แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงทางปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ โดยอาศัยลมหายใจเข้าออก และได้แสดงในข้อกายานุปัสสนามาแล้ว ซึ่งการปฏิบัติก็ตั้งใจกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก เป็น ๔ ชั้น ชั้นที่ ๑ หายใจเข้าออกยาวก็ให้รู้ ชั้นที่ ๒ หายใจเข้าออกสั้นก็ให้รู้ ชั้นที่ ๓ ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า จักรู้กายทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออก ชั้นที่ ๔ ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า จักสงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย คือลมหายใจเข้าหายใจออก หายใจเข้าหายใจออก
ก่อนที่จะต่อไปก็จะขอเพิ่มเติมไว้ตรงนี้ก่อนว่า ทางปฏิบัติทั้ง ๔ ชั้นที่แสดงมาแล้วนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้เองในพระสูตร มาในชั้นหลัง พระอาจารย์ได้อธิบายถึงวิธีปฏิบัติ และได้แนะวิธีปฏิบัติไว้ต่างๆ กัน เช่นว่า ในการเริ่มปฏิบัตินั้น จิตยังไม่สงบ เปรียบเหมือนอย่างว่าน้ำเชี่ยว การพายเรือ เมื่อผ่านน้ำเชี่ยว ใช้พายแต่เพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถนำเรือไปได้ ต่อใช้ถ่อช่วย ค้ำจุนให้เรือผ่านที่น้ำเชี่ยวนั้น
เครื่องประคองจิต
ก็เปรียบเหมือนอย่างจิตที่ยังฟุ้งซ่าน การนำจิตให้ตั้งกำหนดลมหายใจเข้าออกอาจสำเร็จยาก ฉะนั้น ท่านจึงให้ใช้วิธีช่วยค้ำจุนจิตให้อยู่กับลมหายใจ ด้วยวิธีใช้นับ หายใจเข้านับ๑ หายใจออกนับ๑ หายใจเข้านับ ๒ หายใจออกนับ ๒ เรียกว่านับช้า ๑ -๑ , ๒-๒ ไปจนถึง ๕-๕ แล้วก็กลับมา ๑-๑, ๒-๒ จนถึง ๖-๖ แล้วก็กลับมา ๑-๑, ๒-๒ จนถึง ๗-๗ แล้วก็กลับต้นมาจนถึง ๘-๘ แล้วกลับต้นมาจนถึง ๙-๙ แล้วก็กลับต้นมาจนถึง ๑๐-๑๐ แล้วก็กลับไป ๑-๑ จนถึง ๕-๕ ใหม่ แล้วก็เติมขึ้นอีกทีละจำนวน จนถึง ๑๐-๑๐ แล้วก็กลับใหม่ เรียกว่านับช้า
ก็เปรียบเหมือนอย่างว่า การนับนี้เป็นถ่อสำหรับที่จะค้ำเรือให้ไปผ่านแม่น้ำเชี่ยวได้ คือให้จิตที่ฟุ้งซ่านนี้ได้มากำหนดในลมหายใจเข้าออก เป็นอันว่าเหมือนอย่างมีอารมณ์ ๒ อย่างพร้อมกันไป คือให้จิตอยู่กับลมหายใจเข้าออกอย่างหนึ่ง และให้จิตอยู่กับการนับอีกอย่างหนึ่ง เมื่อนับช้าดั่งนี้จนจิตสงบตามสมควรแล้ว ก็ให้เปลี่ยนจากนับช้าเป็นนับเร็ว คือหายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๒ ไม่ต้องนับคู่ แต่ในทีแรกพอถึง ๕ แล้วก็กลับใหม่ หรือว่าจะไม่ใช้นับเป็นตอนๆ แบบขยักขย่อนอย่างนั้น ทั้งนับช้านับเร็ว จะนับ ๑ -๑ ไปจนถึง ๑๐ - ๑๐ ทีเดียว หรือว่านับ ๑ ถึง ๑๐ ทีเดียว หรือมากไปกว่านั้น ก็สุดแต่ผู้ปฏิบัติ
(เริ่ม) แต่ว่าท่านอธิบายว่า ที่กำหนดไว้ไม่ให้นับเกิน ๑๐ นั้น ก็เพื่อมิให้จิตต้องเป็นกังวลในการนับที่มีจำนวนมากๆ เมื่อนับจำนวนน้อยๆ เพียงแค่ ๑ - ๑๐ ก็ไม่ทำให้ต้องกังวลในการนับมาก เพราะจะต้องกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นหลัก ส่วนการนับนั้น กำหนดให้การนับเพื่อเป็นเครื่องประคองจิตให้อยู่เท่านั้น
แต่อาจารย์ผู้ปฏิบัติก็ใช้วิธีอื่น เช่นว่า หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ แทนนับ ซึ่งวิธีกำหนด พุทโธ ดั่งนี้ ก็เป็นที่นิยมกันมาก และก็ยังมีวิธีอื่นอีก เช่น วิธีที่กำหนดท้องที่พองหรือยุบ ก็เป็นวิธีประคองจิตไว้ เหมือนอย่างถ่อ เช่นเดียวกัน และเมื่อดูตามอุปมาของท่าน ว่าการนับเหมือนอย่างถ่อค้ำเรือเมื่อผ่านน้ำเชี่ยว ก็แสดงว่าเมื่อน้ำไม่เชี่ยวแล้ว ก็ไม่ต้องนับ กำหนดลมหายใจเข้าออกแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องแบ่งไปกำหนด ๒ อย่างพร้อมๆ กัน
ข้อควรปฏิบัติในขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒
วิธีที่ท่านสอนไว้นี้ เมื่อไปพิจารณาเทียบกับที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ก็จะเห็นว่า ควรใช้ได้ในขั้น ๑ ขั้น ๒ ตามที่ได้แสดงแล้ว ขั้น ๑ หายใจเข้าออกยาวก็ให้รู้ ขั้น ๒ หายใจเข้าออกสั้นก็ให้รู้ คือในขั้น ๑ ขั้น ๒ นี้ กำหนดลมหายใจแต่เพียงอย่างเดียว เพียงแต่ให้รู้ว่ายาวหรือสั้น และในขั้น ๑ ขั้น ๒ นี้ ก็เป็นขั้นที่เริ่มปฏิบัติ อันกล่าวได้ว่าอยู่ในระยะที่จิตยังฟุ้งซ่าน ยังกวัดแกว่ง ยังกระสับกระส่าย เหมือนอย่างน้ำเชี่ยว ยากที่จะรวมเข้ามาได้ ก็ใช้ถ่อช่วยอีกแรงหนึ่ง จึ่งเห็นว่าใช้ได้สำหรับในขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒
แต่เมื่อมาถึงขั้นที่ ๓ ที่ ๔ แล้ว ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้นั้น ว่าขั้นที่ ๓ ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรู้กายทั้งหมดหายใจเข้า หายใจออก ก็เป็นการกำหนด ๒ อย่างเหมือนกัน คือว่าให้รู้กายทั้งหมด ไปพร้อมกับรู้หายใจเข้า รู้หายใจออก จึงเป็นการกำหนดให้รู้ ๒ อย่างไปพร้อมกัน แม้ในขั้นที่ ๔ ก็เช่นเดียวกันว่า ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย หายใจเข้าหายใจออก ก็เป็นอันปฏิบัติให้รู้ ๒ อย่างในขณะเดียวกัน คือว่าให้รู้รำงับกายสังขารเครื่องปรุงกายด้วย ให้รู้ลมหายใจเข้าหายใจออกด้วย ไปพร้อมกัน ก็แปลว่ามี ๒ อย่าง
ฉะนั้น จะแถมการนับ หรือแม้การบริกรรมอย่างอื่นเข้ามาอีก ก็กลายเป็น ๓ อย่าง ซึ่งเป็นการปฏิบัติยาก เมื่อมาถึงขั้นที่ ๓ ที่ ๔ นี้แล้ว จึงเห็นว่าควรจะต้องงดการนับ หรือการบริกรรมอย่างอื่น มาปฏิบัติตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน อย่างขั้นที่ ๓ ก็ให้รู้กายทั้งหมด ไปพร้อมกับหายใจเข้าหายใจออก ขั้นที่ ๔ ก็ให้รู้รำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย ไปพร้อมกับหายใจเข้าหายใจออก แปลว่ารู้ ๒ อย่างพร้อมกัน
และในขั้นที่ ๓ ที่ตรัสสอนไว้นั้น เมื่อปฏิบัติก็ย่อมจะรู้สึกได้ด้วยตนเองว่า ความรู้ลมหายใจเข้าออกนั้น กว้างออกไปกว่าที่จะกำหนดเพียงแค่ปลายจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน แต่ว่าออกไปจนถึงกายทั้งหมด ซึ่งได้แก่นามกาย รูปกาย รูปกายนั้น เมื่อว่าถึงรูปกายทั้งหมด ก็ได้แก่รูปกายทั้งหมดของทุกๆ คน เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยที่สุด เป็นที่สุดโดยรอบนี้ และแม้ท่านอาจารย์จะอธิบายว่าหมายถึงกองลม ที่หายใจเข้า ที่หายใจออก
การกำหนดกองลม
แต่ว่ากองลมนั้น ก็กำหนดให้แคบก็ได้ ให้กว้างก็ได้ เพราะลมที่หายใจเข้าหายใจออกนั้น ย่อมเป็นลมที่ซาบซ่าน กำหนดให้ซาบซ่านไปทั่วร่างกายก็ได้ ทั้งเข้าทั้งออก และจะกำหนดดูลมเดินเข้าเดินออก ทั้งหมดที่แบ่งเป็น ๓ จุด ดั่งที่ได้อธิบายแล้ว ดังนั้นก็ได้ แต่ว่าเมื่อกำหนดให้กว้างออกไปจนถึงกายทั้งหมดนี้ ก็เป็นการปฏิบัติครอบคลุมทั้งหมด
รูปกาย นามกาย
และนามกายนั้นก็คือดูใจนี้เอง ใจที่รู้ที่คิด ใจรู้ใจคิดอย่างไร ก็รู้ ใจรู้ใจคิดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ก็รู้ว่าเดี๋ยวนี้ใจรู้ใจคิดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก แล้วก็ต้องการให้เป็นอย่างนั้น หากใจออกไปก็ต้องนำเข้ามาใหม่ แต่ก็ต้องให้รู้ใจ ว่าคิดอะไร รู้อะไรอยู่ ในขณะที่ปฏิบัติ ก็เป็นอันว่าให้จิตอยู่ในขอบเขตของกายทั้งหมดนี้ ทั้งรูปกายทั้งนามกาย รู้กายรู้ใจของตัวเอง และเมื่อรู้กายรู้ใจของตัวเอง ก็ย่อมรู้ลมหายใจเข้าออกรวมอยู่ด้วย เหมือนอย่างว่า เมื่อคนเลี้ยงเด็กไกวเปลเด็ก นั่งอยู่ที่โคนเสาข้างหนึ่งของเปล แล้วไกว ก็มองเห็นเด็กที่นอนอยู่ในเปล เปลก็แกว่งไปแกว่งมา เมื่อมองเห็นเปลทั้งหมด ก็ต้องเห็นเด็ก
เพราะฉะนั้น เมื่อรู้กายทั้งหมด ก็ย่อมเห็นลมหายใจเข้าออก ก็ย่อมรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่ด้วย ย่อมรู้ว่าใจนี้คิดอยู่รู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก เป็นอันว่าใจรวมอยู่ในกายใจทั้งหมดนี้ของตนเอง ไม่ออกไปข้างนอก ก็เป็นอันว่าจำกัดวงของจิตให้แคบเข้ามา ให้อยู่ในภายใน ภายในกายภายในใจทั้งหมดนี้เอง ไม่ไปข้างไหน ลองนึกดูว่า เรากำหนดเหมือนอย่างเห็นตัวเราเองทั้งหมดนี้นั่งอยู่ และก็นั่งหายใจเข้าอยู่ นั่งหายใจออกอยู่ คล้ายๆ กับว่า ตัวเราเองนี้ออกไปยืนอยู่ข้างนอก แล้วมองเข้ามาดูที่ตัวของเราที่กำลังนั่งอยู่นี้ ก็เห็นตัวเราทั้งหมด นั่งหายใจเข้าหายใจออกอยู่ แล้วก็รู้ใจทั้งหมดที่คิดอยู่ที่รู้อยู่ ดั่งนี้ก็เป็นอันว่า เป็นเหตุให้ใจรวมเข้ามา รู้ทั้ง ๒ อย่าง รู้กายทั้งหมด ไปพร้อมกับลมหายใจเข้าลมหายใจออก ได้ในขั้นที่ ๓
ในการปฏิบัติดั่งนี้ จะไปมัวนับอยู่นั้นไม่สะดวก หรือมีกำหนดอย่างอื่นก็ไม่สะดวกเช่นเดียวกัน เพราะไม่สามารถจะแบ่งใจออกไปอีกได้ ต้องให้ใจอยู่ที่กายทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออกเท่านั้น
วิธีของพระพุทธเจ้านี้ให้เพ่งให้ดี ให้เข้าใจ แล้วจะเห็นว่าถูกต้อง และปฏิบัติได้ อันจะนำให้ถึงขั้นที่ ๔ คือขั้นที่ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรำงับสงบกายสังขารเครื่องปรุงกาย หายใจเข้าหายใจออก ก็เหมือนอย่างว่าเราออกไปนั่งดูกายของตัวเราเอง ซึ่งหายใจเข้าหายใจออกอยู่ เมื่อเห็นว่ากายนี้โคลงไปโคลงมา ก็ต้องกำหนดทำให้กายนี้ไม่โคลง แต่ให้นั่งสงบเป็นปรกติ และถ้าเห็นว่า อยากให้หายใจเร็วบ้างช้าบ้าง เบาบ้างแรงบ้าง ก็ต้องระงับเสียอีก ก็จะไปอยากไม่ได้ ต้องปล่อยให้หายใจไปโดยปรกติ และเมื่อเห็นว่ามีอาการเมื่อยบ้าง เป็นเหน็บบ้าง ก็ต้องดำเนินการระงับ ไม่ใส่ใจในการเมื่อย แก้เมื่อเสียด้วยการอธิษฐานลมให้แผ่ไปในตรงที่เมื่อยนั้น แต่ถ้าหากว่าเมื่อยเต็มที่ก็ต้องยอมที่จะเปลี่ยนอิริยาบถ เช่นพลิกขาในการนั่ง หรือขยับขาเล็กน้อยอะไรเป็นต้น เป็นการช่วย และก็คอยประคับประคองใจ ให้ปล่อย ให้เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาที่สุด โดยไม่ไปคิดตบแต่งให้เป็นอย่างโน้น ให้เป็นอย่างนี้ และเมื่อปฏิบัติให้เข้าทางดั่งนี้แล้ว ใจก็จะรวมดีขึ้น กายเองก็สงบดีขึ้น และหายใจเข้าหายใจออกก็จะมาปรากฏอยู่ทั่วตัวทั่วใจ
อาการที่แสดงว่าได้อานาปานสติสมาธิ
ความปรากฏของหายใจเข้าหายใจออก อยู่ทั่วตัว อันหมายถึงส่วนกาย และทั่วใจนี้ เป็นการแสดงว่าได้อานาปานสติสมาธิ คือสมาธิที่ได้จากสติกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก และกายก็จะสงบไปพร้อมกับใจที่สงบ อาการของร่างกายที่หายใจต่างๆ ก็จะสงบลงๆ
แต่อันที่จริงหายใจอยู่ เพราะเมื่อจิตใจสงบ และเมื่อกายสงบ อาการของร่างกายที่หายใจ ก็ไม่จำเป็นจะต้องหยาบเหมือนอย่างปรกติสามัญ อาการที่หายใจเองก็ละเอียดเข้าๆ คือไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ความเคลื่อนไหว อาการเคลื่อนไหวของกายก็น้อยเข้า อาการเคลื่อนไหวของจิตใจก็น้อยเข้า อาการเคลื่อนไหวของร่างกายที่หยาบ ก็เพราะว่าอาการเคลื่อนไหวของจิตหยาบ เมื่ออาการเคลื่อนไหวของจิตละเอียด อาการเคลื่อนไหวของกายก็ละเอียดตาม
เพราะฉะนั้น จิตที่สงบอยู่กับลมหายใจเข้าออก กายและใจหายใจเข้าหายใจออกอยู่อย่างละเอียด จึงเป็นกายและจิตที่ละเอียด การหายใจก็เป็นไปอย่างละเอียด จนถึงแม้ว่าความเคลื่อนไหวของร่างกายสงบลงไป เพราะเหตุว่าจิตละเอียดที่สุด กายก็ละเอียดที่สุด ตามกัน
กายานุปัสสนาสติปัฏฐานชั้นที่ ๔
เมื่อจิตละเอียดที่สุด กายละเอียดที่สุด อาการเคลื่อนไหวในการหายใจอย่างปรกติสามัญก็หยุดลง เหมือนอย่างไม่หายใจ ท้องไม่มีพองไม่มียุบ และอาการที่ลมกระทบปลายจมูก ลงไปถึงทรวงอก ถึงท้อง ก็สงบลงหมด จนถึงว่าแม้มากระทบแผ่วๆ ที่ปลายจมูกก็สงบหมด เหมือนอย่างไม่หายใจ และในขณะที่เป็นเช่นนั้น ก็จะไม่มีความรู้สึกอึดอัด จะรู้สึกว่ามีความผาสุกสบายเป็นปรกติ และการหายใจนั้นก็คงหายใจอยู่นั้นเอง หายใจเข้าหายออกอยู่นั้นเอง แต่ว่าเป็นอย่างละเอียดที่สุด เป็นไปตามกายและจิตที่ละเอียดดังกล่าว เมื่อเป็นดั่งนี้ก็เป็นอันว่าได้ในขั้นที่ ๔
ผู้ที่ได้ในขั้นที่ ๔ นี้ ถ้าคนอื่นมองก็รู้สึกตกใจว่าไม่หายใจ หรือเมื่อตนเองใจออกมาดูกาย เห็นว่ากายไม่หายใจก็ตกใจ ดั่งนี้ก็มี
บางคนก็มาแสดงยังงั้น ว่าตกใจ กลัวตาย ก็ต้องถอนใจออกมา พอกายหยาบใจหยาบก็หายใจเป็นปรกติ แต่ความจริงนั้นไม่ต้องตกใจไม่ต้องกลัวตาย เป็นลักษณะของธรรมชาติ ต้องเป็นดั่งนั้น
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ทรงแสดงว่า ลมหายใจเข้าออกนี่แหละ เป็นตัวกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งจะพึงได้ในขณะที่จะต้องถึงขั้นที่ ๔ ระงับกายสังขาร ถึงขั้นที่ว่ากายทั้งหมด และใจทั้งหมด หายใจด้วยกันอย่างละเอียดที่สุด เป็นอันว่าได้ถึงขั้นที่ ๔ และขั้นที่ ๔ นี้ ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้เอง เป็นตัวกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นสติปัฏฐานขั้นกาย หรือเป็นขั้นที่ ๑
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป