แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ในมหาสติปัฏฐานสูตรพระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ มีสติปัฏฐานตั้งสติพิจารณากายเป็นต้น และในข้อกายนี้ ได้ทรงยกแสดงอานาปานปัพพะ คือข้อว่าด้วยลมหายใจเข้าออกเป็นข้อแรก และต่อจากข้อแรก ก็ได้ตรัส อิริยาปถปัพพะ ข้อว่าด้วยอิริยาบถ ได้ตรัสสอนไว้ว่า เมื่อเดินก็รู้ว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ว่าเรายืน เมื่อนั่งก็รู้ว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ว่าเรานอน
ตามที่ตรัสสอนไว้นี้มีอธิบายไว้ว่า คำว่า เราเดิน เรายืน เรานั่ง เรานอน ไม่ได้หมายความถึงตัวเราที่ยึดถือกันอยู่ว่าตัวเรานี้ ซึ่งเป็นคำเพียงสมมติบัญญัติ พูดกันให้เข้าใจเท่านั้น และไม่ให้หมายความในด้านความยึดถือว่าตัวเราเดิน ยืน นั่ง นอน เพราะเมื่อยึดถือว่าตัวเราก็ไม่เป็นสติปัฏฐานภาวนา การปฏิบัติอบรมสติปัฏฐาน
จึงต้องมีความเข้าใจว่า ขันธ์ ๕ นี้เอง หรือกล่าวโดยเฉพาะรูปขันธ์ คือกองแห่งธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม นี้เองที่มาประชุมกัน และเป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าตัวเราตัวเขานี้ เป็นสิ่งที่เดิน ยืน นั่ง นอน
อิริยาบถเกิดจากวาโยธาตุ
และกิริยาที่ทำให้เกิดอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอนนี้ก็คือวาโยธาตุ ธาตุลม ซึ่งกิริยาเดิน ยืน นั่ง นอนเกิดจากวาโยธาตุธาตุลม ซึ่งธาตุลมนี้เองก็ทำให้เกิด วิญญัติคือความเคลื่อนไหว เช่นกายที่ก้าวไปก็เป็นเดิน เมื่อเป็นการน้อมกายส่วนล่างลง และตั้งกายส่วนบนให้ตรงก็เป็นการนั่ง เมื่อทรงกายให้หยุดอยู่เฉยๆ ก็เป็นยืน เมื่อทอดกายลงไปก็เป็นนอน ซึ่งเกิดจากวาโยธาตุ เปรียบเหมือนอย่างเรือใบที่แล่นไปด้วยลม โดยมีบุคคลเป็นผู้บังคับ กายอันนี้ก็ฉันนั้นมีวาโยธาตุที่เกิดจากการกระทำของจิต ซึ่งเป็นผู้ก่อเจตนาคือความจงใจ เครื่องบนคือกายอันนี้จึงอาศัยวาโยธาตุ ธาตุลมเคลื่อนไหว หรือกระทำอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน โดยมีจิตเป็นสายชัก เหมือนอย่างเครื่องยนต์ที่เคลื่อนไหวก็มีสายชักนั่นเอง
อีกอย่างหนึ่งเปรียบเหมือนอย่างเกวียนที่ดำเนินไป อันที่จริงนั้นความดำเนินไปของเกวียนก็อาศัยโคเทียม และดึงหรือลากเกวียนไป โดยมีบุคคลเป็นผู้บังคับ หรือเป็นผู้ควบคุม กายอันนี้ก็เหมือนอย่างเกวียน คือลำพังเกวียนเองนั้นไปเองไม่ได้ ต้องอาศัยโคจูงไปลากไป กายอันนี้ลำพังกายเองก็เป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัยวาโยธาตุธาตุลมเคลื่อนไหวไป เป็นเดิน ยืน นั่ง นอน โดยมีจิตเป็นผู้ควบคุม เหมือนอย่างเกวียนที่มีโคลากไป โดยมีคนขับเกวียนเป็นผู้ควบคุม ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น จึงให้พิจารณาในทางปฏิบัติสติปัฏฐาน ให้มีความรู้ในอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน ดั่งนี้
เมื่อเดินก็รู้ว่ากายนี้มีวาโยธาตุดำเนินไป ให้เดิน อันเนื่องมาจากจิตที่ก่อเจตนาความจงใจ ซึ่งให้ภาษาสมมติบัญญัติว่าเราเดิน ยืนนั่งนอนก็เช่นเดียวกัน ใช้สมมติบัญญัติว่ายืนนั่งนอน แต่ให้รู้ซึ้งเข้าไปว่าอันที่จริงนั้นคือกายอันนี้มีวาโยธาตุนั้นเองนำไป ให้เดินให้ยืนให้นั่งให้นอนโดยการกระทำของจิต เหมือนอย่างโคที่ลากเกวียนไป โดยการกระทำของคนขับเกวียนควบคุม พิจารณาให้รู้จักดั่งนี้
ข้อปฏิบัติในอิริยาปถปัพพะ
และความรู้ว่าเราเดิน ยืน นั่ง นอนนั้น ก็เป็นสติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว และเป็นญาณคือความหยั่งรู้ หยั่งรู้ตลอดจนถึงว่ากายที่เดิน ยืน นั่ง นอนนั้นเป็นทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ ตัณหาที่มีนัยก่อนอันเป็นเหตุสืบเนื่องมาถึงการปฏิบัติทำสติในการปฏิบัติสติปัฏฐาน เป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ความสละหรือดับตัณหา ดับทุกข์ นี่เป็นนิโรธ มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ กล่าวโดยเฉพาะก็คือสติสัมปชัญญะและญาณคือความหยั่งรู้นี้ก็เป็นมรรค เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
และเมื่อมีสติความระลึกได้ มีสัมปชัญญะความรู้ตัว มีญาณคือความหยั่งรู้ในอิริยาบถทั้ง ๔ ที่รวมเข้าในคำว่าอาการ ที่เป็นไปของกายโดยประการใดๆ ก็รู้ประการนั้นๆ ทั้งหมด ดั่งนี้ ก็เป็นการปฏิบัติในข้ออิริยาปถปัพพะคือข้อที่ว่าด้วยอิริยาบถนี้
เวทนานุปัสสนา ๔ ชั้น
อนึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสข้ออานาปานปัพพะ คือข้อว่าด้วยลมหายใจเข้าออกไว้ในหมวดกายนี้เป็น ๔ ชั้น
และยังได้ตรัสในข้อลมหายใจเข้าออกนี้สืบต่อไปในสติปัฏฐาน หมวดเวทนานุปัสสนา (เริ่ม) พิจารณาเวทนาอีก ๔ ชั้น อันหมายความว่า การปฏิบัติยกเอาลมหายใจเข้าออกขึ้นมาเป็นอารมณ์ เป็นหมวดกายานุปัสสนา พิจารณาตามรู้ตามเห็นกาย ๔ ชั้น และคงอาศัยลมหายใจเข้าออกนี้เอง เป็นอารมณ์สืบต่อในข้อเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานอีก ๔ ชั้น คือใช้อานาปานปัพพะนั้นเองสืบต่อขึ้นไปเป็นขั้นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดังที่ได้ตรัสสอนไว้ว่า
ผู้ปฏิบัติมีภิกษุเป็นต้น ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า
เราจักรู้ทั่วถึงปีติ ความอิ่มใจ หายใจเข้า ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงปีติ ความอิ่มใจ หายใจออก
ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงสุข ความสบายกายสบายใจ หายใจเข้า ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงสุข ความสบายกายสบายใจ หายใจออก
ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงจิตสังขารคือสัญญาเวทนา หายใจเข้า ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงจิตสังขารเครื่องปรุงจิตคือสัญญาเวทนา หายใจออก
ศึกษาว่าเราจักสงบระงับจิตสังขาร เครื่องปรุงจิตคือสัญญาเวทนา หายใจเข้า ศึกษาว่าเราจักสงบระงับจิตสังขารเครื่องปรุงจิตคือสัญญาเวทนา หายใจออก ดั่งนี้
เป็น ๔ ชั้นเช่นเดียวกัน
เวทนานุปัสสนาชั้นที่ ๑
สำหรับในข้อแรก ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงปีติคือความอิ่มใจ หายใจเข้าหายใจออกนั้น ปีติก็คือความอิ่มใจ ปราโมทย์ก็คือความบันเทิงใจ ความบันเทิงใจทั่ว ความรื่นเริงใจ ความรื่นเริงใจทั่ว ความที่จิตมีปีติโสมนัสแอบแนบเบิกบาน นี้คือปีติ และได้มีแสดงสอนไว้ว่า เมื่อรู้ความที่จิตเป็นเอกัคคตาคือมีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยสามารถแห่งหายใจเข้ายาว ด้วยสามารถแห่งหายใจออกยาว
ด้วยสามารถแห่งหายใจเข้าสั้น ด้วยสามารถแห่งหายใจออกสั้น ด้วยสามารถแห่งรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจเข้า ด้วยสามารถแห่งรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจออก ด้วยสามารถแห่งสงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย คือลมหายใจเข้าออกนั่นแหละ หายใจเข้า ด้วยสามารถแห่งสงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย คือลมหายใจเข้าออกนั่นแหละ หายใจออก ดั่งนี้ ปีติก็เป็นอันกำหนดรู้ หรือรู้จำเพาะ
และเมื่อรู้ความที่จิตเป็นเอกัคคตามีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยสามารถแห่งหายใจเข้ายาว หายใจออกยาว หายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้น ด้วยสามารถแห่งรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออก ด้วยสามารถแห่งสงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย คือลมหายใจเข้าออกนั่นแหละ หายใจเข้าหายใจออก ดั่งนี้ สติย่อมตั้งมั่น ปีตินั้นย่อมเป็นอันกำหนดรู้แล้ว รู้จำเพาะแล้วด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น
อนึ่ง เมื่อคำนึงถึง เมื่อรู้ เมื่อเห็น เมื่ออธิษฐานจิต เมื่อน้อมจิตไปด้วยศรัทธา เมื่อประคองความเพียร เมื่อทำสติให้ตั้งมั่น เมื่อทำจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อรู้ด้วยปัญญา เมื่อรู้ยิ่งธรรมะที่พึงรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ธรรมะที่พึงกำหนดรู้ เมื่อละธรรมะที่ควรละ เมื่ออบรมทำให้มีให้เป็นขึ้น ซึ่งธรรมะที่ควรอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น เมื่อกระทำให้แจ้งธรรมะที่พึงกระทำให้แจ้ง
เวทนา ด้วยสามารถแห่งรู้ทั่วถึงปีติคือความอิ่มใจ หายใจเข้าหายใจออก ก็เป็นอุปปัฏฐานคือเป็นที่ตั้งของจิต เป็นที่ปรากฏของจิต สติ ก็เป็นอนุปัสสนาญาณคือความรู้ที่ตามรู้ตามเห็น เวทนาเป็นอุปปัฏฐานคือเป็นที่ตั้งของจิตสำหรับกำหนด เป็นที่ปรากฏโดยเป็นอารมณ์สำหรับกำหนด แต่ไม่ใช่สติ สติย่อมเป็นสติด้วย เป็นอุปปัฏฐานคือเป็นความปรากฏด้วย ตามดู พิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็นเวทนานั้น ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น
ก็เป็นสติปัฏฐานภาวนาในข้อเวทนานุปัสสนา พิจารณาตามรู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย มีอธิบายเป็นข้อสำคัญไว้ต่างๆ ดั่งนี้
เมื่อปฏิบัติตามนัยนี้ก็ชื่อว่า ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงปีติคือความอิ่มใจหายใจเข้าหายใจออกดั่งนี้ นับว่าเป็นข้ออานาปานสติ ที่ตั้งต้นแต่ในหมวดกาย ๔ ชั้น มาเข้าหมวดเวทนา คือสูงขึ้นมาเข้าหมวดเวทนา อันนับว่าเป็นชั้นที่ ๕ ต่อจากหมวดกาย แต่นับว่าเป็นชั้นที่ ๑ ในหมวดเวทนา
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และทำความสงบสืบต่อไป