แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ในการทำสมาธินั้น ผู้ทำสมาธิจะต้องรับอารมณ์ของสมาธิ คือกรรมฐาน มาเป็นเครื่องกำหนดใจ อันเรียกว่า นิมิต ที่แปลว่ากำหนดใจ หรือเครื่องกำหนดใจ ก่อนจะทำสมาธิ ทุกคนย่อมมีเครื่องกำหนดใจต่างๆ กัน คือกำหนดใจอยู่ในเรื่องนั้นบ้าง ในเรื่องนี้บ้าง เรื่องอันใดก็ตามที่จิตกำหนด หรือใจกำหนดถึง เรียกว่านิมิตคือเครื่องกำหนดใจทั้งนั้น
นิมิตของจิต
และโดยปรกตินั้นเมื่อมีเครื่องกำหนดใจอยู่ในเรื่องอันใด เรื่องอันนั้นก็ชื่อว่าเป็นนิมิตของจิต และจิตสามัญชนที่เป็นกามาพจรคือหยั่งลงในกาม ย่อมกำหนดใจกันอยู่ใน สุภนิมิต คือเครื่องกำหนดใจว่างามบ้าง ในปฏิฆะนิมิต เครื่องกำหนดใจในทางทางกระทบกระทั่งบ้าง เป็น โมหะนิมิต คือเครื่องกำหนดใจไปในทางหลงบ้าง
เพราะฉะนั้น วิตกคือความคิด โดยปรกติทั่วไป จึงอาศัยฉันทะความพอใจ ด้วยอำนาจของราคะความติดใจยินดีบ้าง อาศัยโทสะความโกรธแค้นขัดเคืองบ้าง อาศัยโมหะความหลงบ้าง จิตโดยปรกติทั่วไปจึงอยู่กับฉันทราคะความพอใจด้วยอำนาจของความติดใจยินดีบ้าง อยู่ด้วยโทสะบ้าง อยู่ด้วยโมหะบ้าง อันเป็นอกุศลวิตก
นิมิตของสมาธิ
เพราะฉะนั้น เมื่อมาปฏิบัติสมาธิ จึงต้องเปลี่ยนใจให้มากำหนดในนิมิตของสมาธิ ยกตัวอย่างเช่น มากำหนดพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็นกายเวทนาจิตและธรรม อันเป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔ โดยเฉพาะในข้อกายนั้น ก็เช่นมากำหนดลมหายใจเข้าออก เป็นอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
แต่ว่าการเปลี่ยนเครื่องกำหนดใจจากของเดิม ให้มากำหนดอยู่ในเครื่องกำหนดใจคือกรรมฐานดังเช่นที่กล่าวมานี้ จิตย่อมไม่ยอมถอนใจออกจากเครื่องกำหนดเดิม อันเป็นเหตุแห่งอกุศลวิตกทั้งหลายดังกล่าวมานั้นได้ แม้จะมาตั้งกำหนดอยู่ในเครื่องกำหนดคือนิมิต อันได้แก่กรรมฐานดังเช่นที่กล่าวแล้ว จิตก็ย่อมจะต้องพะวักพะวนฟุ้งซ่านออกไปสู่นิมิตคือเครื่องกำหนดเก่า อันเป็นอกุศลอยู่เนืองๆ แม้จะพิจารณาโทษ หรือแม้ว่าจะพยายามที่จะไม่นึกถึง ไม่ใส่ใจถึง แต่รวมใจเข้ามากำหนดในนิมิตของสมาธิเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็ยังเป็นการยากที่จะทำได้ จิตก็ยังหลบออกไปพะวักพะวนอยู่ในเครื่องกำหนดเก่าอีกนั่นแหละ
สังขารของวิตก
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนวิธีที่จะรักษาจิต ให้กำหนดอยู่ในเครื่องกำหนด คือกรรมฐานอีกประการหนึ่ง คือให้ทำใจกำหนดในสัณฐานแห่งสังขารของวิตก อันวิตกคือความตรึกนึกคิดทั้งปวงนั้นก็เป็นสังขารอย่างหนึ่ง คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง แต่ว่าเป็นสังขารที่ไม่เป็นรูปธรรมคือมีรูปให้ตามองเห็นได้ หูได้ยินเป็นต้น แต่ว่าเป็นนามธรรมที่ใจกำหนดได้
และในการกำหนดดูนั้น ก็ต้องกำหนดดูสังขารของวิตกนั้นเอง เช่นเดียวกับที่จะมองเห็นกันด้วยตา ก็ต้องมองเห็นสังขารของรูปเหล่านั้น เช่น คนเรามองเห็นซึ่งกันและกัน ก็มองเห็นสังขารร่างกายของกันและกันนั้นเองด้วยตา ถ้าไม่มีสังขารร่างกายก็มองกันไม่เห็น
แม้วิตกคือความตรึกนึกคิดก็เช่นเดียวกัน ก็เป็นสังขาร แต่ว่าเป็นสังขารที่เป็นนามธรรมมองด้วยตาไม่เห็น แต่ว่ากำหนดได้ด้วยใจโดยเป็นนามธรรม ถ้าหากว่าไม่มีสังขาร แม้ใจก็กำหนดไม่ได้ แต่ต้องมีสังขารที่เป็นนามธรรม ใจจึงกำหนดได้ กำหนดดูตัววิตกได้
กำหนดดูสัณฐานของวิตก
ก็คือว่ามากำหนดดูความคิดที่เป็นตัววิตกของตนนั้นเอง ตนจะคิดอะไร คือจะวิตกตรึกนึกคิดอะไร ก็ให้คิดไป แต่ว่าคอยตามดูตามรู้ตามเห็นว่าคิดอะไร และเมื่อตามดูตามรู้ตามเห็นนี้ ก็จะได้เห็นสัณฐานคือทรวดทรงของความตรึกนึกคิด ว่าเป็นอย่างไร ความตรึกนึกคิดนั้นเป็น กามวิตก หรือเป็น พยาบาทวิตก หรือเป็น วิหิงสาวิตก ก็ย่อมรู้ได้ นี้ฝ่ายอกุศล หรือแม้ฝ่ายกุศล ความตรึกนึกคิดนั้นเป็น เนกขัมมวิตก ความตรึกนึกคิดในทางออก เป็นอัพยาบาทวิตก ความตรึกนึกคิดในทางไม่พยาบาท อวิหิงสาวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางไม่เบียดเบียน ก็รู้ได้
เหมือนอย่างคนที่มองดูกันและกัน ก็ย่อมจะเห็นสัณฐานคือทรวดทรง ของสังขารร่างกายของกันและกัน ว่าสูงต่ำดำขาวอย่างไรเป็นต้น แม้ทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน ให้ใส่ใจ ให้มีสติ คอยตามดูตามรู้ตามเห็นตัววิตก ที่เรียกตามศัพท์แสงว่าสัณฐานคือทรวดทรงของสังขารของวิตก ซึ่งเป็นนามธรรม และเมื่อเป็นดั่งนี้ หากว่าวิตกคือความตรึกนึกคิดของตนนั้นเป็นฝ่ายอกุศล คือเป็นฝ่ายที่อาศัยฉันทะคือความพอใจด้วยอำนาจของราคะความติดใจยินดีบ้าง อาศัยโทสะบ้าง อาศัยโมหะบ้าง วิตกฝ่ายอกุศลเหล่านี้ก็จะสงบลงไปโดยลำดับ
ท่านจึงมีอุปมา เปรียบเหมือนอย่างบุคคล เมื่อกำลังเดินเร็ว ก็คิดว่าเรากำลังเดินเร็ว ไฉนจะเดินให้ช้าลง จึงเดินช้าลง และเมื่อเดินช้าลง ก็คิดว่าไฉนเราจะได้หยุดยืน ไม่เดิน ก็หยุดเดินได้ คือยืน และแม้เมื่อยืน ก็คิดว่าไฉนเราจะนั่ง ก็นั่งลงได้ และแม้เมื่อนั่ง ก็คิดว่าไฉนเราจะนอน ก็เหยียดกายนอนได้ นี้ฉันใด
การปฏิบัติต่อวิตกคือความตรึกนึกคิด ด้วยการใส่ใจกำหนดสัณฐานคือทรวดทรงแห่งสังขารของวิตก ด้วยใจ เพราะเป็นนามธรรม ก็ย่อมจะรู้ได้ ถ้าเทียบอย่างตาก็เรียกว่าเห็นได้ เห็นได้ด้วยใจ คือรู้ได้ด้วยใจ และเมื่อรู้ได้ด้วยใจดั่งนี้ ตนตรึกนึกคิดไปอย่างไร ตนเองก็จึงจะรู้ตนเอง ว่าตรึกนึกคิดไปด้วยอำนาจของฉันทะคือความพอใจอย่างไร ในสิ่งอะไร อย่างไร หรือตรึกนึกคิดไปด้วยอำนาจโทสะ ก็รู้ได้ว่าลักษณะเป็นอย่างไร ใจเป็นอย่างไร อาการที่คิดเป็นอย่างไร หรือด้วยอำนาจของโมหะคือความหลง ก็รู้ได้ว่าหลงไปในอะไร หลงไปอย่างไร เช่นเดียวกัน
และเมื่อเป็นดั่งนี้ หากว่าวิตกคือความตรึกนึกคิดนั้นเป็นไปอย่างเต็มที่ ก็ย่อมจะรู้จะเห็นได้ด้วยใจ ว่ากำลังเป็นไปแรง และก็ให้คิดว่าไฉนจะทำให้ช้าลง อย่าให้เป็นไปเร็วไปแรงมาก ให้เบาลงให้ช้าลง ดั่งนี้ วิตกความตรึกนึกคิดนั้นก็จะช้าลงได้
และก็ให้คิดว่าไฉนเราจะหยุดคิดอยู่กับที่ได้ คือไม่คิดต่อไป ก็อาจจะหยุดได้ หรือให้คิดต่อไปอีกว่า ไฉนจะทำให้ความคิดนั้นสงบลงได้ ก็ย่อมจะสงบลงได้ หรือให้คิดว่าไฉนเราจะเลิกคิดได้ ก็อาจจะเลิกความคิดนี้ได้โดยลำดับ โดยที่ปฏิบัติในทางลดกระแสของความตรึกนึกคิดนี้ ให้ช้าลงไป ให้เบาลงไป จนถึงให้หยุดสงบระงับ เหมือนอย่างอุปมาที่ตรัสสอนไว้นั้น กำลังเดินเร็ว ก็ให้เดินช้าลง ให้หยุดยืน ให้นั่ง และให้นอนในที่สุด ก็ย่อมจะทำได้ เมื่อเป็นดั่งนี้ จิตนี้ก็ย่อมจะหยุดสงบ ย่อมจะตั้งสงบ ย่อมจะมีอารมณ์เป็นอันเดียวอยู่ในนิมิตของกรรมฐาน ย่อมจะได้สมาธิ ดั่งนี้ เป็นวิธีปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้
อานาปานสติข้อจิตตานุปัสสนา
อนึ่ง พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนอานาปานสติ คือสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ๑๖ ชั้น ในข้อกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๔ ชั้น ข้อเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๔ ชั้น ข้อจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๔ ชั้น และข้อธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๔ ชั้น โดยที่ได้ตรัสสอนให้ตั้งต้นตั้งแต่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และต่อกันขึ้นโดยลำดับ โดยอาศัยลมหายใจเข้าออกนี่แหละ เป็นตัวกรรมฐานนำโดยตลอด มาถึงข้อจิตตานุปัสสนา ตรัสสอนให้ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงจิตหายใจเข้า ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงจิตหายใจออก
จิตนั้นท่านแสดงไว้ก็ได้แก่วิญญาณจิต ก็คือบรรดาคำทั้งหมดที่หมายถึงจิตใจ อันได้แก่ จิต มโนหรือมนัส หทัย ปัณทระ มนายตนะ วิญญาณ มนินทรีย์
วิญญาณขันธ์ วิญญาณธาตุ ก็ชื่อว่าจิต หรือวิญญาณจิต จิตนั้นย่อมรู้ทั่วถึงอย่างไร ก็ตรัสสอนว่า จิตใจที่ปรากฏอยู่หรือที่มีอยู่ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติ ในข้อกายานุปัสสนา ในข้อเวทนานุปัสสนา ก็ชื่อว่าเป็นจิตในข้อนี้ทั้งหมด คือ ด้วยอำนาจแห่งหายใจเข้ายาวออกยาว ด้วยสามารถแห่งหายใจเข้าสั้นออกสั้น ด้วยสามารถแห่งรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออก ด้วยสามารถแห่งสงบรำงับกายสังขาร คือลมหายใจเข้าหายใจออก นี้เป็นข้อกาย
และต่อขึ้นมา ด้วยสามารถแห่งรู้ทั่วถึงปีติหายใจเข้าหายใจออก ด้วยสามารถแห่งรู้ทั่วถึงสุขหายใจเข้าหายใจออก ด้วยสามารถแห่งรู้ทั่วถึงจิตสังขารเครื่องปรุงจิตคือสัญญาเวทนาหายใจเข้าหายใจออก (เริ่ม) ด้วยสามารถแห่งสงบรำงับจิตสังขารหายใจเข้าหายใจออก
เมื่อรู้ทั่วความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน สติย่อมตั้งมั่น จิตย่อมเป็นอันรู้ทั่วถึงด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น เมื่อคำนึงถึง เมื่อรู้ เมื่อเห็น เมื่อพิจารณา เมื่ออธิษฐานจิต เมื่อน้อมจิตไปด้วยศรัทธา เมื่อประคองความเพียร เมื่อตั้งสติมั่น เมื่อตั้งจิตให้เป็นสมาธิ เมื่อรู้ทั่วด้วยปัญญา เมื่อรู้ยิ่งธรรมะที่พึงรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ธรรมะที่พึงกำหนดรู้ เมื่อละธรรมะที่พึงละ เมื่ออบรมให้มีให้เป็นขึ้นซึ่งธรรมะที่พึงอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น เมื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมะที่ควรกระทำให้แจ้ง
จิตย่อมเป็นอันรู้ทั่วถึงอย่างนี้ ด้วยสามารถแห่งรู้ทั่วถึงจิต จิตวิญญาณ หรือจิต ก็เป็นอุปปัฏฐานะ คือเป็นที่เข้าไปตั้งกำหนดของจิต สติเป็นอนุปัสสนาญาณ คือความหยั่งรู้ เป็นเครื่องพิจารณาตามรู้ตามเห็น จิตเป็นอุปปัฏฐานะ ไม่ใช่เป็นสติ สตินั้นเป็นอุปปัฏฐานะคือเป็นความปรากฏ หรือความเข้าไปปรากฏด้วย เป็นสติด้วย ย่อมพิจารณาตามรู้ตามเห็นจิต ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น
เพราะฉะนั้น จึงเป็นสติปัฏฐานภาวนา อบรมสติปัฏฐานในข้อพิจารณาตามรู้ตามเห็นจิตในจิต นี้เป็นอธิบายที่ท่านได้อธิบายไว้ถึงข้อว่า ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงจิตหายใจเข้าหายใจออก อันเป็นข้อที่ ๑ ของจิตตานุปัสสนา สืบมาจากข้อกายและข้อเวทนาโดยลำดับ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป