเอียด เมื่อมีมานะอย่างละเอียดดั่งนี้ ก็ย่อมมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ต้องการจะได้นั่นได้นี่มาปรนปรือตัวเรา ต้องการจะให้ตัวเราเป็นนั่นเป็นนี่ไปต่างๆ ซึ่งล้วนแต่ประกอบไปด้วยอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวจริง ว่าอันที่จริงนั้นล้วนเป็นมานะคือความสำคัญตัว
อวิชชาเป็นต้นเดิม
เพราะว่ามานะนี้เองเป็นผู้สร้างตัวเราของเราขึ้นมา และอวิชชานั้นเองก็เป็นตัวสร้างมานะขึ้น อวิชชาจึงเป็นต้นเดิม เมื่อเกิดมานะขึ้นก็เกิดตัณหา และเกิดสัญโญชน์คือความผูกใจในอารมณ์ทั้งหลาย ที่มาประสบพบพานทางตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ ก็เป็นสัญโญชน์คือผูกพันขึ้นในใจ ผูกพันอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และในธรรมะคือเรื่องราวต่างๆ ประมวลลงว่ามาเป็นตัวเราเป็นของเรานี้เอง แล้วก็เสริมตัวเราและของเรานี้ให้ใหญ่โตขึ้น ตัณหาก็ใหญ่โตขึ้น สัญโญชน์ก็ใหญ่โตขึ้น
และเมื่อบรรดากิเลสเหล่านี้ใหญ่โตขึ้น ก็เพิ่มอวิชชาคือความไม่รู้ให้แน่นขึ้น เพราะฉะนั้น จึงก่อให้เกิดอกุศลวิตกต่างๆ ที่อาศัยฉันทะราคะบ้าง อาศัยโทสะคือความโกรธแค้นขัดเคืองบ้าง อาศัยโมหะคือความหลงบ้าง แล้วก็วิตกไปเป็นแบบกระต่ายตื่นตูมนั้น ในเรื่องราวทั้งหลาย ด้วยอำนาจแห่งโมหะคือความหลงอยู่เป็นอันมาก
อธิจิต สมาธิเพื่อปัญญา
ฉะนั้น การปฏิบัติทางสมาธิทางปัญญา จึงเป็นการทำยาก ต่อเมื่อมาอาศัยวิธีปฏิบัติทำอธิจิต จิตยิ่ง คือสมาธิเพื่อปัญญา
ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ทั้ง ๕ ประการนี้ ก็จะทำให้สามารถทำจิตให้สงบได้จากวิตกที่เป็นอกุศลทั้งหลาย ทำจิตให้ตั้งสงบ ทำจิตให้มีอารมณ์เป็นอันเดียวได้ เป็นสมาธิได้ แล้วก็สามารถจะน้อมจิตที่เป็นสมาธินี้ไปเพื่อรู้ ให้เป็นตัวปัญญาได้ อันเป็นเครื่องตัดตัณหา ทำลายสัญโญชน์ ทำทุกข์ให้สิ้นสุดได้ เพราะบรรลุความรู้ความเห็น รู้จักตัวมานะ และตัดมานะคือความสำคัญตัว ทำลายอวิชชาได้ในที่สุด
เพราะฉะนั้น วิธีปฏิบัติทั้ง ๕ ประการนี้ จึงเป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นประโยชน์มาก สำหรับผู้ปฏิบัติทำอธิจิต คือสมาธิเพื่อปัญญาทั้งหลาย พึงใช้วิธีทั้ง ๕ ประการนี้ ในการปฏิบัติทำจิตของตนให้เป็นสมาธิเพื่อปัญญา ก็สามารถจะทำสมาธิได้ สามารถจะน้อมจิตไปเพื่อปัญญาได้
ต่อไปนี้ก็ให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป