แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ศีลสมาธิปัญญานี้เป็นหลักย่อของปฏิบัติธรรม ธรรมะหมวดอื่นซึ่งเป็นปฏิบัติธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้เป็นอันมาก ท่านแสดงว่าก็สรุปเข้าในศีลสมาธิปัญญานี้ อันเรียกว่าไตรสิกขา แต่เมื่อเรียกว่าไตรสิกขา ถ้อยคำก็มีต่างกันบ้าง คือไตรสิกขานั้นก็ได้แก่ สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา สีลสิกขาก็คือศีล จิตตสิกขาก็คือสมาธิ ปัญญาสิกขาก็คือปัญญา
ถ้อยคำที่ต่างกันนั้นคือตรงกับคำว่าจิตตสิกขา ซึ่งก็หมายถึงสมาธิ และใช้ว่าจิตตสิกขาก็บ่งถึงจิต หรือที่เรียกว่าจิตใจอันเป็นแกนสำคัญของการปฏิบัติธรรม สมาธิก็เป็นแกนสำคัญของปฏิบัติธรรม
มรรคข้ออื่นเป็นบริขารของสมาธิ
เพราะฉะนั้นในพระสูตรหนึ่งจึ่งได้มีแสดงไว้ว่า สมาธิเป็นข้อหลัก ตรัสแสดงไว้เป็นอันดับ ๑ และตรัสแสดงว่ามรรคมีองค์ ๘ ข้ออื่นนั้นเป็นบริวาร หรือเป็นบริขารของสมาธิ อันแสดงว่าสมาธิเป็นแกนหรือเป็นหลักสำคัญของการปฏิบัติธรรม
และสมาธินั้นก็คือจิตนั้นเองที่ตั้งมั่น และจิตที่ตั้งมั่นนี้เป็นสมาธิในพระพุทธศาสนา หมายจำเพาะที่เป็นสัมมาสมาธิ คือตั้งมั่นอยู่โดยชอบซึ่งมีหลักอยู่ที่ว่า สงบจากกาม สงบจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ดั่งนี้ จึงจะเป็นสัมมาสมาธิในพระพุทธศาสนา ก็คือจิตนั้นเองที่ตั้งมั่นอยู่โดยชอบ พิจารณาดูก็จะเห็นได้ว่าจิตที่เป็นสมาธิ คือที่ตั้งมั่นอยู่โดยชอบนี้ ย่อมสามารถรับกุศลธรรมทั้งหลายได้
ถ้าจิตกวัดแกว่ง หรือซึมเซา ย่อมรับกุศลธรรมทั้งหลายไม่ได้ เหมือนอย่างมือ ถ้าหากว่ามือที่กำอยู่เหมือนอย่างจิตที่ซึมเซา ก็รับของอะไรไม่ได้ หรือแม้มือที่แบ คือจิตที่ไม่ซึมเซา แต่ว่าถ้ากวัดแกว่ง คือแกว่งมือที่แบนี้ไปมา ก็วางของลงไปในมือ ให้ของตั้งอยู่ด้วยดีไม่ได้ แต่เมื่อมือๆ แบและนิ่งอยู่ วางของลงบนมือนั้น ของนั้นก็ตั้งอยู่ได้
จิตก็เช่นเดียวกัน ต้องเป็นจิตที่แบคือไม่ซึมเซา และไม่ฟุ้งซ่านคือไม่แกว่ง จึงจะรับรองกุศลธรรมทั้งหลายได้ นี้คือสมาธินั้นเอง สมาธิจึงเป็นหลักแกนของการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสยกไว้เป็นประธาน และองค์มรรคข้ออื่นนั้นเป็นบริขารเป็นเครื่องประกอบเข้าด้วยกัน นี้มุ่งในด้านจิตที่เป็นสิ่งควรแก่การงาน รับศีลรับสมาธิที่ยิ่งขึ้น และรับปัญญาได้ รับกุศลธรรมอื่นๆ ได้ จิตหรือสมาธินี้จึงเป็นข้อสำคัญ
การหัดทำกรรมฐาน ก็เป็นการหัดทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะกรรมฐานอันเป็นที่ตั้งของจิตนี้ก็ล้วนเป็นกุศลธรรม จะเป็นข้อใดก็ตาม และแม้ที่เป็นข้อหลักใหญ่ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติทั่วไปคือสติปัฏฐานทั้ง ๔ อันได้แก่กายเวทนาจิตธรรม ก็เป็นหลักปฏิบัติเป็นที่ตั้งของจิต เป็นฝ่ายกุศลธรรม
สติปัฏฐาน ๔
อันกายเวทนาจิตธรรมนั้นกล่าวอย่างหนึ่ง ก็เป็นธรรมดาอย่างหนึ่งของความเป็นบุคคลทุกๆ คน จะต้องมีกาย จะต้องมีเวทนา จะต้องมีจิต จะต้องมีธรรม จึงดำรงชีวิตอยู่เป็นบุคคล ที่เป็นอยู่ ดำรงอยู่ พระพุทธเจ้าตรัสยกเอาสติปัฏฐานทั้ง ๔ อันหมายถึงที่ตั้งของสติ คือกายเวทนาจิตธรรมนี้ เป็นที่ฝึกสติให้ตั้งอยู่ และได้ตรัสไว้โดยปริยายคือทางอื่นๆ คือจำแนกออกเป็นขันธ์ ๕ เป็นที่ตั้งของปัญญาที่จะกำหนดพิจารณา
ปัญญานั้นก็สืบเนื่องมาจากสติสืบเนื่องมาจากสมาธิ ในเมื่อฝึกสติตั้ง เพื่อให้จิตตั้งเป็นสมาธิ ก็ใช้ให้ตั้งในสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือกายเวทนาจิตธรรม และเมื่อตั้งสติได้ ได้สมาธิในกายเวทนาจิตธรรม ก็พิจารณาโดยเป็นขันธ์ ๕ เป็นทางปัญญา หรือย่อเป็นนามรูป กายเวทนาจิตธรรมหรือว่าขันธ์ ๕ ก็รวมเป็นสกนธ์กายอันนี้ของทุกๆ คน ซึ่งประกอบด้วยกายและจิต หรือกายใจ อันรวมเป็นบุคคล
ที่ตั้งของสติ ที่ตั้งของปัญญา
เหมือนอย่างที่ปรากฏรวมกันเป็นก้อนเป็นกลุ่มอยู่นี้ ซึ่งจำแนกออกเป็นกายเวทนาจิตธรรม เพื่อเป็นที่ตั้งของสติ อันเรียกว่าสติปัฏฐานก็ได้
แยกออกเป็นขันธ์ ๕ คือเป็นกองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ เพื่อเป็นที่ตั้งของปัญญาก็ได้ แต่ก็รวมอยู่เป็นก้อนเดียวกันนี้ เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้น จึงไม่ต้องไปหาที่ตั้งปฏิบัติในที่อื่น หาที่ตั้งปฏิบัติที่กายและจิต หรือกายและใจของตนเอง นี่เอง
ประโยชน์ปัจจุบัน
และการปฏิบัตินั้นเมื่อว่าตามลำดับ ก็ปฏิบัติในขั้นที่เป็นทิฏฐธรรมิกัตถะ คือประโยชน์ปัจจุบัน ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร ในการงานที่พึงทำ เพื่อให้ได้สิ่งที่ดำรงชีวิตมาใช้สอย ตรัสสอนให้ถึงพร้อมในการรักษา คือรักษาสิ่งที่พึงใช้สอยนั้น คือใช้สอยดำรงชีวิต ตรัสสอนให้คบเพื่อนที่ดีงาม อันจะนำให้ปฏิบัติในทางที่ถูกต้องดีงาม และตรัสสอนให้ใช้จ่ายสิ่งของที่พึงใช้จ่าย เพื่อดำรงชีวิตนั้นให้เป็นไปสม่ำเสมอ อันหมายความว่าไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ให้ฟูมฟายนัก ให้อยู่ในระดับอันสมควร ก็คือสม่ำเสมอหรือพอดี
ทุกคนผู้เกิดมาในโลกนี้จำต้องการสิ่งสำหรับใช้สอยดำรงชีวิต เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องการนี้จึงเรียกว่า อรรถะ อันแปลว่าสิ่งที่ต้องการ หรือประโยชน์ที่ต้องการ เมื่อได้มาก็ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยดีในปัจจุบัน เพราะว่าทุกคนจำต้องอาศัยสิ่งบำรุงชีวิตดังกล่าวอยู่ในปัจจุบันทุกขณะ ทั้งที่เป็นส่วนหยาบ ทั้งที่เป็นส่วนละเอียด ส่วนที่เป็นส่วนหยาบนั้น ก็เช่นอาหารที่เป็นของหยาบ เสื้อผ้าสำหรับนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยาสำหรับแก้ไข้ต่างๆ ที่เป็นส่วนละเอียดนั้นก็คือลมหายใจเข้าออก ซึ่งทุกคนต้องหายใจอากาศเข้าไปบำรุงเลี้ยงร่างกายอยู่ทุกขณะ อันจะหยุดเสียมิได้ อันจะพึงกล่าวได้ว่าเป็นอาหารที่ละเอียด
ประโยชน์ภายหน้า
และยิ่งไปกว่านี้ยังต้องการศรัทธาคือความเชื่อที่ถูกต้อง ต้องการศีลคือความประพฤติที่เป็นปรกติ ไม่เบียดเบียนกันและกันให้เดือดร้อน ต้องการจาคะคือการสละเผื่อแผ่เจือจาน ต้องการปัญญาคือความรู้จักผิดชอบชั่วดีต่างๆ รู้จักทางเสื่อม รู้จักทางเจริญ รู้จักทางปฏิบัติให้พ้นเสื่อม ดำเนินไปสู่ความเจริญ เหล่านี้เรียกว่าเป็นประโยชน์ภายหน้า
ประโยชน์ปัจจุบันนั้นก็หมายถึงว่า เป็นประโยชน์ที่ต้องใช้ประจำวัน ที่เป็นปัจจุบัน และเป็นประโยชน์สำหรับตนเอง ทั้งเป็นประโยชน์ที่จะต้องใช้ต่อไปไม่ใช่วันนี้ คือต้องมีต้องใช้ในวันพรุ่งนี้อีกด้วย เพราะฉะนั้นประโยชน์ปัจจุบันนั้นจึงกำหนดจำเพาะตน เป็นประโยชน์ทางกาย และเป็นประโยชน์ที่ต้องใช้อยู่ประจำวันเป็นปัจจุบัน
ส่วนที่ว่าประโยชน์ภายหน้านั้นไม่ใช่หมายความว่าปัจจุบันไม่ต้องใช้ เช่นว่าวันนี้ไม่ต้องใช้ ใช้แต่ภายหน้าเท่านั้น เช่นว่าใช้ในวันพรุ่งนี้ แต่มีความหมายว่าศรัทธาคือความเชื่อที่ถูกต้องก็ดี ศีลคือความประพฤติที่ไม่เบียดเบียนกันก็ดี จาคะคือการสละบริจาคก็ดี และปัญญาคือความรู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์เป็นต้นก็ดี เป็นสิ่งที่เป็นเครื่องบำรุงใจ เป็นอาหารทางจิตใจคู่กับกาย และเป็นสิ่งที่จะให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลจากปัจจุบันนี้สืบไปถึงภายหน้า และเป็นประโยชน์เกื้อกูลที่ถึงแก่ผู้อื่นอีกด้วย
ดังที่กล่าวมานี้จึงต้องปฏิบัติด้วยกันอยู่ในปัจจุบันนี้เอง คู่กันไปทีเดียว เพราะว่าทุกคนนั้นต้องมี ๓ คู่อยู่ด้วยกัน เกี่ยวกับกาลเวลาก็คือปัจจุบันและภายหน้า ต้องคู่กันไป เกี่ยวกับบุคคลต้องตัวเราและผู้อื่น ต้องคู่กันไป และเกี่ยวกับอัตภาพก็คือกายและใจ หรือกายและจิต ต้องคู่กันไป
สำหรับประโยชน์ที่เรียกว่าประโยชน์ปัจจุบันนั้น เช่นปัจจัยทั้ง ๔ ดังกล่าว ตลอดจนถึงที่เป็นอย่างละเอียดคือลมหายใจเข้าออกดังที่กล่าวแล้วนั้น เกื้อกูลแก่ร่างกาย เกื้อกูลแก่ตัวเอง และเกื้อกูลอยู่ในขณะปัจจุบัน หรือประจำวันประจำเวลา แต่ว่าศรัทธาก็ดี ศีลก็ดี จาคะก็ดี ปัญญาก็ดี นั้นเกื้อกูลถึงจิตใจ เกื้อกูลถึงผู้อื่น เกื้อกูลถึงภายหน้า
เพราะฉะนั้นเมื่อทั้ง ๓ คู่นี้ คือตนเองและผู้อื่นก็ดี ปัจจุบันและภายหน้าก็ดี กายและใจก็ดี มีความสุข ไม่บกพร่อง ก็เรียกว่าสำเร็จเป็นประโยชน์ปัจจุบันด้วย สำเร็จเป็นประโยชน์ภายหน้าด้วย แม้เพียงเท่านี้แล้วก็จะทำให้โลกนี้เป็นสุข ในเมื่อกายใจของทุกคนมีความสุข ในเมื่อตนเองและผู้อื่นมีความสุข ในเมื่อปัจจุบันและภายหน้า เช่นวันนี้พรุ่งนี้ ปีนี้ปีหน้าเป็นต้น เป็นสุข ก็เป็นความสุขที่สมบูรณ์ สำหรับชีวิตของทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ และรวมกันอยู่เป็นหมู่
ประโยชน์อย่างยิ่ง
แต่ว่ายังจะต้องมีความสุขที่ทุกคนควรแสวงหา ยิ่งไปกว่าความสุขของ ๓ คู่ดังกล่าวข้างต้น ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ก็คือความสุขที่เป็นอย่างยิ่ง อันได้แก่ความสุขของจิตใจที่บริสุทธิ์ อันเป็นความสุขอย่างบริสุทธิ์ ซึ่งทุกคนสามารถจะปฏิบัติเพื่อประสบความสุขที่บริสุทธิ์ดั่งนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นพระ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาส ไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน ไม่ว่าจะอยู่ในป่า ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน ก็สามารถปฏิบัติเพื่อให้พบความสุขที่บริสุทธิ์นี้ได้ ก็คือการที่ปฏิบัติทำจิตใจนี้ ชำระจิตใจนี้ให้ผ่องแผ้ว หรือให้บริสุทธิ์สะอาด
ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้นนั้น จะเป็นคำสั่งสอนเพื่อประโยชน์ปัจจุบันก็ตาม เพื่อประโยชน์ภายหน้าก็ตาม ย่อมรวมอยู่ในคำที่ว่า เหมือนอย่างมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาล น้ำในมหาสมุทร จะอยู่ที่ริมฝั่งก็ดี อยู่ที่ไกลฝั่งก็ดี อยู่ในที่กลางมหาสมุทรอันลึกยากที่ใครจะครณาได้ก็ดี ลึกมากก็ดี ล้วนมีความเค็มเป็นรส
(เริ่ม) คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ก็มีวิมุติคือความหลุดพ้นเป็นรส เพราะฉะนั้น ความหลุดพ้นนี้เองเป็นตัวปรมัตถ์ประโยชน์คือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ก็ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าน้ำในมหาสมุทรที่อยู่ริมฝั่งก็เค็ม ไกลฝั่งออกไปก็เค็ม กลางมหาสมุทรที่ลึกก็เค็ม
ฉะนั้น คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน อันเหมือนอย่างที่อยู่ริมฝั่ง ก็เอนเอียงเทลุ่มลาดไปสู่วิมุติคือความหลุดพ้น แม้ที่ไกลฝั่งอันเทียบได้กับที่เป็น สัมปรายิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ภายหน้า ก็เอียงเทลุ่มลาดไปสู่วิมุติคือความหลุดพ้น และแม้น้ำที่อยู่กลางมหาสมุทรอันลึกมาก ก็เอียงเทลุ่มลาด หรือว่ามีวิมุติคือความหลุดพ้นเป็นรสโดยตรง เช่นเดียวกัน คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่ว่ามีวิมุติคือความหลุดพ้นเป็นรส จำเพาะที่เป็นธรรมะลุ่มลึก เหมือนอย่างน้ำกลางมหาสมุทรเท่านั้น แต่แม้ที่ริมฝั่งหรือที่ห่างฝั่งออกไม่มากนัก ก็เค็มเหมือนกัน เอียงเทลุ่มลาดไปสู่วิมุติคือความหลุดพ้นเช่นเดียวกัน
วิมุติในขั้นศีลสมาธิปัญญา
ในเมื่อจิตใจอันนี้ได้มีการปฏิบัติ บรรเทากิเลส ละกิเลสกองโลภบ้าง กองโกรธบ้าง กองหลงบ้าง นี้แหละคือการปฏิบัติเพื่อวิมุติคือความหลุดพ้น การที่มาปฏิบัติในทานศีลภาวนา อันเป็นการทำบุญทั่วไปก็ดี
การปฏิบัติในไตรสิกขาคือศีลสมาธิปัญญาที่ปฏิบัติกันอยู่ก็ดี ทั้งพระ ทั้งฆราวาส ทั้งในวัด ทั้งในบ้าน ทั้งในป่า ก็ปฏิบัติเมื่อใด ในที่ใด จิตก็เอียงเทลุ่มลาดไปสู่วิมุติคือความหลุดพ้น ได้พบวิมุติคือความหลุดพ้นจากโลภโกรธหลงตามควรแก่การปฏิบัติ และก็เรียกว่าเป็นวิมุติได้ แม้จะเป็นวิมุติชั่วคราว แม้จะเป็นวิมุติเล็กน้อย ก็เป็นวิมุติได้ คือเมื่อเป็นศีลขึ้นเมื่อใด ก็ได้ผลเป็นวิมุติขั้นศีล เป็นสมาธิขึ้นเมื่อใด ก็ได้วิมุติขั้นสมาธิ เป็นปัญญาขึ้นเมื่อใดก็ได้วิมุติขั้นปัญญา เป็นผลของการปฏิบัติคู่กันไป
ดังเมื่อปฏิบัติในศีลก็พ้นจากภัยเวร และพ้นจากกิเลสกองโลภโกรธหลงที่เป็นอกุศลมูลทั้งหลาย ปฏิบัติให้จิตเป็นสมาธิก็พ้นจากนิวรณ์ อันเป็นกิเลสที่กั้นจิตไว้ไม่ให้ได้สมาธิ ไม่ให้ได้ปัญญา ทำให้จิตได้วิเวกคือความสงบสงัดกาม และอกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติเป็นปัญญาขึ้นมาได้ ก็ได้ปหานะคือการละ ละโลภโกรธหลง ละอวิชชา ละโมหะ ก็เป็นวิมุติคือความหลุดพ้นตามภูมิชั้นของการปฏิบัติ
การปฏิบัติดังกล่าวนี้จึงเอนเอียงเทลุ่มลาดไปสู่ปรมัตถประโยชน์คือประโยชน์อย่างยิ่งทั้งหมด เป็นการปฏิบัติที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ในประโยชน์ปัจจุบัน และประโยชน์ภายหน้านั้นเอง และก็จะต้องมีประโยชน์ปัจจุบันและประโยชน์ภายหน้านี้เป็นเครื่องรองรับด้วย เพราะเมื่อกายและจิตมีความสุข ตนเองและผู้อื่นมีความสุข ปัจจุบันและภายหน้าคือวันนี้พรุ่งนี้มีความสุข ก็จะทำให้สามารถปฏิบัติอบรมจิตใจ สามารถทำบุญต่างๆ สามารถปฏิบัติในไตรสิกขาศีลสมาธิปัญญาได้สะดวกดียิ่งขึ้น ปฏิบัติในบ้านก็ได้ความสุขในบ้าน ปฏิบัติในวัดก็ได้ความสุขในวัด ปฏิบัติในป่าก็ได้ความสุขในป่า แต่ถ้าอยู่ในที่ใดก็ตาม ไม่ปฏิบัติดั่งนี้ก็ไม่พบกับปรมัตถประโยชน์
ต่อเมื่อปฏิบัติดั่งนี้จึงจะได้พบกับปรมัตถประโยชน์ ก็พึงพิจารณาดูว่าอันโจรผู้ร้ายนั้น ในบ้านก็มีโจรผู้ร้าย ในป่าก็มีโจรผู้ร้าย คือความเป็นโจรผู้ร้ายนั้นมีอยู่ในบุคคลใด บุคคลนั้นจะอยู่ในบ้านก็เป็นคนร้าย อยู่ในป่าก็เป็นคนร้าย แต่ผู้ที่เป็นคนดีนั้นอยู่ในบ้านก็เป็นคนดี อยู่ในป่าก็เป็นคนดี จึงสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติตนนี้เอง และทุกคนเมื่อต้องการปฏิบัติดี ก็ปฏิบัติดีได้ทั้งที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน ทั้งที่เป็นประโยชน์ภายหน้า และทั้งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่เรียกปรมัตถประโยชน์ ทั้งในบ้าน ทั้งในวัด ทั้งในป่า ได้ทุกแห่ง
ในครั้งพุทธกาลเองก็มีพระพุทธสาวกเป็นอันมาก ท่านออกจากบ้านมาก็ฟังธรรมในวัดในบ้านนั้นเอง ก็สำเร็จมรรคผลเบื้องต้นบ้างเบื้องสูงบ้าง ก็เพราะว่าปฏิบัติเป็นประโยชน์ปัจจุบันบ้าง เป็นประโยชน์ภายหน้าบ้าง และปฏิบัติเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะในขณะที่มาฟังธรรมนั้น โดยที่เป็นผู้มีอินทรีย์บารมีได้อบรมมาแล้ว สามารถเข้าถึงมรรคผลได้
ต่อไปนี้พึงตั้งใจฟังสวด ถ้ามีก็ตั้งใจ และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป