แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จิตนี้ที่ปฏิบัติไม่ได้สมาธิ ไม่ได้ปัญญา ไม่ได้บรรลุความสิ้นทุกข์ ก็เพราะมีอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองของจิตกั้นกางอยู่ อันได้แก่นิวรณ์ทั้ง ๕ คือ กามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม ด้วยอำนาจกาม พยาบาท ความหงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคืองมุ่งร้ายหมายทำลาย ถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และวิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัย
กรรมฐานเครื่องระงับนิวรณ์
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสอุปมาว่า เหมือนอย่างเหล็กโลหะดีบุกตะกั่วและเงิน ทั้ง ๕ ประการนี้เป็นอันตรายแก่ทองคำเนื้อบริสุทธิ์ เพราะเมื่อมีสิ่งทั้ง ๕ นี้ผสมอยู่ ก็จะทำให้เนื้อทองคำไม่บริสุทธิ์ ไม่อ่อนไม่ควรแก่การงาน คือไม่ควรที่จะทำทองรูปประพรรณต่างๆ
ฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนให้ระงับนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการนี้ ด้วยกรรมฐานอันเป็นเครื่องระงับนิวรณ์ข้อนั้นๆ ซึ่งที่ได้ตรัสแนะเอาไว้ ก็คือให้อาศัย อสุภสัญญา หรือ อสุภนิมิต สัญญาหรือนิมิต คือกำหนดหมายว่าไม่งดงาม มีโยนิโสมนสิการคือความใส่ใจเข้าใจในอสุภนิมิตหรืออสุภสัญญานี้ กระทำให้มากก็จะระงับกามฉันท์ได้ และให้อาศัย เจโตวิมุติ คือความหลุดพ้นแห่งใจด้วยเมตตา คือแผ่จิตไปด้วยความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข จนใจนี้หลุดพ้นจากโทสะพยาบาท มีโยนิโสมนสิการ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคายคือใส่ใจถึงมีความเข้าใจในเจโตวิมุติ การอาศัยเมตตากระทำให้มากก็จะระงับโทสะพยาบาทได้
และให้อาศัย อาโลกสัญญา คือการทำสัญญากำหนดรู้ความสว่าง ประกอบกับให้มีจิตใจที่ตั้งขึ้นด้วยความเพียรริเริ่ม ด้วยความเพียรที่ดำเนินไป และด้วยความเพียรที่ก้าวหน้า มีโยนิโสมนสิการ มีการกระทำให้มากในความเพียรเหล่านี้ และในอาโลกสัญญา สำคัญกลางคืนเหมือนอย่างกลางวัน กลางวันเหมือนอย่างกลางคืน คือมีความสว่าง ก็จะทำให้ระงับถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้
และให้อาศัยความสงบของใจ สมาธินิมิต กำหนดหมายจิตให้เป็นสมาธิ กำหนดหมายให้จิตไม่ฟุ้งซ่าน มีโยนิโสมนสิการกระทำให้มากในความไม่สงบแห่งใจ ในสมาธินิมิต และในความไม่ฟุ้งซ่าน ก็จะสงบรำงับความฟุ้งซ่านรำคาญใจได้
อาศัย โยนิโสมนสิการ ความใส่ใจโดยแยบคายในธรรมะที่เป็นกุศลและอกุศล ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ที่มีคุณมีโทษ ว่าอะไรมีคุณ อะไรมีโทษ ที่เลวและที่ประณีต ว่าอะไรเลว อะไรประณีต และในธรรมะที่เทียบกันระหว่างสีขาวกับสีดำ ก็คือฝ่ายอกุศลเป็นต้นก็เป็นสีดำ ฝ่ายกุศลเป็นต้นก็เป็นสีขาว มีโยนิโสมนสิการดังกล่าวกระทำให้มาก ในธรรมะอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยทั้งหลาย ว่าอะไรเป็นอะไร ก็จะสงบระงับความเคลือบแคลงสงสัยได้
(เริ่ม) และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว การปฏิบัติทางจิตทั้งหลายก็จะเจริญก้าวหน้า เป็นสมาธิเป็นปัญญา จนถึงบรรลุความสิ้นทุกข์ได้ หรือว่าเป็นสติปัฏฐานเป็นโพชฌงค์ เพราะจะเป็นสติปัฏฐานเป็นโพชฌงค์ได้ ก็จะต้องไม่มีนิวรณ์ นิวรณ์ต้องสงบระงับ สติปัฏฐานก็บังเกิดขึ้น โพชฌงค์ก็บังเกิดขึ้น
การบรรลุธรรมของท่านพระอุทายี
ได้มีพระสูตรหนึ่งที่ท่านพระอุทายีเถระได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้ามีใจความว่า ท่านพระอุทายีเถระได้มีความรักความเคารพมีหิริโอตตัปปะ ที่ได้กระทำขึ้นเป็นอันมาก ในพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ แม้ในสมัยที่ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ ยังมิได้มาบวชในสำนักพระพุทธเจ้า ก็ได้มีความรักความเคารพมีหิริมีโอตตัปปะ ในพระผู้มีพระภาคเจ้าที่กระทำไว้แล้วเป็นอันมาก แม้ว่าจะยังไม่กระทำไว้มากคุ้นเคยในพระธรรม ยังไม่กระทำไว้มากคุ้นเคยในพระสงฆ์ แต่ก็มีอยู่เป็นอันมากในพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี
และครั้นเมื่อได้มาบวชในสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอน ว่ารูปอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปอย่างนี้ ความดับไปแห่งรูปอย่างนี้ เวทนาอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาอย่างนี้ ความดับไปแห่งเวทนาอย่างนี้ สัญญาอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาอย่างนี้ ความดับไปแห่งสัญญาอย่างนี้ สังขารอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารอย่างนี้ ความดับไปแห่งสังขารอย่างนี้ วิญญาณอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณอย่างนี้ ความดับไปแห่งวิญญาณอย่างนี้
ครั้นได้ฟังธรรมดั่งนี้แล้ว ก็ได้พิจารณาในความเกิดดับแห่งขันธ์ ๕ เหล่านี้ พลิกไปพลิกมากลับไปกลับมา จึงได้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง จนถึงขั้นที่รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะพึงกระทำกระทำแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงกระทำเช่นนี้อีก ดั่งนี้
ธรรมะคือวิปัสสนาธรรม มรรคคือวิปัสสนามรรค เป็นอันได้ตรัสรู้แล้ว และเป็นอันว่าสติสัมโพชฌงค์ก็ได้ปฏิบัติแล้ว ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ก็ได้ปฏิบัติแล้ว วิริยสัมโพชฌงค์ก็ได้ปฏิบัติแล้ว ปีติสัมโพชฌงค์ก็ได้ปฏิบัติแล้ว ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ก็ได้ปฏิบัติแล้ว สมาธิสัมโพชฌงค์ก็ได้ปฏิบัติแล้ว อุเบกขาสัมโพชฌงค์ก็ได้ปฏิบัติแล้ว จึงเป็นอันได้ดำเนินอยู่เป็นไปอยู่โดยประการนั้นๆ โดยถ่องแท้ โดยประการที่ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่พึงทำกระทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเหมือนเช่นนี้ที่จะต้องกระทำต่อไป ดั่งนี้
หลักปฏิบัติตั้งแต่ในเบื้องต้น
ตามเถระภาษิตที่ได้กราบทูลพระพุทธเจ้านี้ ก็ได้แสดงถึงการปฏิบัติในโพชฌงค์ว่า จะต้องมีอยู่ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมเป็นชั้นๆ ขึ้นไป จนถึงธรรมะชั้นที่สุด โดยที่จะต้องมีโพชฌงค์ พร้อมทั้งสติปัฏฐานมาตั้งแต่ในเบื้องต้น ฉะนั้น สติปัฏฐาน โพชฌงค์ นี้จึงเป็นหลักปฏิบัติที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะพึงต้องอาศัย แต่ว่าจะต้องอาศัยศีล หรือสุจริตกายวาจาใจเป็นพื้นฐานตั้งแต่ในเบื้องต้น
อาหารแห่งนิวรณ์
และในการปฏิบัตินั้น ต้องชำระจิตจากนิวรณ์ทั้งหลาย โดยไม่ให้อาหารแห่งนิวรณ์ ตัดอาหารแห่งนิวรณ์เสีย
คือไม่ใส่ใจอันเรียกว่ามนสิการเหมือนกัน ที่จะบริโภคอาหารสำหรับเลี้ยงนิวรณ์ คือต้องเว้นจาก สุภนิมิต กำหนดหมายว่างดงาม ซึ่งเป็นอาหารของกามฉันท์ ต้องเว้นจาก ปฏิฆนิมิต กำหนดหมายกระทบกระทั่งต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารของพยาบาท จะต้องเว้นจาก ความไม่ยินดีพอใจ ความเกียจคร้าน ความบิดไปบิดมา เชือนแชชาด้วยอำนาจของความเกียจคร้าน ความ เมาภัตตาหาร และความที่มี จิตใจย่อหย่อน อันเป็นอาหารของถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม จะต้องเว้นจาก ความฟุ้งซ่านของใจต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารของอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ จะต้องเว้นจาก ธรรมะที่เป็นที่ตั้ง แห่งความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารของวิจิกิจฉา และข้อสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือ อโยนิโสมนสิการ การไม่กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย เป็นอาหารของนิวรณ์ทุกข้อ
เว้นบุคคลที่มิใช่กัลยาณมิตร
กับต้องเว้นจากการคบหากับบุคคลที่ไม่ใช่กัลยาณมิตร คือไม่ใช่เป็นเพื่อนมิตรที่ดีงาม ต้องคบหากับกัลยาณมิตร ความไม่ใช่กัลยาณมิตร กับทั้ง อโยนิโสมนสิการ ความไม่พิจารณาไว้ในใจโดยแยบคาย นี่เป็นอาหารของนิวรณ์ทุกข้อ ต้องเว้นเสีย
เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นอันเว้นจากอุปกิเลสเครื่องเข้าไปเศร้าหมองของจิต ทำให้สามารถปฏิบัติในสมาธิก็ได้ ปฏิบัติในปัญญาก็ได้ ปฏิบัติในสติปัฏฐานก็ได้ ปฏิบัติในโพชฌงค์ก็ได้ อันจะนำให้ได้วิชชาวิมุติ คือความรู้ และความหลุดพ้น ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องเว้นอาหารของนิวรณ์ทั้งหลาย จึงจะระงับนิวรณ์ได้ ระงับอุปกิเลสของจิตได้ จะเจริญด้วยสติปัฏฐาน จะเจริญด้วยโพชฌงค์ จนถึงสามารถประสบปัญญาวิมุติได้
ปฏิปทาของท่านพระอุทายี
อีกประการหนึ่ง เมื่อดูตามปฏิปทาของท่านพระอุทายี ที่ได้กราบทูลพระพุทธเจ้า ว่าได้มีความรักความเคารพ มีหิริมีโอตตัปปะ ในพระผู้มีพระภาคเจ้ามาตั้งแต่เป็นคฤหัสถ์เป็นอันมาก ยังไม่คุ้นเคยกับพระธรรม ยังไม่คุ้นเคยกับพระสงฆ์ แต่ว่าได้มีความคุ้นเคยในพระพุทธเจ้า ด้วยอำนาจของความรักความเคารพ หิริโอตตัปปะเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น คุณธรรมเหล่านี้ คือความรักความเคารพ หิริความละอายใจต่อความชั่ว โอตตัปปะความเกรงกลัวต่อความชั่ว จึงเป็นคุณธรรมอันสำคัญ
แม้ว่าจะยังไม่คุ้นเคยในพระธรรม จะยังไม่คุ้นเคยในพระสงฆ์ ยังไม่รู้จักพระธรรม ยังไม่รู้จักพระสงฆ์มากนัก แต่ว่าให้มีความรักความเคารพในพระพุทธเจ้าเป็นประการสำคัญ จะนำให้มีความละอายและมีความเกรงกลัวต่อพระพุทธเจ้า ไม่ปรารถนา ไม่กล้าที่จะปฏิบัติเป็นทุจริตกายวาจาใจต่างๆ ที่จะปฏิบัติผิดศีล ผิดธรรมต่างๆ เพราะเหมือนอย่างว่าพระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็น หรือว่าเหมือนอย่างว่าอยู่ต่อหน้าต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า
คนเรานั้นโดยปรกติก็ย่อมจะมีความรู้จักผิดชอบชั่วดีมาตั้งแต่เป็นเด็ก ที่ได้รับสั่งสอนอบรมมาจากมารดาบิดา ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ตลอดจนถึงจากพระพุทธศาสนา และโดยปรกตินั้นคนเป็นอันมากไม่กล้า ที่จะทำความชั่วความไม่ดีต่อหน้าผู้หลักผู้ใหญ่ เช่นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ หรือต่อหน้าใครๆ มักจะไปกระทำกันลับหลัง ที่รู้สึกว่าไม่มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่รู้เห็น ไม่มีใครรู้เห็นคือลอบทำ อันแสดงว่าทุกคนรู้จักที่จะละอาย รู้จักที่จะเกรงกลัวอยู่ด้วยกัน น้อยหรือมาก
ฉะนั้น ถ้าหากว่ารู้สึกว่าเหมือนอย่างพระพุทธเจ้า มาประทับอยู่กับตนเอง ทอดพระเนตรเห็นตนเองในการกระทำทั้งปวง ก็ย่อมจะละอายใจ เกรงกลัวหรือเกรงใจต่อพระพุทธเจ้า ไม่อยากที่จะทำไม่ดี ไม่กล้าที่จะทำไม่ดีต่างๆ
ผู้มีหิริโอตตัปปะในพระพุทธเจ้า
นี่แหละคือหิริโอตตัปปะที่มีในพระพุทธเจ้า เหมือนดั่งที่ท่านพระอุทายีได้มีอยู่ตั้งแต่เป็นคฤหัสถ์ แต่ความรู้สึกดังกล่าวนี้จะมีได้ ก็ต่อเมื่อได้มีความรักมีความเคารพในพระพุทธเจ้าอยู่อย่างเต็มที่ นี้แหละคือว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะคือที่พึ่งนั้นเอง ผู้ที่จะได้ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ จะต้องมีความรักมีความเคารพในพระพุทธเจ้า จะต้องมีหิริมีโอตตัปปะในพระพุทธเจ้า จึงจะชื่อว่าได้ พุทธัง สรณัง คัจฉามิอย่างแท้จริง
การปฏิบัติให้ได้ในข้อนี้จึงเป็นอุปการะปฏิบัติเป็นอันมาก จะทำให้เจริญด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา ด้วยสติปัฏฐาน ด้วยโพชฌงค์ ตลอดจนถึงวิชชาวิมุติในที่สุด เหมือนอย่างท่านพระอุทายีท่านได้ท่านถึง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป