แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา ได้ทรงสอนวิธีปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือให้ตั้งสติพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็น กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ที่มีบทว่า ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ก็มีความหมายว่า ให้ตั้งสติพิจารณากายในกาย หรือที่กายนั้นเอง ไม่ใช่ที่อื่น เช่นที่เวทนา ที่จิต หรือที่ธรรม
ในข้อเวทนาก็เช่นเดียวกัน ตั้งสติพิจารณาเวทนา ก็ในเวทนา หรือที่เวทนา ไม่ใช่ในที่อื่น เช่นในกาย ในจิต ในธรรม ข้อจิตก็เช่นเดียวกัน ให้ตั้งสติพิจารณาจิตในจิต หรือที่จิต ไม่ใช่ในที่อื่น เช่นในกาย ในเวทนา หรือในธรรม
แม้ข้อธรรมก็เช่นเดียวกัน ให้ตั้งสติพิจารณาธรรมในธรรม หรือที่ธรรม ไม่ใช่ในที่อื่น เช่นในกาย ในเวทนา หรือในจิต เป็นคำจำกัดความให้ชัดเจน
วิธีตั้งสติพิจารณา ๖ ประการ
อนึ่ง ตรัสสอนให้ตั้งสติพิจารณากายในกายในภายใน พิจารณากายในกายในภายนอก พิจารณากายในกายในทั้งภายในทั้งภายนอก พิจารณาในกายว่ามีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา พิจารณาในกายว่ามีเสื่อมดับไปเป็นธรรมดา พิจารณากายในกายว่ามีทั้งเกิดขึ้นและเสื่อมดับไปเป็นธรรมดา แม้ในข้อเวทนา ข้อจิต และข้อธรรม ก็เช่นเดียวกัน คือให้ตั้งสติพิจารณาในทุกๆ ข้อ ในภายใน ในภายนอก ในทั้งภายใน ทั้งภายนอก ตั้งสติพิจารณาในทุกข้อว่ามีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีเสื่อมดับไปเป็นธรรมดา มีทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมดับไปเป็นธรรมดา ดั่งนี้ เป็น ๖ ประการด้วยกัน เป็นวิธีตั้งสติพิจารณาในสติปัฏฐานทั้ง ๔
ข้อพิจารณาภายในภายนอก
จึงจะอธิบายทั้ง ๖ ข้อนี้ไปโดยลำดับ ข้อว่าในภายใน ก็คือในกายที่เป็นภายใน ท่านอธิบายว่าคือกายตนเอง ในภายนอกก็คือในภายนอกจากกายตนเอง คือกายผู้อื่น นี้เป็นอธิบายอย่างชนิดที่เห็นได้ง่าย
แต่ก็อาจพิจารณาในทางปฏิบัติได้อีกว่า ในภายในนั้นก็คือในจิตใจ ในภายนอกนั้นก็คือในอารมณ์ที่เป็นภายนอก ดังเช่นข้อตั้งสติกำหนดพิจารณาลมหายใจเข้าออก การกำหนดตัวลมเข้าออกที่เป็นวาโยธาตุ
อันมากระทบที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบน โดยสัมผัสเรียกว่าเป็นภายนอก ส่วนการกำหนดอารมณ์ของลมหายใจเข้าออกภายในจิตใจ ซึ่งน้อมอารมณ์ภายนอกหรืออาการภายนอกที่เป็นวาโยธาตุนั้น เข้ามาเป็นอารมณ์ภายในของจิตใจ ดั่งนี้ก็เป็นภายใน
พิจารณาทั้งภายในทั้งภายนอก
ในการปฏิบัตินั้นท่านให้กำหนดพิจารณาในภายใน ให้กำหนดพิจารณาในภายนอก เป็น ๒ ให้กำหนดพิจารณาทั้งภายในทั้งภายนอก เป็น ๓ การที่ได้มีข้อที่ ๓ ไว้อีก คือทั้งภายในทั้งภายนอกก็เป็นการแสดงว่า ต้องมีทั้ง ๒ อย่าง จะมีแต่ภายในไม่มีภายนอก หรือว่ามีแต่ภายนอกไม่มีภายใน ดั่งนี้ไม่ได้ ต้องมีทั้ง ๒ อย่างคู่กัน แล้วก็ต้องรู้จักว่า นี่เป็นภายใน นี่เป็นภายนอก
อนึ่ง การกำหนดทั้ง ๒ อย่างนี้ ก็มีความหมายว่าต้องให้พร้อมกันไปด้วย กล่าวคือ ยกตัวอย่างการกำหนดลมหายใจเข้าออก ที่วาโยธาตุอันมากระทบที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบน นี่เป็นภายนอก นำเข้ามาเป็นอารมณ์ของจิตใจในภายในพร้อมกัน ในขณะเดียวกัน คือกำหนดให้ถึงจิตใจ ไม่ใช่ว่ากำหนดภายนอกคือลมหายใจที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบน แต่จิตใจคิดไปอีกเรื่องหนึ่ง แทรกเข้ามา ดั่งนี้ก็ไม่เป็นสติปัฏฐาน จะต้องคิดถึงลมหายใจเข้าออก ให้ลมหายใจเข้าออกมาเป็นอารมณ์ของจิตใจอยู่ในภายใน พร้อมกันไปกับลมหายใจเข้าออกที่เป็นวาโยธาตุในภายนอก ให้กำหนดภายนอกถึงภายใน ภายในถึงภายนอก เพราะฉะนั้น เมื่อกำหนดให้รู้จักว่านี่เป็นภายนอก นี่เป็นภายใน หรือนี่เป็นภายใน นี่เป็นภายนอกแล้ว ก็ต้องกำหนดให้รู้จักทั้งภายในทั้งภายนอกพร้อมกันไป เพราะฉะนั้น จึงต้องมี ๓ ข้อด้วยกัน คือตั้งสติกำหนดภายใน ตั้งสติกำหนดภายนอก ตั้งสติกำหนดทั้งภายในทั้งภายนอก
ภายในภายนอกในภาวนา
อนึ่ง อาจอธิบายภายในภายนอกได้ด้วยภาวนา คือการอบรมสมาธิ อันมี ๓ คือ บริกัมมภาวนา ภาวนาในบริกรรม อุปจารภาวนา ภาวนาในอุปจาร อัปปนาภาวนาภาวนาในความแนบแน่น
บริกัมมภาวนา ภาวนาในบริกรรม นั้นก็คือการเริ่มปฏิบัติ ซึ่งต้องมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก คือมีสติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจซึ่งเป็นวาโยธาตุดังกล่าว เข้าก็รู้ ออกก็รู้ ซึ่งเป็นการเริ่มปฏิบัติในทีแรก ต้องตั้งสติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกที่เป็นวาโยธาตุ ซึ่งในเบื้องต้นนี้อาจจะต้องใช้วิธีนับลมหายใจช่วย เช่นหายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๑ ไปจนถึง ๕ แล้วเริ่มต้นใหม่ไปจนถึง ๖ แล้วเริ่มต้นใหม่ไปจนถึง ๗ เริ่มต้นใหม่ไปจนถึง ๘ เริ่มต้นใหม่ไปจนถึง ๙ เริ่มต้นใหม่ไปจนถึง ๑๐ แล้วกลับใหม่ ๑ - ๕ หรือจะใช้วิธีนับอย่างอื่นเช่น ๑ - ๑๐ ทีเดียว หรือเกินกว่า ๑๐ เป็นการช่วยค้ำจุนจิต หรือสติให้ตั้งมั่น (เริ่ม) หรือว่าใช้วิธีพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ซ้ำไปซ้ำมา ดั่งนี้ เป็นบริกัมมภาวนา
อย่างนี้นับว่าเป็นภายนอก ตั้งสติกำหนดกายในกาย ในภายนอก เมื่อเริ่มได้สมาธิขึ้น สมาธิตั้งมั่นขึ้นบ้าง แต่ยังไม่แนบแน่น การภาวนาคือการปฏิบัติในระยะนี้ก็เป็นอุปจารภาวนา สติที่กำหนดลมหายใจเข้าออกก็เป็นภายในมากขึ้น คือเข้ามาถึงจิตใจในภายใน เริ่มได้สมาธิ คือลมหายใจมาเป็นอารมณ์แห่งสมาธิอยู่ในจิต จิตไม่คิดไปถึงเรื่องอื่น แต่ยังไม่แนบแน่น ก็เป็นอุปจาระภาวนา การปฏิบัติจนถึงขั้นจิตแนบแน่นเป็นสมาธิตั้งมั่น แนบแน่นอยู่ในภายใน ก็เป็นอัปปนาภาวนา ดั่งนี้ ก็เป็นภายใน
ภายในภายนอกรวมอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น คำว่าภายในภายนอก หรือว่าภายนอกภายในนั้น จึงรวมอยู่ที่ผู้ปฏิบัตินี้เอง แต่เมื่อการปฏิบัติทำสติปัฏฐานสมบูรณ์ขึ้น จนถึงขั้นรู้เกิด รู้ดับ เมื่อถึงขั้นนี้ ก็รู้คลุมไปได้หมดทั้งกายเวทนาจิตธรรมของตนเอง ทั้งกายเวทนาจิตธรรมของผู้อื่น เพราะฉะนั้น แม้จะอธิบายว่ากายผู้อื่นเป็นภายนอก กายตนเองเป็นภายใน หรือเวทนาจิตธรรมผู้อื่นเป็นภายนอก เวทนาจิตธรรมตนเองเป็นภายใน ดั่งนี้ก็ได้เหมือนกัน นี้เป็น ๓ ข้อ
สมาธิเพื่อปัญญาเห็นทั้งเกิดทั้งดับ
อีก ๓ ข้อ การปฏิบัติสติปัฏฐานนั้น มุ่งสติเพื่อสมาธิด้วย มุ่งสติเพื่อปัญญาด้วย เพราะฉะนั้น แม้เมื่อได้สติเพื่อสมาธิ ภายในภายนอก ทั้งภายในทั้งภายนอก ก็ดำเนินสติเพื่อปัญญา ตั้งสติพิจารณาในกายเวทนาจิตธรรม ว่ามีเกิดขึ้นเป็นธรรมดาข้อหนึ่ง ว่ามีเสื่อมดับไปเป็นธรรมดาข้อหนึ่ง ว่ามีทั้งเกิดเสื่อมดับไปเป็นธรรมดาอีกข้อหนึ่ง อีก ๓ ข้อ นี้เป็นสติเพื่อปัญญา หรือเพื่อญาณความหยั่งรู้
ตั้งสติเพื่อปัญญาดั่งนี้ ก็ต้องมี ๓ เหมือนกัน คือ รู้ว่ามีเกิดขึ้นเป็นธรรมดาข้อหนึ่ง รู้ว่าดับเป็นธรรมดาข้อหนึ่ง และรู้ว่าทั้งเกิดทั้งดับเป็นธรรมดาอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นการสติเพื่อปัญญาที่แยกดูเกิด และก็ดูดับ ถ้ามีเพียง ๒ ข้อเท่านี้ ก็อาจจะเห็นแต่เกิดไม่เห็นดับ หรือเห็นดับไม่เห็นเกิด ต้องการให้เห็นทั้งเกิดทั้งดับคู่กันไป จึงต้องมีข้อ ๓ ให้รู้ทั้งเกิดทั้งดับ คู่กันไป เพราะฉะนั้น วิธีปฏิบัติสติปัฏฐาน จึงมี ๖ ประการด้วยกัน
อนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ก็หรือว่า สติเข้าตั้งอยู่จำเพาะหน้า ว่ากายมีอยู่ในข้อกาย เวทนามีอยู่ในข้อเวทนา
จิตมีอยู่ในข้อจิต ธรรมะมีอยู่ในข้อธรรม เพื่อเพียงเพื่อรู้ เพียงเพื่อตั้งสติ ฉะนั้นสติจึงไม่หลงลืม ญาณความหยั่งรู้ก็ไม่หลงใหล สติย่อมตั้งกำหนด ญาณย่อมตั้งรู้ ว่ากายมีอยู่ เวทนาจิตธรรมมีอยู่ ถ้ากายเวทนาจิตธรรมหายไปเมื่อใด สติก็หลงลืมเมื่อนั้น ญาณก็หลงใหลไปเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น ในขณะที่ปฏิบัตินั้น จะต้องประคองสติให้ตั้งมั่น ประคองญาณคือความหยั่งรู้ ให้ตั้งกำหนดอยู่ที่กายเวทนาจิตธรรม ทั้งภายในภายนอก ทั้งภายในทั้งภายนอก ไม่ให้หลงลืม ไม่ให้หลงใหลไป แต่ทั้งนี้ก็ไม่อาศัย คือไม่ติดไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก ก็คือในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม นั้นเอง นี้เป็นวิธีปฏิบัติสติปัฏฐาน
อุปการธรรม ๔ ประการ
และก็ต้องอาศัยอุปการะธรรม ๔ ประการ คือ อาตาปี ต้องมีความเพียรปฏิบัติไม่ย่อหย่อนเกียจคร้าน สัมปชาโน มีสัมปชัญญะคือความรู้ตัวความรู้พร้อม สติมา มีสติความระลึกได้ความระลึกรู้ที่กำหนด วินัยโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง กำจัดความยินดีความยินร้ายในโลก คือในกายในเวทนาในจิตในธรรมที่ปฏิบัตินั้น
ฉะนั้น เมื่อประกอบด้วยอุปการะธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ และปฏิบัติอยู่ตามทางปฏิบัติทั้ง ๖ ประการ ดังกล่าวมาแล้ว จึงจะสำเร็จเป็นสติปัฏฐานภาวนา คือการอบรมปฏิบัติตั้งสติ ให้สติตั้งขึ้นเป็นสติปัฏฐาน
ต่อไปนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป