แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสเล่าถึงพระองค์เอง ในขณะที่ได้ทรงประกอบความเพียรเพื่อความตรัสรู้ ที่ตรัสว่าเมื่อยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ได้ทรงปฏิบัติอบรมจิต ด้วยวิธีที่ได้ทรงดำริว่า จักทรงทำวิตกคือความตรึกนึกคิดให้เป็น ๒ ส่วน คือจะทรงทำวิตกนึกคิดที่เป็น กามวิตก ตรึกนึกคิดไปในกาม พยาปาทวิตก ตรึกนึกคิดไปในพยาบาท วิหิงสาวิตก ตรึกนึกคิดไปในวิหิงสาความเบียดเบียน ให้เป็นส่วน ๑
จักทรงทำวิตกคือความตรึกนึกคิดที่เป็น เนกขัมมวิตก คือตรึกนึกคิดไปในทางออกจากกาม อัพยาปาทวิตก ตรึกนึกคิดไปในทางไม่พยาบาท อวิหิงสาวิตก ตรึกนึกคิดไปในทางไม่เบียดเบียน ให้เป็นส่วน ๑
กุศลวิตก อกุศลวิตก
อันความตรึกนึกคิดทั้ง ๒ ส่วนนี้ กามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก เป็นอกุศลวิตก ตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศล ส่วน เนกขัมมวิตก อัพยาปทวิตก อวิหิงสาวิตก เป็นกุศลวิตก ตรึกนึกคิดที่เป็นกุศล
เมื่อทรงดำริดั่งนี้แล้ว เมื่ออกุศลวิตก วิตกที่เป็นอกุศลข้อใดข้อหนึ่งบังเกิดขึ้น คือเมื่อกามวิตกบังเกิดขึ้น ก็ทรงพิจารณาว่า
บัดนี้กามวิตกได้บังเกิดขึ้น ก็กามวิตกนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นไปเพื่อดับปัญญา เป็นฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เมื่อทรงพิจารณาอยู่ดั่งนี้ว่า ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง กามวิตกก็ดับไป หรือเมื่อทรงพิจารณาว่า ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง กามวิตกก็ดับไป หรือเมื่อทรงพิจารณาว่าเป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง กามวิตกก็ดับไป หรือเมื่อทรงพิจารณาว่า เป็นไปเพื่อดับปัญญา เป็นฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ กามวิตกก็ดับไป
อนึ่ง เมื่อพยาบาทวิตก ความตรึกนึกคิดไปเพื่อปองร้ายผู้อื่นบังเกิดขึ้น ก็ทรงพิจารณาเช่นเดียวกัน ว่าเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนบ้าง เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นไปเพื่อดับปัญญา เป็นฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เมื่อทรงพิจารณาดั่งนี้ แม้ข้อใดข้อหนึ่ง พยาบาทวิตกก็ดับไป
อนึ่ง เมื่อวิหิงสาวิตก ความตรึกนึกคิดไปเพื่อความเบียดเบียนผู้อื่นบังเกิดขึ้น ก็ทรงพิจารณาเช่นเดียวกัน ว่าบัดนี้วิหิงสาวิตกบังเกิดขึ้นแล้ว ก็วิหิงสาวิตกนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง
เป็นไปเพื่อดับปัญญา เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เมื่อทรงพิจารณาดั่งนี้ แม้ข้อใดข้อหนึ่ง วิหิงสาวิตกก็ดับไป
จิตย่อมน้อมไปตามวิตกวิจาร
อนึ่ง ได้ตรัสไว้ทุกข้อว่า เมื่อวิตกคือตรึกวิจารคือตรอง ถึงกามวิตก ก็ย่อมละเนกขัมมวิตก ความตรึกนึกคิดที่ออกจากกาม ที่ตรงกันข้าม แต่ย่อมวิตกนึกคิดถึงกามวิตก หรือเมื่อวิตกคือตรึกวิจารคือตรอง ถึงพยาบาทวิตก คือตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียนผู้อื่นมาก ก็ละอัพพยาบาทวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางไม่เบียดเบียน อันตรงกันข้าม แต่ย่อมตรึกนึกคิดถึงพยาบาทวิตก คือตรึกนึกคิดไปในทางพยาบาทปองร้ายผู้อื่น หรือเมื่อวิตกคือตรึก วิจารคือตรอง ถึงวิหิงสาวิตก ตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียนมาก ก็ย่อมละอวิหิงสาวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางไม่เบียดเบียนอันตรงกันข้าม (เริ่ม) แต่ว่าตรึกนึกคิดถึงวิหิงสาวิตก คือตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียน และได้ทรงแสดงสภาพของจิตใจไว้ว่า เมื่อวิตกคือตรึก วิจารคือตรอง ถึงข้อใดมาก ความน้อมไปของจิตใจก็ย่อมเป็นไปโดยประการนั้นๆ คือถึงสิ่งนั้นมาก อันสรุปว่า ตรึกตรองไปถึงสิ่งใด โดยประการใดๆ มาก ความน้อมไปของจิตใจก็ย่อมเป็นไปในสิ่งนั้น โดยประการนั้นๆ มาก ดั่งนี้
และได้ตรัสไว้ว่า เหมือนอย่างว่านายโคบาลคือคนเลี้ยงโค เมื่อต้อนโคไปเลี้ยงในทุ่งนาในเดือนสุดท้ายของฤดูฝน ซึ่งท้องนาเต็มไปด้วยต้นข้าว สะพรั่งไปด้วยข้าวกล้า ก็ต้องคอยเฆี่ยนตีห้ามปรามโคไม่ให้แวะเวียนเข้าไปในนาข้าว ไปกินข้าวของชาวนา แต่ว่าให้เดินผ่านไปเพื่อกินหญ้าในทุ่งหญ้า ฉันใด
พระองค์ก็ฉันนั้น ได้ทรงเห็นโทษของอกุศลธรรมทั้งหลาย
เหมือนอย่างนายโคบาลที่เห็นโทษของการที่โคจะไปกินข้าวของชาวนา ว่าอาจจะต้องถูกประหาร ถูกจองจำ ต้องพบกับความเสื่อมเสีย หรือคำครหานินทา จึงได้ต้องคอยดูแลไม่ให้ฝูงโคแวะเวียนเข้าไปกินข้าวของชาวนาในนาข้าว
โทษของอกุศลวิตก
พระองค์ก็เช่นเดียวกันได้ทรงเห็นโทษของอกุศลธรรมทั้งหลาย และโดยเฉพาะที่ตรัสไว้ ก็คือของอกุศลวิตกทั้งหลาย คือกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ว่าเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองบ้าง เป็นไปเพื่อดับปัญญา เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์
เมื่อทรงพิจารณาดั่งนี้ อกุศลวิตกทั้งหลาย จะเป็นข้อกามวิตกก็ดี พยาบาทวิตกก็ดี วิหิงสาวิตกก็ดี ก็ดับไป ก็ชื่อว่าได้ทรงละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะทรงเห็นโทษของอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นวิธีพิจารณาทางปัญญา เพื่อเป็นการรักษาจิตใจมิให้น้อมไปในอกุศลวิตกทั้งหลาย ด้วยสติคือความระลึกได้ ด้วยปัญญาคือความรู้
ข้อปฏิบัติทางจิตสำหรับทุกคน
เพราะฉะนั้น พระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไว้ เล่าถึงข้อปฏิบัติของพระองค์เอง แม้เพียงเท่านี้ ก็เป็นอันได้ทรงบอกวิธีปฏิบัติทางจิตของทุกๆ คนนั้นเอง ที่ทุกคนไม่ควรจะปล่อยให้จิตของตนตรึกตรองไปในอกุศลวิตกทั้งหลาย จะเป็นกามวิตกก็ดี พยาบาทวิตกก็ดี วิหิงสาวิตกก็ดี
และการที่ได้ตรัสอุปมาไว้ด้วยนายโคบาลคือคนเลี้ยงโค นำโคไปเลี้ยงนั้น
และเมื่อนำไปยังไม่ถึงทุ่งหญ้า ต้องผ่านนาของชาวบ้านซึ่งเต็มไปด้วยข้าวกล้า โคนั้นก็ย่อมจะชอบกินข้าวกล้า จึงมักที่จะแวะเวียนเข้าไปเพื่อจะกินข้าวกล้า นายโคบาลก็ต้องคอยเฆี่ยนตีห้ามปราม ไม่ให้แวะเวียนไปกินข้าวกล้าของชาวนา แต่ให้เดินผ่านไปเพื่อให้ถึงทุ่งหญ้า เพื่อจะได้ไปกินหญ้าในทุ่งหญ้านั้น
จิตที่เป็นกามาพจร
จิตนี้ก็เช่นเดียวกัน จิตที่เป็นกามาพจร คือที่เที่ยวไปในกาม หรือหยั่งลงในกาม ยังพอใจในกาม เพราะฉะนั้น จึงมักจะพอใจที่จะคิดถึงกามคุณารมณ์ทั้งหลาย ทั้งเมื่อประสบพบผ่านรูปบ้างเสียงบ้างเป็นต้น อันเป็นที่ตั้งของกาม ก็ย่อมจะผูกพัน ติดใจ คิดใคร่ปรารถนา เป็นกามวิตกไปในรูปเสียงเป็นต้นนั้น โคย่อมกินข้าวกล้า จิตที่เป็นกามาพจรก็พอใจในกามเช่นเดียวกัน
และเมื่อปล่อยใจให้เที่ยวไปในกาม ก็ย่อมจะพบอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของโทสะพยาบาท ที่มีคู่กันกับอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของราคะ ความใคร่ความติดใจยินดีเช่นเดียวกัน จิตจึงจะต้องน้อมไปในพยาบาทวิตกบ้าง ในวิหิงสาวิตกบ้าง เป็นครั้งคราว เป็นอันว่าจิตของสามัญชนซึ่งเป็นกามาพจรเช่นนี้ ก็จะต้องน้อมไปในกามวิตกบ้าง พยาบาทวิตกบ้าง วิหิงสาวิตกบ้าง ซึ่งเป็นอกุศลธรรมทั้งหลาย
เพราะฉะนั้นจึงต้องทำสติคือความระลึกได้ และปัญญาคือความหยั่งรู้ถึงโทษ ให้เป็นเหมือนอย่างนายโคบาลคือคนเลี้ยงโค ที่จะต้องคอยเฆี่ยนตีห้ามปรามจิตของตน และนายโคบาลนั้นใช้ปฏักบ้าง ใช้มือบ้าง ใช้ก้อนดินก้อนหินบ้าง เป็นต้น เป็นเครื่องมือในการที่จะห้ามปรามโคไม่ให้ไปกินข้าว
ผู้ปฏิบัติธรรมะก็ต้องใช้สติใช้ปัญญานี้เองเป็นเครื่องห้ามปรามจิต ด้วยการพิจารณา ด้วยสติ ด้วยปัญญา ให้รู้โทษของอกุศลวิตกทั้งหลาย และเมื่อเป็นดั่งนี้ เมื่อได้สติได้ปัญญาขึ้นแล้ว อกุศลวิตกก็จะดับไป ชื่อว่าเป็นผู้ละอกุศลวิตก คือกามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป