แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ และได้ทรงแสดง วิชชาวิมุติ ต่อขึ้นไปทีเดียว ไม่ตรัสถึงอริยสัจจ์ ๔ ก็มี ตรัสโพชฌงค์ ๗ แล้ว ตรัสอริยสัจจ์ ๔ ต่อก็มี นี้เป็นความต่างกันแห่งธรรมปริยาย คือทางแห่งการแสดงธรรม แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นอันเดียวกัน คือในปริยายคือทางที่ทรงแสดงโพชฌงค์ต่อด้วยวิชชาวิมุติ ผู้ปฏิบัติก็พึงเข้าใจว่า วิชชา นั้นก็คือความรู้ในอริยสัจจ์นั้นเอง ฉะนั้น แม้ไม่ตรัสถึงอริยสัจจ์โดยตรง ก็ต้องหมายถึงอริยสัจจ์นั้นเอง ต่อขึ้นไปด้วยในข้อวิชชาคือความรู้ ซึ่งหมายถึงความรู้จริงแจ่มแจ้ง ดังที่เรียกว่าตรัสรู้ ส่วนที่ตรัสโพชฌงค์แล้วต่อด้วยอริยสัจจ์นั้นก็เป็นนัยยะที่ทรงแสดง ยกอริยสัจจ์ขึ้นต่อ ก็หมายถึงวิชชาในอริยสัจจ์นั้นเอง
เพราะอริยสัจจ์นั้นจะบังเกิดขึ้นเองไม่ได้ ต้องอาศัยญาณคือความหยั่งรู้ วิชชาคือความรู้แจ้งจริง หรือความรู้จริงแจ้ง จึงได้มีตรัสอธิบายในข้ออริยสัจจ์ว่า ญาณคือความหยั่งรู้ ในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ญาณคือความหยั่งรู้นั้นก็คือวิชชานั้นเอง เป็นอันเดียวกัน ฉะนั้น ปริยายแห่งธรรมทั้ง ๒ นี้ จึงเป็นอย่างเดียวกัน
และผู้ปฏิบัติก็พึงเข้าใจด้วยว่า ญาณในอริยสัจจ์ หรือวิชชาในอริยสัจจ์ ก็ต้องมาจากโพชฌงค์ และเมื่อกล่าวถึงสติปัฏฐานด้วย ก็กล่าวได้ว่าโพชฌงค์ก็มาจากสติปัฏฐาน และสติปัฏฐานนั้นเองก็ยังมีตรัสว่า อาศัยสุจริต ๓ หรือศีล ฉะนั้น จึงเข้าในหลักของ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นหลักของการศึกษาปฏิบัติธรรมทั้งปวง จะต้องปฏิบัติทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ด้วยกัน จึงจะไปถึงวิชชาวิมุติ คือวิชชาหรือญาณในอริยสัจจ์ และวิมุติความหลุดพ้น
ในอริยสัจจ์ ๔ นั้นเริ่มต้นด้วย ทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ แต่ก็พึงเข้าใจคำว่าอริยสัจจ์ก่อน คำว่าอริยสัจจ์นั้นประกอบด้วยคำ ๒ คำ คืออริยะศัพท์หนึ่ง สัจจะอีกศัพท์หนึ่ง อริยะนั้นแปลกันว่าประเสริฐเจริญ และสัจจะนั้นแปลกันว่าความจริง เป็นการแปลตามความหมาย คืออริยะหมายความว่าประเสริฐ หมายความว่าเจริญ สัจจะหมายความว่าความจริง ก็เป็นที่เข้าใจกัน สัจจะคือความจริงนั้นมักจะพูดคู่กับธรรมะ ว่าสัจจะธรรมในภาษาไทย ก็แปลว่าธรรมะคือสัจจะ ธรรมะคือความจริง
คำว่า ธรรมะ นั้นจะแปลว่าอะไร กล่าวโดยความก่อน โดยความนั้น ธรรมะแปลเป็นกลางๆ ว่าทรงไว้ คือดำรงอยู่ เมื่อแปลเป็นกลางๆ ดั่งนี้ ธรรมะจึงมีความหมายเป็นกลางๆ ดีก็เรียกว่าธรรมะ ชั่วก็เรียกว่าธรรมะ เป็นกลางๆ ก็เรียกว่าธรรมะ ดังในอภิธรรมว่า กุสลาธรรมา ธรรมะเป็นกุศลคือดี อกุสลาธรรมา ธรรมะเป็นอกุศลคือชั่ว อัพยากตาธรรมา ธรรมะเป็นอัพยากฤต คือไม่พยากรณ์ว่าดีหรือชั่วอันหมายถึงเป็นกลางๆ
อีกอย่างหนึ่ง ธรรมะแปลว่าความดี ดั่งเช่นมีพระพุทธวัจนะตรัสไว้ว่า นหิ ธมฺโม อธมฺโม จ ธรรมคือความดี อธรรมคือสภาพที่ไม่ใช่ความดี อุโภ สมวิปากิโน ทั้งสองหามีวิบากคือผลเสมอกันไม่ อธมฺโม นิรยํ เนติ อธรรมย่อมนำไปสู่นิรยะคือนรก ธมฺโม ปาเปติ สุคฺคติ ธรรมะย่อมให้บรรลุถึงสวรรค์ ดั่งนี้
ในพระสูตรนั้นโดยมากแสดงธรรมะเป็นความดี ดังเช่นที่ยกมานั้น ส่วนในอภิธรรมแสดงธรรมะเป็นกลางๆ ตามศัพท์ของธรรมะที่แปลว่าทรงไว้ หรือดำรงอยู่ ก็เพราะว่า ทั้งดี ทั้งชั่ว ทั้งที่เป็นกลางๆ นั้น ย่อมทรงตัวอยู่ ดำรงอยู่ เป็นความดี หรือเป็นความชั่ว หรือเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ตามภาวะของตน จึ่งได้มีดี มีชั่ว มีกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ถ้าหากว่าไม่มีความทรงตัวอยู่หรือดำรงอยู่ ดีก็จะไม่มี ชั่วก็จะไม่มี กลางๆ ก็จะไม่มี เพราะฉะนั้น ธรรมะจึงมีความหมายทั่วๆ ไปดังที่กล่าวมานี้
และธรรมะที่พูดกันนั้นมักจะหมายถึงตัวสัจจะคือความจริง ดั่งที่เรียกว่าสัจจะธรรม ธรรมะคือความจริง เพราะความจริงนี้เป็นสภาพที่ทรงตัวอยู่ดำรงอยู่ คือเมื่อเป็นความจริงก็ทรงตัวเป็นความจริง แม้เมื่อเป็นความชั่วก็ทรงตัวอยู่เป็นความชั่ว เป็นกลางๆ ก็ทรงตัวอยู่เป็นกลางๆ ตามเป็นจริง ความจริงย่อมทรงตัวอยู่ หรือดำรงตัวอยู่ดั่งนี้ คือจริง เป็นความจริง ไม่แปรเป็นชั่ว หรือเป็นอย่างอื่นไปได้ ไม่แปรเป็นเท็จ คือไม่แปรเป็นอย่างอื่นไปได้ คือ
จริงต้องเป็นจริง ไม่กลายเป็นเท็จหรือเป็นอื่นไปได้ ส่วนที่บุคคลเข้าใจกัน หรือที่บุคคลพูดกันนั้นอาจจะผิดได้ แต่ไม่ทำให้สัจจะคือความจริงนั้นผิดไป
เช่น ตามความจริงเป็นความดี ใครจะไปพูดว่าดีหรือชั่ว ก็เป็นเรื่องของคนพูดกันไปเข้าใจกันไป จริงดีก็เป็นดีจริงอยู่นั่นเอง จริงชั่วก็เป็นชั่วจริงอยู่นั่นเอง จริงกลางๆ ก็เป็นกลางๆ จริงอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น จริงจึงต้องเป็นจริงอยู่ตลอดไป ไม่เปลี่ยนเป็นเท็จไปตามคนพูด หรือตามคนเข้าใจ สัจจะคือความจริงจึงหมายความดั่งนี้ และอันนี้แหละคือตัวธรรมะด้วย ตัวธรรมะจริงๆ นั้น เมื่อเป็นสิ่งที่ทรงอยู่ดำรงอยู่ ก็ต้องเป็นของจริงของแท้ ธรรมะที่แท้จริงนั้นจึงเป็นสัจจะคือความจริง
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็กล่าวกันว่าตรัสรู้ธรรม ก็หมายถึงตรัสรู้สัจจะธรรม ธรรมะคือความจริง หรือที่เป็นตัวความจริงดังกล่าว แต่มักจะพูดกันในภาษาไทยว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม คือตรัสรู้พระธรรมอย่างที่พูดกัน และเมื่อพูดให้ชัดขึ้นอีก อาศัยปฐมเทศนาเป็นต้น ก็กล่าวว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ แต่แม้จะพูดว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม หรือตรัสรู้ธรรม ก็คือตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ นั้นเอง เพราะฉะนั้นคำว่าสัจจะคือมีความหมายดังกล่าว และธรรมะก็มีความหมายดังกล่าว และทั้งสองคำนี้ก็เป็นคำที่นำมาใช้กันในภาษาไทย เพราะฉะนั้น จึงควรเข้าใจความหมายของคำทั้ง ๒ นี้ให้ถ่องแท้
อริยสัจจ์ มีคำแปลได้หลายอย่าง ตามที่ท่านอาจารย์ทั้งหลายได้แสดงกันไว้ คือพระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ หรือพระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ ฉะนั้น คำว่าอริยสัจจ์จึงแปลได้ว่า สัจจะที่พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นตรัสรู้ หรือยกพระพุทธเจ้าขึ้นพระองค์เดียวเพราะตรัสรู้เป็นพระองค์แรก พระสาวกนั้นตรัสรู้ตาม ก็กล่าวได้ว่าสัจจะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้
อนึ่ง พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เพราะได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ จึ่งได้เป็นพระอริยะ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นขึ้น ฉะนั้น อริยสัจจ์ จึงอาจที่จะแปลความหมายได้อีกว่า สัจจะที่ทำให้พระอริยะมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ผู้ตรัสรู้ขึ้นเป็นพระอริยะมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นขึ้น อนึ่ง คำว่าอริยะสัจจ์ที่แปลมาประการหลังนี้ ก็อาจจะแปลให้สั้นขึ้นว่า สัจจะที่เป็นเหตุให้ผู้รู้เป็นพระอริยะ
อนึ่ง อริยะแปลตามความได้ว่าประเสริฐ คือจริงถ่องแท้ อริยะสัจจ์จึงอาจแปลได้ว่า สัจจะที่ประเสริฐคือจริงถ่องแท้ ไม่ผิดพลาด และอริยสัจจ์นี้ก็มี ๔ ได้แก่ อริยสัจจ์คือทุกข์ คือทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ คือทุกขนิโรธความดับทุกข์ คือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป