แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พหุลานุสาสนี คือคำพร่ำสอนเป็นอันมากของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ดังได้แสดงแล้วว่ามีอย่างนี้คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อนิจจะไม่เที่ยง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน และในตอนท้ายยังได้ตรัสไว้ต่อไปว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งปวงเป็นอนิจจะไม่เที่ยง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ดั่งนี้ จึงมีปัญหาว่าไฉนในบท อนัตตา จึงได้ตรัสยกเอาว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ตรัสว่าสังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา
ในข้อนี้พระอาจารย์ได้อธิบายสั่งสอนกันมาว่า เพราะในข้ออนัตตานี้มีแก่ทั้ง สังขตธรรม และ อสังขตธรรม หรือแก่ทั้งสังขารและวิสังขาร คำว่า สังขตธรรม นั้นแปลว่าธรรมะที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ตรงกับคำว่า สังขาร สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ส่วน อสังขตธรรม แปลว่าธรรมะที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ตรงกับคำว่า วิสังขาร คือธรรมะที่ปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง
ฉะนั้น จึงพึงเข้าใจเรื่องสังขตธรรมและอสังขตธรรม หรือสังขารและวิสังขารต่อไปอีกว่า สังขตธรรม ธรรมะที่มีปัจจัยปรุงแต่ง หรือสังขารสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งนั้น ก็หมายถึงสิ่งที่เรียกว่าสังขารกันโดยทั่วไปนั้นเอง เพราะมีปัจจัยคือเหตุต่างๆ ปรุงแต่ง ดั่งเช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นขันธ์ ๕ ซึ่งสรุปเข้าก็เป็นนามรูป คือรูปก็คงเป็นรูป เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เป็นนาม รูป นาม แต่เรียกกลับกันว่า นาม รูป
ขันธ์ ๕ หรือนามรูปนี้มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา สามัญปัจจัย ปัจจัยทั่วไปก็ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรม อวิชชาก็ได้แก่ความไม่รู้จักสัจจะที่เป็นความจริง ตัณหาก็ได้แก่ความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานก็ได้แก่ความยึดถือ กรรมก็ได้แก่การงานที่ทำทางกายทางวาจาทางใจ ด้วยความจงใจ นี้เป็นสามัญปัจจัย คือเหตุปัจจัยทั่วไปของขันธ์ ๕ หรือของนามรูป และยังมีเหตุปัจจัยจำเพาะ เช่น เหตุปัจจัยของรูปก็คืออาหาร เหตุปัจจัยของนามธรรมทั้งหลาย ก็ได้แก่อายตนะภายใน อายตนะภายนอกที่มาประจวบกัน หรือยกเอาวิญญาณเป็นปัจจัยของ เวทนา สัญญา สังขาร ขันธ์ ๕ หรือนามรูป มีปัจจัยคือเหตุให้เกิดขึ้น ดั่งนี้
เหตุปัจจัยเหล่านี้เองเป็นเครื่องปรุงแต่งขันธ์ ๕ หรือนามรูปให้บังเกิดขึ้น และเมื่อปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ก็มีความเกิดปรากฏ มีความเสื่อมไปปรากฏ เมื่อยังตั้งอยู่ก็มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสแสดงสังขตลักษณะ คือลักษณะทั่วไปของสังขตธรรม ธรรมะหรือสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งไว้ว่า อุปฺปาโท ปญฺญายติ ความเกิดขึ้นปรากฏ วโย ปญฺญายติ ความเสื่อมสิ้นไปปรากฏ ฐิตานํ อญฺญถตฺตํ ปญฺญายตีติ เมื่อยังตั้งอยู่ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ ดั่งนี้
และสังขารนี้เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วท่านก็แสดงไว้ ๒ อย่าง คือ อุปาทินกสังขาร สังขารที่มีใจครอง อนุปาทินกะสังขาร สังขารที่ไม่มีใจครอง สังขารที่มีใจครองนั้นก็ได้แก่ร่างกายของมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายที่ยังดำรงชีวิตอยู่ อนุปาทินกสังขาร สังขารที่ไม่มีใจครองก็เช่น ต้นไม้ ภูเขา วัตถุต่างๆ เช่นตึกรามบ้านเรือน ตลอดจนถึงสังขารของมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายที่สิ้นชีวิตแล้ว ไม่มีใจครองแล้ว ก็กลายเป็นอนุปาทินกะสังขาร
อีกอย่างหนึ่ง นักปฏิบัติธรรมได้มีความเห็นว่า อุปาทินกะสังขารคือสังขารที่ยังมีอุปาทานครอง ส่วนอนุปาทินกะสังขารคือสังขารที่ไม่มีอุปาทานครอง อุปาทานได้แก่ความยึดถือ ดังที่มีคำเรียกขันธ์ว่าขันธ์ ๕ ว่าขันธ์ที่มีความยึดถือ ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า กล่าวโดยย่อ สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา กล่าวโดยย่อคือขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ ถ้าหากว่าละอุปาทานได้แล้ว ขันธ์ทั้ง ๕ ก็ไม่เป็นขันธ์ที่มีอุปาทานยึด คือความยึดถือ เป็นขันธ์ ๕ เฉยๆ เหมือนอย่างขันธ์ ๕ ของพระพุทธเจ้า และพระอรหันตขีณาสพ ซึ่งยังดำรงชีวิตอยู่ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ที่แยกออกเป็น อุปาทินกสังขาร อนุปาทินกสังขาร จึงมุ่งถึงอุปาทาน ยังมีอุปาทานก็เป็นอุปาทินกะ ไม่ว่าจะเป็นสังขารที่ยังมีจิตใจครองอยู่ หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อละอุปาทานได้แล้ว สังขารทั้งหมดทั้งที่เป็นมีใจครอง ทั้งที่ไม่มีใจครอง ก็เป็นอนุปาทินกสังขาร
แต่แม้ว่าจะอธิบายต่างกัน แต่ก็รวมเข้าว่าที่เรียกว่าสังขาร ก็เพราะประกอบด้วยสังขตลักษณะ ๓ ประการดังที่กล่าวมา และทั้งสังขารหรือสังขตธรรม ทั้งวิสังขารหรืออสังขตธรรม ล้วนเป็นอนัตตาทั้งนั้น แต่ว่าวิสังขารหรืออสังขตธรรมนั้นไม่เข้าลักษณะเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ทุกขะ เป็นทุกข์ เข้าลักษณะเป็นอนัตตาแต่เพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างนิพพานเป็นวิสังขาร เป็นอสังขตธรรม ก็เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ถ้าหากว่ายังมีความยึดถืออยู่ ก็บรรลุนิพพานไม่ได้ ต่อเมื่อละความยึดถือแม้ในนิพพานเอง จึงบรรลุนิพพานได้
ดังที่มีเรื่องแสดงถึงพระอานนทเถระ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท่านยังเป็นพระเสขะบุคคล คือเป็นพระโสดาบัน ยังไม่บรรลุมรรคผลยิ่งขึ้นไปจนถึงอรหัตตมรรค อรหัตตผล ท่านเป็นผู้ทรงธรรมทรงวินัยทั้งหมดของพระพุทธเจ้าไว้ได้ ฉะนั้น ในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๑ ซึ่งพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ก็ได้เลือกพระสงฆ์เข้าร่วมเป็นสังคีติการกะ คือผู้กระทำการสังคายนาพระธรรมวินัย ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ๔๙๙ รูป เว้นไว้ ๑ รูป ก็เพื่อเลือกพระอานนทเถระ ซึ่งเป็นผู้ทรงจำพระธรรมวินัยไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม จำเป็นจะต้องเลือกท่านเข้า พระเถระทั้งหลายจึงได้มีฉันทานุมัติให้เลือกท่านเข้าอีกรูปหนึ่ง จึงมีพระอรหันต์ทั้งหมด ๔๙๙ รูป มีพระอานนท์เพียงรูปเดียวซึ่งเป็นพระโสดาบัน
ท่านพระมหากัสสปเถระจึงได้เตือนท่านพระอานนท์ ให้เร่งกระทำความเพียรเพื่อให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ท่านพระอานนท์ก็เร่งกระทำความเพียร จนถึงราตรีสุดท้ายของราตรีแห่งวันรุ่งขึ้น ก็จะทำสังคายนา ท่านพระอานนท์ก็เร่งทำความเพียรในคืนนั้นอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่ได้มรรคผลนิพพาน ท่านจึงดำริว่าจะพัก จึงได้เอนกายลงเพื่อที่จะพัก ในขณะที่เอนกายลงยังไม่ถึงอิริยาบถที่เรียกว่านอน ท่านก็ได้บรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผล คือบรรลุมรรคผลนิพพานในเวลานั้น ก็เป็นอันว่าท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ทันวันเข้าประชุมสงฆ์วันแรกแห่งสังคายนาครั้งที่ ๑
พระอาจารย์ได้อธิบายกันมาว่า ทั้งนี้เพราะว่าในขณะที่ท่านยังเร่งความเพียรมากอยู่นั้น จิตใจท่านก็ยังมีความต้องการ ต้องการจะบรรลุอรหัตตมรรค อรหัตตผล หรือมรรคผลนิพพาน ยังมีความยึดถืออยู่ในมรรคผลนิพพานที่จะบรรลุ ต้องการจะให้มรรคผลนิพพานสำเร็จเป็นของเรา ว่าเราบรรลุมรรคผลนิพพาน อันนี้ยังเป็นอุปาทานอันเกิดจากตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก ความต้องการ จึงกล่าวว่ายังมีตัณหาอุปาทานทั้ง ๒ ข้อก็ได้ หรือจะยกเอาอุปาทานข้อเดียวก็ได้ ยกเอาตัณหาขึ้นกล่าวข้อเดียวก็ได้ แต่เมื่อครั้นท่านคิดว่าจะพัก ท่านก็ปล่อยวางตัณหาอุปาทานในขณะนั้น ท่านจึงบรรลุทันทีในขณะที่กำลังเอนกายลง อันเรียกว่าอยู่ในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔ ไม่ใช่เดิน ไม่ใช่ยืน ไม่ใช่นั่ง ไม่ใช่นอน
พระอาจารย์ก็อธิบายกันมาดั่งนี้ เป็นเครื่องแสดงว่า ตราบเท่าที่ยังมีตัณหาอุปาทานอยู่ก็บรรลุไม่ได้ จะบรรลุได้ในเมื่อวาง อันแสดงว่าทางพระพุทธศาสนานั้นแสดงอนัตตาเป็นยอด คือแสดงว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงมิใช่อัตตาตัวตน จะบรรลุถึงมรรคผลนิพพานได้ก็จะต้องวางตัณหาอุปาทานให้ได้ แม้ในมรรคผลนิพพานเอง จึงจะบรรลุได้ เพราะฉะนั้นคำว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นี้จึงมีความหมายอันสำคัญในพระพุทธศาสนา แสดงว่าพระพุทธศาสนานั้นแสดงยอดธรรมะเป็นอนัตตา และธรรมะทั้งปวงที่ไม่ใช่ยอดธรรมะก็อนัตตาทั้งหมด
แต่ว่าในข้อว่าอนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะ เป็นทุกข์นั้น เป็นไปจำเพาะสังขาร ในส่วนมรรคผลนิพพานนั้น มิใช่อนิจจะ มิใช่ทุกขะ เพราะฉะนั้น ธรรมะในพุทธศาสนานั้นจึงเป็นอนัตตาทั้งหมด ทั้งสังขารและวิสังขาร ก็เป็นอันว่าแม้จะตรัสสรุปไว้ข้างท้ายดั่งนี้ก็ตาม แต่ก็อาจจะอธิบายแยกได้ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา หรือหากจะแสดงโดยไตรลักษณ์ ก็แสดงได้ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา (เริ่ม) และวิสังขารก็เป็นอนัตตา แต่ว่าเพื่อที่จะแสดงอย่างรวบรัดรวมกันทั้งสังขารทั้งวิสังขารเป็นอนัตตาด้วยกัน จึงใช้คำว่าธรรมแทนซึ่งเป็นคำกลางๆ มีความหมายรวมทั้งที่เป็นสังขตธรรมคือสังขาร ทั้งที่เป็นอสังขตธรรมคือวิสังขาร
นี้เป็นอธิบายธรรมะในบทที่เราทั้งหลายสวดกันอยู่ อันผู้ปฏิบัติธรรมควรจะมีความเข้าใจ เพื่อที่จะได้ไม่สงสัย และเพื่อที่จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป