แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้าได้ตรัสอานาปานปัพพะ ข้อว่าด้วยลมหายใจเข้าออก อิริยาปถปัพพะ ข้อว่าด้วยอิริยาบถ แล้วก็ตรัสสัมปชัญญะปัพพะ ข้อว่าด้วยสัมปชัญญะคือความรู้ตัว ซึ่งมีใจความว่า ภิกษุหรือผู้ปฏิบัติสติปัฏฐานทำสัมปชัญญะความรู้ตัว ในการก้าวไปข้างหน้า ในการถอยมาข้างหลัง ทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัวใจการแลไปข้างหน้า ในการเหลียวข้างซ้ายข้างขวา ทำความสัมปชัญญะคือความรู้ตัวในการคู้อวัยวะเข้ามา ในการเหยียดอวัยวะออกไป ทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัวในการทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร ทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัว ในการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัวในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัว ในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และในความนิ่ง ดั่งนี้
คำว่าสัมปชัญญะนั้นแปลกันว่าความรู้ตัว คู่กับสติความระลึกได้ ดังที่แสดงในธรรมะมีอุปการะมาก ๒ อย่าง คือสติความระลึกได้ และสัมปชัญญะความรู้ตัว ได้มีการแสดงสัมปชัญญะไว้เป็น ๔ ข้อ คือ
๑. สาตถกสัมปชัญญะ สัมปชัญญะความรู้ตัวในสิ่งที่มีประโยชน์
๒. สัปปายสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในสิ่งที่เป็นสัปปายะคือสบาย
๓. โคจรสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในโคจรคือที่เที่ยวไป หรืออารมณ์ของใจ ซึ่งเป็นที่เที่ยวไปของใจ
๔. อสัมโมหสัมปชัญญะ สัมปชัญญะคือความรู้ตัวในความไม่หลง
ข้อแรก สาตถกสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในสิ่งที่มีประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น เกิดความคิดว่าจะก้าวไปข้างหน้า หรือจะเดินไป ก็ให้มีความรู้ด้วยว่าที่ ๆ จะไปนั้น หรือการที่จะไปนั้น มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ เมื่อเป็นการไปที่มีประโยชน์ เช่นการไปฟังอบรมกรรมฐาน ปฏิบัติกรรมฐาน การไปเพื่อฟังธรรม หรือการไปเพื่อประกอบกิจที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ในทางดำรงชีวิต เมื่อรู้ว่าเป็นประโยชน์หรือมีประโยชน์จึงไป แต่เมื่อไม่เป็นประโยชน์ไม่มีประโยชน์ เช่นคิดไปเล่นการพนัน หรือการไปประกอบกรรมชั่ว มีฆ่าสัตว์ตัดชีวิตลักทรัพย์เป็นต้น หรือแม้การไปที่ไม่เป็นประโยชน์ต่างๆ ที่ไม่มีประโยชน์ แต่ว่าให้เกิดโทษดั่งนี้ก็เว้นเสียไม่ไป ดั่งนี้เรียกว่าสาตถกสัมปชัญญะรู้ตัวในสิ่งที่มีประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์
ข้อว่า สัปปายสัมปชัญญะ รู้ตัวในสิ่งที่เป็นสัปปายะคือสิ่งที่สบาย ก็คือรู้ว่าการไปนั้นเป็นสัปปายะคือเป็นสบาย ไม่มีอันตรายต่างๆ ดั่งนี้ก็ไป เมื่อรู้ว่าเป็นอสัปปายะ คือไม่เป็นสบาย หรือไม่สบายเช่นมีอันตรายต่างๆ ก็ไม่ไป แม้ว่ามุ่งจะไปทำประโยชน์ก็ตาม หรือมุ่งจะไปรับประโยชน์ก็ตาม แต่เมื่อเป็นอสัปปายะคือไม่เป็นสบาย เช่นจะเกิดเป็นอันตรายต่างๆ ก็งดเสียไม่ไป ต่อเมื่อเป็นสบายไม่มีอันตรายต่างๆ จึงไป
และยังมีความหมายในทางจิตใจอีกด้วย เช่น ในการไปที่ใดที่หนึ่งเป็นต้น จะต้องไปพบกับอารมณ์ หรือสิ่งที่จะยั่วยวนให้เกิดราคะความติดใจยินดี โลภะความโลภอยากได้ ให้เกิดปฏิฆะความกระทบกระทั่ง หรือโทสะความโกรธแค้นขัดเคือง ให้เกิดโมหะคือความหลง ที่เหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นอสัปปายะคือไม่เป็นสบาย แต่ว่าถ้าเป็นที่ๆ ส่งเสริมให้เกิดความไม่โลภไม่โกรธไม่หลง ให้เกิดเมตตากรุณา ให้เกิดบุญกุศลต่างๆ ที่นั้นก็นับว่าเป็นสบาย (เริ่ม) ไม่เป็นอันตรายแก่จิตใจในทางดี นี้ก็เป็นอธิบายในข้อสัปปายสัมปชัญญะ
ข้อต่อไป โคจรสัมปชัญญะ รู้ตัวในในโคจร คือที่เที่ยวไปของกาย และในอารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของจิต โคจรคือที่เที่ยวไปของกายที่มีประโยชน์ และเป็นสบายดังกล่าวมาแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นโคจรสัมปชัญญะได้ ส่วนอารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของจิตนั้น ก็หมายถึงว่าอารมณ์นั้นมี ๒ อย่าง คืออารมณ์ที่เป็นที่ตั้งหรือนำให้เกิดโลภโกรธหลง กับอารมณ์ที่เป็นกรรมฐาน อันเป็นเครื่องดับโลภโกรธหลง อารมณ์จึงมี ๒ อย่าง อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของโลภโกรธหลงนั้นไม่ควรดำเนินไป ไม่ควรรับเข้ามาไว้ เพราะจะก่อให้เกิดโลภโกรธหลง ก่อให้เกิดอกุศลกรรมต่างๆ แต่อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกุศลต่างๆ เป็นเครื่องดับโลภโกรธหลง เช่นอารมณ์ของกรรมฐาน ทั้งสมถะกรรมฐาน กรรมฐานเป็นเหตุให้ใจสงบ ทั้งวิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานที่ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง เป็นอารมณ์ที่ควรรับเข้ามา ควรไปสู่
ได้มีเรื่องแสดงถึงภิกษุโดยเฉพาะไว้ก็มี เช่น ที่มีแสดงถึงว่า ภิกษุผู้บวชปฏิบัติเพื่อสิ้นกิเลสและกองทุกข์ โดยปรกติก็ย่อมอยู่กับอารมณ์ของกรรมฐาน ในอิริยาบถทั้ง ๔ คือเดิน ยืน นั่ง นอน และแม้ว่าเมื่อเข้าไปบิณฑบาตในละแวกบ้าน จำพวกหนึ่งก็นำไปและนำกลับ นำไปก็คือไปกับกรรมฐาน นำกลับก็คือกลับกับกรรมฐาน
จำพวกหนึ่งนำกลับแต่ไม่นำไป ก็คือว่ากลับกับกรรมฐาน แต่เมื่อไปนั้นไม่ไปกับกรรมฐาน จำพวกหนึ่งไม่นำไปไม่นำกลับ ก็คือไปก็ไม่ไปกับกรรมฐาน กลับก็ไม่กลับกับกรรมฐาน จำพวกหนึ่งทั้งนำไปทั้งนำกลับ ก็คือว่าไปกับกรรมฐาน แล้วก็นำกรรมฐานกลับมาด้วย ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับพวกที่ ๑ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติในกรรมฐานจึงควรปฏิบัติ แม้ในการเที่ยวไปบิณฑบาตดังกล่าว แต่ถ้าหากว่าจิตไม่มีกรรมฐาน ก็เป็นจิตที่ว้าเหว่ไม่มีหลักของใจ แม้ผู้ปฏิบัติธรรมะทั่วไปที่ไม่ใช่ภิกษุก็ควรจะอยู่กับกรรมฐานตามสมควร ดังเช่นมาฟังอบรมกรรมฐาน และปฏิบัติกรรมฐาน
อีกข้อหนึ่ง อสัมโมหสัมปชัญญะ รู้ตัวในความไม่หลง หรือด้วยความไม่หลง ซึ่งมีอธิบายว่าในข้อสัมปชัญญปัพพะข้อว่าด้วยสัมปชัญญะนี้ ก็คือการทำความรู้ตัวในการก้าวไปข้างหน้า ในการถอยมาข้างหลังเป็นต้น ดังที่ตรัสสอนไว้นั้น แม้ในการทำความรู้ตัวนั้น ถ้านึกแล้วเข้าใจว่าตัวเราก้าวไปข้างหน้า ตัวเราถอยไปข้างหลัง คือยังยึดมั่นอยู่ในขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการนี้ ว่าตัวเราของเรา ดั่งนี้ ก็ยังเป็นโมหะคือความหลง แต่เมื่อพิจารณาว่ากายกระดูก หรือร่างกระดูกนี้ ก้าวไปข้างหน้าถอยมาข้างหลังเป็นต้น หรือว่าธาตุดินน้ำไฟลมที่ประชุมกันอยู่เป็นกายนี้ ก้าวไปข้างหน้าถอยมาข้างหลังเป็นต้น จึงจะชื่อว่าไม่หลง อสัมโมหะคือไม่หลง ความรู้ตัวด้วยความไม่หลง หรือความรู้ตัวด้วยความไม่หลง
และนอกจากนี้ก็ยังมีวิธีพิจารณา เช่นว่าในการก้าวไปข้างหน้านั้น วาโยธาตุ ธาตุลมซึ่งเกิดมาจากจิต ทำให้เกิด วิญญัติ คือความเคลื่อนไหว ในกิริยาที่ก้าวไป หรือถอยมา และความรู้ตัวด้วยความไม่หลงนี้ยังอาจพิจารณาให้ละเอียดเข้าอีก เช่นว่า เมื่อยกเท้าขึ้น ปฐวีธาตุธาตุดิน อาโปธาตุธาตุน้ำ อ่อนกำลัง แต่เตโชธาตุธาตุไฟ วาโยธาตุธาตุลม มีกำลัง เมื่อวางเท้าลง ปฐวีธาตุธาตุดิน อาโปธาตุธาตุน้ำ มีกำลัง แต่เตโชธาตุธาตุไฟ วาโยธาตุธาตุลม อ่อนกำลัง
และท่านสอนให้ทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัวด้วยความไม่หลงยิ่งขึ้นไปกว่านี้ คือให้รู้ถึงความเกิดดับของรูปธรรมและอรูปธรรมทั้งหลายอย่างละเอียด เช่น เมื่อยกเท้าขึ้นก็เป็นรูปธรรมอรูปธรรมอันหนึ่งที่เกิดดับ เมื่อยื่นเท้าออกไปก็เป็นรูปธรรมอรูปธรรมอันหนึ่งที่เกิดดับ เมื่อหย่อนเท้าลงก็เป็นรูปธรรมอรูปธรรมอีกอันหนึ่งที่เกิดดับ และเมื่อจรดเท้าลงกับพื้นก็เป็นรูปธรรมอรูปธรรมอีกอันหนึ่งที่เกิดดับ เพราะฉะนั้น จึงพิจารณาให้เห็นความเกิดดับในความเคลื่อนไหวอิริยาบถทุกๆ ระยะดั่งนี้ ก็นับเข้าเป็นอสัมโมหสัมปชัญญะความรู้ตัวด้วยความไม่หลง อยู่ในความไม่หลง
แต่ก็พึงเข้าใจว่า คำสอนต่างๆ เหล่านี้สำหรับฝึกหัดปฏิบัติด้วยตนเอง เช่น ในขณะที่เดินไปเดินมาในเวลาจงกรม ไม่ใช่ประกอบธุรกิจการงานอย่างอื่น จึงมีช่วงเวลาและสถานที่ที่จะหัดกำหนดทำสัมปชัญญะ พร้อมทั้งสติ พร้อมทั้งญาณคือความหยั่งรู้ได้ แต่เมื่อจะไปไหนมาไหนในขณะปฏิบัติธุรกิจนั้น จะพิจารณาดั่งนี้ก็ย่อมไม่ทัน แต่ว่าผู้ที่หัด ฝึกหัดปฏิบัติจนมีความชำนาญแล้ว ก็อาจจะมีความรู้ทัน ว่ารูปธรรมอรูปธรรม หรือนามรูปอันนี้เกิดขึ้นดับไปอยู่ทุกระยะ
สัมปชัญญะทั้ง ๔ ประการนี้ คือสาตถกสัมปชัญญะ รู้ตัวในสิ่งที่เป็นประโยชน์ สัปปายสัมปชัญญะ รู้ตัวในสิ่งที่เป็นสบาย โคจรสัมปชัญญะ รู้ตัวอยู่ในโคจรคือที่เที่ยวไปของร่างกายและจิตใจ และอสัมโมหสัมปชัญญะ รู้ตัวในอสัมโมหะคือความไม่หลง หรือด้วยความไม่หลง จึงเป็นข้อที่ควรจะศึกษาทำความเข้าใจ และถึงขั้นปฏิบัติในข้อสัมปชัญญะนี้
และแม้ในข้อสัมปชัญญะนี้ก็สรุปเข้าในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ได้ กายคือธาตุทั้ง ๔ ที่ก้าวไปข้างหน้าถอยมาข้างหลังเป็นต้น เป็นทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ ตัณหาที่มีอยู่ในก่อนที่เป็นเหตุให้กระทำสติสัมปชัญญะเป็นสติปัฏฐาน เป็นสมุทัยสัจจะสภาพที่จริงคือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่เกิดทุกข์ไม่เกิดตัณหา คือดับทุกข์ดับตัณหา จึงเป็นนิโรธสัจจะ สภาพที่จริงคือนิโรธความดับทุกข์ มรรคมีองค์ ๘ หรือยกเอาเพียงข้อสติสัมปชัญญะ สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว พร้อมทั้งญาณคือความหยั่งรู้ แม้ในข้อที่ตรัสสอนในปัพพะคือในข้อนี้ คือแม้สัมปชัญญะทั้ง ๔ ประการดังกล่าว เป็นมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ต่อไปนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป