แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงสฬายตนวิภังคสูตร พระสูตรที่ยกแสดงการจำแนกอายตนะ ๖ ต่อ พระพุทธเจ้าได้ตรัสบทอุเทศ คือบทกระทู้แห่งพระสูตรนี้ จำแนกออกเป็นหมวดละ ๖ ตั้งต้นแต่อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ หมู่หมวดแห่งวิญญาณ ๖ หมู่หมวดแห่งผัสสะ ๖ มโนปวิจารการเที่ยวคิดนึกไปของใจ ๑๘ ก็คือในอายตนะภายนอกที่เป็นที่ตั้งของโสมนัสยินดี ๖ โทมนัสยินร้าย ๖ อุเบกขา ๖ หกสามก็เป็น ๑๘
และสัตตบถ การดำเนินไปของสัตว์โลก ๓๖ โดยยกเอาโสมนัส ยินดี โทมนัส ยินร้าย และอุเบกขาขึ้นเป็นที่ตั้งเป็นไป ในอายตนะภายนอกทั้ง ๖ นั้น โดยจำแนกออกเป็นเคหสิตโสมนัส ๖ เนกขัมมสิตโสมนัส ๖ เคหสิตโทมนัส ๖ เนกขัมมสิตโทมนัส ๖ เคหสิตอุเบกขา ๖ เนกขัมมสิตอุเบกขา ๖
ซึ่งสัตตบถ การดำเนินไปของหมู่สัตว์โลกทางจิตใจนี้ ก็เทียบได้กับขั้นเวทนาผสมกับกิเลส คือเวทนาก็ปรุงจิต สุขเวทนาก็ปรุงจิตให้โสมนัส ทุกขเวทนาก็ปรุงจิตให้โทมนัส และอุเบกขาเวทนาก็ปรุงจิตให้สยบติดอยู่ หรือไม่รู้ จึงเป็นการดำเนินไปแห่งจิตของสัตว์โลกโดยธรรมดา คือความดำเนินไปแห่งจิตของสัตว์โลกก็ย่อมเป็นดั่งนี้
แต่ว่าก็มีเจือการปฏิบัติทางปัญญาอยู่ด้วยในข้อที่เกี่ยวแก่อุเบกขา กล่าวคือเนกขัมมสิตโสมนัส ก็เกี่ยวแก่ความรู้ความเห็นในอนิจจตาความไม่เที่ยง แม้เนกขัมมสิตโทมนัสก็เช่นเดียวกัน เนกขัมมสิตอุเบกขาก็เช่นเดียวกัน แต่ว่าก็เจือปัญญาในอนิจตาในขั้นไม่สูงมาก หรือในขั้นปฏิบัติของบุคคล ผู้ได้ความรู้ความเห็นจากการปฏิบัติในเบื้องต้น ก็ได้เนกขัมมสิตโสมนัสได้ และเมื่อเจือด้วยความคิดจะได้อย่างยอดเยี่ยมที่เรียกว่า อนุตริยวิโมกข์ และเมื่อไม่ได้ ก็โทมนัส ก็เป็นเนกขัมมสิตโทมนัส แต่ผู้ปฏิบัติได้ความรู้ความเห็นในอนิจจตาดังกล่าว ก็อาจได้อุเบกขา อันเป็น ชลังคุเบกขา อุเบกขาในอารมณ์ทั้งหลาย คือในอารมณ์อันได้แก่รูป อันได้แก่เสียง อันได้แก่กลิ่น อันได้แก่รส อันได้แก่โผฏฐัพพะ และอันได้แก่ธรรมะคือเรื่องราว เพราะฉะนั้น จึงยังจัดอยู่ในขั้นการได้การถึงของสามัญชน
ครั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัส สัตตบถ คือทางดำเนินของสัตว์โลกรวมเป็น ๓๖ ข้อนี้แล้ว จึงได้ตรัสต่อไปถึงว่าจะอาศัยอะไร ละอะไร เป็นทางปฏิบัติ คือเมื่อได้ตรัสจำแนก สัตตบถ ทางดำเนินไปของสัตว์โลกทางจิตใจ อันเกี่ยวแก่เวทนา และเกี่ยวแก่เวทนาที่ปรุงจิตให้โสมนัส ให้โทมนัส และให้อุเบกขาแล้ว จึงได้ตรัสสอนวิธี คือถึงวิธีปฏิบัติว่าจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะละการที่เวทนาปรุงจิตให้เป็นดั่งนี้ได้
จึงเรียกว่า ตรัสสอนให้ปฏิบัติทำสติปัฏฐานนี่แหละ อันเกี่ยวแก่ข้อเวทนา และข้อที่เกี่ยวแก่จิต และสัมปยุตคือประกอบกับธรรมะในจิตด้วย โดยที่ตรัสชี้ให้ปฏิบัติด้วยวิธีอาศัยข้อหนึ่งละข้อหนึ่งไปโดยลำดับ ตั้งต้นแต่การให้อาศัยเนกขัมมสิตโสมนัส ละเคหสิตโสมนัส คือเคหสิตโสมนัสความยินดีที่อาศัยเรือน ก็คืออาศัยกามคุณทั้ง ๕ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ อันประกอบด้วยโลกามิสเรื่องล่อของโลก
เคหสิตโสมนัส
เมื่อจิตใจนี้ได้มองดูถึงกามคุณเหล่านี้ที่กำลังได้ หรือแม้ที่เคยได้มาแล้ว ก็เกิดโสมนัสคือความยินดี คือว่าได้สุขเวทนา ความสุขใจ เป็นสุขเวทนา สุขเวทนานี้ก็ปรุงจิตนี้ให้ยินดีเป็นโสมนัส ก็เป็นเคหสิตโสมนัส เมื่อเป็นเคหสิตโสมนัสขึ้นดั่งนี้ ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติด้วยวิธีพิจารณาว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นธรรมดา จึงเป็นทุกข์ คือเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
เนกขัมมสิตโสมนัส
ให้พิจารณาดั่งนี้ และเมื่อพิจารณาไปจนเห็นได้ เห็นอนิจจตา คือความไม่เที่ยงได้ ก็ย่อมจะได้โสมนัสขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง คือโสมนัสอันเป็นความสุขใจ เพราะปัญญาที่เห็นจริงในอนิจจตา ใจก็เบิกบานขึ้นเพราะเห็นจริงในอนิจจตา ก็ย่อมจะละเคหสิตโสมนัส โสมนัสที่อาศัยกายและที่อาศัยกาม ที่เปรียบเหมือนอย่างเรือน การตรัสว่าอาศัยเรือนหมายถึงว่าอาศัยกาม เสียได้ มาเป็นได้เนกขัมมสิตโสมนัส โสมนัสที่อาศัยการออกจากกาม
เพราะว่าได้ปัญญารู้เห็นในอนิจจตา ความไม่เที่ยง เห็นเกิดเห็นดับของกามทั้งหลาย เกิดโสมนัสขึ้นด้วยปัญญาที่รู้เห็นนี้ เพราะฉะนั้น จึงตรัสให้ปฏิบัติให้ได้เนกขัมมสิตโสมนัส ก็จะละเคหสิตโสมนัสได้ ดั่งนี้เป็นประการที่ ๑
เคหสิตโทมนัส
ต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้อาศัยเนกขัมมสิตโทมนัส ละเคหสิตโทมนัส คือเคหสิตโทมนัสความยินร้ายหรือความเสียใจที่เกิดขึ้น เพราะเหตุที่ได้นึกเห็นการไม่ได้กาม คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่รักใคร่ปรารถนาต้องการอยู่ในปัจจุบัน หรือที่เคยไม่ได้มาแล้ว ก็เกิดเสียใจ ดั่งนี้เรียกว่าเป็นเคหสิตโทมนัส คือเกิดเป็นทุกขเวทนาขึ้นก่อน ในเมื่อนึกเห็นถึงการไม่ได้กามที่ต้องการจะได้อยู่ในปัจจุบัน หรือที่แล้วมา ก็เป็นทุกขเวทนา ทุกขเวทนานี้ก็ปรุงจิตนี้ให้โทมนัส คือให้เสียใจ ดั่งนี้ ก็เป็นเคหสิตโทมนัส
เนกขัมมสิตโทมนัส
เมื่อความดำเนินไปของจิตเป็นดั่งนี้ ก็ให้มาใช้วิธีปฏิบัติให้เกิด เนกขัมมสิตโทมนัส ได้แก่ให้พิจารณาให้มองเห็นอนิจจตาคือความไม่เที่ยง ของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ หรือที่ไม่ได้มาแล้วนั่นแหละ ว่าทั้งหมดนั้นก็ล้วนเป็นอนิจจะ คือไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่เกิดดับ เป็นทุกข์ คือตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป แต่เพราะเหตุที่ยังปฏิบัติให้รู้ให้เห็นไม่ได้ จึงยังได้ไม่ประสบ อนุตรวิมุติ หรือ วิโมกข์ คือความหลุดพ้นอย่างยอดเหมือนอย่างพระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อไม่ได้ดั่งนี้จึงยังต้องเป็นทุกข์อยู่ เป็นทุกข์อยู่เพราะเหตุที่ยังไม่เห็นอนิจจตา จึงต้องการจะได้ และเมื่อไม่ได้ก็ต้องเป็นทุกข์ อันเป็นเคหสิตโทมนัสนั้น
ฉะนั้น ก็เมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ต้องเกิดต้องดับ ไม่ตั้งอยู่คงที่ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ทำไมเราจึงจะต้องมาเป็นทุกข์ ในเมื่อไม่ได้สิ่งที่ไม่เที่ยงเหล่านั้น เพราะว่าถึงแม้จะได้สิ่งที่ไม่เที่ยงเหล่านั้นมา สิ่งเหล่านั้นก็ต้องเกิดต้องดับ ไม่เป็นของเราอยู่ตลอดไป ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปอยู่นั่นเอง
พิจารณาเตือนใจตัวเองให้รู้ดั่งนี้ แล้วก็กลับมาให้ใจตัวเองนี้กระหยิ่ม เพื่อที่จะได้อนุตรวิโมกข์หรือวิมุติ (เริ่ม) อย่างพระอรหันต์ทั้งหลาย จะได้พ้นทุกข์กันเสียทีหนึ่ง ดีกว่า ดีกว่าจะไปอยากได้ของที่ไม่เที่ยงคือกามทั้งหลาย อยากได้ อนุตรวิมุติ วิโมกข์ หรืออยากเป็นพระอรหันต์ดีกว่า ให้ใจกลับมาอยากดั่งนี้ แต่ว่าในการที่จะบรรลุอนุตรวิโมกข์วิมุติ หรือที่จะเป็นพระอรหันต์นั้น หาสำเร็จได้ด้วยความอยากไม่ ต้องสำเร็จด้วยการปฏิบัติให้ได้ให้ถึง คือต้องให้เห็นอนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความเป็นอนัตตาของสังขารทั้งหลาย และปล่อยความยึดถือเสียได้ทั้งหมด
คราวนี้เมื่อคิดดั่งนี้แล้ว ก็รู้สึกว่าตัวเองยังมีบุญน้อย ยังปฏิบัติมาน้อย ยังไปได้ไม่ถึง แต่ก็อยากจะได้อยากจะถึง แต่ก็ไม่สามารถที่จะถึงได้เพราะยังมีบุญน้อย คือยังมีวาสนาบารมีน้อย ก็เกิดความเสียใจ เพราะเหตุที่ไม่ได้ไม่ถึงอนุตรวิโมกข์วิมุติ ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เสียใจขึ้นดั่งนี้แหละเรียกว่าเป็นเนกขัมมะสิตะโทมนัส และเมื่อปฏิบัติให้เกิดความเสียใจขึ้นมาได้ดั่งนี้ ก็จะละเคหสิตโทมนัสได้ นับว่าเป็นการปฏิบัติก้าวขึ้นไปอีกขึ้นหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ อันเกี่ยวแก่วิธีปฏิบัติ เกี่ยวแก่เวทนาที่ปรุงจิตของตน
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป