แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จิตตภาวนาการอบรมจิต พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสั่งสอนให้กระทำ และได้ตรัสไว้ว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติที่ ปภัสสร คือผุดผ่อง แต่เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลส คือเครื่องเศร้าหมองจิตทั้งหลายที่จรเข้ามา อันได้แก่อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสเครื่องเศร้าหมองจิต กองราคะ โทสะ โมหะ หรือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก เพราะฉะนั้น จิตจึงเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส
แต่ว่าจิตนี้ วิมุตติ คือหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามานี้ได้ จึงได้ตรัสสอนให้ทำจิตตภาวนาคือการอบรมจิต อันจะทำจิตให้วิมุตติคือหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย และเครื่องอบรมจิตนั้นโดยตรงก็ได้แก่สมาธิภาวนา และปัญญาภาวนา คือการปฏิบัติทำจิตให้เป็นสมาธิ และการปฏิบัติทำจิตให้ได้ปัญญา ความรู้ความเห็นที่เข้าถึงสัจจะคือความจริง
ศีล อินทรียสังวร
จิตตภาวนาดังกล่าวนี้ก็ต้องอาศัยมี ศีล เป็นภาคพื้น จึงต้องมีการปฏิบัติในศีลตามสิกขาบทบัญญัติ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้เป็นวินัย สำหรับฆราวาสก็เช่นวินัยห้าข้อที่เรียกว่าศีล ๕ วินัยแปดข้อที่เรียกว่าศีล ๘ สำหรับบรรพชิตคือผู้บวชก็ได้แก่วินัยสิบข้อที่เรียกว่าศีล ๑๐ สำหรับสามเณร วินัยสองร้อยยี่สิบเจ็ดข้อที่เรียกว่าศีล ๒๒๗ สำหรับภิกษุ การมาปฏิบัติตามวินัย เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งให้เว้น ทำตามข้อที่ตรัสสั่งให้ทำเรียกว่าศีล มีข้อน้อยหรือมากตามจำนวนของวินัย น้อยหรือมากข้อดังกล่าว ฉะนั้น จะชื่อว่ามีศีลก็ต้องมีวินัย และเมื่อมีวินัยก็ชื่อว่ามีศีล ศีลดังกล่าวนี้เป็นภาคพื้นจะต้องปฏิบัติให้มีขึ้น
และจะต้องมีการปฏิบัติใน อินทรียสังวร คือความสำรวมอินทรีย์ที่แปลว่าเป็นใหญ่ อันหมายถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ ทั้ง ๖ นี้ได้ชื่อว่าอินทรีย์ คือเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ตาเป็นใหญ่ในการเห็นรูป หูเป็นใหญ่ในการฟังเสียง จมูกเป็นใหญ่ในการทราบกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในการทราบรส กายเป็นใหญ่ในการถูกต้องสิ่งที่ถูกต้องทางกาย มโนคือใจเป็นใหญ่ใน ๕ ข้อนั้นด้วย และในธรรมะคือเรื่องราวที่นึกที่รู้ที่คิดทางใจ
ความสำรวมคือความที่มีสติระมัดระวัง ทางตาในขณะที่เห็นรูปอะไร ทางหูในขณะที่ได้ยินเสียงอะไร ทางจมูกทางลิ้นทางกายในขณะที่ได้ทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะอะไร ทางมโนคือใจในขณะที่คิด หรือรู้เรื่องอะไร ระมัดระวังใจมิให้ความยินดีความยินร้ายไหลเข้าไปท่วมทับใจได้ ดั่งนี้เรียกว่าอินทรียสังวรสำรวมอินทรีย์ อันนับว่าเป็นศีลประการหนึ่ง
ปาริสุทธิศีล
การเลี้ยงชีวิตให้บริสุทธิ์ สำหรับฝ่ายฆราวาสก็ประกอบในสัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ สำหรับภิกษุก็คือการแสวงหาปัจจัยทั้ง ๔ ในทางที่ชอบ ก็เป็นสัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ และให้มีการพิจารณาปัจจัยทั้ง ๔ บริโภคว่าเพื่อประโยชน์ในการทะนุบำรุงกาย ตามที่กายต้องการ อาหาร ผ้านุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยาแก้ไข้นั้นๆ เพื่อประกอบคุณงามความดีต่างๆ ไม่บริโภคด้วยตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก ดั่งนี้ ก็เป็นศีลอันเกี่ยวด้วยการพิจารณาปัจจัยข้อหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ที่ชื่อว่ามีศีลนี้จึงต้องมีการปฏิบัติตามวินัย ทั้งฝ่ายบรรพชิตและทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ในวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ให้ปฏิบัติ จะต้องมีอินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์ จะต้องมีอาชีวะปาริสุทธิคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีพ จะต้องมีการพิจารณาปัจจัยทั้ง ๔ ที่บริโภคใช้สอย ดั่งนี้ ย่อมสนับสนุนกันให้เป็นศีลที่สมบูรณ์ คือให้เป็นศีลที่บริสุทธิ์ อันเรียกว่า ปาริสุทธิศีล และก็มีศีลเป็นภาคพื้นปฏิบัติทางสมาธิ ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในกรรมฐาน ให้จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว สงบจากนิวรณ์ คือกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย และปฏิบัติทางปัญญา คือพิจารณาสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย เช่นนามรูปว่า อนิจจะ คือไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่เกิดดับ ทุกขะ คือเป็นทุกข์ต้องถูกความเกิดดับบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เป็น อนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน คือไม่ควรยึดถือว่า เอตํ มม นี่เป็นของเรา เอโสหมสฺมิ เราเป็นนี่ เอโส เม อตฺตา นี่เป็นตัวตนของเรา กล่าวสั้นคือไม่ยึดถือว่าตัวเราของเรา
เหตุให้ได้สมาธิ
เมื่อหัดปฏิบัติให้มีศีล มีสมาธิ และมีปัญญาอยู่ดั่งนี้ ก็ได้ชื่อว่าได้ทำ จิตตภาวนา คือการอบรมจิตที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ เป็นเครื่องทำจิตนี้ให้พ้นจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามา ทั้งที่เป็นของเก่า และทั้งที่เป็นของใหม่ เป็นของเก่าคือว่าที่จรเข้ามาหมักดองอิงแอบอาศัยอยู่ในจิตแล้ว และที่เป็นของใหม่คือที่จะเข้ามาทางทวารทั้ง ๖ คือทางช่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ
โดยเป็นอารมณ์คือเรื่องรูปเสียงเป็นต้น ที่เข้ามาทางตาหูเป็นต้นนั่น เมื่อป้องกันของใหม่ไม่ให้เข้ามาได้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่ได้มีอินทรียสังวรเป็นอย่างดี อินทรียสังวรข้อนี้จึงเป็นอุปการะแก่สมาธิ ใกล้ชิดแก่สมาธิมาก นับเป็นศีลที่สืบต่อถึงสมาธิ ที่เป็นเหตุให้ได้สมาธิ
สัลเลขธรรม
ผู้ที่ปฏิบัติดั่งนี้อยู่เนืองๆ ชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติธรรมะ เป็นสัมมาทิฏฐิคือเป็นผู้ที่มีความเห็นชอบ และเป็นผู้ที่ปฏิบัติเข้าทาง เข้าทางมรรคมีองค์ ๘ หรือย่อลงก็เข้าทางศีลสมาธิปัญญา ดั่งที่กล่าวนั้น และเมื่อปฏิบัติอยู่ดั่งนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติเป็น สัลเลขธรรม คือปฏิบัติขัดเกลา ขัดเกลาจิตใจพร้อมทั้งกายและวาจาให้ดี ทำให้เป็นผู้ที่ไม่ปรุงแต่ง คือประกอบกระทำอะไรทางกายทางวาจาทางใจ ที่มีความเบียดเบียน คือเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน
แต่ถ้าตรงกันข้าม ไม่ปฏิบัติเข้าทางดังกล่าว คือไม่เข้าทางมรรคมีองค์ ๘ ย่อลงก็ไม่เข้าทาง ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ว่าปฏิบัติเข้าทางของกิเลสของตัณหา ย่อมเป็นผู้ที่ปรุงแต่ง คือประกอบกระทำอะไรทางกายทางวาจาทางใจที่มีความเบียดเบียน เบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน
บุคคลในโลก ๓ จำพวก
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถึงบุคคลต่างๆ ในโลกนี้ว่ามีอยู่ ๓ จำพวก คือจำพวกหนึ่งเป็นผู้ที่ปรุงแต่ง คือประกอบกระทำอะไรทางกายทางวาจาทางใจ ที่มีความเบียดเบียน คือเบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียน คือที่มีความทุกข์เป็นเครื่องเบียดเบียน ย่อมต้องพบกับสัมผัสคือสิ่งถูกต้องที่มีความเบียดเบียน (เริ่ม) คือที่มีความทุกข์เป็นเครื่องเบียดเบียน ต้องเสวยเวทนา คือต้องประสบเวทนาที่มีความเบียดเบียน คือมีทุกข์โดยส่วนเดียว
บุคคลจำพวกที่ ๒ ได้แก่บุคคลที่ไม่ปรุงแต่ง คือไม่ประกอบกระทำอะไรที่มีความเบียดเบียน คือที่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ย่อมเข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน คือไม่มีทุกข์เป็นเครื่องเบียดเบียน ย่อมถูกต้องกับสัมผัสที่ไม่มีความเบียดเบียน คือไม่มีทุกข์เป็นเครื่องเบียดเบียน ย่อมเสวยเวทนาที่ไม่มีความเบียดเบียน คือไม่มีทุกข์เป็นเครื่องเบียดเบียน คือที่เป็นสุขโดยส่วนเดียว
ส่วนบุคคลจำพวกที่ ๓ หรือสัตว์โลกจำพวกที่ ๓ ก็ได้แก่ผู้ที่ปรุงแต่งคือประกอบกระทำอะไรทางกายทางวาจาทางใจ ที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง
คือที่เป็นไปเพื่อความทุกข์เป็นเครื่องเบียดเบียนแก่ตนเองและผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนและผู้อื่นบ้าง ย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ย่อมถูกกระทบด้วยสัมผัสที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ย่อมเสวยเวทนา ประสบเวทนาที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง คือมีสุขบ้าง มีทุกข์บ้างระคนปนเปกันไป
กรรมย่อมจำแนกสัตว์บุคคล
บุคคลหรือสัตว์โลกจำพวกที่ ๑ ที่มีทุกข์โดยส่วนเดียวนั้นก็ได้แก่พวกสัตว์นรกทั้งหลาย จำพวกที่มีสุขโดยส่วนเดียวนั้น ก็เช่นพวกเทพชั้น สุภกิณหะ จำพวกที่มีสุขบ้างทุกข์บ้างระคนปนเปกันนั้นก็ได้แก่จำพวกมนุษย์ จำพวกเทพบางพวก จำพวกที่ตกต่ำเช่นสัตว์เดรัจฉานบางพวก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดั่งนี้ก็เป็นการรับรองพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้เองว่า กรรมย่อมจำแนกสัตว์บุคคลให้เป็นต่างๆ กัน เลวบ้าง ประณีตบ้าง ดั่งนี้
กรรมย่อมเนื่องมาจากจิต
และกรรมที่กล่าวมานี้ก็เนื่องมาจากจิตนี้เอง จิตที่ไม่มีจิตตภาวนาคือไม่ได้อบรมย่อมก่อกรรมที่เป็นเครื่องเบียดเบียน ส่วนจิตที่มีจิตตภาวนาการอบรมย่อมก่อกรรมที่ไม่เป็นเครื่องเบียดเบียน แต่เมื่ออบรมยังไม่ดีนักก็ย่อมก่อกรรมที่ไม่เป็นเครื่องเบียดเบียนบ้าง เป็นเครื่องเบียดเบียนบ้าง ทั้งสองอย่าง
ฉะนั้น จิตตภาวนาจึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ในการปฏิบัติจิตตภาวนานี้ แม้ทุกคนจะทราบ แต่การปฏิบัติที่จะให้ได้รับผลน้อยหรือมากเพียงไรนั้น ย่อมเกี่ยวแก่เหตุปัจจัยประกอบ กล่าวคืออินทรีย์อันได้แก่พื้นของความดี ที่เรียกว่าอินทรีย์เหมือนกัน คือที่เป็นใหญ่เหนือความชั่วที่แต่ละคนได้อบรมมา กับอาศัยปัจจุบันคือการปฏิบัติ
คือถ้าหากว่าไม่ปฏิบัติ หรือแม้ปฏิบัติก็ปฏิบัติย่อหย่อน ไม่กระทำให้มาก ไม่กระทำบ่อยๆ การที่จะได้สมาธิได้ปัญญาพร้อมทั้งศีลที่เป็นภาคพื้นนั้น ก็บังเกิดความสำเร็จได้น้อย แต่ถ้ามีการปฏิบัติ มีความขยันหมั่นเพียร ทำให้มาก ทำบ่อยๆ ก็จะทำให้ได้สมาธิได้ปัญญา พร้อมทั้งศีลที่เป็นภาคพื้นนั้นได้มากขึ้น และได้ง่ายขึ้น ฉะนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่ปัจจุบัน คือการที่ปฏิบัติให้มาก ปฏิบัติอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ติดต่อกัน เมื่อปฏิบัติอยู่ดั่งนี้ การปฏิบัติของตนในวันนี้ ถึงวันพรุ่งนี้การปฏิบัติในวันนี้ก็จะเป็นอินทรีย์ เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิบัติอยู่เสมอๆ ดั่งนี้ สมมติว่าสักเจ็ดวัน ถึงวันที่เจ็ด หกวันที่ล่วงแล้วนั้นก็เป็นอินทรีย์ คือเป็นคุณธรรมที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ บรรจุอยู่ในจิตใจสั่งสมอยู่ในจิตใจ เป็นอินทรีย์หรือเรียกอีกคำหนึ่งว่าเป็นบารมีอยู่ในจิตใจ อันเป็นเครื่องอุดหนุนให้การปฏิบัติต่อๆ ไป เป็นไปได้สะดวกขึ้น อุดหนุนให้มีฉันทะวิริยะมากขึ้นในการปฏิบัติ
ปุพเพกตปุญญตา
เพราะฉะนั้น อินทรีย์หรือบารมีนี้จึงเป็นตัว ปุพเพกตปุญญตา ความที่มีบุญคือความดีอันได้กระทำไว้แล้วในปางก่อน ซึ่งคำว่าปางก่อนนี้ก็ไม่ใช่หมายจำเพาะว่าในชาติก่อนเท่านั้น แต่ในชาตินี้เองที่เป็นส่วนอดีต คือความดีที่ทำไว้แล้วในวันเวลาที่ย้อนหลังไป น้อยหรือมากเท่าไรก็ตาม ก็เป็น ปุพเพกตปุญญตาทั้งนั้นของวันนี้ และทุกๆ คนนั้น เมื่อมีปุพเพกตปุญญตาในวันหลังๆ มาหนุนอยู่ การปฏิบัติในวันนี้ก็จะเป็นไปดี ความดำรงอยู่ในวันนี้ก็จะเป็นไปดี โดยอาศัยปุพเพกตปุญญตาหนุนหลัง
หรืออาศัยอินทรีย์ก็ได้อันเป็นภาคพื้นที่อบรมสั่งสมมา คือความดีหรือคุณธรรมที่เป็นใหญ่เหนือความชั่ว ที่ทุกๆ คนอบรมสั่งสมมาทุกๆ วันนั้น ไม่หายไปไหน ยังสั่งสมรักษาอยู่ในจิตใจนี้เอง พอกพูนอยู่ในจิตใจนี้เอง เป็นอินทรีย์คือเป็นใหญ่ หรือเป็นบารมีคือความดีที่สั่งสมมา
การปฏิบัติสั่งสมอินทรีย์
และดังได้กล่าวแล้วว่าอินทรีย์ที่กล่าวนี้ที่แปลว่าเป็นใหญ่ ก็มีความหมายง่ายๆ ว่า คือเป็นใหญ่เหนือความชั่ว ให้ตรวจดูที่ใจตนเองก็จะเห็นได้ ว่าตนเองนั้นได้รักษาศีลมาเป็นอาจิณ ทำสมาธิปฏิบัติทางปัญญาอยู่เสมอ เป็นความดีที่สั่งสมมา ใจตนเองจะน้อมไปในความดีได้ง่าย และจะน้อมไปในความชั่วได้ยาก หรือไม่ได้ เช่นจะน้อมไปว่าเราจะฆ่าเขา เราจะลักของๆ เขาเป็นต้น น้อมไปยาก จะน้อมไปในความดีว่าเราจะรักษาศีลให้ยิ่งขึ้น จะทำสมาธิทำปัญญาให้ยิ่งขึ้นก็ได้ง่ายขึ้น ดั่งนี้แสดงว่าภูมิชั้นของจิตนั้นขึ้นสูง อยู่เหนือความชั่วไปโดยลำดับ จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า อันความชั่วนั้น คนชั่วทำง่าย คนดีทำยาก ส่วนความดีนั้น คนชั่วทำยาก คนดีทำง่าย ดั่งนี้
ฉะนั้น การที่มาปฏิบัติทำจิตตภาวนาทางสมาธิทางปัญญาอยู่เสมอ พร้อมทั้งมีศีลเป็นภาคพื้นอยู่เป็นประจำ ย่อมเป็นการปฏิบัติสั่งสมอินทรีย์ คือความดีที่เหนือความชั่ว สั่งสมบารมีคือความดีขึ้นโดยลำดับ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป