แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงสติปัฏฐาน ๔ ตามพระพุทธภาษิต ที่ตรัสยกเอาอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นที่ตั้ง และก็กำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นขั้น กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา มาขั้นละ ๔ ชั้น และในชั้นในขั้นจิตตานุปัสสนาก็ได้มาถึงชั้น ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้าหายใจออก อันเป็นชั้นที่ ๔ ของจิตตานุปัสสนา เมื่อมาถึงชั้นนี้ขั้นนี้ จิตก็จักได้อานาปานสติสมาธิเต็มจิต เป็นจิตที่บริสุทธิ์ด้วยอานาปานสติสมาธิ เป็นอันว่ามาถึงขั้นสมาธิ หรือจิตตสิกขาที่ถึงพร้อม หรือสมบูรณ์ จิตในชั้นนี้จึงเป็นจิตที่สะอาด ตั้งมั่น ควรแก่การงาน
การงานของจิตที่ปฏิบัติมาแล้ว ก็คือขั้นศีล และขั้นสมาธิ หรือสีลสิกขา จิตตสิกขา เป็นจิตที่ควรแก่ศีล แก่จิตหรือสมาธิ หรือว่าจิตตสมาธิมาโดยลำดับ อันเป็นขั้นสมถกรรมฐาน จึงถึงวาระที่จะเลื่อนจิตขึ้นสู่วิปัสสนากรรมฐาน และเลื่อน อนุปัสสนา ดั่งที่ใช้ในคำว่า กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา มาขึ้นเป็นธรรมานุปัสสนา เพื่อวิปัสสนา คือเห็นแจ้งรู้จริงสืบต่อไป
ธรรมานุปัสสนาขั้นที่ ๑
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้น้อมจิต ที่บริสุทธิ์สะอาดควรแก่การงานนี้ ขึ้นสู่ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยตรัสสอนให้ศึกษา คือให้จิตนี้เองศึกษาสำเหนียกกำหนดว่า เราจักตามดูอนิจจะคือไม่เที่ยง หายใจเข้าหายใจออก อันเรียกว่าอนิจจานุปัสสนา คือให้จิตนี้เองศึกษาสำเหนียกกำหนด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็น อุปาทานขันธ์ คือขันธ์เป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเราทั้ง ๕ ประการนี้ ว่าไม่เที่ยง ไม่เที่ยงอย่างไร คือมีเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา
จึงจับพิจารณาว่า รูปอย่างนี้ เวทนาอย่างนี้ สัญญาอย่างนี้ สังขารอย่างนี้ วิญญาณอย่างนี้ ความเกิดขึ้นของ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้ ความดับไปของ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้ คือจับดูที่จิตนี้เอง ดูรูปที่เป็นกายส่วนใหญ่ อันประกอบด้วยธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม และดูส่วนที่เป็นสิ่งอาศัย ดังเช่นจักขุประสาท โสตะประสาท ฆานะประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท และโคจรคืออารมณ์ของประสาททั้ง ๕ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
และกำหนดให้รู้จักว่าเป็นอายตนะภายใน อายตนะภายนอก เมื่อเป็นอายตนะดั่งนี้ ก็เพิ่มมโนคือใจ กับธรรมะคือเรื่องราว และโดยเฉพาะอายตนะ ๕ ข้อข้างต้นนั้น ทั้งภายในทั้งภายนอก ก็เป็น รูป ส่วนที่เรียกว่า รูปอาศัย ส่วนที่เป็นธาตุดินน้ำไฟลมอากาศด้วยส่วนรวม ก็เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีคำเรียกส่วนใหญ่ว่า มหาภูตรูป และเรียกส่วนที่อาศัยคือที่เป็นประสาทเป็นอายตนะว่าเป็น อุปาทายรูป ดูให้รู้จักว่าอย่างนี้คือ รูป
ความเกิดขึ้นของรูปอย่างนี้ ก็คือความเกิดขึ้นของรูป ทั้งมหาภูตรูป ทั้งอุปาทายรูป ก็มีชาติความเกิดเป็นเบื้องต้น และมีชราแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปโดยลำดับ จนถึงมรณะคือแตกสลายในที่สุด และกายนี้ทั้งที่เป็นส่วน มหาภูตรูป อุปาทายรูป ก็เป็นที่อาศัยของจิต ซึ่งจิตนี้เองก็น้อมออกรู้อารมณ์คือเรื่องทั้งหลาย ทางอายตนะภายในทั้ง ๖ อันเรียกว่าทวารทั้ง ๖ และก็เรียกอายตนะภายนอกทั้ง ๖ ว่าอารมณ์คู่กับทวาร ซึ่งทวารทั้ง ๖ คือทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ ก็รับอารมณ์ทั้ง ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราว จิตนี้ก็น้อมออกรู้อารมณ์คือเรื่อง
ความน้อมของจิตอันนี้เองเรียกว่า นาม ก็น้อมออกรู้ รูปทางทวารตา เสียงทางทวารหู กลิ่นทางทวารจมูก รสทางทวารลิ้น สิ่งถูกต้องทางทวารกาย ธรรมะคือเรื่องราวทางทวารใจ ความรู้ครั้งแรกของจิตเรียกว่า วิญญาณ ซึ่งได้แก่รู้รูปก็คือเห็นรูป รู้เสียงก็คือได้ยินเสียง รู้กลิ่นก็คือทราบกลิ่น รู้รสก็คือทราบรส รู้โผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง ก็คือทราบโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง
รู้ธรรมะคือเรื่องราวก็คือรู้คิดเรื่องราว เหล่านี้เป็นวิญญาณ ก็รู้ว่าวิญญาณเกิดขึ้นอย่างนี้ และเมื่อเป็นวิญญาณ จิตนี้ก็รู้ที่เป็นสัมผัสคือความกระทบ ก็ได้แก่เรื่อง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมะเรื่องราวนั้น ก็มากระทบจิต จิตก็รู้ความกระทบ เรียกว่าสัมผัส
ซึ่งสัมผัสนี้ไม่ได้มีแสดงไว้ในขันธ์ ๕ แต่ว่ามีแสดงไว้ในทางเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ โดยลำดับดังกล่าว แล้วจึงเป็นเวทนา รู้สุขรู้ทุกข์รู้เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข แล้วจึงเป็นสัญญารู้จำ จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ จำธรรมะเรื่องราว (เริ่ม) แล้วจึงเป็นสังขารคือปรุงคิดหรือคิดปรุง ก็คิดปรุงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะเรื่องราวเหล่านั้นนั่นแหละ ปรุงดีก็เป็นกุศล ปรุงไม่ดีก็เป็นอกุศล ปรุงเป็นกลางๆ ก็เป็นอัพยากฤต คือเป็นกลางๆ ไม่ว่ากุศล ไม่ว่าอกุศล และเมื่อเป็นสังขาร คือเมื่อคิดปรุงหรือปรุงคิดไป ก็รู้ไปด้วย ก็เป็นวิญญาณขึ้นมาอีก
ความเกิดขึ้นของรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็อย่างนี้ และความเกิดขึ้นดังกล่าวนี้ก็เกิดขึ้นในอารมณ์อันหนึ่ง เมื่ออารมณ์อันหนึ่งนั้นเกิดขึ้นมาจนถึงที่สุด ก็ดับไป ก็รับอารมณ์ที่สอง ก็เกิดขึ้นในอารมณ์ที่สอง แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น เมื่อจับเอาปัจจุบันธรรมขึ้นมาพิจารณาดั่งนี้ ก็จะมองเห็นว่ารูป คือรวมหมดที่เป็นอาตนะภายนอก เมื่อมาประจวบกับอายตนะภายใน อายตนะภายนอกก็เป็นอารมณ์ อายตนะภายในก็เป็นทวาร อันหนึ่งๆ ก็เกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นผ่านไปโดยลำดับก็เป็นวิญญาณ เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร แล้วเป็นวิญญาณขึ้นอีก แล้วก็ดับ
เป็นอย่างนี้ทุกอารมณ์ ซึ่งอารมณ์อันหนึ่งๆ เป็นขณะจิตอันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ อย่างละเอียดนี้ จึงเกิดดับอยู่ทุกขณะจิต แต่อาศัยมีสันตติคือความสืบต่อ คือเมื่ออารมณ์ที่ ๑ เกิดขึ้นดับไป อารมณ์ที่ ๒ ก็เกิดต่อ อารมณ์ที่ ๒ เกิดขึ้นดับไป อารมณ์ที่ ๓ ก็เกิดต่อ เป็นไปโดยรวดเร็ว เพราะฉะนั้น จึงเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง มีความเกิดดับเป็นธรรมดา
เมื่อกำหนดพิจารณาดั่งนี้ ให้ตามดูตามรู้ตามเห็นเกิดดับของขันธ์ ๕ ในระยะยาว หรือว่าในระยะสั้น คือในปัจจุบัน เป็นปัจจุบันธรรม ก็ย่อมจะได้ปัญญาที่เห็นแจ้ง อันเรียกว่าวิปัสสนา ในอนิจจลักขณะ คือลักษณะที่เป็นเครื่องกำหนดหมายว่าไม่เที่ยงดังกล่าว เป็นอันว่าทำให้ๆ เห็นความไม่เที่ยง จึงศึกษาสำเหนียกกำหนดว่า เราจักตามดูตามรู้ตามเห็นอนิจจะคือไม่เที่ยง หายใจเข้าหายใจออก และเมื่อได้เห็นอนิจลักขณะ อนิจจตาความไม่เที่ยงก็ปรากฏ ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติในชั้นที่ ๑ นี้
ธรรมานุปัสสนาขั้นที่ ๒
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนในชั้นที่ ๒ ต่อไปให้ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่า เราจักตามดูตามรู้ตามเห็นวิราคะ คือความสิ้นติดใจยินดี หายใจเข้าหายใจออก วิราคะคือความสิ้นติดใจยินดีนี้ ย่อมบังเกิดขึ้นเองในเมื่อได้อนิจจานุปัสสนาดังกล่าวในชั้นที่ ๑ เพราะฉะนั้น จึงให้ศึกษาสำเหนียกกำหนดดูให้รู้จักวิราคะที่บังเกิดขึ้นในจิต คือความสิ้นติดใจยินดี อันเรียกว่าวิราคานุปัสสนา
สิ้นติดใจยินดีในอะไร ก็คือในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ นั้นเอง ก่อนแต่ได้ชั้นที่ ๑ คืออนิจจานุปัสสนา จิตนี้ย่อมจะยังมีราคะ คือความติดใจยินดีอยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่เมื่อจิตได้อนิจจานุปัสสนา คือตามดูตามรู้ตามเห็นอนิจจะคือไม่เที่ยง อันเป็นตัวสตินำ ได้ปัญญาเห็นแจ้งในความไม่เที่ยง วิราคะคือความสิ้นติดใจยินดีก็บังเกิดขึ้นเอง ที่เคยติดใจยินดีอยู่ก็จะสิ้นไป เป็นวิราคะคือความสิ้นติดใจยินดี ก็ให้กำหนดดูให้รู้จักวิราคะคือความสิ้นติดใจยินดีนี้ให้เด่นชัดขึ้นในจิต หายใจเข้าหายใจออก อันเป็นชั้นที่ ๒
ธรรมานุปัสสนาขั้นที่ ๓ และขั้นที่ ๔
และเมื่อได้ชั้นที่ ๒ นี้ ย่อมจะได้นิโรธะคือความดับ ดับอะไร ก็คือว่าดับความเพลิดเพลิน พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสชั้นที่ ๓ ต่อไปว่า ให้ศึกษาสำเหนียกกำหนดดู ตามดูตามรู้ตามเห็นนิโรธคือความดับ ดับความเพลิน หายใจเข้าหายใจออก ดับความเพลิดเพลินใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พร้อมทั้งดับอุปาทานคือความยึดถือ และเมื่อได้ความดับก็ย่อมจะได้ความสละคืน ความสละคืนนั้นโดยตรงก็คือ สละคืนความยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา เหมือนอย่างขอยืมของๆ เขามา เอามายึดถือว่าเป็นของเรา แต่ครั้นเมื่อเห็นว่าไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของขอยืมเขามา ก็ส่งคืนเขาไป ยึดถือสิ่งใดไว้ก็ส่งคืนสิ่งนั้น
ยึดถือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณว่าเป็นตัวเราของเรา ก็ส่งคืนรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนั้นแก่ธรรมชาติธรรมดา เพราะว่าเป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นตัวเรา ไม่ใช่เป็นของเรา แต่จิตนี้เองไปยึดถือ หรือบุคคลนี้เองไปยึดถือ ว่าเป็นตัวเราของเรา เพราะฉะนั้น เมื่อสละความยึดถือได้ก็เหมือนอย่างส่งคืนสิ่งที่ยึดถือนั้นไปแก่ธรรมดา ไม่ยึดเข้ามาว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา
ท่านอธิบายถึงการสละคืนนี้ว่ามีลักษณะ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือสละบริจาค อย่างหนึ่งคือแล่นไป สละบริจาคก็คือสละรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ จากความยึดถือว่าตัวเราของเรา แล่นไปนั้นก็คือแล่นไปในนิพพาน อันเป็นที่ดับรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ จึงศึกษาดูให้รู้จักลักษณะของปฏินิสสัคคะคือการสละคืนที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ เป็นปฏินิสสัคคานุปัสสนา อันบังเกิดสืบกันมาโดยลำดับ ชั้นที่ ๑ ก็เป็นอนิจจานุปัสสนา ที่ ๒ ก็เป็นวิราคานุปัสสนา ที่ ๓ ก็เป็นนิโรธานุปัสสนา ที่ ๔ ก็เป็นปฏินิสสัคคานุปัสสนา ก็เป็นอันว่าสุดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมี ๔ ชั้น
จิตในชั้นที่ ๔ นี้จึงมีลักษณะที่เห็นการละความยินดีความยินร้ายด้วยปัญญาอันชอบ เข้าไปเพ่งสงบอยู่ในภายใน อันจัดว่าเป็นอุเบกขา จะว่าเป็นสังขารุเบกขา อุเบกขาคือวางเฉยในสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งก็ได้ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่าการเห็นการละความยินดีความยินร้ายด้วยปัญญาอันชอบ เข้าไปเพ่งสงบเฉยอยู่ วางอยู่ เฉยอยู่ นี่เป็นตัวธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เป็นอันว่าอานาปานสติ สติที่กำหนดลมหายใจเข้าออกนี้ ปฏิบัติไปตามพระพุทธโอวาทที่ทรงสอน โดยจับปฏิบัติตั้งแต่ในเบื้องต้น ในขั้นกายานุปัสสนา ตั้งแต่มีสติหายใจเข้ามีสติหายใจออก ก็จะเลื่อนภูมิชั้นขึ้นไปเอง ในเมื่อจิตได้สติได้สมาธิในลมหายใจเข้าออก เป็นชั้น เป็นขั้นกายานุปัสสนา ๔ ชั้น ขั้นเวทนานุปัสสนา ๔ ชั้น ขั้นจิตตานุปัสสนา ๔ ชั้น ขั้นธรรมานุปัสสนา ๔ ชั้น เป็น ๑๖ ชั้น เรียกว่าอานาปานสติ ๑๖ ชั้น ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้
และในทางปฏิบัตินั้น ก็จับปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้นนี่แหละ คือมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก ดังที่ตรัสสอนไว้ในเบื้องต้น และเมื่อประคองการปฏิบัติให้เข้าทางแล้ว การปฏิบัติก็จะเข้าทางไปเอง และเลื่อนๆ ขึ้นไปเอง แต่ผู้ปฏิบัตินั้นก็จะต้องมีสติมีสมาธิ อันเรียกว่าอานาปานสติสมาธิตั้งแต่ในเบื้องต้นกำกับอยู่ กำกับจิตนี้รู้ กำหนดให้รู้หายใจเข้าออก ไปพร้อมกับขั้นของการปฏิบัติที่เลื่อนขึ้น ธรรมะที่ปรากฏขึ้น เป็นกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนา ก็จะเป็นไปเองตามขั้นของธรรมะด้วย เป็นไปด้วยอำนาจของการปฏิบัติศึกษา สำเหนียกกำหนดให้รู้จัก และไม่ทิ้งลมหายใจเข้าออกไปทุกขั้นตอน อาศัยลมหายใจเข้าออกเป็นพาหะนำจิต ให้ได้สติ ให้ได้สมาธิสูงๆ ขึ้นไป ก็จะได้อานาปานสติ ๑๖ ชั้น แล้วก็ชื่อว่าได้การปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ สมบูรณ์
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป