แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอนเป็นนิยานิกธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบรำงับ เป็นไปเพื่อความดับโดยรอบ เป็นไปเพื่อความตรัสรู้พร้อม เราทั้งหลายได้ฟังธรรมนั้นแล้ว จึ่งได้รู้ดั่งนี้ว่า แม้ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ โสกะความแห้งใจ ปริเทวะความคร่ำครวญรัญจวนใจ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจความคับแค้นใจ เป็นทุกข์ ความประจวบกับด้วยสิ่งสัตว์สังขารทั้งหลายซึ่งไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งสัตว์สังขารทั้งหลายซึ่งเป็นที่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นสมประสงค์เป็นทุกข์
(เริ่ม) กล่าวโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ ก็คือ รูปขันธ์กองรูป เวทนาขันธ์กองเวทนา สัญญาขันธ์กองสัญญา สังขารขันธ์กองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ และอนุสาสนีพระวาจาที่พร่ำสอนเป็นอันมาก ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้านั้นย่อมมีอย่างนี้ว่า
รูปเป็นอนิจจะไม่เที่ยง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทุกข้อเป็นอนิจจะไม่เที่ยง
รูปเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทุกข้อเป็นอนัตตามิใช่ตัวตน
เราทั้งหลายเป็นผู้อันชาติความเกิดหยั่งลงแล้ว อันชรา ความแก่ มรณะ ความตายหยั่งลงแล้ว
อันความโศกความคร่ำครวญรัญจวนใจ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจหยั่งลงแล้ว
เราทั้งหลายจึ่งพากันปฏิบัติธรรม คือทานศีลภาวนา หรือศีลสมาธิปัญญาตามสามารถ
เพื่อว่าทำไฉนจะพึงพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้ และก็ต่างปรารถนาเพื่อให้การปฏิบัติธรรม
อันพึงเรียกรวมได้ว่าการประพฤติพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบในที่สุดดั่งนี้
นี้เป็นใจความของบทสวดที่เราทั้งหลายผู้สวดบททำวัตรเช้าได้สวดกันอยู่เป็นประจำทุกวัน อันเป็นพระราชนิพนธ์แห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเถรมหาราช เพราะฉะนั้นท่านผู้ใดได้เคยสวดแล้ว หรือแม้ว่าท่านผู้ใดไม่เคยสวด เมื่อได้ฟังดั่งนี้แล้วก็พึงตั้งใจกำหนด รับรองว่าเราทั้งหลายทุกคนต่างก็เป็นไป และต่างก็ปฏิบัติอยู่ดังกล่าว ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนให้เราทั้งหลายได้รู้จักทุกข์ และให้รู้จักด้วยว่า เราทุกคนต่างก็เป็นผู้อันทุกข์หยั่งลงแล้ว มีทุกข์เป็นไปในเบื้องหน้า และการปฏิบัติพรหมจรรย์ การปฏิบัติธรรมทั้งปวงก็มุ่งผลที่สุด ก็คือสุดทุกข์สิ้นทุกข์ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอน ก็ล้วนแต่สั่งสอนให้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ
และในการสอนนี้ บางคนผู้ได้ฟังอาจจะมีความคิดว่า ทำไมพระพุทธศาสนา หรือพระพุทธเจ้าจึงสอนให้มองเห็นทุกข์เต็มไปหมด ทำให้รู้สึกหวาดเสียวต่อทุกข์ บางทีก็ไม่พอใจที่จะฟังเรื่องทุกข์ เพราะฟังแล้วไม่เกิดความสุข ในข้อนี้ทุกคนจึงควรพิจารณาว่า คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสัจจะคือความจริง และที่ตรัสสอนเรื่องทุกข์ก็เพื่อให้รู้จักทุกข์ และเพื่อปฏิบัติให้พ้นทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ ดังที่ตรัสถึงพระนิพพานว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานคือธรรมะเป็นที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์ ไม่มีกิเลสและกองทุกข์ร้อยรัด เป็นบรมสุข ดั่งนี้ ฉะนั้น ทรงแสดงเรื่องทุกข์ ก็เพื่อให้รู้จักทุกข์ และเพื่อพ้นทุกข์
ตามนัยยะที่ตรัสไว้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือทุกข์ ทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ ทุกขนิโรธความดับทุกข์ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อริยสัจจ์ ๔ นี้ เป็นสัจจะธรรมที่สมบูรณ์ ทั้งด้านทุกข์ และทั้งด้านดับทุกข์ ตรัสสอนให้รู้จักทุกข์พร้อมทั้งเหตุ ตรัสสอนให้รู้จักความดับทุกข์พร้อมทั้งเหตุ และเมื่อได้รู้จักอันเป็นจักขุคือดวงตา ญาณะหรือญาณคือความหยั่งรู้ ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง วิชชาคือความรู้จริงแจ้ง อาโลกะคือแสงสว่างอันได้แก่ความรู้ เป็นดวงตา เป็นญาณ เป็นปัญญา เป็นวิชชา เหมือนอย่างเป็นแสงสว่างที่ทำให้มองเห็น มองเห็นอะไร ก็คือมองเห็นทุกข์ มองเห็นเหตุเกิดทุกข์ มองเห็นความดับทุกข์ มองเห็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะบรรลุถึงนิพพานอันเป็นบรมสุขได้
ฉะนั้น พระพุทธศาสนาหรือพระพุทธเจ้า จึ่งมิได้สอนว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ไปหมด และทุกคนจะต้องจมอยู่ในทุกข์ แต่ว่าตรัสสอนให้รู้จักทุกข์เพื่อที่จะได้พ้นทุกข์ คือจะได้ประสบบรมสุขในที่สุด ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่สมบูรณ์ไม่มีบกพร่อง เราทั้งหลายจึ่งสมควรที่จะอบรมศีล อบรมสมาธิ อบรมปัญญา เพื่อให้มองเห็นทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ดังกล่าว
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้พิจารณาให้มองเห็นทุกข์เป็นข้อแรก ก็เพราะทุกคนกำลังเป็นผู้อันทุกข์หยั่งลง หยั่งลงแล้ว หยั่งลงอยู่ และหยั่งลงต่อไป หรือว่าครอบงำแล้ว ครอบงำอยู่ ครอบงำต่อไป เป็นผู้อันทุกข์เป็นไปในเบื้องหน้า ก็คือ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณะทุกข์ และโสกะปริเทวะเป็นต้นดังกล่าว
และเมื่อกล่าวโดยย่อ พระพุทธเจ้าก็ตรัสสรุปเข้าในขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ คือ รูปขันธ์กองรูป เวทนาขันธ์กองเวทนา สัญญาขันธ์กองสัญญา สังขารขันธ์กองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ อันเป็นที่ยึดถือ ก็คือทุกคนต่างก็มีขันธ์ ๕ อยู่ด้วยกัน และต่างก็ยึดถือในขันธ์ ๕ ที่มีอยู่ ว่า เอตํ มม นี่เป็นของเรา เอโสหมสฺมิ เราเป็นนี่ เอโส เม อตฺตา นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา ต่างก็มีความยึดถือกันอยู่ดั่งนี้ จึงเรียกว่า อุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ
เมื่อมีความยึดถือดั่งนี้ ทุกคนจึงต้องเป็นทุกข์ไปตามขันธ์ เพราะว่าเมื่อยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นของเรา เราเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตนของเรา เมื่อขันธ์ ๕ เกิดจึงรู้สึกว่าเราเกิด เมื่อขันธ์แก่จึงรู้สึกว่าเราแก่ เมื่อขันธ์ ๕ ตายจึงรู้สึกว่าเราตาย หรือรู้สึกว่าของเราแก่ ของเราเกิด ของเราตาย ย่อมมีความรู้สึกดั่งนี้ ก็เพราะยึดถือว่าขันธ์ ๕ เป็นของเรา เราเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตนของเรา
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนเป็นพหุลานุสาสนีเนืองๆ ว่ารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นอนิจจะไม่เที่ยง รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ตามบทที่สวดกันดังกล่าว แต่ว่าในที่นี้อาจจะมีสงสัยว่าเคยได้ยินได้ฟังโดยมากว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังคือไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ อนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ๓ ข้อ อันเรียกว่าไตรลักษณ์ ลักษณะเป็นเครื่องกำหนดหมาย ๓ ข้อ แต่ว่าในบทที่สวดนั้นมีเพียง ๒ ข้อ คือ อนิจจะ กับ อนัตตา ในข้อนี้พึงทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงลักษณะเครื่องกำหนดหมาย ของสังขารทั้งหลายไว้ ๒ นัยยะ นัยยะหนึ่ง อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา ๓ ข้อ อีกนัยยะหนึ่งอนิจจะ กับ อนัตตา ๒ ข้อ
พึงทราบอธิบายโดยย่อของ ๓ ข้อก่อนว่า ข้อแรก อนิจจะไม่เที่ยง เพราะต้องเกิดขึ้นดับไปเป็นต้น ข้อสอง ทุกขะเป็นทุกข์ อันได้แก่ทนอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป โดยต้องถูกความเกิดความดับบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา และ อนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ก็เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ บังคับว่าอย่าเกิดแก่เจ็บตายก็บังคับมิได้ เมื่อเกิดมาก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไปตามธรรมดา เมื่อบังคับมิได้เช่นนี้จึงมิใช่เป็นอัตตาตัวตน หากเป็นอัตตาตัวตนแล้วก็ควรจะบังคับได้ อนิจจะทุกขะ อนัตตา มีอธิบายโดยย่อดั่งนี้
ส่วนที่มี ๒ คือ อนิจจะกับอนัตตานั้น แสดงในบางคราว ในเมื่อยกทุกข์ขึ้นมาเป็นประธาน ดังในอริยสัจจ์ยกทุกข์หรือทุกขะขึ้นมาเป็นประธาน หรือตามบทที่สวดนั้นก็ยกเอาทุกขะขึ้นมาเป็นประธาน ตามนัยยะในทุกขอริยสัจจ์ ที่ว่าเราทั้งหลายได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล้ว ย่อมรู้ว่า ชาติปิ ทุกฺขา แม้ความเกิดเป็นทุกข์ ชราปิ ทุกฺขา แม้ความแก่เป็นทุกข์ มรณมฺปิ ทุกฺขํ แม้ความตายเป็นทุกข์ เป็นต้น ตามนัยยะทุกขอริยสัจจ์ยกทุกข์ขึ้นมาเป็นประธานตลอดบทที่สวดนั้น ตลอดจนถึงว่าเราทั้งหลายเป็นผู้อันทุกข์หยั่งลงแล้วครอบงำแล้ว คือเป็นผู้อันชาติทุกข์ชราทุกข์มรณะทุกข์เป็นต้น หยั่งลงแล้วครอบงำแล้ว
ฉะนั้นเมื่อยกทุกข์ขึ้นมาเป็นประธานดั่งนี้แล้ว พหุลานุสาสนีคำสั่งสอนโดยมากจึงได้จำแนกออกว่า ขันธ์ ๕ เป็นอนิจจะไม่เที่ยง ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน และพระอาจารย์ก็สอนกันมาว่า แม้ว่าจะไม่แสดงทุกขะให้ครบ ๓ แต่ว่าทุกขะนั้นก็รวมอยู่ในอนิจจะด้วยแล้ว ทั้งเมื่อพิจารณาดูซึ่งอรรถของอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ก็อาจกล่าวเพิ่มเติมได้อีกว่า รวมอยู่ในบทว่าอนัตตาด้วยแล้ว เพราะว่าจะแสดงเป็น ๓ ก็ตาม แสดงเป็น ๒ ก็ตาม ทั้ง ๓ นี้ หรือทั้ง ๒ นี้ ย่อมเนื่องเป็นอันเดียวกัน
(เริ่ม) จึงได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ด้วยว่า สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตนดั่งนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นอนิจจะก็ย่อมเป็นทุกข์ และก็ย่อมเป็นอนัตตาเนื่องกันไป ฉะนั้น แม้จะแสดงไว้เพียง ๒ ก็รวมทุกข์อยู่ด้วยแล้ว และอีกอย่างหนึ่งตามนัยยะอริยสัจจ์ ยกทุกข์ขึ้นเป็นประธาน เมื่อเป็นทุกข์ก็ย่อมบ่งถึงว่าเป็นอนิจจะและเป็นอนัตตาประกอบกันไป ผู้ปฏิบัติธรรมเมื่อพิจารณาเห็นความแล้วจึงไม่สงสัย จะแสดงโดย ๒ ข้อหรือ ๓ ข้อก็มีครบทั้งหมด โดยเหตุนัยยะดังที่ได้กล่าวมา
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป