แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ปัญญาในธรรมนั้นโดยตรงคือในสัจจธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริง สัจจธรรมในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ทรงแสดงสั่งสอนเป็นหลักใหญ่นั้น ก็คือหลักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ จะได้แสดงสมุทัยอริยสัจจ์ หรือทุกขสมุทัยอริยสัจจ์ อริยสัจจ์คือทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ สืบต่อจากทุกขอริยสัจจ์ อริยสัจจ์คือทุกข์ที่ได้แสดงแล้ว
ตัณหา ๓
ทุกขสมุทัยอริยสัจจ์ อริยสัจจ์ คือ ทุกขสมุทัยนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงยกตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากขึ้นตรัสแสดงชี้ ว่าเป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ โดยได้ตรัสอธิบายไว้แปลความว่า ตัณหานี้ใดที่เป็นไปเพื่อถือชาติภพใหม่ ไปกับนันทิคือความเพลิน ราคะคือความติดใจ
อภินันท์คือยินดียิ่งในอารมณ์นั้นๆ อันได้แก่ กามตัณหา ตัณหาในกาม ภวตัณหา ตัณหาในภพ วิภวตัณหา ตัณหาในวิภพ
อธิบายต่อไปได้ว่าตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก เป็นไปเพื่อถือชาติภพใหม่ คือนำไปให้เกิดอีกในชาติภพใหม่ เป็นไปกับนันทิคือความเพลิน ราคะคือความติดใจยินดี มีความอภินันท์ยินดียิ่งๆ ขึ้นไปในอารมณ์นั้นๆ
ภพชาติใหม่ในปัจจุบัน
คำแรกที่ว่าเป็นไปให้ถือเอาชาติภพใหม่นั้น คือให้เกิดอีกในชาติภพต่อไป แต่ก็อาจอธิบายเป็นปัจจุบันได้ว่า อันภพชาติหรือว่าชาติภพอย่างละเอียดนั้น คือความเป็นขึ้นใหม่ๆ ของจิตใจในปัจจุบันนี้เอง ซึ่งตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากนำให้เป็นไปใหม่ๆ นั้นๆ ได้ กล่าวคือตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากนั้นที่เป็นไปในสิ่งนั้น เป็นไปในสิ่งนี้ เมื่อเป็นไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ก็นำให้เป็นไปในสิ่งอื่นต่อไปอีก ทำให้เป็นเราเป็นของเราในสิ่งต่างๆ เรื่อยไปโดยไม่จบถ้วน
เช่นว่าตัณหาต้องการสิ่งนี้ เมื่อได้สิ่งนี้มาแล้วตัณหาก็ต้องการสิ่งใหม่ต่อไปอีก เมื่อได้มาก็ต้องการสิ่งใหม่ต่อไปอีก ซึ่งท่านเปรียบเหมือนอย่างว่า เหมือนอย่างไฟไม่อิ่มเชื้อ เมื่อก่อไฟขึ้นไฟก็ติดฟืนไม้หรือไม้ฟืนที่ก่อไฟนั้น และเมื่อนำไม้ฟืนมาใส่ไฟเข้าอีก ไฟก็ติดไม้ฟืนที่ใส่ใหม่นั้นเผาให้เป็นเถ้าถ่านไป แล้วก็ใส่ไฟเข้าอีกไฟก็ติดอีก เพราะฉะนั้นไฟจึงต้องการฟืนใหม่ๆ ที่จะต้องใส่ให้ไม่รู้จักจบถ้วน จะกำหนดว่าเพียงสิบท่อนก็พอหาได้ไม่ ไฟก็จะไหม้สิบท่อนหมดไป (เริ่ม) และต้องเอาฟืนมาใส่เข้าอีกสิบท่อน ก็ไหม้หมดไป เอาใส่อีกสิบท่อนก็ไหม้หมดไป
และยิ่งใส่มากไฟก็ยิ่งกองโตขึ้น และกินเชื้อมากขึ้น เหมือนอย่างไฟที่มีต้นไฟเพียงไฟฟ้าชอร์ต หรือไม้ขีดก้านเดียว ก็ลุกไหม้บ้านเรือนเป็นกองโตมากมายเป็นสิบๆ หลัง ก็ไม่พอแก่ไฟอยู่นั่นเอง ตัณหาก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้สิ่งหนึ่งก็เหมือนอย่างเป็นเชื้อไฟ ที่ถูกตัณหาคือไฟ ไฟคือตัณหาไหม้มอด ก็ต้องการเชื้อที่สองเป็นเชื้อใหม่ เกิดเป็นตัวเราของเราอยู่ในสิ่งเหล่านั้นเรื่อยๆ ไป ตัวเราของเรานี้ก็กองโตขึ้น กองโตขึ้น จนไม่มีที่สุด
อันนี้แหละเป็นลักษณะของคำว่า เป็นไปให้ถือชาติภพใหม่ คือชาติภพนั้นก็คือเป็นเกิดเป็นตัวเราของเรานั้นเองในสิ่งทั้งหลายในโลก เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้ว่า แม้จะได้ภูเขาทองตั้งลูกหนึ่งสองลูก ก็คงไม่เพียงพอแก่ตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากนั้นเอง ศัพท์บาลีท่านว่า โปโนพฺภวิกา ที่แปลว่าเป็นไปให้ถือเอาภพใหม่ ก็คือเป็นตัวเราของเราใหม่ แล้วก็ใหม่ แล้วก็ใหม่ อยู่เรื่อยๆ ไปดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ในการอธิบายนั้นได้ใช้คำว่าชาติภพซึ่งเป็นคำมักจะพูดคู่กัน หรือภพชาติ แต่ชาติกับภพนี้ก็เป็นสิ่งที่คู่กันเช่นเดียวกัน คือเกิดเป็น หรือเป็นเกิด เกิดเป็นเราของเรา เป็นเกิดเราของเราขึ้นมา นี้คือภพ หรือภพชาติ หรือชาติภพ ดังที่กล่าวมาแล้ว
นันทิ ราคะ
มาถึงอีกบทหนึ่งที่ว่าไปกับ นันทิ คือความเพลิดเพลิน ราคะ คือความติดใจยินดี ก็คือมีความเพลินและความติดใจยินดีไปด้วยกันกับความดิ้นรนทะยานอยาก คือว่าความดิ้นรนทะยานอยากนั้นเกิดในสิ่งใด ก็เพลินอยู่ในสิ่งนั้น ติดใจยินดีอยู่ในสิ่งนั้นด้วย หรือจะกล่าวว่าเพลินติดใจยินดีอยู่ในสิ่งใด ก็ดิ้นรนทะยานอยากอยู่ในสิ่งนั้นด้วย เพราะฉะนั้น ความเพลิน ความติดใจยินดี กับความดิ้นรนทะยานอยาก จึงไปด้วยกัน
เพราะฉะนั้น จึงละได้ยาก เพราะเหตุว่าผู้ที่มีตัณหานี้กำกับจิตใจอยู่ ไม่ต้องการที่จะละตัณหา เพราะยังมีความเพลินมีความติดใจยินดีอยู่ เพราะฉะนั้นจึงไม่อยากจะละ ยังอยากที่จะรักษาตัณหาเอาไว้ ยังอยากที่จะอยู่กับตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก ก็เพราะว่าตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากนี้ เป็นเหตุให้เกิดสุขเวทนา คือเวทนาที่เป็นสุขได้ด้วย ไม่ใช่ก่อให้เกิดทุกข์อย่างเดียว
และแม้เวทนาที่เป็นสุขนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นตัวทุกข์อยู่ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ได้ทุกข์ปนสุข ได้สุขปนทุกข์ ไปอยู่ เหมือนอย่างหิวก็เป็นทุกข์ บริโภคอาหารอิ่มก็เป็นสุข แล้วหิวขึ้นใหม่ก็เป็นทุกข์ บริโภคอาหารใหม่ก็เป็นสุข เป็นสุขปนทุกข์อยู่ดั่งนี้
เหตุให้ละตัณหาได้ยาก
เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีจิตใจไม่ละเอียดพอด้วยสติและปัญญา จึงยากที่จะกำหนดรู้ และรับรองว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แม้ว่าทุกคนจะรู้จักตัวตัณหาอยู่ในใจของตัวเอง คือสำหรับที่เป็นตัณหาอนุสัย ตัณหาอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่นั้นอาจจะไม่รู้ แต่ว่าตัณหาที่ปรากฏขึ้นในใจเป็นความดิ้นรนทะยานอยากย่อมรู้ และความเพลินก็ย่อมรู้ ความติดใจยินดีก็ย่อมรู้ ฉะนั้นจึงยังไม่อยากที่จะละ การละจึงเป็นไปได้ด้วยยาก
แต่แม้เช่นนั้นเมื่อใช้ปัญญาพิจารณาแล้วก็ย่อมจะรู้ได้ เบื้องต้นก็ต้องรู้ตามที่ตรัสสอนไว้ตรงๆ นี้ว่า ตัณหาไปกับนันทิคือความเพลิน ราคะคือความติดใจยินดี จะได้รู้ว่าเพราะเหตุนี้เองจึงทำให้ละได้ยาก แต่เมื่อตั้งใจจะละก็ย่อมละได้ แต่ก็ให้รู้ไว้ว่าความเป็นไปของตัณหาเป็นดั่งนี้ก่อน และเป็นลักษณะของตัณหา
อภินันท์ ความเพลิดเพลินยิ่งขึ้น
อีกประการหนึ่ง อภินันท์ยินดียิ่งขึ้น เพลิดเพลินยิ่งๆ ขึ้นไปในอารมณ์นั้นๆ ก็เป็นคำอธิบายให้ชัดขึ้นว่าข้อที่มีความดิ้นรนทะยานอยาก ไปพร้อมกับความเพลิน และความติดใจยินดีนั้น ก็เป็นไปในอารมณ์นั้นๆ นั้นเอง แล้วก็มากยิ่งขึ้น มากยิ่งขึ้น ยากที่จะถดถอย ยากที่จะลดน้อยลง มีแต่จะมากยิ่งขึ้น มากยิ่งขึ้น คือว่าเมื่อรับอารมณ์นั้นๆ ดังที่ทุกคนรับอารมณ์ทั้งหลายอยู่เป็นประจำอยู่ทุกวันทุกเวลา ตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก พร้อมทั้งความเพลินและความติดใจยินดี ก็ยิ่งทวีมากขึ้นๆ จนยากที่จะยับยั้งได้
อันนี้ก็เป็นคำอธิบายในบทต้นๆ ๒ บท คือบทที่ว่า โปโนพฺภวิกา เป็นไปเพื่อถือชาติภพใหม่ และบทว่า นนฺทิราคสหคตา ไปกับนันทิคือความเพลิน และราคะคือความติดใจยินดี ก็มาทำให้มีความอภินันท์ยินดีเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป จนทำให้เหมือนอย่างเป็นไฟกองเล็ก แล้วก็กลายเป็นกองโตขึ้น กองโตขึ้น ดังที่กล่าวอุปมามาแล้วในเบื้องต้น
นี้แหละเป็นลักษณะของตัณหาตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสั่งสอนไว้ อันทุกคนควรจะกำหนดดูให้รู้จักที่จิตใจของตัวเอง ว่านี่แหละเป็นทุกขสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป