แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ เริ่มต้นแต่พระสูตรเบื้องต้นมาแล้ว จักได้แสดงต่อไปในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น เราทั้งหลายก็คงจะระลึกกันได้ว่าได้แก่ ตั้งสติพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็นกาย ตั้งสติพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็นเวทนา ตั้งสติพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็นจิต ตั้งสติพิจารณาตามรู้ตามเห็นธรรมะ รวมเป็น ๔ ข้อ ในการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ ข้อนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้มี อาตาปี ความเพียร สัมปชาโน ความรู้ตัวความรู้พร้อม หรือสัมปชัญญะ สติมา มีสติ วินัยโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง กำจัดความยินดียินร้ายในโลกเสีย ซึ่งท่านอธิบายว่าคือกำจัดความยินดียินร้ายในกายเวทนาจิตธรรมนั้นเอง
อันคำว่า อาตาปี ข้อแรกนั้น แปลว่ามีความเพียรตามความมุ่งหมาย แต่ถ้าจะแปลตามศัพท์ก็แปลว่ามีเครื่องเผากิเลส ก็คือมีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลสนั้นเอง เพราะการปฏิบัติในสติปัฏฐานทุกข้อนั้นต้องการเผากิเลสทั้งนั้น
อันกิเลสนั้นจะเป็นกองโลภก็ตาม กองโกรธก็ตาม กองหลงก็ตาม หรือเรียกชื่ออย่างอื่นว่าตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากเป็นต้น ล้วนเป็นเครื่องเผาจิตใจทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เพียรเผากิเลสเสีย กิเลสก็ย่อมบังเกิดขึ้นเผาจิตใจของบุคคลนั้นเอง เพราะฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาจึงสอนให้มีอาตาปะคือความเพียรเผากิเลส เพราะว่ากิเลสนี้เผาได้ คือทำลายได้ ละได้ ด้วยธรรมปฏิบัติ มีการปฏิบัติในสติปัฏฐานเป็นต้น พระพุทธเจ้าจึงได้ประทานธรรมะ สำหรับเป็นอุปการะในการปฏิบัติสติปัฏฐานไว้ด้วย เป็น ๔ ข้อดังกล่าว คือมีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชานะความรู้ตัว หรือสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดความยินดียินร้ายในโลก คือในกายเวทนาจิตธรรมทั้ง ๔ นี้เสีย ดั่งนี้
อานาปานสติ ๔ ชั้น
ต่อจากนั้นพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสจำแนกแจกแจงสติปัฏฐานทั้ง ๔ ข้อนี้ไปทีละข้อ ตั้งต้นแต่ข้อกาย ตรัสเริ่มข้อกายด้วย อานาปานสติภาวนา คือการปฏิบัติอบรมสติที่เป็นไปในลมหายใจเข้าและออก อันนับว่าเป็นข้อเริ่มต้น โดยได้ตรัสว่า ภิกษุเข้าไปสู่ป่า สู่โคนไม้ สู่เรือนว่าง นั่งขัดบัลลังก์คือขัดสะหมาด ตั้งสติ มีหน้าโดยรอบ หรือตั้งสติรอบหน้า หายใจเข้าก็มีสติรู้ หายใจออกก็มีสติรู้ และต่อจากนั้นก็ตรัสวิธีปฏิบัติในอานาปานสตินี้เป็น ๔ ชั้น หรือว่า ๔ ข้อ
ชั้นที่ ๑ หรือข้อที่ ๑ ตรัสสอนว่าภิกษุหรือผู้ปฏิบัติ หายใจเข้ายาวก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว
ชั้นที่ ๒ หรือข้อที่ ๒ หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ว่าเราหายใจออกสั้น
ชั้นที่ ๓ หรือข้อที่ ๓ ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจเข้า ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้จักกายทั้งหมดหายใจออก
ชั้นที่ ๔ หรือข้อที่ ๔ ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักระงับกายสังขารเครื่องปรุงกายหายใจเข้า ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักระงับกายสังขารเครื่องปรุงกายหายใจออก ดั่งนี้
วิธีปฏิบัติในอานาปานสติทั้ง ๔ ชั้นนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้เอง พระองค์จึงทรงเป็นพระปฐมาจารย์ พระอาจารย์องค์แรกที่ได้ตรัสสอนวิธีปฏิบัติในอานาปานสติไว้ ซึ่งเราทั้งหลายควรจะกำหนดจดจำ และพิจารณาให้มีความเข้าใจ จึงจะได้แสดงไปโดยลำดับที่ละข้อก่อน
อานาปานสติชั้นที่ ๑
คือชั้นที่ ๑ หรือข้อที่ ๑ ภิกษุหรือผู้ปฏิบัติทำอานาปานสติสมาธิ เมื่อได้ปฏิบัติตามที่ตรัสแนะนำไว้ในเบื้องต้นนั้นแล้ว คือเข้าไปสู่ป่าสู่โคนไม้หรือเรือนว่าง ซึ่งคำว่าเรือนว่างนี้ก็คือว่าสถานที่ๆ แม้จะเป็นบ้านเรือน แต่ก็เป็นที่สงบจากเสียงทั้งหลายเป็นต้น เช่น จากเสียงคนที่พูดจากกันเอะอะ แม้ว่าการมานั่งปฏิบัติอยู่ในที่นี้ซึ่งอยู่ด้วยกันมาก แต่จัดไว้สำหรับอบรมฟังกรรมฐาน และปฏิบัติกรรมฐาน จึงสงเคราะห์เข้าในเรือนว่างได้ แม้ว่าจะมากคนด้วยกัน แต่ก็สงบจากเสียงพูดจากันเป็นต้น (เริ่ม) เพราะต่างก็มีความสำรวมกายวาจาใจของตนให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม อันเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น แม้การเข้ามาสู่สถานที่นี้ก็ชื่อว่าเป็นสถานที่อันสมควร และก็นั่งขัดบัลลังก์คือขัดสะหมาด หรือว่านั่งพับเพียบตามสะดวก
ตั้งกายตรงคือไม่พิง และไม่ค้อมกาย ตั้งกายให้ตรง ตั้งสติให้มีหน้าโดยรอบ คือรอบหน้า คือให้มีสติสมบูรณ์นั้นเอง ในการที่จะฟัง และในการที่จะปฏิบัติ และให้ประกอบด้วยคุณธรรมอันเป็นอุปการะทั้ง ๔ ประการดังที่กล่าวมาข้างต้น คือมีความเพียรเผากิเลส มี สัมปชานะ ความรู้ตัวหรือความรู้พร้อม มีสติ กำจัดความยินดียินร้ายในโลก เจาะจงเข้ามาก็คือในกายในเวทนาในจิตในธรรมที่ปฏิบัตินี้
เมื่อปฏิบัติดั่งนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้พร้อมที่จะทำอานาปานสติสมาธิภาวนา จึงเริ่มเป็นผู้มีสติคือความระลึกรู้ดังกล่าวรอบคอบ หายใจเข้าหายใจออก จึงเข้าขั้นที่ ๑ ที่ว่าหายใจเข้ายาวก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว
กรรมฐานที่ปฏิบัติได้ทุกเวลา
ในตอนนี้ควรทำความเข้าใจประกอบในการปฏิบัติว่า อันลมหายใจเข้าลมหายใจออกนั้น ทุกคนต้องหายใจกันอยู่ตลอดเวลา หยุดไม่ได้ แต่ปรกตินั้นไม่ได้ตั้งสติกำหนดรู้ จึงไม่รู้ตัวว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก หากได้ตั้งสติกำหนดเข้ามาดูเข้ามารู้ ก็จะรู้สึกในลมหายใจของตนได้อย่างถนัดชัดเจน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ยกไว้เป็นกรรมฐาน เพราะเป็นกรรมฐานที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ทุกเวลาที่ต้องการ เมื่อเป็นดั่งนี้จึงสมควรที่จะได้ปฏิบัติในกรรมฐานข้อนี้ในการเริ่มหัดปฏิบัติ
แต่ว่าลมหายใจนั้นเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นเพราะเป็นลม แต่ว่าอาจจะรู้ได้ด้วยสัมผัส คือในการหายใจนั้นลมหายใจก็มากระทบเป็นสัมผัสที่ริมฝีปากเบื้องบน หรือปลายกระพุ้งจมูก ทุกคนสังเกตรู้สึกได้ หายใจเข้าลมหายใจก็จะเข้าไป ผ่านริมฝีปากเบื้องบน หรือปลายกระพุ้งจมูกเข้าไป ตามหลักสรีรวิทยาก็แสดงว่าเข้าไปถึงสู่ปอด
กำหนด ๓ จุด
แต่ตามหลักปฏิบัติทางสมาธินี้ ในเบื้องต้นท่านแสดงไว้กลางๆ ว่า ให้รู้เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พระอาจารย์จึงมาจับอธิบายสำหรับกำหนดว่าในการหายใจเข้านั้น ปลายกระพุ้งจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบนเป็นเบื้องต้น อุระคือทรวงอกเป็นท่ามกลาง และนาภีที่พองขึ้นเมื่อหายใจเข้าเป็นที่สุด ส่วนในขณะหายใจออกนั้น นาภีที่ยุบลงเป็นจุดที่ ๑ หรือเป็นเบื้องต้น อุระคือทรวงอกเป็นจุดที่ ๒ ปลายกระพุ้งจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนเป็นจุดที่ ๓ พระอาจารย์ท่านสอนดั่งนี้เพื่อสะดวกในการกำหนดจิต เพราะฉะนั้น ก็ให้ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้า จุดเบื้องต้น จุดท่ามกลาง จุดที่สุด และกำหนดลมหายใจออก จุดเบื้องต้น จุดท่ามกลาง จุดที่สุด ให้รู้ทั่วถึงทั้งเข้าและออก
และเมื่อได้กำหนดรู้ดั่งนี้ทั่วถึงแล้ว เมื่อจิตรวมเข้ามา จะไม่ส่งจิต ส่งสติเข้าออกตามลมดังกล่าวก็ได้ โดยให้ตั้งสติกำหนดอยู่เพียงจุดเดียว ในจุดที่ตนจะกำหนดสัมผัสของลมหายใจเข้าออกได้ชัด เช่นกำหนดที่ปลายกระพุ้งจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน ตั้งสติกำหนดอยู่เพียงจุดนี้ หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ หรือบางคนชอบกำหนดหรือถนัดที่จะกำหนดตรงอุระคือทรวงอก กำหนดอยู่เพียงจุดเดียวก็ได้ หรือบางคนสะดวกที่จะกำหนดที่นาภีที่พองหรือยุบ ก็กำหนดอยู่ที่จุดนี้จุดเดียวก็ได้ แต่เมื่อมีสติกำหนดอยู่ดั่งนี้ก็ย่อมจะรู้ทั้ง ๓ จุด
ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างแม่ลูกอ่อนนั่งบนชิงช้า และมีคนแกว่งชิงช้า คนแกว่งชิงช้านั้นก็กำหนดอยู่ที่ชิงช้า ซึ่งแกว่งไปแกว่งมาในที่จุดใดจุดหนึ่งเพียงจุดเดียว เช่นกำหนดอยู่ที่โคนชิงช้า หรือกำหนดอยู่ที่กลางชิงช้า แม้เช่นนี้ก็ย่อมรู้ทั้งหมด หรือเปรียบเหมือนอย่างคนเลื่อยไม้ คนเลื่อยไม้เมื่อเลื่อยไม้ก็กำหนดอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง
เช่นกำหนดอยู่ที่ตรงเลื่อยมาสัมผัสกับไม้ แต่ไม่ได้กำหนดที่ต้นเลื่อยหรือที่ปลายเลื่อย แม้ดั่งนี้ก็เลื่อยไม้ได้ และก็ย่อมรู้ทั้งหมด ข้อสำคัญนั้นให้คอยตั้งสติกำหนด ไม่ให้สติตกไป เมื่อสติตกไปก็ต้องนำสติกลับมามาตั้งไว้ใหม่ ดั่งนี้
และที่เรียกว่ายาวนั้น ก็คือหมายความถึง กาลเวลาที่หายใจ กับสถานที่ๆ หายใจ อันจะเรียกว่าเกี่ยวกับ กาละ กาลเวลา เกี่ยวกับ เทศะ ที่ๆ หายใจ ดั่งนี้ก็ได้ ที่นับว่าเป็นระยะยาว หากพิจารณาดูแล้ว ทุกๆ คนนั้นผู้ยังไม่ได้ปฏิบัติทำอานาปานสติสมาธิภาวนา ก็กล่าวได้ว่าการหายใจของตนยาวโดยปรกติ ดังจะเรียกว่าหายใจทั่วท้อง คือหายใจเข้าไปถึงท้องที่พองขึ้น ออกก็จากท้องที่ยุบลง เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่ายาวโดยปรกติ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ให้กำหนดเบื้องต้นท่ามกลางที่สุดดังกล่าวมาข้างต้น จึงจะชื่อว่ามีสติรู้ทั่วถึง และแม้จะทิ้งเสีย ๒ จุด ตั้งสติกำหนดแต่เพียงจุดเดียวดังกล่าว เมื่อสติไม่ไปไหน และเป็นสติที่มีหน้ารอบ ที่มีหน้าโดยรอบ ก็ย่อมรู้ได้ทั้งหมดทุกจุด เมื่อได้หัดปฏิบัติอยู่ดั่งนี้นานเข้าบ่อยเข้า ฉันทะคือความพอใจย่อมเกิด และเมื่อฉันทะคือความพอใจเกิด หายใจเข้าหายใจออกก็สุขุมคือละเอียดยิ่งขึ้น จึงหายใจเข้าหายใจออกสุขุมละเอียดยิ่งขึ้นด้วยอำนาจของฉันทะ และเมื่อได้ปฏิบัติดั่งนี้มากขึ้นบ่อยเข้า ปราโมทย์คือความบันเทิงใจก็ย่อมเกิด เมื่อปราโมทย์คือความบันเทิงใจเกิด หายใจเข้าหายใจออกก็ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งกว่าที่ละเอียดด้วยอำนาจของฉันทะ เป็นไปเอง
และเมื่อหายใจเข้าหายใจออกละเอียดด้วยอำนาจของความปราโมทย์มากยิ่งขึ้น จิตก็จะกลับจากลมอัสสาสะปัสสาสะ คือจากลมหายใจเข้าลมหายใจออก อุเบกขาคือความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ก็จะตั้งขึ้นมา พระอาจารย์ชั้นเดิม ดังจะเรียกว่าทุติยาจารย์ อาจารย์ชั้นที่สองจากพระพุทธเจ้าได้อธิบายไว้ดั่งนี้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด (มีสวดไหม?) และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป