แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะนั้นคือสัจจะ อันได้แก่ความจริง ดังจะเรียกควบกันว่าสัจจะธรรม ธรรมะคือความจริง พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้สัจจะธรรม แล้วได้ทรงนำสัจจะธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้นมาแสดงสั่งสอน สัจจะธรรมนี้เป็นสภาพที่มีอยู่ พระพุทธเจ้าผู้พระตถาคตจะตรัสรู้ หรือไม่ตรัสรู้ก็ตาม สัจจะธรรมก็มีอยู่ ดังที่ได้ตรัสไว้ว่า ธาตุนั้นมีอยู่ ตั้งอยู่ เป็นความตั้งอยู่แห่งธรรม ที่เรียกว่าธรรมฐิติ เป็นความกำหนดได้แห่งธรรมอันเรียกว่าธรรมนิยาม คือข้อที่สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ดั่งนี้ เมื่อพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว จึงทรงนำมาแสดงสั่งสอน จำแนกแจกแจงกระทำให้ตื้น เพื่อให้เวไนยนิกร คือหมู่ชนที่พึงแนะนำได้ ได้รู้ได้เห็น ได้เข้าใจตามพระองค์ ว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ดั่งนี้
กาลเวลาย่อมกลืนกินสัตว์โลก
และเกี่ยวด้วยกาลเวลา ก็ได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า กาลเวลาย่อมกลืนกินตัวเองพร้อมทั้งสัตว์โลกทั้งหลาย ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อกาลเวลาล่วงไปๆ ชีวิตนี้ก็ล่วงไปๆ ดังเช่นที่โลกกำหนดนับเป็นวันคืนเดือนปีเป็นต้น และเพราะกาลเวลาล่วงไปๆ นี้เอง จึ่งได้มีอดีตคือที่ล่วงไปแล้ว มีอนาคตที่ยังไม่มาถึง และมีปัจจุบันบัดนี้ ฉะนั้น ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตา จึ่งได้มีขึ้น เพราะกาลเวลานี้เองที่ล่วงไปๆ
ถ้าหากว่ากาลเวลาหยุดไม่ล่วงไปๆ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา ก็ย่อมจะหยุดด้วย ดั่งเช่นสังขารร่างกายอันนี้ ที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงจากความเป็นเด็กเล็ก มาเป็นเด็กใหญ่ มาเป็นหนุ่มเป็นสาว มาเป็นผู้ใหญ่ มาเป็นคนแก่ และจนถึงแตกสลาย เพราะกาลเวลานี้เองไม่หยุด จึงได้นำชีวิตร่างกายอันนี้ให้ผ่านวัยมาโดยลำดับ จนถึงปัจจุบัน และจะผ่านต่อไปจนถึงดับในที่สุด ถ้าหากว่ากาลเวลาหยุด ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ก็ย่อมจะหยุด เช่นสมมติว่ากาลเวลาจะหยุดเมื่อเป็นเด็กเล็ก ก็จะคงเป็นเด็กเล็กอยู่ตลอดเวลา ที่กาลเวลาหยุดนั้น ไม่เลื่อนขึ้นมาเป็นเด็กใหญ่ ดั่งนี้เป็นต้น
ฉะนั้น กาลเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนเอาไว้ให้ใช้กาลเวลาให้ดี ดั่งที่ตรัสเอาไว้ว่า ทำดีเวลาเช้าก็เช้าดี ทำดีเวลาบ่ายก็บ่ายดี ทำดีเวลาเย็นก็เย็นดี อันแสดงว่าฤกษ์งามยามดีทางพุทธศาสนานั้นอยู่ที่ทำดี ทำดีเมื่อใดก็ฤกษ์งามยามดีเมื่อนั้น และเมื่อทำดีชีวิตนี้ก็เป็นชีวิตดี ถ้าตรงกันข้ามทำชั่ว ชีวิตนี้ก็เป็นชีวิตชั่ว ไม่ทำดีปล่อยให้กาลเวลาล่วงไปโดยปราศจากประโยชน์ ชีวิตนี้ก็เป็นชีวิตเปล่า
ใครเล่าจะรู้ความตาย
เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเตือนเอาไว้ว่า ความดีความเพียรพึงรีบกระทำเสียตั้งแต่ในวันนี้ทีเดียว เพราะว่าใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมาต่อวันพรุ่งนี้ ดั่งนี้ และได้ตรัสสอนไว้ให้พิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ดั่งนี้ พระพุทธภาษิตนี้มีประโยชน์ในทางปฏิบัติมาก และอาจจะน้อมนึกได้ด้วยว่า เป็นเหมือนพระพุทธเจ้าได้ตรัสถามทุกคนๆ ทุกเวลาว่า เมื่อวันคืนล่วงไปๆ กำลังทำอะไรอยู่ ข้อนี้ผู้ปฏิบัติธรรมพึงน้อมรับเข้ามา เหมือนอย่างว่าพระพุทธเจ้าตรัสถามตนเองแต่ละคน ว่ากำลังทำอะไร ในเมื่อวันคืนล่วงไปๆ ดั่งนี้
ถ้านึกดั่งนี้แล้ว ก็สามารถที่จะทำให้ยังยั้งการกระทำชั่ว ส่งเสริมให้กระทำดีได้ทุกเวลา และในขณะที่จะกระทำชั่ว หรือกำลังกระทำชั่ว เช่นในขณะที่จะฆ่าสัตว์ หรือกำลังจะฆ่าสัตว์ แม้สัตว์เล็กๆ น้อยๆ เช่นจะตบยุง หรือกำลังตบยุง จะลักทรัพย์ จะหยิบของๆ ใครที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ หรือกำลังลักทรัพย์ กำลังหยิบของๆ ใครที่เขาไม่ได้ให้ จะประพฤติผิดในกาม หรือกำลังประพฤติผิดในกาม จะพูดเท็จหลอกลวง หรือกำลังพูดเท็จหลอกลวง จะดื่มน้ำเมาหรือเสพยาเสพติดให้โทษ หรือกำลังดื่มน้ำเมา กำลังเสพยาเสพติดให้โทษ ถ้ามีสตินึกขึ้นมาว่าพระพุทธเจ้าตรัสถามว่า เมื่อวันคืนล่วงไปๆ กำลังทำอะไร คือเหมือนอย่างตรัสถามว่ากำลังทำอะไร
ผู้ที่มีศรัทธาเป็นพื้นอยู่ในพุทธศาสนา และได้ถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะคือที่พึ่ง ย่อมจะบังเกิดหิริความละอายใจต่อความชั่ว โอตตัปปะความเกรงกลัวต่อความชั่ว เป็นเหตุให้หยุดไม่ทำความชั่วต่างๆ หรือเมื่อกำลังทำอยู่ก็หยุดได้
ส่วนผู้ที่ไม่มีศรัทธาและไม่ได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แม้ว่าจะนึกได้ ก็ไม่เกิดหิริไม่เกิดโอตตัปปะ ก็อาจจะยังหยุดยั้งไม่ได้ แต่แม้เช่นนั้นหากได้สติดั่งนี้บ่อยๆ แล้ว ก็อาจจะเกิดหิริเกิดโอตตัปปะขึ้นได้ อาจหยุดยั้งได้ เพราะทุกๆ คนนั้นมีจิตใจซึ่งเป็นธาตุรู้ และทุกคนย่อมจะสำนึกในบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ น้อยหรือมากอยู่ด้วยกัน
เหตุให้หยุดยั้งการกระทำชั่ว
เพราะฉะนั้น หากมีสตินึกได้บ่อยๆ ก็วันหนึ่งก็ย่อมจะได้หิริได้โอตตัปปะ หยุดยั้งทำชั่วได้ บุคคลที่ระลึกขึ้นได้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสถามว่ากำลังทำอะไร ในขณะที่จะทำ หรือกำลังทำ เป็นเหตุให้หยุดยั้งการกระทำชั่วได้ ชื่อว่าเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าโปรด ฉะนั้นทุกคนเมื่อประสงค์จะให้พระพุทธเจ้าโปรด ก็หมั่นระลึกเตือนใจตัวเองอยู่เสมอ ถึงพระพุทธภาษิตข้อนี้ ให้มีสติอยู่ทุกขณะว่ากำลังทำอะไร เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าตรัสถาม ว่ากำลังทำอะไรอยู่เดี๋ยวนี้ (เริ่ม) ย่อมจะเป็นเหตุให้หยุดยั้งการกระทำชั่วต่างๆ และกระตุ้นเตือนให้ประกอบความดีต่างๆ ขึ้นได้
ฉะนั้น พระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไว้ให้พิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ นี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก และอันนี้แหละเป็นพรอันสำคัญ ที่ทุกคนควรจะรับปฏิบัติ ในโอกาสของโลกที่ต้องการความสุข เช่นความสุขปีใหม่ เป็นต้น เพราะความสุขจะบังเกิดขึ้นได้นั้นต้องละชั่วทำดี
พระพุทธเจ้าตรัสประทานพระโอวาทไว้ดังกล่าว เมื่อใครระลึกถึงก็เหมือนอย่างว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรด และได้ตรัสประทานพรให้ ให้ละชั่วให้ทำดี ด้วยการมาตรัสเตือน เหมือนอย่างมาตรัสเตือนอยู่ที่ใกล้หู หรือที่ใจ วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้กำลังทำอะไร ให้ได้สติเตือนใจ ให้ละชั่ว และให้ประกอบกรรมที่ดี
หลักปฏิบัติในโพชฌงค์
อนึ่ง การปฏิบัติดั่งนี้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติเข้าหลักโพชฌงค์ด้วย กล่าวคือสติที่ระลึกถึงพระพุทธโอวาทที่ตรัสสอนไว้ดังกล่าว ย่อมเป็น สติสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือสติความระลึกได้ และเมื่อได้สติ ก็ย่อมจะทำให้เกิดความเลือกเฟ้น ความประพฤติของตนเอง ที่กำลังจะประพฤติ หรือกำลังประพฤติอยู่ ว่าดีหรือชั่ว ทำให้ได้ปัญญารู้จักว่าดีหรือชั่วในฉับพลัน ก็เรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือธัมมวิจยเลือกเฟ้นธรรม
เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะทำให้เกิดความเพียรละชั่ว ประกอบความดี คือหากว่าสิ่งที่จะทำ หรือกำลังทำอยู่เป็นความชั่ว ก็จะทำให้เกิดความเพียรละได้ ถ้าสิ่งที่จะทำหรือกำลังทำเป็นความดี ก็จะทำให้เกิดความเพียรทำความดีนั้นต่อไปให้ยิ่งขึ้น ดั่งนี้ ก็เป็น วิริยสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือวิริยะความเพียร และเมื่อได้มีเพียรละชั่วทำดีดั่งนี้ ก็จะได้ ปีติสัมโพชฌงค์ เป็นผลต่อไป คือปีติความอิ่มใจอันเกิดจากความบริสุทธิ์ของใจเอง ที่บังเกิดขึ้นได้จากละชั่วทำดีนั้น
และเมื่อได้ปีติสัมโพชฌงค์ ก็ย่อมจะได้ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือปัสสัทธิความสงบกายสงบใจ ไม่เครียด ไม่สับสน ไม่ฟุ้งซ่านต่างๆ เพราะเหตุแห่งความชั่วต่างๆ เป็นความสงบกายใจที่ได้สืบมาจากปีติ และเมื่อได้ความสงบกายใจมีความสุขดั่งนี้ จิตก็เป็นสมาธิตั้งมั่นเป็น สมาธิสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือสมาธิความตั้งมั่น สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย อุเบกขาสัมโพชฌงค์ จึงบังเกิดขึ้น คือความที่มีจิตเข้าไปเพ่งสงบอยู่ ด้วยปัญญาที่เป็นเครื่องละยินดียินร้าย ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น การได้โพชฌงค์ขึ้นนี้จึงเป็นพรอันประเสริฐ ที่ได้จากความระลึกถึงพระพุทธภาษิตที่ตรัสเตือนเอาไว้ดังกล่าวอันเกี่ยวแก่กาลเวลา ว่าเมื่อวันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ เพียงแต่ผู้ปฏิบัติธรรมะตั้งใจน้อมรับเข้ามาให้ถูกทาง ก็เหมือนอย่างเสด็จมาเตือนตนเอง เหมือนอย่างตรัสกระซิบที่หู หรือว่าที่ใจ อันจะทำให้ละชั่วทำดีดังกล่าว การปฏิบัติก็จะเป็นโพชฌงค์ขึ้นมาโดยลำดับ
ทางเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา
พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสเอาไว้ต่อไปไว้ด้วยว่า โพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ เป็น อัปริหาริยธรรม ธรรมะที่ไม่เป็นไปเพื่อความเสื่อม แต่เป็นไปเพื่อความเจริญ เป็นมรรคคือเป็นทาง เพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา ซึ่งได้ตรัสไว้ด้วยว่า เพราะสิ้นตัณหาก็สิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรมก็สิ้นทุกข์ ดั่งนี้
และยังได้ตรัสไว้ว่าเป็นมรรคคือทางเพื่อดับตัณหา เป็นเครื่องดับธรรมะที่ให้เกิดสัญโญชน์ คือเครื่องประกอบใจ เครื่องผูกใจ เครื่องกำหนดกิจของกายของใจ อันได้แก่ตาหูจมูกลิ้นกายและใจ อันหมายถึงว่าอันความประกอบผูกพันใจ ความสยบติดแห่งใจ ย่อมเกิดขึ้นที่ตา ที่หู ที่จมูก ลิ้น กาย และใจนี้เอง
แต่ว่าเมื่อปฏิบัติอยู่ในโพชฌงค์ ก็จะทำให้ไม่เกิดความประกอบผูกพันใจ อันหมายถึงฉันทราคะความติดด้วยอำนาจแห่งความพอใจเป็นต้น และความสยบติดแห่งใจ อาศัยตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจเหล่านี้ อายตนะภายในทั้ง ๖ มีตาเป็นต้นเหล่านี้ ก็สักแต่ว่าเป็นเครื่องต่อ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราวเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดสัญโญชน์คือเครื่องประกอบเครื่องผูกใจไว้ สยบติดใจเอาไว้แต่อย่างไร ด้วยอำนาจของการปฏิบัติในโพชฌงค์
อนึ่งยังได้ตรัสไว้ว่าโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ ย่อมเป็นธรรมะที่เป็นเครื่องเจาะแทงทำลายกองโลภกองโกรธกองหลง ทั้งหมดนี้ก็หมายถึงการปฏิบัติในโพชฌงค์ที่อาศัยวิเวก คือความสงบสงัด อาศัย วิราคะ คือความสิ้นติดใจยินดี อาศัย นิโรธ คือความดับ อาศัยความที่การปฏิบัติที่ให้น้อมจิตไปเพื่อความปล่อยวาง เป็นการปฏิบัติที่ไพบูลย์ ที่ถึงความเป็นใหญ่ กว้างใหญ่ไม่มีประมาณ ไม่มีเครื่องเบียดเบียนคือปลอดโปร่ง ตรัสไว้ว่าจิตที่โพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้อบรมแล้ว ย่อมเจาะแทงทำลายกองโลภกองโกรธกองหลง ดั่งนี้
การปฏิบัติโพชฌงค์ให้เป็นไปดังกล่าวนี้ อันนำด้วยข้อว่าอาศัยวิเวกคือความสงบสงัด วิเวกนั้นมี ๓ คือ กายวิเวก สงัดกายด้วยศีล จิตตวิเวก สงบจิตด้วยสมาธิอุปธิวิเวก สงบกิเลสด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น จึงสรุปเข้าในการปฏิบัติ เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญานั้นเอง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป