แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้รู้ผู้เห็นได้ตรัสแสดงทางไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อดับทุกข์โทมนัส เพื่อก้าวล่วงความโศกความรัญจวนคร่ำครวญใจ เพื่อดับทุกข์โทมนัส เพื่อทำให้แจ้งญายธรรม ธรรมะที่พึงบรรลุ คือมรรค เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน คือสติปัฏฐานทั้ง ๔ อันได้แก่
ในข้อกายานุปัสสนา ตั้งสติพิจารณาตามรู้ตามเห็นกาย ได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ตรัสสอนให้ตั้งสติสัมปชัญญะในอิริยาบถทั้ง ๔ ตรัสสอนให้ตั้งสติสัมปชัญญะในอิริยาบถประกอบทั้งหลาย และจากนั้นได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดพิจารณากายว่าเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด ปฏิกูลน่าเกลียด โดยตรัสสอนให้พิจารณากายนี้เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป ว่าเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีอยู่ในกายนี้ คือ
เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตะโจ หนัง มังสัง เนื้อ นหารู เอ็น อัฏฐิ กระดูก อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก วักกัง ไต หทยัง หัวใจ ยกนัง ตับ กิโลมกังพังผืด ปิหกัง ม้าม ปับผาสัง ปอด อันตัง ไส้ใหญ่ อันตคุณัง สายรัดไส้ อุทริยัง อาหารใหม่ กรีสัง อาหารเก่า ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด ปุพโพ น้ำหนองน้ำเหลือง โลหิตังน้ำเลือด เสโท น้ำเหงื่อ เมโท มันข้น อัสสุ น้ำตา วสา มันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฆานิกา น้ำมูก ลสิกา ไขข้อ มุตตัง มูตร รวมเป็น ๓๑ และเติม มัตถเกมัตถลุงคัง ขมองในขมองศีรษะ เป็น ๓๒ ตรัสสอนให้พิจารณาอาการทั้งหลาย ๓๑ หรือ ๓๒ บรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ (เริ่ม) ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด กายนี้จึงเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดมีประการต่างๆ
อันความไม่สะอาดของกายนี้ย่อมมีอยู่เป็นธรรมชาติธรรมดา จึงต้องมีการอาบน้ำชำระกาย มีการตบแต่งกาย เพื่อให้สะอาด และเพื่อให้งดงามมีประการต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถจะทำให้สะอาดให้งดงามจริงๆ ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด ไม่งดงามอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เมื่อพิจารณารวมๆ ยังไม่ปรากฏชัด ก็ให้พิจารณาแยกออกไปอีก โดยสี โดยสัณฐานคือทรวดทรง โดยกลิ่น โดยที่เกิด โดยที่อยู่ ของอาการทั้งปวงเหล่านี้ว่า แต่ละอาการนั้นเมื่อพิจารณาดูโดยสีก็ไม่สะอาดไม่งดงาม
โดยสัณฐานคือทรวดทรงก็ไม่สะอาดไม่งดงาม โดยกลิ่นก็ไม่สะอาดไม่งดงาม โดยที่เกิด ก็เกิดอยู่กับบุพโพโลหิตไม่สะอาดไม่งดงาม โดยที่อยู่ก็อยู่กับบุพโพโลหิตน้ำหนองน้ำเหลืองน้ำเลือด ไม่สะอาดไม่งดงาม
และในการพิจารณานั้น ก็ให้เพ่งกำหนดดูอาการเหล่านี้แต่ละอาการ ให้เห็นชัดด้วยตาใจ ว่านี่ผม นี่ขน นี่เล็บ นี่ฟัน นี่หนัง เป็นต้น มีสีอย่างนี้ มีสัณฐานทรวดทรงอย่างนี้ มีกลิ่นอย่างนี้ มีที่เกิดอยู่กับบุพโพโลหิตอย่างนี้ มีที่อยู่กับบุพโพโลหิต เหล่านี้ ในเบื้องต้นต้องกำหนดพิจารณาให้เห็นชัดแต่ละอาการก่อน ความไม่สะอาด ความไม่งดงามจึงจะปรากฏขึ้น
ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างว่า ไถ้หรือถุงที่บรรจุด้วยธัญชาติต่างๆ มีข้าวสาลี ข้าวเปลือก เป็นต้น บุรุษที่มีจักษุเปิดไถ้ และมองดูเห็นธัญชาติแต่ละอย่าง ว่าเหล่านี้ข้าวสาลี เหล่านี้ข้าวเปลือก เหล่านี้ถั่ว เหล่านี้ถั่วทอง เหล่านี้งา เหล่านี้ข้าวสาร ตามที่มีอยู่ในไถ้ หรือในถุงที่มีปากสองปากนั้น ฉันใดก็ดี ให้พิจารณากายนี้ให้รู้จัก มองเห็นด้วยตาใจแต่ละอย่าง ว่านี้ผม นี้ขน เป็นต้นดังที่กล่าวแล้ว เมื่อเป็นดั่งนี้ความไม่สะอาดและความไม่งดงาม โดยสีของสิ่งเหล่านี้ โดยสัณฐานทรวดทรงของสิ่งเหล่านี้ โดยกลิ่นของสิ่งเหล่านี้ โดยที่เกิดของสิ่งเหล่านี้ โดยที่อยู่ของสิ่งเหล่านี้ ก็ย่อมจะปรากฏ เป็นเหตุทำให้จิตใจผ่อนคลาย หายหลงยึดถือกายนี้ ว่าเป็นของสวยงามน่ารักน่าชม เป็นการละราคะความติดใจยินดี ความหลงยึดถือได้
เพราะฉะนั้น การพิจารณากาย หรือสติที่ไปในกายดังกล่าว จึงได้ตรัสยกเป็นสติปัฏฐานข้อกายประการหนึ่ง อันนับว่าเป็นข้อสำคัญ สำหรับผู้มุ่งปฏิบัติธรรม
อนึ่ง ได้แสดงอานาปานสติที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ในหมวดกายานุปัสสนา ๔ ชั้น ดังที่ได้อธิบายแล้วโดยลำดับ และได้ตรัสข้ออานาปานสตินี้ต่อขึ้นไปถึงหมวดเวทนาอีก ๔ ชั้น ซึ่งได้แสดงแล้วชั้นหนึ่ง คือศึกษาสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้ทั่วถึงปีติหายใจเข้า ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้ทั่วถึงปีติหายใจออก ซึ่งได้อธิบายแล้ว จะได้อธิบายในเวทนานี้ข้อที่ ๒ ที่ตรัสสอนไว้ว่า มีสติสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้ทั่วถึงสุขหายใจเข้า ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงสุขหายใจออก ดั่งนี้ อันนับว่าเป็นอานาปานสติในข้อเวทนานุปัสสนา สติพิจารณาตามรู้ตามเห็นเวทนาเป็นชั้นที่ ๒
ท่านอธิบายไว้ว่าสุขนั้นมี ๒ อย่าง คือ กายิกสุข สุขทางกาย ๑ เจตสิกสุข สุขทางใจ ๑
กายิกสุข สุขทางกายนั้นได้แก่ความสุขความสำราญ อันเกิดจาก กายสัมผัส สัมผัสทางกาย เป็นความสุขทางกาย
ส่วนเจตสิกสุข สุขทางใจนั้นก็ได้แก่ความสุขความสำราญ อันเกิดจาก เจโตสัมผัส ความสัมผัสทางใจ ก็เป็นความสุขทางใจ
เมื่อรู้ความที่จิตเป็นเอกัคคตา มีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจของการหายใจเข้ายาว ด้วยอำนาจของการหายใจเข้าสั้น ด้วยอำนาจของการหายใจเข้ายาว ด้วยอำนาจของการหายใจออกยาว ด้วยอำนาจของการหายใจเข้าสั้น ด้วยอำนาจของการหายใจออกสั้น ด้วยอำนาจของความรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจเข้า ด้วยอำนาจของความรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจออก
ด้วยอำนาจของความกำหนดรู้ สงบระงับกายสังขารเครื่องปรุงกายหายใจเข้า ด้วยอำนาจของความกำหนดรู้ กายสังขารเครื่องปรุงกายหายใจออก และด้วยอำนาจของความกำหนดรู้ทั่วถึงปีติหายใจเข้า ด้วยอำนาจของความกำหนดรู้ทั่วถึงปีติหายใจออก สติก็ตั้งมั่น เมื่อคำนึงถึง เมื่อรู้ เมื่อเห็น เมื่อพิจารณา เมื่ออธิษฐานจิตคือตั้งจิต เมื่อน้อมจิตไปด้วยศรัทธาความเชื่อ เมื่อประคองความเพียร เมื่อตั้งสติให้มั่น เมื่อตั้งจิตให้มั่นเป็นสมาธิ เมื่อรู้ด้วยปัญญา เมื่อรู้ยิ่งธรรมะที่ควรรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ธรรมะที่ควรกำหนดรู้ เมื่อละธรรมะที่ควรละ เมื่ออบรมทำให้มีให้เป็นขึ้นซึ่งธรรมะที่ควรอบรมทำให้มีให้เป็นขึ้น เมื่อกระทำให้แจ้งธรรมะที่ควรกระทำให้แจ้ง
สุขเหล่านั้นก็เป็นอันรู้จำเพาะ หรือว่ารู้ทั่วถึง เวทนาด้วยอำนาจของความรู้ทั่วถึงสุข หายใจเข้าหายใจออก ก็เป็นอุปปัฏฐานคือที่ตั้งของจิต สติก็เป็นอนุปัสสนาญาณ ญาณความหยั่งรู้ ด้วยพิจารณาตามรู้ตามเห็น เวทนาเป็นอุปปัฏฐานะคือเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เป็นตัวสติ ส่วนสติเป็นอุปปัฏฐานะคือเป็นที่ตั้งหรือเป็นความตั้งขึ้น และเป็นตัวสติด้วย เวทนานั้นจึงเป็นอันรู้เห็น หรือรู้จักด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น พิจารณาตามรู้ตามเห็นเวทนานั้น ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น
ฉะนั้น จึงเป็นสติปัฏฐานภาวนา อบรมสติปัฏฐานข้อตามดูตามรู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายดั่งนี้ นี้เป็นอธิบายแห่งอานาปานสติในขั้นเวทนานุปัสสนาเป็นชั้นที่ ๒ ที่ตรัสเอาไว้ว่าศึกษาว่าเราจักตามรู้ตามเห็น จักรู้ทั่วถึงสุขหายใจเข้า ศึกษาว่าเราจักรู้ทั่วถึงสุขหายใจออก ดั่งนี้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป