แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
การได้ปัญญาในธรรมนั้นต้องอาศัยสมาธิ คือความตั้งใจมั่นในการพิจารณาธรรม ในการฟังธรรม อันตรายของสมาธินั้นก็คือนิวรณ์ ที่แปลว่าเครื่องกั้น จิตที่มีนิวรณ์ก็เป็นจิตที่มีเครื่องกั้น ไม่ให้จิตเป็นสมาธิได้ จึงไม่ได้ปัญญา เพราะฉะนั้น ในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติตามดูตามรู้ตามเห็นธรรมะ คือเรื่องหรือสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิต พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดให้รู้จักนิวรณ์ในจิต ให้ละนิวรณ์ในจิต
อันนิวรณ์ในจิตนั้นก็ได้แก่ กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ด้วยอำนาจของกิเลสกาม คือกิเลสที่เป็นเหตุใคร่ต่างๆ พยาบาท ความมุ่งร้ายหมายทำลาย รวมถึงความกระทบกระทั่งจิตใจ ความโกรธแค้นขัดเคือง โทสะความประทุษร้าย หรือประทุษจิต จิตที่ประทุษร้าย ถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ วิจิกิจฉา ความคิดเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ เหล่านี้มักบังเกิดขึ้นครอบงำจิตของสามัญชนทั่วไป (เริ่ม) เป็นกามฉันท์บ้าง เป็นพยาบาทบ้าง ไม่เช่นนั้นก็เป็นความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ถ้าไม่ง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ก็เป็นความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และความที่มีใจสงสัย ลังเลไม่แน่นอน เหล่านี้ย่อมมีอยู่เป็นปรกติในจิตของสามัญชนทั่วไป
ตรวจดูจิตใจของตนเองก็จะเห็นได้ว่า โดยปรกตินั้นจิตก็คิดฟุ้งซ่านไปเรื่องโน้นบ้างเรื่องนี้บ้าง อันเป็นเรื่องที่ผูกใจยินดีติดอยู่บ้าง หรือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกใจบ้าง เป็นบุคคลเป็นสิ่งที่ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้างดังกล่าว และในขณะที่มีจิตสงบอยู่บ้าง เช่นในขณะฟังธรรม เพื่ออบรมธรรมะ ก็มักจะง่วงเหงาหาวนอน เป็นความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม เมื่อหายง่วงก็ฟุ้งซ่าน หรือว่าเมื่อไม่เป็นอย่างอื่นก็เคลือบแคลงสงสัยลังเลไม่แน่นอน มักจะเป็นดั่งนี้ ฉะนั้น จึงทำสมาธิไม่ได้มาก
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้กำหนดดูนิวรณ์ในจิตใจของตน เมื่อมีอยู่ก็ให้รู้ว่ามีอยู่ เมื่อไม่มีก็ให้รู้ว่าไม่มี และนิวรณ์ที่ไม่มี จะมีขึ้นได้ด้วยประการใด ก็รู้ประการนั้น นิวรณ์ที่มีอยู่จะละเสียได้ด้วยประการใด ก็รู้ประการนั้น นิวรณ์ที่ละแล้วไม่บังเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ให้รู้อย่างนั้น เพื่อที่จะได้ปฏิบัติอาศัยสติที่กำหนดรู้ดั่งนี้ ป้องกันนิวรณ์ไม่ให้เกิด ละนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้น และปฏิบัติไม่ให้บังเกิดขึ้นอีก
และเมื่อปฏิบัติได้ดั่งนี้จึงจะละนิวรณ์ได้ จิตจึงจะสงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นสมาธิได้ จะได้สมาธิในการปฏิบัติสติปัฏฐานที่กำหนดกายคือลมหายใจเข้าออกเป็นต้น จะได้สมาธิในการกำหนดเวทนาสุขทุกข์เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข จะได้สมาธิในการกำหนดพิจารณาจิตทำจิตให้สงบ และจะได้สมาธิในการที่ละนิวรณ์นี้ได้ และเมื่อละนิวรณ์ได้ จิตก็ชื่อว่าสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เป็นจิตที่ควรแก่การงาน อันหมายความว่าควรที่จะปฏิบัติเพื่อปัญญาต่อไป อันเป็นฝ่ายวิปัสสนาปัญญา ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง
หากจะมีปัญหาว่าปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในอะไร ก็คือรู้แจ้งเห็นจริงในขันธ์ ๕ นั้นเอง พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนไว้ว่า สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ ภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายจงอบรมสมาธิ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ เพราะว่าจิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วย่อมรู้ตามความเป็นจริง ดั่งนี้ก็คือรู้ความเป็นจริงในขันธ์ ๕ นั้นเอง ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงขันธ์ ๕ ในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานต่อจากนิวรณ์ ขันธ์ ๕ นั้นก็คือ รูปขันธ์กองรูป เวทนาขันธ์กองเวทนา สัญญาขันธ์กองสัญญา สังขารขันธ์กองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ
รูป ก็คือรูปกายอันนี้ อันประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เรียกว่าเป็นมหาภูตรูป คือรูปที่เป็นส่วนใหญ่ ที่เป็นหมวดใหญ่ และประกอบด้วยอุปาทายรูป รูปอาศัยคือรู้ที่เป็นส่วนประกอบ มีประสาททั้ง ๕ คือ จักขุ ตา โสตะ หู ฆานะ จมูก ชิวหา ลิ้น กายะ กายประสาท เป็นต้น
ส่วน เวทนา นั้นได้แก่ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข สัญญา คือความรู้จำหมาย สังขาร คือความรู้คิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆ ไปตามสัญญาที่จำได้ และ วิญญาณ คือความรู้ที่เรียกว่าเห็นในเวลาที่ตากับรูปประจวบกัน ความรู้ที่เรียกว่าได้ยินในเวลาที่หูกับเสียงประจวบกัน ความรู้ที่เรียกว่าทราบกลิ่นในเวลาที่จมูกกับกลิ่นประจวบกัน ความรู้ที่ทราบรสในเวลาที่ลิ้นกับรสได้ประจวบกัน ความรู้ที่เรียกว่าทราบโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง ในเวลาที่กายและโผฏฐัพพะ สิ่งถูกต้องประจวบกัน และความรู้ที่เรียกว่า รู้หรือคิดธรรมะคือเรื่องราว ในเวลาที่มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวประจวบกัน ความรู้ดังกล่าวนี้เรียกว่าวิญญาณ
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สรุปเรียกว่านาม เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ จึงย่อเข้าเป็น ๒ คือรูปนาม แต่มักเรียกกลับกันเสียว่านามรูป พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทำสติกำหนดรู้ รู้จักว่ารูปอย่างนี้ รู้ความเป็นไปว่าความเกิดขึ้นของรูปอย่างนี้ ความดับไปของรูปอย่างนี้ ตรัสสอนให้ทำความรู้ในเวทนาเป็นต้นต่อไปก็เช่นเดียวกันว่า เวทนาอย่างนี้ ความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างนี้ ความดับไปของเวทนาอย่างนี้ สัญญาอย่างนี้ ความเกิดขึ้นของสัญญาอย่างนี้ ความดับไปของสัญญาอย่างนี้ สังขารอย่างนี้ ความเกิดขึ้นของสังขารอย่างนี้ ความดับไปของสังขารอย่างนี้ วิญญาณอย่างนี้ ความเกิดขึ้นของวิญญาณอย่างนี้ ความดับไปของวิญญาณอย่างนี้ การปฏิบัติดั่งนี้เรียกว่าการปฏิบัติทางวิปัสสนาเพื่อรู้แจ้งเห็นจริง และเมื่อได้ความรู้ความเห็นจริงดั่งนี้ ก็เป็นตัววิปัสสนาญาณ หรือวิปัสสนาปัญญา ญาณความหยั่งรู้ หรือปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง
อันนิวรณ์ทั้ง ๕ พร้อมทั้งขันธ์ ๕ ทั้งหมดนี้ ก็เกี่ยวข้องอยู่กับอายตนะที่แปลว่าที่ต่อ ซึ่งเป็นอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ เป็นสำคัญ และเกี่ยวข้องกับผลที่เกิดจากอายตนะภายใน อายตนะภายนอก อาศัยกัน เกิดสังโยชน์หรือสัญโญชน์ คือความผูกของใจ เป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนไว้ในหมวดต่อไปจากขันธ์ ๕ ให้กำหนดสติรู้จักอายตนะภายใน รู้จักอายตนะภายนอก คือว่าให้รู้จักรูป คือว่าให้รู้จักจักษุคือตา ให้รู้จักรูปที่ตาเห็น และให้รู้จักจิตใจที่เกิดสัญโญชน์คือความผูกใจขึ้น อาศัยตากับรูปประจวบกัน คือเมื่อตากับรูปประจวบกัน อันได้แก่เห็นรูป ใจก็เกิดผูกขึ้นในรูปที่ตาเห็น
แม้ข้ออื่นก็ตรัสสอนเช่นเดียวกันไว้โดยลำดับ ให้รู้จักหู ให้รู้จักเสียง และให้รู้จักว่าอาศัยหูกับเสียงประจวบกัน ก็เกิดสังโยชน์ หรือสัญโญชน์คือความผูกของจิตใจในเสียงที่หูได้ยิน ตรัสสอนให้รู้จักจมูก ให้รู้จักกลิ่น และตรัสสอนให้รู้จักว่า อาศัยจมูกกับกลิ่นที่ประจวบกัน ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูกใจขึ้นในกลิ่น ตรัสสอนให้รู้จักลิ้น ให้รู้จักรส และให้รู้จักว่า อาศัยลิ้นกับรสประจวบกัน ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูกใจขึ้นในรส ตรัสสอนให้รู้จักกาย รู้จักโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และให้รู้จักว่า อาศัยกายและโผฏฐัพพะประจวบกัน ก็เกิดสังโยชน์ หรือสัญโญชน์ความผูกใจในสิ่งที่กายถูกต้องขึ้น ตรัสสอนให้รู้จักมโนคือใจ ให้รู้จักธรรมะคือเรื่องราว ตรัสสอนให้รู้จักว่าอาศัยมโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวประจวบกัน ก็เกิดสังโยชน์ หรือสัญโญชน์คือความผูกใจขึ้นในเรื่องราวนั้นๆ ที่ใจคิดใจรู้
ท่านอธิบายว่าสัญโญชน์ดังกล่าวคือ ฉันทราคะ ความติดใจด้วยอำนาจของความยินดี แต่ตามศัพท์ของสัญโญชน์นั้นแปลว่า ความผูก คือความที่จิตนี้เองผูกอยู่กับ รูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน กลิ่นที่จมูกได้ทราบ รสที่ลิ้นได้ทราบ โผฏฐัพพะที่กายได้ถูกต้อง และธรรมะคือเรื่องราวที่ใจได้คิดได้รู้ คือใจไม่ปล่อยไม่วาง และก็ไปผูกไว้กับใจ ตามศัพท์ของสัญโญชน์มีดั่งนี้
พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้รู้จักว่า สัญโญชน์เกิดขึ้นโดยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น สัญโญชน์ที่บังเกิดขึ้น ละเสียได้ด้วยประการใดก็รู้ประการนั้น ตรัสสอนให้รู้จักว่าสัญโญชน์ที่ละได้แล้ว จะไม่บังเกิดขึ้นได้ด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น คือตรัสสอนให้ละสัญโญชน์ และปฏิบัติไม่ให้สัญโญชน์บังเกิดขึ้นอีก
พิจารณาดูตามแนวที่ตรัสสอนไว้นี้ ก็อาจจะนำเอาข้อนิวรณ์ ข้อขันธ์มาเชื่อมเข้าได้ กล่าวคือสัญโญชน์นี้เองเป็นเบื้องต้นของนิวรณ์ และอายตนะภายใน อายตนะภายนอกนี้เอง เป็นเบื้องต้นของสัญโญชน์ คือเพราะอายตนะภายใน อายตนะภายนอกประจวบกัน จิตของสามัญชนนี้จึงได้เกิดผูกขึ้นมาเป็นสัญโญชน์ และเมื่อจิตผูกขึ้นมาดั่งนี้แล้ว จึงได้เกิดเป็นตัวนิวรณ์ขึ้นมา เป็นกามฉันท์บ้าง เป็นพยาบาทบ้าง เป็นถีนมิทธะบ้าง เป็นอุทธัจจะกุกกุจจะบ้าง เป็นวิจิกิจฉาบ้าง สืบมาจากสัญโญชน์
เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติละนิวรณ์นั้น จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ที่เกิดของนิวรณ์ว่าคือสัญโญชน์ และที่เกิดของสัญโญชน์นั้น ก็เนื่องมาจากอายตนะภายใน อายตนะภายนอกเป็นประการสำคัญ เพราะฉะนั้น ขั้นตอนของการปฏิบัติจึงจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติเพื่อตัดสัญโญชน์ และจะตัดสัญโญชน์ได้ก็ต้องอาศัยทางปฏิบัติอื่นๆ
ข้อสำคัญก็คือว่าจะต้องมีสตินี่เอง คอยกำหนดดูให้รู้ ในขณะที่อายตนะภายใน อายตนะภายนอกมาประจวบกันอยู่เป็นคู่ๆ อยู่โดยปรกติ จะต้องมีสติสำรวมระวังตา สำรวมระวังหู สำรวมระวังจมูก สำรวมระวังลิ้น สำรวมระวังกาย สำรวมระวังใจ ที่เรียกว่าอินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์ คือสำรวมทางทวารทั้ง ๖ นี้ ในเวลาที่มาประจวบกัน ของอายตนะภายในอายตนะภายนอกดังกล่าว
โดยตรงก็คือว่ามีสติสำรวมระวังจิตนี้เอง ที่จะไม่ยึดถือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะเรื่องราว ที่ประจวบเข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจอยู่ทุกขณะ ไม่ยึดถือทั้งหมด ไม่ยึดถือบางส่วนของอารมณ์เหล่านี้ แต่ว่าวางใจ ปล่อยใจให้ผ่านไป คือเห็นแล้วก็แล้วไป ได้ยินแล้วก็แล้วไป ทราบกลิ่นแล้วก็แล้วไป ทราบรสแล้วก็แล้วไป ถูกต้องแล้วก็แล้วไป คิดรู้เรื่องราวอะไรแล้วก็แล้วไป เป็นเรื่องๆ ไป ไม่ยึดถือ
เพราะความยึดถือนี่แหละเป็นตัวสัญโญชน์ ซึ่งนำให้เกิดยินดีเกิดยินร้ายขึ้นมา เกิดหลงงมงายขึ้นมา อันเป็นตัวนิวรณ์ดังกล่าว ถ้าหากว่ามีสติป้องกันเสียได้ ตั้งแต่ในขั้นแรกที่ทวารทั้ง ๖ นี้ เป็นอินทรียสังวรอยู่แล้ว ก็สามารถที่จะปฏิบัติระงับได้ ไม่ให้จิตใจผูก เมื่อระงับจิตใจไม่ให้ผูกได้ ก็เป็นอันว่าระงับสังโยชน์ได้ เมื่อระงับสังโยชน์ได้ ก็ระงับนิวรณ์ได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยวิปัสสนาปัญญาในขันธ์ ๕ ช่วยอีกด้วยเช่นเดียวกัน
เพราะว่าขันธ์ ๕ นี้เองเป็นตัวสร้างกิเลสตัณหา เป็นตัวสร้างสัญโญชน์ เป็นตัวสร้างความติด ที่ว่าเป็นตัวนั้นก็คือว่า ในเมื่อยึดถือขันธ์ ๕ ด้วยอุปาทานความยึดถือ เป็นอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถืออยู่ แล้วขันธ์ ๕ นี้ก็เป็นที่เกิดของกิเลสตัณหาทั้งหลาย เป็นที่เกิดของสัญโญชน์ เพราะว่าเมื่อยึดถือขันธ์ ๕ นี้ ก็เป็นอัตตาคือตัวตน โดยเหตุว่ายึดถือว่า นี่เป็นของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา จึงเกิดมีเราขึ้นมา มีอัตตาคือตัวตนขึ้นมา เมื่อเกิดมีอัตตามีเรามีของเราขึ้นมา มีตัวตนขึ้นมาดั่งนี้ จึงมีเรามีของเราออกยึดถือ รูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน เป็นต้น แล้วก็กล่าวได้ว่ายึดถือทั้งสอง ยึดถือทั้งตาทั้งรูป ทั้งหูทั้งเสียง เป็นต้น (เริ่ม) เป็นอันว่ายึดถือทั้งอายตนะภายใน ทั้งอายตนะภายนอกทั้งหมด จึงได้เกิดเป็นสัญโญชน์ขึ้นมา เกิดเป็นนิวรณ์ขึ้นมา ก็อาศัยขันธ์ ๕ นั้นเองเป็นที่เกิดขึ้นมาดั่งนี้
จนกว่าที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญา มองเห็นเกิดดับของขันธ์ ๕ หรือกล่าวให้หมดจดว่ารู้จักขันธ์ ๕ รู้จักความเกิดของขันธ์ ๕ รู้จักความดับของขันธ์ ๕ รู้จักเกิดดับ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะเป็นเหตุให้ปล่อยวางได้ และเมื่อปล่อยวางได้ก็ไม่ยึดถือ เมื่อไม่ยึดถือสังโยชน์ก็จะไม่บังเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ทั้ง ๓ หมวดนี้ คือหมวดนิวรณ์ก็ดี หมวดขันธ์ ๕ ก็ดี และหมวดอายตนะสัญโญชน์นี่ก็ดี การปฏิบัติจึงต้องสัมพันธ์กัน ต้องอาศัยกันคู่กันไปดั่งนี้ จึงจะละนิวรณ์ได้ และละความยึดถือในขันธ์ ๕ ได้ แล้วก็ละสัญโญชน์ได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป