แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เป็นปัพพะคือข้อที่สุด ในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในมหาสติปัฏฐานสูตร และได้แสดงอธิบายข้อที่ ๔ คือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งเรียกสั้นว่ามรรคมีองค์ ๘ ซึ่งก็ได้จำแนกแสดงแล้ว และก็พึงทราบเพิ่มเติม ดั่งที่จะได้แสดงในวันนี้
มัชฌิมาปฏิปทา
มรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นหลักปฏิบัติธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ตั้งแต่ในปฐมเทศนา เทศนาครั้งแรก ว่าพระองค์ได้ทรงพบทางอันเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง ตั้งแต่ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ คือสัตว์ผู้ที่จะได้ตรัสรู้ หรือผู้ที่ยังข้องอยู่เพื่อที่จะได้ตรัสรู้
และได้ทรงปฏิบัติไปตามทางอันเป็นมัชฌิมาปฏิปทานี้ จึงได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง ก็ได้มีพระพุทธาธิบายไว้ด้วยในปฐมเทศนานั้นว่า คือเป็นทางปฏิบัติที่อยู่ตรงกลางระหว่างทางปฏิบัติที่สุดโต่งสองข้าง คือกามสุขัลลิกานุโยค ความประกอบอยู่ด้วยความสุขสดชื่นในกาม เป็นสุดโต่งทางหนึ่ง กับอัตตกิลมถานุโยค ความประกอบทรมานตนให้ลำบาก อีกทางหนึ่ง
พระพุทธเจ้าเองก่อนจะตรัสรู้ ในชั้นแรกยังมิได้ออกทรงผนวช ก็ทรงประทับอยู่ด้วยกามสุขัลลิกานุโยค การประกอบตนด้วยความสุขสดชื่นในกามอย่างชาวบ้านชาวเมืองทั่วไป และเมื่อเสด็จออกทรงผนวช ได้ทรงเข้าศึกษาในสำนักของท่านอาจารย์ทั้งสอง คืออาฬารดาบส และอุททกดาบส ซึ่งท่านเป็นผู้บรรลุชำนาญในสมาบัติ ๗ สมาบัติ ๘ แต่ทรงเห็นว่ายังไม่เป็นทางแห่งความตรัสรู้ จึงเสด็จออก และทรงเลือกบำเพ็ญทุกรกิริยา คือทรมานกายให้ลำบากมีประการต่างๆ อันนับว่าเป็นทางสุดโต่งในด้านอัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนให้ลำบาก เป็นอันว่าพระองค์ได้ทรงปฏิบัติมาแล้วทั้งสองทาง ทั้งกามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค แต่ก็ไม่อาจที่จะตรัสรู้ได้ จึงได้ทรงพบทางที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง ไม่ข้องแวะด้วยทางที่เป็นกามสุขัลลิกานุโยค ประกอบตนด้วยความสุขสดชื่นในกาม และอัตตกิลมถานุโยค ประกอบทรมานตนให้ลำบาก อันได้แก่มรรคมีองค์ ๘ นั้นเอง
ทางปฏิบัติให้ได้ดวงตาเห็นธรรม
ทรงพบขึ้นด้วยพระองค์เอง และก็ได้ทรงดำเนินไปในทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือมรรคมีองค์ ๘ นี้ ซึ่งเป็นเครื่องกระทำให้ได้จักษุดวงตาเห็นธรรม เป็นเครื่องกระทำให้ได้ญาณคือความหยั่งรู้ในธรรม จึงได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ และมัชฌิมาปฏิปทาคือมรรคมีองค์ ๘ ก็ตรัสว่าเป็นอริยสัจจ์ข้อที่ ๔ คือเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ไตรสิกขา
ฉะนั้น จึงได้ตรัสมรรคมีองค์ ๘ นี้ตั้งแต่ในปฐมเทศนา ก่อนที่จะได้ทรงแสดงไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ได้ทรงแสดงในตอนหลังต่อมา และศีลสมาธิปัญญาคือไตรสิกขา สิกขาทั้ง ๓ คือข้อที่พึงศึกษาคือสำเหนียก เมื่อยังไม่รู้ก็สำเหนียกให้รู้ เมื่อยังมิได้ปฏิบัติก็สำเหนียกปฏิบัติให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น อันเรียกว่าไตรสิกขานี้ก็ได้นับถือเป็นหลักปฏิบัติโดยย่อ เป็นที่รวมของธรรมปฏิบัติทั้งสิ้น และมรรคมีองค์ ๘ นี้เองก็ย่อเข้าในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ได้
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ/ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ย่อเข้าใน ปัญญาสิกขา/ สัมมาวาจา เจรจาชอบ/ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ/ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ ย่อเข้าใน สีลสิกขา/ สัมมาวายามะเพียรชอบ/ สัมมาสติ ระลึกได้ชอบ/ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ สงเคราะห์เข้าใน จิตตสิกขา คือสมาธิ
เพราะฉะนั้น ในมรรคมีองค์ ๘ จึงได้จัดลำดับปัญญาสิกขาไว้เป็นที่ ๑ สีลสิกขาไว้เป็นที่ ๒ จิตตสิกขาคือสมาธิไว้เป็นที่ ๓ ฉะนั้น จะได้แสดงอธิบายไตรสิกขาตามหลักของมรรคมีองค์ ๘
ปัญญาสิกขา
ปัญญาสิกขาอันได้แก่สัมมาทิฏฐิก็ได้แก่ ญาณคือความหยั่งรู้จักทุกข์ ญาณคือความหยั่งรู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ญาณคือความหยั่งรู้จักนิโรธความดับทุกข์ ญาณคือความหยั่งรู้จักทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อนึ่ง
ปัญญาสิกขานี้ก็ได้แก่ เนกขัมมสังกัปปะ ความดำริออกจากเครื่องพัวพันทั้งหลาย อัพยาปาทสังกัปปะ ความดำริไม่พยาบาทปองร้าย อวิหิงสาสังกัปปะ ความดำริไม่เบียดเบียน ญาณคือความหยั่งรู้จักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ อันเป็นสัมมาทิฏฐิ และสังกัปปะคือความดำริทั้ง ๓ ดำริออกจากเครื่องพัวพันทั้งหลาย ดำริไม่ปองร้าย ดำริไม่เบียดเบียน ซึ่งเป็นสัมมาสังกัปปะ จัดเป็นปัญญาสิกขา
ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
เพราะฉะนั้น ผู้ต้องการปฏิบัติในปัญญาสิกขาตามหลักของอริยมรรคมีองค์ ๘ คือข้อสัมมาทิฏฐิ ก็หัดพิจารณาทำความรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั่นแหละ อันเป็นปริยัติ หมั่นพิจารณาเพื่อที่จะให้ได้เกิดปัญญา คือความหยั่งรู้ขึ้นที่ตนเองด้วยตนเอง อันเป็นปฏิบัติ และจนถึงสามารถเจาะแทงอวิชชาโมหะ ทำความรู้แจ่มแจ้งในอริยสัจจ์ ให้บังเกิดขึ้นตามภูมิตามชั้น จึงนับเป็นปฏิเวธ นี้เป็นการหัดปฏิบัติทำปัญญาสิกขาตามหลักของสัมมาทิฏฐิ
และหัดปฏิบัติในความดำรินึกคิดตริตรองไปในทางออกอยู่เสมอ ไม่ยอมให้ติดข้องพัวพันอยู่ในกามคุณารมณ์เป็นต้น หัดทำใจออกจากความผูกพันเกี่ยวเกาะดังกล่าวนี้อยู่เสมอ และหัดดำริไปในทางที่ไม่ปองร้าย แต่ให้ประกอบด้วยเมตตากรุณาแผ่ออกไป หัดดำริคิดนึกตรึกตรองในทางไม่เบียดเบียน แต่ให้เป็นไปในทางช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งก็สงเคราะห์เข้าในเมตตากรุณาคล้ายๆ กัน
แต่อวิหิงสาวิตก หรืออวิหิงสาสังกัปปะ ความดำริในทางไม่เบียดเบียน ท่านมุ่งแสดงแยกออกมาด้วยต้องการที่จะแยกว่า อันความคิดเบียดเบียนนั้นเป็นไปด้วยโมหะคือความหลง ส่วนความคิดปองร้ายนั้นเป็นไปด้วยโทสะ
เพราะฉะนั้น ดับโทสะก็ด้วยอาศัยเมตตากรุณา ดับวิหิงสาก็ด้วยอาศัยปัญญา คือแม้ว่าจะไม่มีโทสะโกรธแค้นขัดเคือง แต่ทำไปด้วยโมหะคือความหลง ก็เป็นไปเพื่อเบียดเบียนใครต่อใครให้เป็นทุกข์ได้
เพราะฉะนั้น ก็มุ่งที่จะให้ปฏิบัติละทั้งราคะ โทสะ โมหะ หรือ โลภะ โทสะ โมหะ ดำริไปในทางออกนั้นเป็นไปเพื่อละราคะหรือโลภะ ดำริไม่ปองร้ายนั้นเป็นไปดับโทสะ ดำริไม่เบียดเบียนนั้นเป็นไปเพื่อดับโมหะ คือความเบียดเบียนนั้นที่เป็นไปด้วยโมหะ ก็อาจจะเบียดเบียนได้ทั้งตนเองทั้งผู้อื่น
สัมมาสังกัปปะ
ฉะนั้นจึงต้องอาศัยปัญญาที่รู้จักคิดนึกตรึกตรองไป ในทางที่จะออกจากราคะหรือโลภะ ด้วย เนกขัมมสังกัปปะ ในทางที่จะดับหรือออกจากโทสะ ด้วยอัพยาปานะสังกัปปะ และในทางที่จะออกจากโมหะ ด้วยอวิหิงสาสังกัปปะ หัดใช้ความคิดไปในทางดับกิเลสดั่งนี้ ไม่ใช้ความคิดไปในทางก่อกิเลส กองราคะหรือโลภะ กองโทสะหรือกองโมหะขึ้นมา ก็เป็นการปฏิบัติปัญญาสิกขา ด้วยอาศัยสัมมาสังกัปปะ นี้เป็นปัญญาสิกขา
สีลสิกขา
ในส่วนสีลสิกขา ก็พึงหัดปฏิบัติทำความงดเว้นทางวาจา อาศัยสัมมาวาจา วาจาชอบ คือไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียดยุแหย่ให้แตกสามัคคีกัน ไม่พูดคำหยาบด่าว่าใครต่อใครให้เจ็บแสบ (เริ่ม) ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล แต่พูดจามีหลักฐานยุติด้วยธรรมด้วยวินัย งดเว้นทางวาจาดั่งนี้ อาศัยสัมมาวาจาเจรจาชอบ
และปฏิบัติงดเว้นทางกาย อาศัยสัมมากัมมันตะการงานชอบ ด้วยการเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป เว้นการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ด้วยความที่เป็นขโมยคือลักฉ้อ เว้นจากประพฤติในกามทั้งหลาย หรือเว้นจากอพรหมจริยกิจ เมื่อเว้นดั่งนี้ทางกายก็เป็นปฏิบัติในสีลสิกขา อาศัย สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
และเว้นจากมิจฉาอาชีวะเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด สำเร็จความเลี้ยงชีวิตในทางชอบถูกต้อง ก็เป็นการปฏิบัติในสีลสิกขา อาศัยสัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ นี้เป็นการปฏิบัติในสีลสิกขา อาศัยสัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ
จิตตสิกขา
อนึ่ง ปฏิบัติในจิตตสิกขาหรือสมาธิความตั้งใจมั่น อาศัยสัมมาวายามะ เพียรชอบ คืออาศัย สังวรปธาน ความตั้งใจมั่นในอันที่จะระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ปหานปธาน ความตั้งใจมั่นในอันที่จะละบาปอกุศลที่บังเกิดขึ้นแล้ว ความตั้งใจมั่นใน ภาวนาปธาน คือเพียรทำบุญทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ความตั้งใจมั่นในอนุรักขนาปธาน เพียรรักษาบุญกุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมลง แต่ให้เจริญงอกงามมากขึ้น นี้เป็นการปฏิบัติในจิตตสิกขาหรือสมาธิ อาศัยสัมมาวายามะ เพียรชอบ
อนึ่ง ตั้งใจมั่นในอันกำหนดสติตามดูตามรู้ตามเห็น กาย เวทนา จิต ธรรม คือสติปัฏฐานทั้ง ๔ ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติในจิตสิกขาคือสมาธิ อาศัยสัมมาสติระลึกชอบ อนึ่ง ตั้งใจมั่นเป็นสมาธิในกรรมฐานอันเป็นที่ตั้งของสมาธิทั้งหลาย จนได้บริกัมมสมาธิ สมาธิในบริกรรม อุปจารสมาธิ สมาธิเป็นอุปจารคือใกล้ที่จะแน่วแน่แนบแน่น จนถึงอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แน่วแน่แนบแน่น เข้าขั้นฌานคือความเพ่ง
คือจิตสงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน ฌานที่ ๑ มีวิตก ความตรึก มีวิจาร ความตรอง มีปีติ มีสุข อันเกิดจากวิเวกคือความสงบสงัด มีเอกัคคตา คือมีจิตที่มีอารมณ์เป็นอันเดียว
และยิ่งขึ้นไปก็สงบวิตกวิจาร เข้าถึงทุติยฌาน ฌานที่ ๒ คือมีความผ่องใสใจ ณ ภายใน มีธรรมเอกคือความเป็นหนึ่งผุดขึ้นเป็นไป ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีปีติสุขอันเกิดจากสมาธิคือความตั้งจิตมั่น มีเอกัคคตาคือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว
ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ก็ละปีติเสียได้ มีอุเบกขาอยู่ มีสติมีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย คือด้วยรูปกาย ด้วยนามกาย เข้าถึงตติยฌาน ฌานที่ ๓ ซึ่งพระอริยะเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า มีอุเบกขา มีสติ มีสุขะวิหาร คือธรรมะเป็นเครื่องอยู่ คือสุข และจิตเป็นเอกัคคตาคือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว
ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น เพราะละสุขละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสโทมนัส เข้าถึงฌานที่ ๔ ซึ่งไม่มีสุขไม่มีทุกข์ มีอุเบกขา มีสติที่บริสุทธิ์อยู่ ทั้งมีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว
ความทำจิตให้เป็นสมาธิตั้งมั่นได้ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้นี้ ก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติทำจิตตสิกขาคือสมาธิ อาศัยสัมมาสมาธิความตั้งใจมั่นชอบ เป็นอันว่าชื่อว่าได้ปฏิบัติทำจิตตสิกขาคือสมาธิ อาศัยสัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกได้ชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ ผู้ปฏิบัติธรรมจึงอาจหัดปฏิบัติไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อาศัยอริยะมรรคทั้ง ๘ ประการได้ดั่งนี้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป