แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สติปัฏฐานทั้ง ๔ คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณากาย เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณาเวทนา จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณาจิต ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณาธรรมะ
วิธีพิจารณากายเวทนาจิตธรรม
วิธีอนุปัสสนาคือวิธีพิจารณาตามให้รู้ให้เห็นกายเวทนาจิตธรรมนั้น ท่านแสดงหลักไว้ว่าที่ชื่อว่า อนุปัสสนา คือการพิจารณาตามให้รู้ให้เห็นนั้น ให้พิจารณาตามให้รู้ให้เห็นโดยเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่เป็นของเที่ยง โดยเป็นทุกข์มิใช่เป็นสุข โดยเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน มิใช่เป็นอัตตาตัวตน โดยความหน่ายไม่ใช่เพลินยินดี โดยสิ้นราคะความติดใจยินดี มิใช่เพื่อราคะความติดใจยินดี โดยดับทุกข์มิใช่ก่อทุกข์อันเรียกว่าสมุทัย และโดยสละคืนมิใช่ยึดถือ
เพราะฉะนั้น เมื่ออนุปัสสนาพิจารณาดูตามให้รู้ให้เห็น โดยเป็นของไม่เที่ยงจึงดับ นิจจสัญญา ความสำคัญหมายว่าเที่ยง เมื่อดูให้รู้ให้เห็นโดยเป็นทุกข์จึงดับ สุขสัญญา ความสำคัญหมายว่าสุข เมื่อดูตามให้รู้ให้เห็นโดยเป็นอนัตตาจึงดับ อัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าอัตตาตัวตน และเมื่อหน่ายย่อมดับ นันทิ คือความเพลินยินดี เมื่อผ่อนคลายจนถึงดับ ราคะ ความติดใจยินดี (เริ่ม) จึงดับราคะ ความติดใจยินดี เมื่อดับทุกข์เป็นนิโรธ จึงดับสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อสละคืน จึงดับความยึดถือ
เพราะฉะนั้น วิธีปฏิบัติในสติปัฏฐาน พิจารณาตามดูให้รู้ให้เห็นกายเวทนาจิตธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ทุกข้อ จึงเป็นไปเพื่อให้เห็นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด และดับทุกข์ และเพื่อสละคืนดังกล่าวนั้น ถ้าเป็นไปตรงกันข้ามแม้ข้อใดข้อหนึ่ง ก็ไม่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นต้น
อานาปานสติชั้นที่ ๓
จะได้กล่าวถึงอานาปานสติชั้นที่ ๓ หรือข้อที่ ๓ ต่อจากชั้นที่ ๑ ที่ ๒ หรือข้อที่ ๑ ที่ ๒ ที่กล่าวมาแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจเข้า ให้ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้จักทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจออก ดั่งนี้
รูปกาย นามกาย
คำว่า กายทั้งหมด นั้นพระอาจารย์ในต้นเดิมได้อธิบายไว้ว่า ได้แก่นามกายรูปกาย หรือว่ารูปกายนามกาย คือรูปนาม
นามกายนั้นได้แก่ เวทนา ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข สัญญา ความจำได้หมายรู้ เจตนา ความจงใจ ผัสสะ ความกระทบใจ มนสิการ การกระทำไว้ในใจ และก็หมายถึงสิ่งที่เรียกว่า นาม นามกาย ตลอดจนถึงที่เรียกว่า จิตสังขาร เครื่องปรุงจิต ซึ่งก็ได้แก่ สัญญา เวทนา นั้นนั่นเอง
มหาภูตรูป อุปาทายรูป
ส่วนรูปกาย กายคือรูปนั้นก็ได้แก่ มหาภูตรูป รูปที่เป็นใหญ่ทั้ง ๔ ในกายนี้ ที่เรียกว่าธาตุทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม และก็หมายถึง อุปาทายรูป คือรูปที่อาศัย มหาภูตรูป ทั้ง ๔ เหล่านั้น ทั้งหมด
อะไรคือ อุปาทายรูป รูปอาศัยดังกล่าว ท่านแสดงเอาไว้ก็คือประสาททั้ง ๕ อันได้แก่ จักษุประสาท ประสาทตาที่ให้สำเร็จการเห็นรูป โสตะประสาท ประสาทหูที่ให้สำเร็จการได้ยินเสียง ฆานะประสาท ประสาทจมูกที่ให้สำเร็จการทราบกลิ่น ชิวหาประสาท ประสาทลิ้นที่ให้สำเร็จการทราบรส กายประสาท ประสาทกายที่ให้สำเร็จการทราบโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง
โคจร คืออารมณ์ของประสาททั้ง ๕ นั้นก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่นรส และโผฏฐัพพะ คือสิ่งถูกต้อง ภาวะ คือความเป็น ๒ อย่าง คือ อิตถีภาวะ ความเป็นหญิง ปุริสภาวะ ความเป็นชาย หทัยหมายถึงสิ่งที่ให้สำเร็จความคิด ชีวิตินทรีย์อินทรีย์คือชีวิต หมายถึงความเป็นอยู่แห่งรูป หรือสิ่งที่รักษารูปให้เป็นอยู่ อาหารหมายเอาโอชา อากาสธาตุ หมายถึงสิ่งที่ขังอยู่ในช่องว่างอันเรียกว่าปริเฉทรูป วิญญัติคือสิ่งที่ไหวให้เกิดความรู้ ได้แก่ กายวิญญัติ ไหวกายการเคลื่อนไหวได้ วจีวิญญัติ ไหววาจาอันหมายถึงพูดได้หรือวาจาที่พูด วิการ ได้แก่ ลหุตา ความเบา คือรูปของคนเป็น เบากว่ารูปของคนตาย มุทุตา ความที่อ่อนไหวได้ เหมือนอย่างร่างกายของคนดีๆ ไม่แข็งกระด้าง คู้เข้าคู้ออกได้เป็นต้น ไม่เหมือนอย่างร่างกายของคนป่วยคนตาย กัมมันญตา ความที่ควรแก่การงาน คือประกอบการงานต่างๆ ได้
ลักษณะเครื่องกำหนดหมายก็ได้แก่ อุจยะ ความที่เติบโตได้ สันตติ ความสืบต่อได้ เช่น ขนเก่าหลุดไป ขนใหม่งอกขึ้นมาแทน ชรตา ความที่ชำรุดทรุดโทรมได้อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยงมีเกิดมีดับ ลักษณะทั้งหมดเหล่านี้เรียกว่าเป็น อุปาทายรูป รูปอาศัย และก็หมายถึงลม อัสสาสะ หายใจเข้า ปัสสาสะ หายใจออก นิมิต ที่กำหนดของจิต อุปานิพันธะ ที่ผูกพันของจิต กายสังขารเครื่องปรุงกายก็ได้แก่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนั่นแหละ เหล่านี้ทั้งหมดเป็นรูปกาย รู้กายทั้งหมดก็คือรู้นามกายและรู้รูปกาย ดั่งที่กล่าวมานี้
ศึกษาสำเหนียกกำหนด ก็ศึกษาสำเหนียกกำหนดด้วย สีลสิกขา สิกขาคือศีล จิตตสิกขา สิกขาคือสมาธิ ปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญา ด้วยศีลก็คือความปรกติกายวาจาใจ พร้อมที่จะปฏิบัติสมาธิหรือจิตตสิกขา จิตตสิกขาหรือจิตก็ได้แก่สมาธิความตั้งใจกำหนดมั่น ปัญญาสิกขาก็คือใช้ปัญญาพิจารณา กำหนดว่าเราจักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดคือทั้งนามกายทั้งรูปกาย หรือทั้งนามและรูปนี้ หายใจเข้าหายใจออก
กายทั้งหมดรู้ด้วยสติและญาณ
ซึ่งตอนนี้ท่านอธิบายไว้ว่า เมื่อปฏิบัติทำสมาธิกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก หายใจเข้าออกยาวก็รู้ หายใจเข้าออกสั้นก็รู้ ดังกล่าวในชั้นที่ ๑ ในชั้นที่ ๒ นั้น จิตก็จะได้สมาธิอันเรียกว่าเอกัคคตาของจิต คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน
เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน กายเหล่านั้นคือทั้งนามกายทั้งรูปกายเหล่านั้น ก็เป็นอันรู้ทั่วถึงด้วยสตินั้น ด้วยญาณคือความหยั่งรู้นั้น ดั่งนี้
ลำดับของการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น จึงทำให้เข้าใจในลำดับของการปฏิบัติว่า เมื่อปฏิบัติในขั้นที่ ๑ ที่ ๒ หายใจเข้าออกยาว ก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้าออกยาว หายใจเข้าออกสั้น ก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้าออกสั้น และความรู้จักลมหายใจนั้น ท่านก็ได้อธิบายไว้ว่า ผู้รู้จัก เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ของลมหายใจ คือระยะทางหายใจ เมื่อระยะทางที่หายใจ เบื้องต้นท่ามกลางที่สุดมีระยะที่ยาว ก็เรียกว่ายาว มีระยะที่สั้นก็เรียกว่าสั้น
เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติจึงย่อมเริ่มรู้จักระยะของลมหายใจเข้าออก เบื้องต้นท่ามกลางที่สุดดังกล่าว จึงจะชื่อว่าสติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก และเมื่อสติกำหนดอยู่ดั่งนี้ จิตก็จะได้สมาธิคือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือมีลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์แต่เพียงอย่างเดียว
แม้ว่าลมหายใจเข้าจะเป็นอันหนึ่ง ลมหายใจออกจะเป็นอันหนึ่ง เรียกว่าต่างอารมณ์กันก็ตาม แต่ก็เป็นต่างอารมณ์กันซึ่งรวมอยู่ในเรื่องของลมหายใจด้วยกัน จึงนับว่าเป็นอารมณ์เดียวได้ และเมื่อพิจารณาดูว่า แม้ว่าลมหายใจออกจะอย่างหนึ่ง ลมหายใจเข้าจะอย่างหนึ่ง แต่ว่าเมื่อหายใจเข้าจิตก็อยู่กับลมหายใจเข้า เมื่อหายใจออกจิตก็อยู่กับลมหายใจออก เมื่อจิตอยู่ดั่งนี้ก็ชื่อว่ามีอารมณ์เป็นอันเดียว
แต่ถ้าสับสนกัน หายใจเข้าจิตไปกำหนดที่หายใจออก หายใจออกจิตกำหนดหายใจเข้า สับกันเสียดั่งนี้ ก็ชื่อว่าพลาดจากอานาปานสติ จะไม่พลาดอานาปานสติในเมื่อกำหนดในลมที่หายใจจริงๆ หายใจเข้าก็อยู่ที่เข้า หายใจออกก็อยู่ที่ออก
และการอยู่ดังกล่าวนั้น เมื่อกล่าวให้ละเอียดเข้าไปอีกหน่อยหนึ่ง ก็กล่าวได้ว่าก็ต้องอยู่ที่ เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ของลมหายใจ คืออยู่ที่ระยะทางที่ลมหายใจเดินไป หรือหายใจไป รู้เบื้องต้น รู้ท่ามกลาง รู้ที่สุด ทั้งขาเข้า ทั้งขาออก ดั่งนี้จึงจะครบถ้วน และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตจึงชื่อว่าได้เอกัคคตา คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน ถ้ายังตกหล่นอยู่ก็ชื่อว่ายังฟุ้งซ่านอยู่ จิตยังไม่รวมเข้ามา และท่านแสดงว่าเมื่อรู้ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่านดั่งนี้ ด้วยอำนาจของลมหายใจเข้าออกยาวหรือสั้น กายทั้งหมดคือทั้งรูปกายทั้งนามกายก็เป็นอันชื่อว่าได้รู้ทั่วถึง ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น
เพื่อความเข้าใจง่าย ท่านพระอาจารย์จึงได้นำเอาระยะทางเดินของลมหายใจ เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด มาอธิบายในชั้นที่ ๓ นี้ คือ ท่านอธิบายว่า เมื่อหายใจเข้า เบื้องต้นที่ลมกระทบก็คือปลายจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน ท่ามกลางก็คืออุระ ที่สุดก็คือนาภีที่พองขึ้น และเมื่อหายใจออกเบื้องต้นคือนาภีที่ยุบลง ท่ามกลางคืออุระ และที่สุดก็คือปลายกระพุ้งจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบน เป็นอันว่าให้กำหนดรู้ลมหายใจให้สมบูรณ์นั้นเอง ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น ก็จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตั้งแต่ในเบื้องต้นแล้ว จึงจะชื่อว่ารู้ลมหายใจยาวหรือสั้นทั้งหมด เพราะดังที่ได้กล่าวแล้วว่าจะเรียกว่ายาวหรือสั้น ก็กำหนดด้วยระยะทางเดินของลมหายใจ
ก็เบื้องต้นท่ามกลางที่สุดของลมหายใจนั่นแหละ เมื่อเป็นระยะทางที่ยาวก็เรียกว่ายาว ระยะทางที่สั้นก็เรียกว่าสั้น และเมื่อจะให้รวมเข้ามาเป็นสมาธิ นามรูปทั้งหมดก็รวมมาอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้ทั้งหมด นามรูปทั้งหมดนั้นก็คือนามรูปดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คือนามกายรูปกาย จิตจะไม่ไปที่อื่น เมื่อจิตรวมเป็นอันหนึ่ง นามรูปทั้งหมดก็มารวมอยู่อันหนึ่ง ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก จะทำให้ปรากฏชัดในการกำหนด เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของลมหายใจเข้าออก ถนัดชัดเจนขึ้นไม่ตกหล่น
เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงไว้ว่าเมื่อรู้จิตเอกัคคตาคือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวกัน ความไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจของลมหายใจเข้าออกยาวหรือสั้น กายทั้งหมดคือทั้งนามกายทั้งรูปกายเหล่านั้น ก็เป็นอันรู้ทั่วถึง ด้วยสตินั้น ด้วยญาณคือความหยั่งรู้นั้น
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป