แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ความตั้งใจนอบน้อมพระรัตนตรัย และถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นกิจที่ควรกระทำอยู่ทุกวัน ความสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย และความอบรมทางปัญญาให้เห็นธรรม คือสัจจะที่เป็นความจริง ก็เป็นกิจที่พึงกระทำทุกวันเช่นเดียวกัน
และนอกจากนี้ยังมีกิจที่ควรทำประจำอยู่ทุกวัน ก็คือการเจริญพรหมวิหารธรรม เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และการแผ่ส่วนกุศลที่ได้กระทำแล้วให้แก่มนุษย์เทพและสัตว์ทั้งหลาย ก็ควรกระทำอยู่ทุกวัน หัดปฏิบัติตนให้เป็นผู้ที่มีสติพร้อมทั้งปัญญารักษาตนอยู่เสมอ การปฏิบัติดั่งนี้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติของผู้มีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ และเป็นการปฏิบัติเข้าทาง คือเข้าทางที่ถูกชอบ
อันความนอบน้อมพระรัตนตรัยนั้นได้มีบทสวด คือ นะโม ตัสสะ ภควะโต อรหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ ที่ทุกคนก็ย่อมจำได้กันอยู่ด้วยกัน ซึ่งมีคำแปลว่าขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชาชน อันเป็นส่วนพระกรุณาคุณ ผู้เป็นพระอรหันต์ไกลจากกิเลส อันเป็นส่วนพระวิสุทธิคุณ ได้ตรัสรู้เองชอบพระองค์นั้น อันเป็นส่วนพระปัญญาคุณ
เป็นอันว่าได้นมัสการพระพุทธเจ้า และได้เจริญพุทธานุสสติระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าไปพร้อมกัน พึงกระทำในเวลาตื่นนอนเช้า และในเวลาก่อนนอนกลางคืน และควรกระทำในเวลาที่ควรกระทำทั้งหลาย ดั่งเช่นในเวลาประกอบพิธี ก็มีการขอสรณคมน์และศีล ก็จะต้องมีการกล่าวคำนมัสการนี้ขึ้นก่อนแด่พระพุทธเจ้า
และความตั้งใจถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะนั้น ที่ควรกระทำอยู่เสมอก็เพราะว่า แม้ทุกคนจะเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ก็ชื่อว่าได้ถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะอยู่แล้ว แต่ทำไมจึงต้องว่ากันบ่อยๆ ว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะคือที่พึ่ง ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะคือที่พึ่ง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะคือที่พึ่ง ก็เพราะว่าแม้จะเป็นผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว แต่ว่าจิตใจนั้นไม่ได้อยู่กับพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์มากนัก หรือมากตามสมควร
เมื่อเป็นดั่งนี้สรณะจึงยังไม่แนบแน่นอยู่กับใจ หากว่าได้หมั่นระลึกถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ ก็จะนำให้ได้ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ตลอดถึงวิมุติสืบเนื่องกันไป ในเมื่อใจของทุกคนมาตั้งอยู่กับพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์
และที่ชื่อว่าถึงนั้น ก็ต้องถึงด้วยใจ อันประกอบด้วยศีลสมาธิปัญญา และวิมุติคือความหลุดพ้น ถ้าใจไปอยู่กับอารมณ์อื่น ใจก็ห่างพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ อารมณ์ต่างๆ จึงล่วงล้ำเข้ามาสู่จิตใจ อันนำให้เกิดราคะหรือโลภะบ้าง ทำให้เกิดโทสะบ้าง ทำให้เกิดโมหะบ้าง เป็นไปตามอารมณ์ อันเป็นที่ตั้งของกิเลสนั้นๆ เพราะฉะนั้น อาสวะคือสิ่งที่ไหลเข้ามาจากอารมณ์เป็นกิเลส จึงไหลเข้ามาท่วมจิตใจ ขังอยู่ในจิตใจ ดองจิตสันดาน เพิ่มเติมอยู่เสมอ
แต่ถ้าหากว่าได้น้อมจิตใจ มาอยู่กับสรณะคือที่พึ่งของจิตใจ อันได้แก่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ย่อมเป็นการที่ปฏิบัติหันหน้าสู่พระรัตนตรัยคือพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ โดยตรงก็คือว่าหันจิตใจน้อมจิตใจสู่พระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ ก็เป็น พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ ขึ้นทันที และเมื่อเป็นดั่งนี้ จึงจะเป็นอันได้เริ่มถึงสรณะ คือที่พึ่งที่เป็นผู้นำ หรือเป็นเครื่องนำจิตใจ สู่ศีล สู่สมาธิ สู่ปัญญา สู่วิมุติความหลุดพ้น
เพราะว่าความระลึกถึงอันเป็นอนุสสตินี้ เป็นประตูแรกที่จะนำจิตใจไปสู่คุณธรรม พร้อมทั้งผลของคุณธรรมดังกล่าว เพราะฉะนั้น สรณะนี้ที่แปลว่าที่พึ่งนั้น โดยความก็คือเป็นที่พึ่งของจิตใจ ที่จะนำจิตใจไปดังกล่าว และเครื่องนำจิตใจดังกล่าวนั้นก็คืออนุสสติเป็นเบื้องต้น และเมื่อเป็นศีลขึ้นก็ชื่อว่าได้ถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ในขั้นศีล
เมื่อเป็นสมาธิก็ชื่อว่าถึงในขั้นสมาธิ เมื่อเป็นปัญญาก็ชื่อว่าถึงในขั้นปัญญา เมื่อเป็นวิมุติคือความหลุดพ้น จึงจะชื่อว่าได้ถึงองค์พระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์อย่างสูงสุด และชื่อว่าได้เห็นองค์พระพุทธเจ้า ได้ชื่อว่าเห็นธรรม ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า โย ธมฺมํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม โส มํ ปสฺสติ ผู้นั้นเห็นเรา โย มํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นเรา โส ธมฺมํ ปสฺสติ ผู้นั้นเห็นธรรม ดั่งนี้
(เริ่ม) ทุกกาลสมัย นับตั้งแต่ในสมัยที่พระพุทธเจ้า ยังทรงดำรงพระชนมาชีพอยู่ เมื่อสองพันห้าร้อยปีกว่ามาแล้ว ตลอดจนถึงในสมัยปัจจุบัน และในสมัยต่อไปในอนาคต ก็คงเป็นเช่นเดียวกัน ในสมัยพุทธกาลนั้น แม้ผู้ที่ได้เห็นพระพุทธเจ้า ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แม้ว่าจะใกล้ชิดเพียงใด ถ้าจิตใจปราศจาก พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ จิตใจไม่ถึงสรณะคือที่พึ่ง อันเป็นเครื่องนำให้เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นวิมุติขึ้นที่ตนเองดังกล่าว ก็ชื่อว่าไม่ได้เห็นธรรมไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า แม้จะเห็นพระกายเนื้อของพระองค์ ก็ชื่อว่าไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ไม่รู้จักพระธรรม
ในบัดนี้ก็เช่นเดียวกัน แม้จะอยู่ในวัด อยู่ในโบสถ์ ได้เห็นพระพุทธรูป เห็นพระภิกษุสงฆ์ และแม้ได้ยินเสียงแสดงธรรม แต่จิตใจมิได้รับเข้ามา ไม่มีพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ ไม่มีสรณะคือที่พึงของจิตใจ คือจิตใจไม่ได้พึ่งพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ ไม่มีพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ที่นำจิตใจไปสู่ศีลสมาธิปัญญาวิมุติ ก็ชื่อว่าไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า ไม่ได้เห็นพระธรรม ในอนาคตก็เหมือนกัน
แต่จะในครั้งไหนๆ ก็ตาม ครั้งพุทธกาลก็ตาม ในบัดนี้ก็ตาม ในอนาคตเบื้องหน้าก็ตาม ได้มีจิตใจเป็นพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ จิตใจคิดพึ่งพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ อาศัยพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะคือที่พึงนำจิตใจ ไปสู่ศีลสมาธิปัญญาวิมุติได้ ก็ได้เห็นพระพุทธเจ้าได้เห็นพระธรรม พระพุทธเจ้าพระธรรมพร้อมทั้งพระสงฆ์ดั่งกล่าวนี้ จึงรวมอยู่ในคำว่า อมตธรรม เป็นธรรมะที่ไม่ตาย เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ดำรงอยู่ทุกกาลสมัย ไม่มีเกิด ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ ไม่มีตาย เรียกว่าเป็นอมตะคือไม่ตาย เรียกว่าไม่แก่และเรียกว่าไม่เกิดด้วย เพราะเป็นสภาพที่มีอยู่ที่เรียกว่า สยัมภู คือเป็นเองอย่างแท้จริง ดำรงอยู่ทุกกาลสมัย
เพราะฉะนั้นการที่มาปฏิบัตินอบน้อมดังบท นะโม และน้อมจิตถึงสรณะดังบทว่า พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นั้น จึงเป็นกิจที่ผู้ปฏิบัติธรรมะควรมีอยู่เสมอ จิตจะได้ไม่ห่างจากพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ จิตก็จะได้ถูกนำไปสู่ความเป็นศีลเป็นสมาธิ และเป็นปัญญากับทั้งวิมุติ เพราะฉะนั้นสรณะนี้จึงเปรียบเหมือนอย่างว่าเป็นพาหนะ เช่นเป็นรถไฟ เป็นรถยนต์ หรือเป็นพาหนะอย่างอื่น ที่เมื่อขึ้นไปนั่งอยู่บนพาหนะเหล่านี้ พาหนะเหล่านี้ก็จะนำไปสู่ปลายทางที่ต้องการ คือศีลสมาธิปัญญาวิมุติดังที่กล่าวนั้น
ศีลนั้นปรากฏเป็นความสำรวม ปรากฏเป็นความปรกติกายวาจาใจ ห่างไกลจากความประพฤติที่เป็นภัยเป็นเวร ทางกายทางวาจาทางใจทั้งหลาย ใจมีความสำรวม ใจมีความปรกติ สงบ นี้เป็นศีลแท้ ปรากฏอยู่ที่จิตที่เป็นปรกติสงบ ห่างไกลภัยเวรทั้งหลายก็หมายถึงห่างไกลกองกิเลส กองโลภ กองโกรธ กองหลง หรือกองราคะโทสะโมหะนั้นเอง
สมาธินั้นคือความที่จิตตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย
ไม่น้อมไปในทางอกุศล โดยที่สามารถสงบกองกิเลสดังกล่าว สามารถป้องกันกองกิเลสดังกล่าว ไม่ให้มาดึงจิตใจไปในทางอกุศลกรรมต่างๆ ทั้งนี้ก็ด้วยจิตตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ว่อกแว่กซัดส่ายไปในอกุศลธรรมทั้งหลาย ดั่งนี้คือลักษณะที่เรียกว่าสมาธิ
สมาธิจึงไม่ได้มีความหมายจำเพาะที่มานั่งหัดปฏิบัติในสติปัฏฐาน หรือในอารมณ์ของกรรมฐานอย่างอื่นในเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นการฝึกหัดให้จิตตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่แม้ในเวลาปรกติ ที่จิตนี้ต้องทำการทำงาน พร้อมทั้งร่างกาย แต่จิตที่มีสมาธิเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ก็จะไม่น้อมไปในด้านอกุศลธรรมทั้งหลาย คือไม่ทำการงานทั้งหลายให้เป็นอกุศล แต่จะทำการงานทั้งหลายให้เป็นกุศล คือในทางที่ดีที่ถูกต้องเท่านั้น เมื่อเป็นคฤหัสถ์ จะประกอบอาชีพอันใดก็ตาม ซึ่งเป็นการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ทำการงานนั้นให้เป็นกุศล ไม่ให้เป็นอกุศล ก็ชื่อว่าจิตมีสมาธิ คือตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย
อันนี้เป็นสมาธิที่ต้องการ ซึ่งให้มีอยู่เป็นประจำ หากว่าเมื่อทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตก็ทำการงานนั้นๆ พร้อมทั้งร่างกาย หากจิตน้อมไปในอกุศลทั้งหลาย ก็ต้องห้าม โดยที่มีสติพร้อมทั้งปัญญา คอยรักษาใจอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะชื่อว่า เป็นผู้ที่ได้สมาธิในกุศลธรรมทั้งหลาย อันเรียกว่า ธรรมสมาธิ อยู่เป็นประจำ และสามารถที่จะทำให้ได้ จิตตสมาธิ สมาธิแห่งจิต คือจิตที่มีอารมณ์เป็นอันเดียวในเวลาที่ต้องการได้โดยสะดวก เช่นว่าในขณะที่ประกอบการงานทั้งหลาย จิตก็ทำการงานนั้นๆ ประกอบพาณิชย์กรรม จิตก็ทำการงานพาณิชย์กรรม ประกอบกสิกรรม จิตก็ทำการงานกสิกรรม ดั่งนี้เป็นต้น แต่ว่าประกอบกระทำในทางที่เป็นกุศลคือถูกต้อง ในทางที่เป็นธรรมคือถูกต้อง ไม่เป็นอธรรมคือไม่ถูกต้อง
และเมื่อถึงเวลาที่จะพัก ก็สามารถที่จะพักจิตได้ ไม่เก็บเอาเรื่องของการงานที่ทำนั้นๆ มาเป็นกังวล อันทำให้จิตไม่ได้การพัก เมื่อเวลาพักจิตก็พักได้ พักวิตกกังวลต่างๆ มาอยู่กับความสงบ จะเป็นความสงบที่ไม่มีนิมิต คือไม่มีอารมณ์อันใดสำหรับตั้งจิต หรือว่าสงบที่มีนิมิต มีอารมณ์อันใดสำหรับตั้งจิต เช่นทำกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง ดั่งนี้ก็สามารถทำได้เป็น จิตตสมาธิ ต้องการจะให้หลับเมื่อใดก็ได้ จะให้ตื่นเมื่อใดก็ได้ และเมื่อถึงเวลาที่จะทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตก็ทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่งไปในทางที่ถูกต้อง เป็นกุศล เป็นธรรม ดั่งนี้คือจิตที่มีสมาธิ
และปัญญานั้นก็สืบเนื่องมาจากศีลจากสมาธิ เพราะเมื่อจิตมีศีลมีสมาธิ หรือจิตเป็นศีล จิตเป็นสมาธิ น้อมจิตนั้นไปเพื่อรู้ ก็จะรู้จักเหตุผลตามเป็นจริง จะรู้จักเหตุผลในการงานที่ทำ จะรู้จักเหตุผลทางกรรม คือกรรมดีกรรมชั่ว รู้ว่านี่เป็นกรรมดี นี่เป็นกรรมชั่ว กรรมดีให้ผลดี กรรมชั่วให้ผลชั่ว กรรมดีให้ผลเป็นสุข กรรมชั่วให้ผลเป็นทุกข์ จะรู้จักเหตุผลทางกรรม ตลอดจนถึงรู้จักเหตุผลทางอริยสัจจ์ รู้จักทุกข์ รู้จักสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ รู้จักนิโรธความดับทุกข์ รู้จักมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
เมื่อบังเกิดความทุกข์ขึ้น ก็จะสามารถรู้จักว่านี่เป็นทุกข์ รู้จักว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จะรู้จักว่าดับตัณหาเป็นความดับทุกข์ จะรู้จักว่าศีลสมาธิปัญญา หรือมรรคมีองค์ ๘ เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จะสามารถปฏิบัติจิตให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นได้ ให้รู้จักเหตุผลดั่งนี้ และก็จะสามารถดับตัณหาอันเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ในจิตใจลงได้ หากว่าจะมีการฆ่าการทำลายล้าง ก็ฆ่าก็ทำลายล้างตัณหาในจิตใจตัวเอง ไม่ใช่ไปว่าไปฆ่าไปทำลายล้างผู้อื่นสัตว์อื่น
เพราะฉะนั้น เมื่อรู้จักว่าความดับตัณหาในใจตัวเองนี้เป็นเหตุดับทุกข์ ทุกข์ใดๆ เกิดขึ้นก็จะสามารถดับได้ด้วยใจตัวเอง คือด้วยปัญญาที่รู้ อันสืบเนื่องมาจากสมาธิ และสืบเนื่องมาจากศีล เพราะถ้าไม่มีศีลสมาธิก็มีไม่ได้ ไม่มีสมาธิปัญญาก็มีไม่ได้ และไม่มีปัญญาสมาธิก็มีไม่ได้ ไม่มีสมาธิศีลก็มีไม่ได้ ทั้งสามนี้จะต้องอาศัยกัน พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้จำเพาะในข้อสมาธิและข้อปัญญาว่า ฌานความเพ่งคือสมาธิ ไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ที่ไม่มีฌานคือความเพ่ง อันได้แก่สมาธิ ฌานคือความเพ่งคือสมาธิกับปัญญามีในผู้ใด ผู้นั้นเป็นผู้ปฏิบัติใกล้นิพพาน ดั่งนี้
เพราะฉะนั้นเมื่อมารู้จักทางปฏิบัติดั่งนี้ และตั้งใจปฏิบัตินอบน้อมพระพุทธเจ้า ตั้งใจถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะอยู่ทุกวัน ใจก็จะเข้าใกล้พระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ อันเป็นสรณะคือที่พึ่งหรือเป็นผู้นำ เป็นเครื่องนำตนไปสู่ศีลสมาธิปัญญาวิมุติคือความหลุดพ้นโดยลำดับ และจิตใจที่ประกอบด้วยความนอบน้อม ประกอบด้วยสรณะ ศีล สมาธิ ปัญญา ตลอดถึงวิมุติความหลุดพ้นดั่งนี้ ย่อมเป็นจิตใจที่มีความเกษมสวัสดี
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป