แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ปัญญาในธรรมนั้น ก็รวมเข้าในญาณคือความหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ อันได้แก่ ทุกข์ ทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ ทุกขนิโรธความดับทุกข์ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แสดงทุกข์มาแล้ว ได้แสดงทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์มาส่วนหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากเป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์
ตัณหานั้นก็มีคุณลักษณะเป็น โปโนพฺภวิกา เป็นไปเพื่อภพชาติใหม่ หรือเป็นไปเพื่อภพคือความเป็นใหม่ นนฺทิราคสหคตา เป็นไปกับด้วยนันทิคือความเพลิน ราคะคือความติดใจยินดี ตตฺรตตฺราภินนฺทินี มีความเพลิดเพลินยิ่งขึ้นในอารมณ์นั้นๆ หรือในสิ่งนั้นๆ ซึ่งได้แสดงอธิบายไปแล้ว
และพระพุทธเจ้าได้ตรัสจำแนกตัณหาออกไปเป็น ๓ คือ กามตัณหา ตัณหาในกาม ภวตัณหา ตัณหาในภวะหรือภพ วิภวตัณหา ตัณหาในวิภพ หรือ วิภวะ ซึ่งจะได้แสดงอธิบายต่อไป
กิเลสกาม วัตถุกาม
กามตัณหา ตัณหาในกามนั้น คำว่า ตัณหา ได้มีคำแปลกันทั่วไป ว่าความดิ้นรนทะยานอยาก หรือความอยากที่ดิ้นรนไปของใจ กาม นั้นแปลว่าใคร่ มี ๒ คือกิเลสกาม กิเลสเป็นเหตุใคร่ วัตถุกาม วัตถุหรือพัสดุอันได้แก่สิ่งที่ใคร่ หรือที่เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่นั้น กิเลสกาม กิเลสเป็นเหตุใคร่นั้น ก็ได้แก่นันทิความเพลิน ราคะความติดใจยินดี และกิเลสที่มีชื่ออื่น ซึ่งมีความหมายไปในทางรักใคร่ยินดีติดใจเพลิดเพลิน กิเลสกามนี้เป็นตัวเหตุที่บังเกิดขึ้นในวัตถุหรือพัสดุอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในที่ตั้งอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ว่าจะไม่เป็นวัตถุ เมื่อกล่าวโดยสรุปก็บังเกิดขึ้นในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง ในกลิ่นบ้าง ในรสบ้าง ในโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้องบ้าง ซึ่งเป็นวัตถุโดยตรง และก็รวมถึงในธรรมะคือเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่ใช่วัตถุ เป็นเรื่องที่คิดนึกในจิตใจ จึงรวมเข้าเป็น ๖
เมื่อกิเลสกามบังเกิดขึ้นในสิ่งอันใด สิ่งอันนั้นก็เป็นวัตถุกามขึ้นมาทันที เช่นเมื่อมีความอยากดิ้นรนใจไปในรูป รูปก็เป็นวัตถุกามขึ้นทันที ในเสียงในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นวัตถุกามขึ้นทันที ถ้าหากว่ากิเลสกามไม่บังเกิดขึ้น สิ่งเหล่านั้นก็เป็นวัตถุอยู่เฉยๆ ไม่เป็นกาม
ท่านแสดงวัตถุกามไว้โดยยกที่เป็นวัตถุขึ้นเป็น ๕ คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และก็เรียกกันว่ากามคุณมีอย่าง ๕ คือว่า ๕ อย่าง เรียกเป็นศัพท์ว่าเบญจพิธกามคุณ
กามคุณ กามคุณารมณ์
คำว่า กามคุณ นั้นบางทีก็เรียกกันว่า กามคุณารมณ์ อารมณ์ที่เป็นกามคุณ ซึ่งคำว่า คุณ นั้นมีความหมายเป็น ๒ คือมีความหมายว่า ทับถมกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ ดั่งนี้ก็ได้ หมายถึงเป็น คุณ ที่ตรงกันข้ามกับ โทษ ก็ได้ และคำว่ากามคุณนั้นจึงหมายถึงเป็นกามที่บังเกิดขึ้น ทับถมซับซ้อนกันในจิตใจ ดั่งวัตถุกามทั้ง ๕ นั้น และก็หมายถึงว่าเป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ อันนับว่าเป็นส่วนคุณ อันตรงกันข้ามกับโทษ
เพราะว่ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนั้น ก็มี คุณ คือเป็นสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ จึงให้คุณคือให้ความสุขส่วนหนึ่ง และกิเลสกามก็บังเกิดขึ้นในวัตถุเหล่านี้ ในส่วนที่เป็นคุณดังกล่าวนั้น คือในส่วนที่ให้ความสุข ก็เป็นสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ถ้าหากว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีคุณเสียเลยแล้ว กิเลสกามก็ไม่บังเกิดขึ้น (เริ่ม) แต่ว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสโทษของกามก็เพราะว่า เป็นสิ่งที่ให้คุณน้อยแต่ว่ามีโทษมาก จึงได้ตรัสยกโทษของกามขึ้นมาสั่งสอน เพื่อให้ละความติดใจเพลิดเพลินใจอยู่ในกาม
แม้ว่ากิเลสกามจะยกขึ้นแสดงที่เป็นวัตถุเพียง ๕ ข้อ แต่ข้อ ๖ คือธรรมารมณ์ อารมณ์คือเรื่องราวทางจิตใจโดยตรง ก็นับว่าเป็นกามด้วย คือนับเข้าในวัตถุกามนั้นด้วย เพราะว่าทั้งรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ทั้งธรรมารมณ์ ก็เป็นที่ตั้งของกิเลสกาม กิเลสกามย่อมบังเกิดขึ้นได้ในทั้ง ๖ ข้อนี้ จึงสรุปเข้าในวัตถุกามด้วยกัน แต่ว่าตรัสแสดงยกขึ้นเพียง ๕ ข้อ ที่เป็นวัตถุโดยตรง ก็ทำให้เข้าใจได้ง่าย กามตัณหา ตัณหาในกามก็คือในวัตถุกามดังที่กล่าวมานั้น ด้วยอำนาจของกิเลสกาม กิเลสเป็นเหตุใคร่
ตัวตัณหานั้นเองก็เป็นกิเลสกามคือกิเลสที่เป็นเหตุใคร่ เพราะฉะนั้น คำว่ากามตัณหาจึงอธิบายว่าตัณหาในวัตถุกาม เพราะทำให้เข้าใจได้ทันที
ภวตัณหา วิภวตัณหา
ภวตัณหา ตัณหาในภพ อธิบายทั่วไปก็คือตัณหาในภพชาติที่เป็นอยู่นี้ มีความอยากดิ้นรนอยู่ในภพชาติที่เป็นอยู่นี้ ไม่อิ่ม ไม่เบื่อหน่าย และในภพชาติที่ปรารถนาต้องการต่อไป และแม้ว่าความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆ ก็นับรวมเข้าในภวตัณหา ตัณหาคือภพนี้ด้วย
วิภวตัณหา ตัณหาในวิภวะหรือวิภพ คือในความไม่เป็นนั่น ในความไม่เป็นนี่ ดังเช่นความรู้สึกอยากตาย เพราะความอึดอัดเบื่อหน่ายในชีวิต หรือในชาติภพนี้ ความอยากตายสูญ คือให้สิ้นสูญไปเลย ไม่ต้องเกิดอีก และแม้ความอยากที่จะไม่เป็นนั่นเป็นนี่ เช่น อยากที่จะให้สิ่งที่เป็นอยู่ ซึ่งไม่เป็นที่ชอบใจพอใจสิ้นไป หายไป หมดไป ก็นับเข้าเป็นวิภวตัณหาด้วย
ตายเกิด ตายสูญ
เมื่อแสดงมาถึงข้อนี้ก็ควรที่จะแสดงถึงมิจฉาทิฏฐิ ๒ อย่างในพระพุทธศาสนา คือ สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง อุทเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ สัสสตทิฏฐิความเห็นว่าเที่ยงนั้น ก็คือเห็นว่าในปัจจุบันมีอัตตาตัวตน และเมื่อตายแล้วอัตตาตัวตนนี้ก็ไปเกิดต่อไป ไม่มีสิ้นสุด ดั่งนี้คือความเห็นว่าเที่ยง เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง อุทเฉททิฏฐิความเห็นว่าขาดสูญ ก็คือเห็นว่าในปัจจุบันนี้มีอัตตาตัวตน และเมื่อสิ้นชีวิตแล้วอัตตาตัวตนนี้ก็สิ้นไปหมด ไม่มีอะไรไปเกิดอีก ฉะนั้น สัสสตทิฏฐิจึงเรียกกันง่ายๆ ว่า เห็นว่าตายเกิด คือเกิดร่ำไปไม่มีสิ้นสุด
อุทเฉททิฏฐิเห็นว่าตายสูญ คือสูญสิ้นไปไม่มีเกิดอีก ความเห็นทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิในพระพุทธศาสนา
ฉะนั้น หากจะถามว่าพระพุทธศาสนาสอนอย่างไรในเรื่องนี้ ก็ตอบได้ว่า พระพุทธศาสนานั้นสอนไว้ว่า เมื่อยังมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อันเป็นเหตุให้ยึดถือเป็นอุปาทาน หากจะเรียกรวมกันว่าความอยากยึดก็ได้ เมื่อยังมีความอยากยึดอยู่ก็ตายเกิด เกิดเป็นอะไร ก็ตอบได้ว่าเป็นไปตามกรรม คือการงานที่กระทำ กระทำกรรมดีก็ไปเกิดดีมีสุข กระทำกรรมชั่วก็ไปเกิดชั่วมีทุกข์ เป็นไปดั่งนี้ตราบเท่าที่ยังมีตัณหาอุปาทานความอยากยึดอยู่ จึงต้องเป็นทุกข์ร่ำไป เพราะฉะนั้น ในหมวดทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์จึ่งได้ตั้งต้นว่า ชาติ ปิทุกขา แม้ชาติคือความเกิดเป็นทุกข์ ชรา ปิทุกขา ชราความแก่เป็นทุกข์ มรณัม ปิทุกขัง ความตายเป็นทุกข์ ดั่งนี้
วัฏฏะ สังสาระ
เมื่อยังมีตัณหาอุปาทานอยู่จึงต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ร่ำไป ซึ่งความเวียนเกิดเวียนตายนี้ ก็เรียกว่า วัฏฏะ คือความวน สังสาระ หรือสงสารคือความท่องเที่ยวไป ท่องเที่ยวไปเวียนเกิดเวียนตายอยู่ร่ำไป ต่อเมื่อละตัณหาอุปาทานได้ เพราะละอวิชชาคือความไม่รู้จักสัจจะที่เป็นตัวความจริงได้ เพราะได้ตรัสรู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง อันได้แก่อริยสัจจ์ทั้ง ๔ และท่านผู้ที่ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้อย่างสมบูรณ์ ก็ได้แก่พระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ละอวิชชาคือความไม่รู้จริงอันเป็นต้นเหตุของกิเลสทั้งหมด ละตัณหาอุปาทานได้หมด ดังที่กล่าวว่าถอนตัณหาอุปาทานได้หมด พร้อมทั้งรากเหง้าคืออวิชชา เมื่อเป็นดั่งนี้ก็เป็นผู้ไม่เกิดอีก ดังพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้วก็ไม่ถือภพชาติอีกต่อไป เพราะละตัณหาเสียได้ ฉะนั้น จึงได้มีแสดงลักษณะของตัณหาไว้เป็นข้อแรกว่า โปโนพฺภวิกา เป็นไปเพื่อถือภพชาติใหม่ คือเมื่อยังมีตัณหาอยู่ก็ถือภพชาติใหม่อยู่ร่ำไป ฉะนั้นเมื่อละตัณหาเสียได้ ก็ละ โปโนพฺภวิกา คือถือภพชาติใหม่ได้เป็นอันไม่เกิดอีก แต่เมื่อ..และเมื่อไม่เกิด ก็ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย จึงชื่อว่าเป็นผู้ดับทุกข์ เป็นผู้สิ้นทุกข์ได้ด้วยประการทั้งปวง
พระอรหันต์ไม่ตายสูญ
แต่ว่าข้อที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายไม่เกิดอีกนั้น ไม่เรียกว่าสูญ คือไม่เรียกว่าตายสูญ แต่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ไม่มีภาษาจะพูด เพราะว่าเมื่อถอนธรรมะมีกิเลสเป็นต้นได้หมดแล้ว ก็ถอนทางแห่งถ้อยคำที่จะพูดกันทั้งหมดเช่นเดียวกัน
แต่ว่าท่านก็ได้มีกล่าวเปรียบเทียบเอาไว้ ว่าเหมือนอย่างเปลวไฟที่ถูกลมพัดดับไป ไม่ควรจะกล่าวว่าไฟไปข้างไหน ตามอุปมานี้หากจะคิดตามไปก็คิดตามไปได้ว่า แม้ไฟที่ติดเชื้อดับ แต่ธาตุไฟก็ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น แม้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน หรือดับขันธนิพพานไปแล้ว ธาตุธรรมอันไม่มีสมมุติบัญญัติ ไม่มีภาษาจะพูดถึง ก็ยังดำรงอยู่เป็นธาตุเป็นธรรม อันเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่
ในข้อนี้ก็ได้มีพระพุทธภาษิตแสดงถึงลักษณะของธรรมะ หรือของธาตุแท้ไว้ว่า ธาตุนั้นตั้งอยู่เป็นธรรมฐิติความตั้งอยู่แห่งธรรม เป็นธรรมนิยามความกำหนดได้แห่งธรรม คือข้อที่สังขารทั้งหลายเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์คือทนได้ยาก คือทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
ดั่งพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สัพเพ สังขารา ทุกขา สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ สัพเพ ธรรมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงคือทั้งสังขารทั้งวิสังขารเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ดั่งนี้ พระพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้น หรือไม่ทรงอุบัติขึ้น ธาตุนั้นก็คงตั้งอยู่เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยามอย่างนี้ ทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น วิภวตัณหา ตัณหาในวิภพคือความไม่เป็นนั่นเป็นนี่ จึงเป็นความอยากยึดที่ผิด ไม่ถูกต้อง เป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ เช่นเดียวกับกามตัณหา และภวตัณหา
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป