แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นหลักปฏิบัติใหญ่ เพื่อตั้งสติ เพื่อสมาธิ และเพื่อปัญญา ในข้อกายได้ทรงแสดงจับแต่อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก จนถึงข้อว่าด้วยป่าช้าทั้ง ๙ อันเป็นข้อสุดท้าย และก็ได้แสดงมาแล้ว ๕ ป่าช้า ยังอีก ๔ ป่าช้า ก็จะครบ ๙
ในป่าช้าที่ ๖ นั้น ตรัสสอนให้ตั้งจิตตั้งสติพิจารณาว่า เหมือนอย่างว่าซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า และเห็นซากศพนั้นเป็นร่างกระดูก ซึ่งไม่มีเส้นเอ็นรึงรัด จึงกระจัดกระจายไปในทิศใหญ่ทิศน้อยทั้งหลาย กระดูกมือไปทางอื่น กระดูกเท้าไปทางอื่น กระดูกแข้งไปทางอื่น กระดูกขาไปทางอื่น กระดูกสะเอวไปทางอื่น กระดูกหลังสันหลังไปทางอื่น กระดูกซี่โครงไปทางอื่น กระดูกอกไปทางอื่น กระดูกแขนไปทางอื่น กระดูกไหล่ไปทางอื่น กระดูกคอไปทางอื่น
กระดูกคางไปทางอื่น กระดูกฟันไปทางอื่น กะโหลกศีรษะไปทางอื่น อันหมายความว่าเรี่ยราดกระจัดกระจายไปแต่ละทิศแต่ละทาง ให้พิจารณาน้อมเข้ามาว่า เหมือนอย่างกายนี้ก็จะเป็นเช่นนั้นเป็นธรรมดา จะต้องเป็นเหมือนอย่างนั้น ไม่ล่วงความเป็นอย่างนั้นไปได้
อนึ่ง ให้พิจารณาว่าเหมือนอย่างว่า จะพึงเห็นสรีระศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นกระดูกซึ่งมีสีขาวเหมือนอย่างสังข์ พิจารณาน้อมเข้ามาว่าแม้กายนี้ ก็จะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดา จะต้องมีความเป็นอย่างนั้น ไม่ล่วงอย่างนั้นไปได้
อนึ่ง ให้พิจารณาว่า เหมือนอย่างว่า จะพึงเห็นสรีระศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นกระดูกที่เป็นกองๆ เกินปีหนึ่งไป น้อมเข้ามาพิจารณาว่า แม้กายนี้ก็จะต้องเป็นอย่างนั้น มีอันเป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดา ไม่ล่วงความเป็นอย่างนั้นไปได้
อนึ่ง ให้พิจารณาว่า เหมือนอย่างว่า จะพึงเห็นสรีระศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าเป็นกระดูกผุป่น น้อมเข้ามาถึงกายนี้ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดา ไม่ล่วงความเป็นอย่างนั้นไปได้
สรุปข้อพิจารณากาย
ก็เป็นอันว่าได้ตรัสสอนให้พิจารณา เทียบกายนี้กับสรีระศพ ที่เหมือนอย่างว่าเห็นที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ดังกล่าวมาโดยลำดับเป็น ๙ ป่าช้าด้วยกัน หรือว่า ๙ สรีระศพด้วยกัน ก็เป็นอันทรงแสดงจบข้อกายานุปัสสนา คือให้พิจารณากาย
เพราะว่ากายอันนี้หากพิจารณาแล้วก็จะเห็นว่า เดิมก็ไม่มี แต่เริ่มมีขึ้นตั้งต้นแต่เป็นกลละในครรภ์ของมารดา แล้วจึงมาเริ่มเป็นสรีระตั้งแต่ยังไม่ปรากฏเป็นปัญจะสาขาในท้องแม่ คือยังไม่ปรากฏศีรษะ มือทั้งสอง เท้าทั้งสอง แล้วจึงค่อยเติบใหญ่ขึ้น มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย แต่ว่าจิตนั้นใจนั้นเริ่มมีตั้งแต่เป็นกลละ ปฐมจิต ปฐมวิญญาณ และเมื่อมีอายตนะครบถ้วนก็คลอดออกมาจากครรภ์ของมารดา ได้รับทะนุบำรุงเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นโดยลำดับ
และก็ต้องล่วงไป แตกสลายไปในช่วงเวลาต่างๆ กัน ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ของมารดาก็มี ออกมาแล้วยังเล็กอยู่ก็มี โตขึ้นมาก็มี เติบใหญ่ขึ้นเป็นเด็กใหญ่ก็มี เป็นหนุ่มเป็นสาวก็มี เป็นผู้ใหญ่ก็มี อยู่มาจนแก่ก็มี แต่แล้วในที่สุดก็ต้องแก่ตายด้วยกันทั้งหมด ไม่มีใครจะอยู่ตลอดไปได้ ก็คือกายนี้แตกสลาย และเมื่อกายนี้แตกสลาย กายนี้ก็เป็นศพ มีลักษณะตั้งแต่ตายวันหนึ่งสองวันสามวันเป็นต้นตามที่ตรัสแสดงไว้ แล้วในที่สุดก็เป็นกระดูกผุป่น เป็นอันว่ากลับเป็นไม่มีเหมือนอย่างเดิม
กายอันนี้เมื่อเริ่มต้นมีขึ้น ตั้งแต่ปฐมจิตปฐมวิญญาณ เป็นกลละคือเล็กที่สุดเหมือนอย่างน้ำมันที่ปลายขนทราย ก็แปลว่าเริ่มมีเริ่มเป็นขึ้น เป็นกายเป็นจิตตั้งแต่ปฐมจิตปฐมวิญญาณ มีชีวิต และเมื่อได้คลอดออกมาคือเกิดขึ้นมาในโลกนี้ก็ยังเล็ก แล้วก็เติบโตขึ้นโดยลำดับดังกล่าว ในขณะที่กายยังดำรงชีวิตอยู่นี้ก็ย่อมหายใจเข้าหายใจออกได้ มีลมหายใจ ซึ่งต้องหายใจกันอยู่ตลอดเวลา หยุดไม่ได้
เพราะฉะนั้น จึงเรียกลมหายใจว่าปาณะ ปาโณที่เราแปลว่าสัตว์มีชีวิต ก็คือสัตว์ที่ยังหายใจอยู่
ลมหายใจซึ่งเป็นตัวชีวิต (เริ่ม) จึงเรียกว่าลมปราณ เมื่อลมปราณซึ่งเป็นตัวชีวิตนี้หยุดไม่หายใจ ชีวิตนี้ก็ดับ และเมื่อยังมีชีวิตมีลมปราณหายใจเข้าหายใจออก ก็ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเดินยืนนั่งนอนได้ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถประกอบต่างๆ เช่นการก้าวไปข้างหน้า การถอยมาข้างหลังเป็นต้นได้
อาการทั้งหลายในร่างกายอันนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ที่เป็นภายนอก และที่เป็นภายใน มังสัง เนื้อ นหารู เอ็น อัฏฐิ กระดูก อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก วักกัง ไต หทยัง หัวใจ ยกนัง ตับ กิโลมกัง พังผืด ปิหกัง ม้าม ปับผาสัง ปอด เป็นต้น ก็มีอาการคือปฏิบัติหน้าที่ได้ และอาการทั้งปวงเหล่านี้ก็มีลักษณะที่เติบใหญ่ได้ มีสันตติคือความสืบต่อ มีความเสื่อมได้ มีความเกิดดับได้ แต่แม้ว่าเกิดดับ ดับแล้วก็มีสันตติคือเกิด อย่างเช่นผมที่หลุดแล้วก็กลับงอกขึ้นมาได้ ที่ตัดหรือโกนแล้วก็กลับงอกยาวขึ้นอีกได้ แล้วก็หลุดได้ และอาการทั้งปวงนั้นก็ต่างปฏิบัติหน้าที่ของตน ในอันที่จะรวมเข้าเป็นสรีรยนต์คือร่างกายอันนี้ และทั้งหมดเมื่อย่อเข้าก็เป็นธาตุทั้ง ๔ คือปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม ประกอบกันอยู่ กายนี้จึงดำรงชีวิตอยู่ได้
พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้พิจารณากายนี้ จับเดิมแต่ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก กำหนดอิริยาบถ กำหนดอิริยาบถประกอบทั้งหลาย กำหนดอาการ ๓๑ ถึง ๓๒ กำหนดธาตุทั้ง ๔ โดยลำดับ อันเป็นร่างกายที่ยังเป็นอยู่ ยังดำรงชีวิตอยู่ แต่ว่าร่างกายอันนี้ในที่สุดก็จะต้องแตกสลาย อันหมายความว่าธาตุทั้ง ๔ ที่รวมกันนี้แตกสลายแยกกัน วาโยธาตุธาตุลมที่เป็นลมปราณดับคือหยุดหายใจ อิริยาบถก็หยุด จะผลัดเปลี่ยนเดินยืนนั่งนอนไม่ได้ นอกจากต้องนอนเป็นศพ อิริยาบถประกอบทั้งหลายก็ต้องหยุดหมด ผลัดเปลี่ยนไม่ได้ อาการ ๓๑ ถึง ๓๒ ก็หยุดเป็นอาการ คือหยุดทำงานประกอบหน้าที่
เพราะธาตุทั้ง ๔ นี้แตกสลายตั้งแต่ลมปราณ เป็นศพดังที่ตรัสไว้ในป่าช้าทั้ง ๙ วาโยธาตุที่เป็นลมปราณดับ เตโชธาตุที่เป็นธาตุไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่นเป็นต้นก็ดับ ศพจึงเย็นชืด ไม่มีธาตุไฟ และธาตุดินธาตุน้ำก็หยุดปฏิบัติงาน ก็ต้องแตกสลายย่อยยับไปโดยลำดับ ดังที่ตรัสไว้ในป่าช้าทั้ง ๙ ในทีแรกก็ยังเป็นสรีระศพหรือซากศพที่ยังมีเนื้อมีเลือดอยู่บ้าง แต่ต่อไปเนื้อก็จะหมด เลือดก็จะหมด เหลือแต่โครงกระดูกที่มีเส้นเอ็นรึงรัด แล้วก็ไม่มีเส้นเอ็นรึงรัด เป็นกระดูกที่กระจัดกระจายไปในทิศใหญ่ทิศน้อยทั้งหลาย ในที่สุดก็เป็นกระดูกผุป่น ก็เป็นอันว่ากลับไม่มีอย่างสมบูรณ์
เดิมก็ไม่มีอย่างสมบูรณ์ คือไม่มีอย่างเต็มที่ เมื่อกลับมีขึ้นมา ในที่สุดก็กลับไม่มีอย่างสมบูรณ์คืออย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้จึงได้ตรัสสอนให้พิจารณาว่าเป็นอนิจจะไม่เที่ยง ต้องมีเกิดมีดับ เป็นทุกขะเป็นทุกข์คือต้องถูกความเกิดดับบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา และเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน ไม่อาจจะยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเราได้ เพราะต้องเป็นไปตามธรรมดาอย่างนั้น บังคับให้เป็นไปตามปรารถนาก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอนัตตาไม่ใช่อัตตาตัวตน ไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา
ฉะนั้น แม้ในข้อกายานุปัสสนาตั้งสติพิจารณากายนี้ จึงเป็นข้อที่ตรัสสอนให้ได้ทั้งสติเพื่อสมาธิ และให้ได้ทั้งสติเพื่อปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป