แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สมาธิภาวนาคือการอบรมสมาธิ การปฏิบัติทำสมาธิให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่ามี ๔ อย่างคือ ๑ สมาธิภาวนาเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๒ สมาธิภาวนาเพื่อญาณทัสสนะความรู้ความเห็น ๓ สมาธิภาวนาเพื่อสติความระลึกได้สัมปชัญญะความรู้ตัว และ ๔ สมาธิภาวนาเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย
สมาธิเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ประการแรกสมาธิภาวนาเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ท่านแสดงเป็นตัวอย่างไว้ว่า คือสมาธิที่เป็นจิตตเอกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว อย่างสูงถึงฌานคือความเพ่ง อันหมายถึงอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น เป็นฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่เป็น รูปฌาน ที่สูงขึ้นไปก็ อรูปฌาน
แต่ที่ต่ำลงมาก็คือไม่เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น เป็นอุปจาระสมาธิ สมาธิที่ใกล้จะแนบแน่น หรือเป็นบริกัมมสมาธิ สมาธิในการปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้น ให้จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว และเมื่อได้จิตตเอกัคคตาคือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ก็ย่อมจะได้ความสุขอยู่ในปัจจุบัน
สมาธิเพื่อญาณทัสสนะ
ประการที่ ๒ สมาธิภาวนาเพื่อความรู้ความเห็นอันเรียกว่าญาณทัสสนะ ท่านแสดงเป็นตัวอย่างไว้ว่า ได้แก่การปฏิบัติเพ่งแสงสว่าง หรือความสว่าง ทำ ทิวาสัญญา คือความกำหนดหมายว่ากลางวัน ให้ได้ความสว่างของจิตใจ จิตใจสว่าง กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน ก็จะรู้จะเห็นอะไรๆ ได้ตามควรแก่กำลังของสมาธิข้อนี้
สมาธิเพื่อสติสัมปชัญญะ
ประการที่ ๓ สมาธิภาวนาเพื่อสติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว คือกำหนดเวทนาความเป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขที่รู้แล้ว กำหนดสัญญาความจำได้หมายรู้ที่รู้แล้ว ความกำหนดวิตกคือความตรึกนึกคิดที่รู้แล้ว ว่าเกิดขึ้นอย่างนี้ ตั้งอยู่อย่างนี้ ดับไปอย่างนี้
ในข้อ ๓ นี้ ละเอียดไปกว่าข้อ ๒ และข้อ ๒ ละเอียดไปกว่าข้อ ๑ ข้อ ๑ นั้นสมาธิภาวนาเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่รู้ไม่เห็นอะไร เพียงแต่จิตรวมนิ่งอยู่สงบอยู่เฉยๆ อันทำให้ได้ปีติได้สุข จากความสงบสงัด จากสมาธิ แต่ประการที่ ๒ มีญาณทัสสนะรู้เห็นนั่นนี่ แต่เพียงแต่รู้เห็นนั่นนี่ มิได้กำหนดความรู้ความเห็นนั้น
มาถึงประการที่ ๓ กำหนดความรู้ความเห็นนั้น โดยลักษณะเป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นวิตก ความตรึกนึกคิด โดยมีสติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว ในความรู้ความเห็น กำหนดลงมาว่าเป็นเวทนาสัญญาเป็นวิตกความตรึกนึกคิด และมีสติความระลึกได้สัมปชัญญะความรู้ตัว ในลักษณะเครื่องกำหนดหมายที่ปรากฏ ของเวทนาสัญญาของวิตกความตรึกนึกคิดนั้นว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
สมาธิเพื่อความสิ้นอาสวะ
จึงมาถึงข้อ ๔ ซึ่งเป็นสมาธิภาวนาเพื่อความสิ้นอาสวะ อันนับว่าเป็นสมาธิภาวนาอย่างสูงสุด อันเป็นที่มุ่งหมายของการทำสมาธิ คือเพื่อปัญญารู้แจ้งแทงตลอด นำให้เกิด อุทยัพยานุปัสสนาญาณ คือความรู้ที่ตามดูตามเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ หรือของนามรูปแต่ละข้อ ว่าเกิดขึ้นอย่างนี้ ดับไปอย่างนี้ อันจะนำให้เกิดปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอด อันเป็นเหตุสิ้นไปแห่งอาสวะ คือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย
ฉะนั้น สมาธิภาวนาจึงมีหลายอย่าง ตั้งแต่อย่างธรรมดาสามัญ คือประการที่ ๑ เพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และก็สูงขึ้นเป็นเพื่อรู้เห็นในความสว่างของจิตที่กำหนดทิวาสัญญา ความสำคัญหมายว่ากลางวัน แม้ในเวลากลางคืน กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน และต่อไปก็เพื่อสติสัมปชัญญะระลึกรู้ความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของเวทนาสัญญา วิตกความตรึกนึกคิดของตนทั้งหมด และสูงสุดก็เพื่อความสิ้นอาสวะ ก็ทำสมาธิเพื่อปัญญา คือทำสมาธิเพื่อเป็นมูลฐานของปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงความเกิดดับของขันธ์ ๕ หรือนามรูป (เริ่ม) อันเป็นเหตุสิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย
สมาธินิมิต สมาธิบริขาร สมาธิภาวนา
อนึ่ง พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่ง ถึงสมาธินิมิต สมาธิบริขาร และสมาธิภาวนา สมาธินิมิตนั้นได้แก่ นิมิต คือเครื่องกำหนดหมายแห่งสมาธิ ตรัสว่าได้แก่สติปัฏฐานทั้ง ๔ ตรัสสมาธิบริขารคือเครื่องอาศัยแห่งสมาธิ ตรัสว่าได้แก่สัมมัปปธาน ตั้งความเพียรชอบทั้ง ๔ ข้อ คือ ๑ สังวรปธาน เพียรระวังบาปที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ๒ ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ๓ ภาวนาปธาน เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ๔ อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่บังเกิดขึ้นแล้วให้ตั้งอยู่ไม่ให้เสื่อม และให้เพิ่มพูนมากขึ้นจนถึงความบริบูรณ์ และได้ตรัสสมาธิภาวนาคือการส้องเสพ อาเสวนาการส้องเสพ ภาวนาการอบรมทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น พหุลีกรรมคือการที่กระทำให้มากซึ่งสมาธิ ฉะนั้น จึงมาถึงสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าตรัสยกขึ้นว่าเป็นสมาธินิมิต คือเป็นนิมิตเครื่องกำหนดหมายแห่งสมาธิ
สติปัฏฐาน ๔
สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ได้ตรัสแสดงไว้โดยพิสดารในมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งตรัสไว้โดยเริ่มต้นมีใจความว่า ทางไปอันเอกคืออันเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะปริเทวะคือความโศกความรัญจวนคร่ำครวญใจ เพื่อดับทุกข์โทมนัสความไม่สบายกายไม่สบายใจ เพื่อบรรลุญายธรรม ธรรมะที่พึงบรรลุ ธรรมะที่พึงรู้ ท่านแสดงว่าได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อกระทำให้แจ้งนิพพาน ซึ่งรวมความว่าเพื่อละ หรือตัดอุปัทวะคือเครื่องขัดข้อง ๔ อย่าง อันได้แก่ โสกะอย่าง ๑ ปริเทวะอย่าง ๑ ทุกข์อย่าง ๑ โทมนัสอย่าง ๑ เพื่อบรรลุผลที่ดีที่ชอบ ๓ อย่าง หรือเพื่อบรรลุถึงภูมิธรรม ๓ อย่าง คือความบริสุทธิ์ ๑ อันเรียกว่าวิสุทธิ ญายธรรม ธรรมะที่พึงกระทำที่พึงบรรลุ อันได้แก่มรรคมีองค์แปด ๑ พระนิพพานที่พึงกระทำให้แจ้ง ๑ ดั่งนี้
และสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ก็ได้แก่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐานคือความพิจารณาตามรู้ตามเห็นกาย เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐานคือความพิจารณาตามรู้ตามเห็นเวทนา จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐานคือความพิจารณาตามรู้ตามเห็นจิต ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐานคือความพิจารณาตามรู้ตามเห็นธรรม เป็น ๔ ข้อดั่งนี้
จริต ๔
และสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ท่านแสดงว่าย่อมเป็นไปเพื่อละจริตทั้ง ๔ อันได้แก่กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละตัณหาจริตที่มีปัญญาอ่อน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละตัณหาจริตที่มีปัญญากล้า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละทิฏฐิจริตที่มีปัญญาอ่อน ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละทิฏฐิจริตที่มีปัญญากล้า
อนึ่ง ท่านแสดงว่าเป็นการปฏิบัติที่เหมาะแก่ ยานิก คือบุคคลผู้มีธรรมะเป็นยวดยานพาหนะสำหรับบรรลุถึงธรรมะ ที่แตกต่างกัน คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสำหรับคนที่เป็น สมถยานิก คือผู้ที่มีสมถะเป็นยวดยานพาหนะที่มีปัญญาอ่อน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสำหรับ สมถยานิก ผู้มีสมถะเป็นยวดยานพาหนะที่มีปัญญากล้า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสำหรับ วิปัสสนายานิก คือผู้ที่มีวิปัสสนาเป็นยวดยานพาหนะที่มีปัญญาอ่อน ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสำหรับ วิปัสสนายานิก คือผู้มีวิปัสสนาเป็นยวดยานพาหนะที่มีปัญญากล้า
วิปัลลาส ๔
อนึ่ง ท่านแสดงว่าเป็นเครื่องละ วิปัลลาส คือความสำคัญหมายที่ผิด ๔ อย่าง คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละวิปัลลาสความสำคัญหมายที่ผิดว่างาม เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละวิปัลลาสคือความสำคัญหมายที่ผิดว่าเป็นสุข จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละวิปัลลาสความสำคัญหมายที่ผิดว่าเที่ยง ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละวิปัลลาสคือความสำคัญหมายที่ผิดว่าเป็นอัตตา คือเป็นตัวเป็นตน
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ จึงเหมาะสำหรับบุคคลทุกๆ คนจะพึงปฏิบัติเพื่อละจริตทั้ง ๔ ซึ่งทุกๆ คนอาจจะมีจริตข้อใดข้อหนึ่ง หรืออาจจะมีทั้ง ๔ ก็พึงปฏิบัติไปได้โดยลำดับ และสำหรับผู้ที่ปฏิบัติได้ทั้งทางสมถะและวิปัสสนา ที่เรียกว่าเป็น สมถยานิก มีสมถะเป็นยาน คือยวดยานพาหนะ วิปัสสนายานิก มีวิปัสสนาเป็นยาน และเป็นไปเพื่อละวิปัลลาสทั้ง ๔ ประการ คือความสำคัญหมายที่ผิดทั้ง ๔ ประการ ดังที่กล่าวมาแล้ว
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป