แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงอริยสัจจ์คือทุกข์ อริยสัจจ์คือทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์มาโดยลำดับ จึงถึงอริยสัจจ์คือทุกขนิโรธความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก ว่าเป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ และได้ทรงชี้ความดับตัณหานั้นนั่นแหละ ว่าเป็นทุกขนิโรธความดับทุกข์ เพราะฉะนั้น กล่าวสั้น ความดับตัณหาเสียได้นั้นเองเป็นทุกขนิโรธความดับทุกข์ แต่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระผู้รู้ผู้เห็นผู้ทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอนได้ตรัสจำแนกแจกแจง แม้ในข้อทุกขนิโรธความดับทุกข์นี้ไว้เพื่อให้ผู้ฟังไตร่ตรอง เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตามได้ คือปฏิบัติดับทุกข์ได้
โดยพระบาลีที่แปลความว่า อเสสวิราคนิโรโธ ความดับโดยความสำรอกอย่างไม่เหลือแห่งตัณหานั้นนั่นแหละ จาโค ความสละหรือความละตัณหานั้นนั่นแหละปฏินิสฺสคฺโค ความสละคืนตัณหานั้นนั่นแหละ มุตฺติ ความปล่อยหรือพ้นตัณหานั้นนั่นแหละ (เริ่ม) อนาลโย ความไม่เกี่ยวข้องพัวพันอาลัยตัณหานั้นนั่นแหละ นี้คือทุกขนิโรธความดับทุกข์
ที่เกิดของตัณหา ที่ดับของตัณหา
และได้ตรัสที่เกิดของตัณหาไว้ในทุกขสมุทัยอย่างใด ก็ตรัสที่ดับแห่งตัณหาไว้ในทุกขนิโรธความดับทุกข์นี้อย่างนั้นเหมือนกัน เข้าทำนองว่าตัณหาเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น และก็ได้ตรัสไว้โดยจำแนกแจกแจง โดยตั้งเป็นคำถามขึ้นว่าตัณหาดับที่ไหน แล้วก็ตรัสยกเอาปิยรูปสาตรูปขึ้นแสดงว่า ปิยรูป รูปเป็นที่รัก สาตรูป รูปเป็นที่สำราญชอบใจใดในโลก ตัณหานั้นย่อมละได้ ย่อมดับในปิยรูปสาตรูปนั้น
ก่อนอื่นก็พึงเข้าใจว่า คำว่า ปิยรูป สาตรูป นี้ไม่ได้หมายถึงจำเพาะรูปเท่านั้น แต่หมายถึงทั้งรูป ทั้งนาม หรือกล่าวรวมว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งเป็นที่รักใคร่เป็นที่ชอบใจ เรียกว่าปิยรูปสาตรูปทั้งนั้น กล่าวอีกอย่างหนึ่ง หากจะยกเอาตัณหาอุปาทานขึ้นมาอ้างก็ได้ ว่าสิ่งใด จะเป็นรูปก็ตาม เป็นนามข้อไหนก็ตาม เป็นที่ตั้งของตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานความยึดถือ ว่าเป็นตัวเราของเรา รูปนามนั้นๆ สิ่งนั้นๆ เรียกว่าเป็นปิยรูปสาตรูปทั้งหมด
เพราะฉะนั้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะขึ้นชื่อว่าปิยรูปสาตรูป ก็ต้องเป็นที่ตั้งของตัณหาอุปาทานดังกล่าว หากว่าไม่มีตัณหาอุปาทานตั้งอยู่แล้ว สิ่งนั้นๆ ก็สักแต่ว่าเป็นสิ่งนั้นๆ เช่นเป็นนามเป็นรูปเท่านั้น
พระอรหันต์ทั้งหลายละตัณหาอุปาทานได้หมดไม่มีเหลือ เพราะฉะนั้นเมื่อท่านมีชีวิตอยู่ ท่านก็ต้องมีรูปมีนามซึ่งเป็นอาการของจิตใจอยู่ทุกอย่าง แต่ว่านามรูปนั้นไม่เป็นปิยรูปสาตรูปของท่าน สักแต่ว่าเป็นนามเป็นรูป เป็นวิบากขันธ์ คือเป็นขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นวิบากคือผลของกิเลสกรรมเก่าเท่านั้น แต่ว่าสามัญชนทั่วไปยังมีตัณหาอุปาทาน เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ หรือนามรูปของสามัญชนทั่วไปจึงยังเป็นปิยรูปสาตรูป เพราะตัณหาอุปาทานนั้นเองสร้างความเป็นปิยรูปสาตรูป คือสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจชอบใจขึ้นมา
ฉะนั้น แม้ในข้อทุกขนิโรธความดับทุกข์นี้ ก็ตรัสยกเอาปิยรูปสาตรูปขึ้น ตรัสว่าเป็นที่ดับของตัณหา เช่นเดียวกับเป็นที่เกิดของตัณหา ซึ่งกล่าวรวมกันได้ว่า ตัณหาเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น หรือเกิดในที่ใดก็ดับในที่นั้น และปิยรูปสาตรูปที่ตรัสแสดง แม้ในหมวดทุกขนิโรธนี้ก็ตรัสจำแนกแจกแจงไว้ เช่นเดียวกับในหมวดทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ที่ได้แสดงแล้ว คือจำแนกออกไปเป็นอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ วิญญาณ ๖ สัมผัส ๖ เวทนา ๖ สัญญา ๖ สัญเจตนา ๖ ตัณหา ๖ วิตก วิตักกะหรือวิตก ๖ วิจาระ หรือวิจาร ๖ ดั่งนี้
ขันธ์ ๕ นามรูป
และก็มีอธิบายถึงความสัมพันธ์กันของหมวด ๖ เหล่านี้ไว้เช่นเดียวกัน เพราะว่าหมวด ๖ ทั้งปวงเหล่านี้ เมื่อรวมเข้าแล้วก็เป็นขันธ์ ๕ นั้นเอง หรือเป็นนามรูปนั้นเอง ดังที่จะได้กล่าวสรุปเข้าในขันธ์ ๕ ได้ว่า อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ จัดเข้าในรูปขันธ์กองรูป แม้ว่าในหมวดอายตนะนี้ข้อที่ ๖ จะมีมโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวซึ่งเป็นนามธรรม แต่ก็เป็นนามธรรมที่แนบแน่นอยู่กับ ๕ ข้อข้างต้น บังเกิดเป็นไปด้วยกันอยู่เป็นประจำ
วิญญาณ ๖ ก็สงเคราะห์เข้าในหมวดวิญญาณ วิญญาณขันธ์ ขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นขันธ์ข้อที่ ๕ สัมผัส ๖ เติมเข้ามาจากขันธ์ ๕ แต่ก็สงเคราะห์เข้าได้ในระหว่างของวิญญาณและเวทนานั้นเอง เวทนา ๖ ก็สงเคราะห์เข้าในหมวดเวทนาขันธ์ สัญญา ๖ ก็สงเคราะห์เข้าในหมวดสัญญาขันธ์ สัญเจตนา ๖ ตัณหา ๖ วิตักกะคือ วิตก ๖ วิจาระคือ วิจาร ๖ ก็สงเคราะห์เข้าในสังขารขันธ์กองสังขาร คือความคิดปรุงหรือปรุงคิดทางใจนั้นเอง
และตามนัยยะที่สงเคราะห์นี้ก็จะพึงเห็นได้ว่า แม้ตัวตัณหาเองก็สงเคราะห์เข้าในสังขารขันธ์เหมือนกัน เพราะเป็นความคิดปรุง หรือความปรุงคิด ก็เป็นอันว่าตัณหาเกิดขึ้นที่ตัณหา ตัณหาก็ดับไปที่ตัณหาได้เช่นเดียวกัน คือเมื่อปรุงขึ้นมาก็เป็นตัณหา เมื่อดับปรุงเสียก็เป็นการดับตัณหา จึงเท่ากับว่าตัณหาเกิดที่ตัณหา ดับก็ดับที่ตัณหาได้ เช่นเดียวกับข้ออื่น
เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้จึงสงเคราะห์เข้าในขันธ์อันเป็นที่ยึดถือ ทั้ง ๕ นี้นี่แหละ เป็นปิยรูปสาตรูปทั้งหมด ตัณหาก็ดับได้ละได้ที่ปิยรูปสาตรูปดังที่ตรัสแสดงไว้นี้ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นที่ขันธ์ ๕ แล้วก็ดับไปที่ขันธ์ ๕ นั้นเอง และเมื่อย่อขันธ์ ๕ เข้าเป็นนามรูป คือรูปก็เป็นรูป นอกนั้นก็เป็นนาม ก็กล่าวสั้นๆ ได้ว่าตัณหาเกิดขึ้นที่นามรูปดังที่ได้ตรัสไว้ในข้อสมุทัย และก็ดับไปที่นามรูปดังที่ตรัสไว้ในข้อทุกขนิโรธนี้ และเมื่อรวมให้สั้นเข้ามาอีก ก็กล่าวได้ว่าตัณหาเกิดขึ้นที่จิตใจ ดับไปที่จิตใจนี้เอง
เพราะฉะนั้น จึงได้มีพุทธศาสนสุภาษิตแสดงไว้ว่า
วิสุทธิ สัพพัคเล เสหิ (สพฺพกิเลเสหิ ?) ความบริสุทธิ์แห่งกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งสิ้น
โหติ ทุกเขหิ นิพุติ เป็นความดับจากทุกข์ทั้งสิ้น
เจตโส โหติสาน สันติ ข้อนั้นเป็นสันติคือความสงบของใจ
นิพพานะมิติ วุจจะติ (นิพฺพานํ อิติ วุจฺจติ ?) เรียกว่านิพพานดั่งนี้
นิพพานคือความสงบของใจ
ฉะนั้น กล่าวสั้นเข้ามาที่สุด ก็กล่าวได้ว่านิพพานนั้นก็คือสันติความสงบของใจนี้เอง ใจสงบได้ คือว่าบริสุทธิ์จากกิเลสทั้งปวงมีตัณหาเป็นต้น ดับทุกข์ทั้งปวง นี่แหละเป็นตัวสันติคือความสงบของใจ ที่เรียกว่านิพพาน ดั่งนี้ ฉะนั้น ย่อเข้ามาที่สุดแล้วจึงอยู่ที่จิตใจนี้เอง จิตใจนี้ไม่สงบ เพราะกิเลสทั้งหลาย เพราะทุกข์ทั้งหลาย ก็เป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อกิเลสทั้งหลายสงบไปจากจิตใจได้ ทุกข์ทั้งหลายสงบไปจากจิตใจได้ เป็นจิตที่สงบ ก็เป็นนิพพานขึ้นในจิตใจนี้เอง
ฉะนั้น การปฏิบัติที่เป็น อุชุปฏิปัติ ปฏิบัติตรง จึงตรงเข้ามาที่จิตใจนี้แหละทั้งหมด แม้ในฝ่ายก่อกิเลสก่อทุกข์ คือตัณหา อันเป็นตัวทุกขสมุทัยนั้น ก็ก่อขึ้นที่จิตใจ และเมื่อดับเป็นทุกขนิโรธ ก็ดับที่จิตใจนี้เอง จิตใจนี้เองจึงเป็นที่ย่อที่สุดของปิยรูปสาตรูปทั้งหมด เป็นที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ของตัณหา เป็นที่ละไปดับไปของตัณหา
ต่อไปนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป