แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงสฬายตนวิภังคสูตร พระสูตรที่แสดงการจำแนกอายตนะ ๖ มาจนถึงสัตตบถทางปฏิบัติดำเนินของสัตว์โลก ในข้ออาศัยเนกขัมมสิตโสมนัส คือความยินดี อาศัยเนกขัมมะ คือการออก ละเคหสิตโสมนัส คือความยินดีที่อาศัยเรือน คือกาม และข้อที่ว่าให้อาศัยเนกขัมมสิตโทมนัส ความยินร้าย ความไม่ยินดีที่อาศัยเนกขัมมะ ละเคหสิตโทมนัส คือความยินร้ายไม่ยินดีที่อาศัยเรือน ซึ่งได้อธิบายมาแล้วทั้ง ๒ ข้อ
เคหสิตอุเบกขา
วันนี้จะอธิบายในข้อ ๓ ต่อไป ตรัสสอนให้อาศัยเนกขัมมสิตอุเบกขา ความวางใจเป็นกลางไม่ยินดีไม่ยินร้าย อาศัยเนกขัมมะ คือการออกจากกาม ละเคหสิตอุเบกขาความวางใจเป็นกลาง อาศัยเรือน คือกาม แต่ก็พึงเข้าใจความแห่งเคหสิตอุเบกขาก่อน
แม้ในข้อนี้จะได้อธิบายมาแล้ว แต่ก็จะต้องซ้ำความทบทวนความ ก่อน อันอุเบกขา คือความที่มีใจเป็นกลางไม่ยินดีไม่ยินร้ายนั้น ของสามัญชน หรือของบุถุชน หรือว่าของชาวโลกทั้งหลาย ในอารมณ์ทั้งหลาย ย่อมมีอยู่มากเหมือนกัน คือเมื่อประสบอารมณ์มีรูปเสียงเป็นต้น ทางตาหูเป็นต้น ก็รู้สึกเป็นกลางๆ ไม่เป็นสุข ไม่เป็นทุกข์ ไม่ชอบไม่ชัง โดยปล่อยให้ผ่านไปๆ ปราศจากการจับขึ้นมาพิจารณา เป็นความเฉยเมยอย่างเผลอๆ
อัญญาณุเบกขา
วันหนึ่งๆ อาการของจิตดั่งนี้ในเรื่องทั้งหลาย หรือในอารมณ์ทั้งหลายที่ประสบพบผ่าน ก็มีอยู่มาก จะพึงเห็นได้ง่ายว่าช่วงระยะเวลาอันหนึ่งๆ เช่นช่วงเวลาที่เดินจากจุดนี้ไปสู่จุดโน้น ก็ต้องลืมตาในการเดิน ก็มองเห็นอะไรต่ออะไรเป็นอันมาก หลายสิบหลายร้อยอย่าง แต่ว่าสิ่งที่เห็นเหล่านั้น ที่ทำให้จิตใจชอบหรือให้จิตใจชังนั้น ก็มีอยู่ไม่ทั้งหมด หรือว่าจะมีอยู่น้อยก็ได้ ส่วนที่มองผ่านไปเฉยๆ นั้นมีมาก ไม่ติดใจอะไร ไม่ใช่ว่าไม่เห็น เห็นแล้วก็รู้ด้วยว่าอะไร แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจ เว้นไว้แต่เมื่อเป็นสิ่งที่ชอบหรือชัง เกิดโสมนัสยินดี หรือโทมนัสยินร้าย จึงจะติดใจ เป็นชอบหรือเป็นชัง เป็นยินดีหรือเป็นยินร้าย ส่วนที่ผ่านไปเฉยๆ เพราะไม่ให้เกิดสุขหรือทุกข์ ยินดีหรือยินร้ายนั้นมีมาก แม้เสียงที่ได้ยินทางหูก็เช่นเดียวกัน กลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง แม้เรื่องราวที่ผุดขึ้นในใจก็เช่นเดียวกัน ผ่านๆ ไปๆ มีอยู่มาก ฉะนั้น อุเบกขาเช่นนี้จึงเป็นปรกติของบุถุชน สามัญชน หรือชาวโลก ไม่ต้องปฏิบัติธรรมะอะไรเพื่อให้จิตเป็นเช่นนั้น จิตเป็นไปเอง ในเมื่อเป็นสิ่งที่ไม่ชอบไม่ชัง ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย
แต่อุเบกขาเช่นนี้ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า อัญญาณอุเบกขา อุเบกขาที่ประกอบด้วยความไม่รู้ คือไม่รู้สัจจะความจริงของสิ่งที่ประสบพบผ่านเหล่านั้น และอุเบกขาที่เป็นอัญญาณอุเบกขาดังนี้แหละ เรียกว่าเคหสิตอุเบกขา อุเบกขาที่อาศัยเรือน อันนับเนื่องอยู่ในกาม เป็นปรกติวิสัยของบุถุชน ของชาวโลกหรือสามัญชน
เนกขัมมสิตอุเบกขา
ส่วนเนกขัมมสิตอุเบกขานั้นหมายถึงอุเบกขา คือความมีใจมัธยัสถ์เป็นกลาง ด้วยการที่ใส่ใจพิจารณาว่าสิ่งที่ประสบพบผ่านเหล่านั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา จึงเป็นสิ่งที่เกิดดับทุกอย่าง เรียกว่ามีความใส่ใจในอารมณ์ที่ประสบผ่าน และก็มีความรู้พิจารณาขึ้น ดั่งนั้น ซึ่งอาจจะเห็นว่า จะเป็นการช้ากว่าปรกติธรรมดา เพราะจะหยุดพิจารณาไปทุกสิ่งทุกอย่างนั้น น่าจะทำไม่ได้ จะเดินไปไหนสักทีหนึ่งก็ต้องหยุดชงักๆ ๆ ไปทุกคราว ไม่ใช่มีความหมายอย่างนั้น แต่มีความหมายว่าสนใจพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างที่ประสบพบผ่านรวมกันไป จะนั่งก็ตาม จะนอนก็ตาม จะเดินก็ตาม จะยืนก็ตาม หรือจะวิ่งก็ตาม ก็ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถได้ทั้งนั้น โดยปรกตินั่นแหละ
แต่ให้มีความรู้ประจำใจอยู่เสมอว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ประสบพบผ่านนั้นๆ ตาจะเห็นอะไร สักกี่สิบอย่าง กี่ร้อยอย่าง กี่พันอย่าง ก็ตาม หูจะได้ยินอะไร มากน้อยเท่าไรก็ตาม เป็นต้น ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป มีเกิดมีดับเป็นธรรมดาเหมือนกันทั้งหมด
ให้มีความรู้ครอบอยู่ดั่งนี้ทุกสิ่งทุกอย่าง จึงรวมเอาสิ่งที่เป็นอุเบกขา อันเป็นอัญญาณุเบกขาดังกล่าวมาแล้วนั้นด้วย ซึ่งเป็นอันว่า แม้จะให้เกิดชอบเกิดชัง เกิดโสมนัสโทมนัส หรือว่าไม่เกิดโสมนัสโทมนัส ไม่เกิดชอบเกิดชังก็ตาม ก็ล้วนเป็นของที่ไม่เที่ยง ต้องเกิดต้องดับดังกล่าวเหมือนกันหมด อุเบกขาที่บังเกิดขึ้นด้วยความรู้ดั่งนี้เป็นเนกขัมมสิตอุเบกขา อุเบขาที่อาศัยเนกขัมมะ คือการออก
เพราะฉะนั้น จึงให้มาปฏิบัติดั่งนี้ ในเมื่อได้ประสบพบผ่านทุกสิ่งทุกอย่าง ว่าสิ่งที่ประสบพบผ่านนั้นๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงต้องเกิดต้องดับเหมือนกันหมด และวางเฉยได้เพราะรู้เพราะเห็นดั่งนี้ ดั่งนี้เป็นเนกขัมมสิตอุเบกขา ก็ให้อาศัยเนกขัมมสิตอุเบกขาดั่งนี้แหละ ละเคหสิตอุเบกขาเสีย อันหมายความว่า อย่าให้เฉยเมยไปเฉยๆ โดยไม่รู้อะไร แต่ให้รู้อยู่ทุกขณะ ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ที่เป็นอุเบกขานั้น ว่าสิ่งทั้งปวงนั้น ล้วนไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ เคหสิตอุเบกขา อุเบกขาที่อาศัยเรือนก็จะหายไป มาเป็นเนกขัมมสิต อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะ อันนับว่าเป็นข้อปฏิบัติอีกขั้นหนึ่ง
เนกขัมมสิตโสมนัส
และต่อจากก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติต่อไปเป็นข้อที่ ๔ คือให้อาศัยเนกขัมมสิตโสมนัส ละเนกขัมมสิตโทมนัส อันเนกขัมมสิตโสมนัสนั้น เป็นโสมนัส คือความยินดีที่อาศัยเนกขัมมะ คือการออก ซึ่งได้อธิบายแล้วเหมือนกัน แต่จะซ้ำความสั้นๆ ว่า คือเมื่อประสบอารมณ์มีรูปเสียงเป็นต้น ก็พิจารณาว่าอารมณ์ที่ประสบทั้งปวงนี้ ล้วนเป็นอนิจจะ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นสิ่งที่เกิดดับ ก็เกิดโสมนัสขึ้นมา เป็นความยินดี เพราะรู้เห็นในอนิจจตาความไม่เที่ยง ของสิ่งทั้งหลายที่ประสบพบผ่าน ก็เป็นเนกขัมมสิตโสมนัส แต่ว่าสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมะดังกล่าวนั้น ในบางคราวเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ ก็พิจารณามองเห็นอนิจจตา
แต่ว่าเกิดมีความกระหยิ่มใจใคร่จะได้อนุตรวิโมกข์ คือความหลุดพ้นอย่างยิ่ง ของพระอรหันต์ทั้งหลาย จะได้สิ้นทุกข์ แต่ว่ายังไม่สามารถที่จะได้อนุตริยวิมุติ จึงมีความเสียใจว่าตนเป็นผู้ที่มีบุญน้อย มีวาสนาน้อย ไม่ได้ไม่ถึงธรรมะอย่างยอด ความเสียใจดั่งนี้เป็นเนกขัมมสิตโทมนัส ความโทมนัสที่บังเกิดขึ้นที่อาศัยเนกขัมมะ คือการออกจากกาม อยากจะออก อยากจะได้ อยากจะบรรลุถึงสูงสุดทีเดียว ไม่ได้ก็เสียใจ เพราะฉะนั้น หากเป็นเช่นนี้ผู้ปฏิบัติธรรมก็พึงเตือนตนเองว่าให้ปฏิบัติไป อย่ามีตัณหาในผล เพราะความกระหยิ่มใจใคร่จะได้นั้นเป็นตัณหาในผล เมื่อยังมีตัณหาอยู่ย่อมจะไม่ได้
เหมือนอย่างการขึ้นบันได พึงมีหลายขั้น เมื่อขึ้นบันไดมาถึงขั้นที่หนึ่งขั้นที่สอง ยังอยู่ข้างหน้าอีกสิบกว่าขั้น หรือยี่สิบสามสิบขั้น ก็เกิดใคร่ที่จะได้ขึ้นถึงขั้นที่สุดทีเดียว ดั่งนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องขึ้นไปทีละขั้นสองขั้นโดยลำดับ แล้วก็จะถึงขั้นที่สุดเอง ให้เตือนใจของตนดั่งนี้ จนเห็นโทษของตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ส่วนความกระหยิ่มซึ่งเป็นตัณหานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะสามารถระงับความกระหยิ่มใจใคร่จะได้ หรือระงับตัณหาได้ และเมื่อระงับตัณหาได้ดั่งนี้ ปฏิบัติพิจารณาในอนิจจตาเรื่อยไป ได้ความรู้ความเห็นอนิจจตาชัดขึ้นมา ก็จะเกิดโสมนัสจากการรู้การเห็นนั้น เป็นเนกขัมมสิตโสมนัส จึงให้อาศัยปฏิบัติดั่งนี้ คืออาศัยเนกขัมมสิตโสมนัส ละเนกขัมมสิตโทมนัสเสีย ก็นับว่าเป็นขั้นที่ ๔
เนกขัมมสิตอุเบกขา
และอีกขั้นหนึ่งอันเป็นขั้นที่ ๕ นั้น ตรัสสอนให้อาศัยเนกขัมมสิตอุเบกขา ละเนกขัมมสิตโสมนัส คือว่าเนกขัมมสิตอุเบกขานั้น ก็เป็นนักปฏิบัติเป็นผู้ปฏิบัตินั่นแหละ เมื่อประสบอารมณ์ทั้งหลาย ก็พิจารณาให้รู้ให้เห็นในอนิจจตา คือความไม่เที่ยงของอารมณ์เหล่านั้น (เริ่ม) อันเป็นความรู้ความเห็นที่ชัดเจนกว่า ซึ่งทำให้จิตใจนี้สงบเป็นอุเบกขา คือวางเฉยๆ ได้โดยไม่มีโสมนัส คือความยินดี ก็เป็นเนกขัมมสิตอุเบกขา
ส่วนที่เป็นเนกขัมมสิตโสมนัสนั้น ก็เป็นผู้ปฏิบัตินั่นแหละ รู้เห็นในอนิจจตาความไม่เที่ยง อาจจะเป็นว่าเพิ่งรู้เห็นขึ้นใหม่ก็ปลื้มใจ ว่าเรารู้เราเห็นอนิจจตาความไม่เที่ยง ก็เป็นเนกขัมมสิตโสมนัส เมื่อเป็นโสมนัสความยินดี จึงเรียกว่ายังเจือความยินดีอยู่ ความรู้ความเห็นก็ยังไม่ละเอียด จึงไม่สนใจในความยินดี คือไม่มัวแต่ยินดีว่าเรารู้เราเห็น เพียงแค่นี้ แต่ว่าจับพิจารณาต่อไปในอนิจจตา คือความไม่เที่ยงของอารมณ์ทั้งหลาย มุ่งให้รู้ให้เห็นในสัจจะ คือความจริงนั้นชัดเจน ปล่อยวาง จิตก็สงบ ด้วยปราศจากความยินดี วางความยินดีได้ มีความสงบเฉยอยู่เป็นปรกติ ประกอบด้วยความรู้ความเห็นในอนิจจตา คือความไม่เที่ยง ก็เลื่อนขึ้นเป็นเนกขัมมสิตอุเบกขา อันเป็นภูมิชั้นของการปฏิบัติที่สูงขึ้น ดั่งนี้เรียกว่าอาศัยเนกขัมมสิตอุเบกขา ละเนกขัมมสิตโสมนัสอีกขั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในขั้นที่ ๕ นี้จึงเป็นภูมิปฏิบัติที่สูงยิ่งขึ้น และก็เป็นปฏิบัติที่สูงยิ่งขึ้นมาโดยลำดับ ตั้งแต่ขั้นที่ ๑ จนถึงขั้นที่ ๕ นี้
วันนี้ยุติเท่านี้