แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ว่าบุคคลในโลกนี้มี ๓ จำพวก จำพวกที่ ๑ คือบุคคลที่ไม่ควรส้องเสพเสวนา ไม่ควรคบหา สนิทสนม ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ไปมาหาสู่บ่อยๆ บุคคลจำพวกที่ ๒ คือบุคคลที่ควรเสวนาส้องเสพ ควรคบหา สนิทสนม ควรเข้าไปนั่งใกล้ ไปมาหาสู่บ่อยๆ บุคคลจำพวกที่ ๓ คือบุคคลที่ควรสักการะเคารพ เสวนาส้องเสพ คบหา สนิทสนม เข้าไปนั่งใกล้ ไปมาหาสู่บ่อยๆ และได้ตรัสอธิบายว่า บุคคลจำพวกที่ ๑ นั้น ที่ไม่ควรส้องเสพเสวนา ไม่ควรคบหา สนิทสนม ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้คบหาบ่อยๆ ก็คือบุคคลที่เลวด้วยศีล เลวด้วยสมาธิ เลวด้วยปัญญา
สีลสามัญญตา
บุคคลจำพวกที่ ๒ ที่ควรเสวนาส้องเสพ ควรคบหา สนิทสนม ควรเข้าไปนั่งใกล้ไปมาหาสู่บ่อยๆ คือบุคคลที่เสมอกันด้วยศีล เสมอกันด้วยสมาธิ เสมอกันด้วยปัญญา เพราะเมื่อต่างมี สีลสามัญญตา คือมีศีลเสมอกัน กถาคือถ้อยคำที่ปรารภศีล ก็จักมีแก่เราทั้งหลาย กถาคือถ้อยคำที่ปรารภศีลนั้น ก็จักไปกันได้ไม่ขัดแย้งกัน นำให้ประพฤติในศีล ทั้งจักมีเพื่อความผาสุกแก่เราทั้งหลาย
สมาธิสามัญญตา ปัญญาสามัญญตา
เมื่อเสมอกันด้วยสมาธิเป็น สมาธิสามัญญตา ก็เช่นเดียวกัน กถาคือถ้อยคำที่ปรารภสมาธิ ก็จักมีแก่เราทั้งหลาย กถาที่ปรารภสมาธินั้น ก็จักไปด้วยกันได้ จักนำให้ประพฤติในสมาธิ ทั้งจักมีเพื่อความผาสุกแก่เราทั้งหลาย เมื่อเสมอกันด้วยปัญญาเป็น ปัญญาสามัญญตา เสมอกันด้วยปัญญา กถาคือถ้อยคำที่ปรารภปัญญา ก็จักมีแก่เราทั้งหลาย กถาคือถ้อยคำที่ปรารภปัญญานั้น ก็จะไปกันได้ จักนำให้ประพฤติในปัญญา ทั้งจักมีเพื่อความผาสุก
บุคคลจำพวกที่ ๓ ที่พึงสักการะเคารพ เสวนาคบหา เสวนาส้องเสพ คบหา สนิทสนม เข้าไปนั่งใกล้ ไปมาหาสู่บ่อยๆ คือบุคคลจำพวกที่ยิ่งกว่าด้วยศีล ยิ่งกว่าด้วยสมาธิ ยิ่งกว่าด้วยปัญญา เพราะจักยังให้ศีลที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ จักอนุเคราะห์ศีลที่บริบูรณ์ ให้เจริญด้วยความฉลาดในเรื่องนั้นๆ
จักทำให้สมาธิที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ จักอนุเคราะห์สมาธิที่บริบูรณ์ ให้เจริญด้วยปัญญาความฉลาดในเรื่องนั้นๆ จักยังปัญญาที่ไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ จักอนุเคราะห์ปัญญาที่บริบูรณ์ ให้เจริญด้วยปัญญาคือความฉลาดในเรื่องนั้นๆ ดั่งนี้
ตามพระพุทธภาษิตนี้ ในทางปฏิบัติพึงทำความเข้าใจว่าบุคคล ๓ จำพวกดังกล่าวนี้ เป็นบุคคลภายนอกจากตนคือคนอื่นอย่างหนึ่ง เป็นตนเองอีกอย่างหนึ่ง บุคคลที่เป็นภายนอกคือคนอื่นนั้น ก็เป็นไปตามความหมายทั่วไป ส่วนตนเองนั้นก็มีความหมายที่น้อมเข้ามาถึงตนเองว่า แม้ตนเองก็เป็นบุคคล ๓ จำพวกนี้เช่นเดียวกัน
คือถ้าตนเองเลวด้วยศีล เลวด้วยสมาธิ เลวด้วยปัญญา ก็ไม่ควรคบตนเอง ถ้าตนเองเสมอด้วยศีล เสมอด้วยสมาธิ เสมอด้วยปัญญา แก่ตนเองก็ควรคบตนเอง และถ้าตนเองยิ่งด้วยศีล ยิ่งด้วยสมาธิ ยิ่งด้วยปัญญา ก็ควรบูชาสักการะคบหาตนเอง ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น แม้ตนเองที่ควรคบก็มี ที่ไม่ควรคบก็มี และที่ควรบูชาสักการะคบหาก็มี เพราะในตนเองนี้เองก็แบ่งได้ออกเป็น ๒ ส่วน คือตนเองที่เป็นส่วนดี กับตนเองที่เป็นส่วนชั่ว
เพราะว่าในตนเองนี้ก็มีอยู่ทั้งอาสวะและทั้งบารมี อาสวะคือส่วนชั่วที่เก็บอยู่ในจิตใจ หรือที่จิตใจเก็บเอาไว้ ส่วนดีก็คือบารมีคือความดีที่เก็บไว้ในจิตใจ หรือที่จิตใจเก็บเอาไว้ และเมื่ออาสวะแสดงออกก็ปรากฏเป็นตนเองที่เป็นส่วนชั่ว ดังเช่นในบางคราวโลภะคือความโลภ หรือราคะความติดใจยินดีแสดงออก ตนเองก็เป็นผู้ที่มีราคะมีโลภะ และเมื่อราคะหรือโลภะนี้เป็นนาย ตนเองเป็นทาสของกิเลสเหล่านี้ กิเลสเหล่านี้ก็สั่งให้ปฏิบัติ เป็นกายทุจริต ทุจริตทางกาย วจีทุจริต ทุจริตทางวาจา มโนทุจริต ทุจริตทางใจต่างๆ นี้คือตนเองที่เป็นส่วนชั่ว ตนเองที่เป็นส่วนชั่วนี้ ชื่อว่าเลวด้วยศีล เลวด้วยสมาธิ เลวด้วยปัญญา
คือศีลก็ไม่ดี คือเป็นทุศีล สมาธิก็ไม่ดี คือจิตหยาบช้า น้อมไปในทางกิเลส และในทางทุจริตหนาแน่น ไม่ตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย หรือตั้งอยู่เป็นส่วนน้อย ปัญญาก็เลว เพราะว่ารู้ชั่วรู้ผิดต่างๆ หรือว่ารู้ฉลาดในการที่จะทำชั่วร้ายต่างๆ แต่ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักเหตุผลตามทางกรรม อย่างสูงก็ตามทางอริยสัจจ์ของพระพุทธเจ้า
ฉะนั้นตนเองที่เป็นส่วนดี จึงไม่คบตนเองที่เป็นส่วนชั่วนี้ อันหมายความว่าให้ตนเองนี้เอง อบรมสติ อบรมปัญญา ในธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ( เริ่ม) ให้ได้สติได้ปัญญาในธรรม กำหนดให้รู้จักตนเองที่เป็นส่วนชั่ว ว่านั่นตนเองเป็นพาล เป็นคนชั่ว ไม่ควรจะคบตนเองไว้ คือให้ตนเองที่เป็นส่วนชั่วนั้นกลับตัวเสีย มาเป็นตนเองที่เป็นส่วนดี ไม่ปล่อยให้ตนเองตกอยู่ในกิเลสในความชั่ว
ท่านจึงเปรียบว่าเหมือนอย่างยกช้าง เหมือนอย่างยังช้างที่ตกหล่มให้พ้นจากหล่ม ก็คือว่าใช้สติปัญญานี้เองยกตนเองให้พ้นจากหล่มของกิเลสหล่มของความชั่ว เป็นการไม่คบตนเองที่เป็นส่วนชั่ว ด้วยสติปัญญายกตนเองขึ้นจากหล่มคือความชั่ว และเมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะทำให้ตนเองนี้มาเป็นผู้ที่มีศีลมีสมาธิมีปัญญา ที่เสมอด้วยตนเองที่ได้เคยมีศีลมีสมาธิมีปัญญา ในบางครั้งบางคราวก็ตาม
เพราะว่า ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าในตนเองนี้มีส่วนดีคือบารมี ได้แก่ความดีที่เก็บเอาไว้ ซึ่งความดีที่เก็บเอาไว้นี้ เมื่ออบรมสติปัญญาในธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ สติปัญญานี้เองก็จะขุดเจาะจิตใจนี้ ให้ความดีที่เก็บไว้นี้โผล่ขึ้นมาได้ เหมือนอย่างดำน้ำลงไปหยิบเอาทรัพย์ที่เก็บไว้ในน้ำขึ้นมาได้ เพราะทุกๆ คนนั้นมีความดีอันเหมือนอย่างทรัพย์ที่ฝังเอาไว้ที่เก็บเอาไว้ในน้ำ คือในน้ำใจนี้เองที่เป็นส่วนลึกอยู่ด้วยกันทุกคนทั้งนั้น แต่ว่ายังไม่รู้จักที่จะงมขึ้นมาให้ปรากฏ
ต่อเมื่อได้ฟังธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นเหมือนอย่างแสงสว่างที่ส่อง ให้คนที่มีจักษุมองเห็นทางในความมืด ก็ทำให้สามารถงมเอาความดีที่เก็บเอาไว้ในก้นบึ้งขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น ความดีที่ได้เก็บเอาไว้นั้น ย่อมมีเหมือนอย่างทรัพย์ ที่มีจำนวนน้อยบ้าง จำนวนมากบ้าง ทุกๆ คนนั้นก็มีทรัพย์คือความดีที่เก็บเอาไว้ดังกล่าว กล่าวสรุปเข้าก็คือว่า ย่อมมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา อยู่ด้วยกัน แต่ขนาดนั้นต่างๆ กัน ตามแต่ว่าใครจะเก็บสะสมไว้ได้เพียงใด เพราะฉะนั้น ก็เมื่อพบตนเองที่มีศีลมีสมาธิมีปัญญา ก็ให้คบตนเองที่มีศีลสมาธิปัญญาเสมอกันนี้
และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้เจริญศีลเจริญสมาธิเจริญปัญญายิ่งขึ้นกว่าเดิม เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็พยายามคบตนเองที่ยิ่งกว่าด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญานี้ เพราะว่าก็จักเป็นเหตุให้ยังศีลสมาธิปัญญาที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ จะอนุเคราะห์ศีลสมาธิปัญญาที่บริบูรณ์ ด้วยปัญญาคือความฉลาดในเรื่องนั้นๆ และแม้ว่าเริ่มขุดเจาะพบศีลสมาธิปัญญาในตนเองที่เก็บเอาไว้ และก็คบตนเองที่เป็นส่วนดีนี้ เรียกว่าที่เสมอกัน คือตนเองในปัจจุบัน เมื่อพบตนเองที่ได้เก็บศีลสมาธิปัญญาไว้ ก็ปฏิบัติตนเองในปัจจุบันให้เสมอกัน กับศีลสมาธิปัญญาที่ได้ปฏิบัติเก็บสั่งสมเอาไว้
แปลว่าไม่ให้ตนเองในปัจจุบันนี้เลวไปกว่าตนเองในอดีต ที่ยังเก็บศีลสมาธิปัญญาไว้อยู่ อย่างน้อยก็ต้องให้เสมอกัน อย่าให้เลวกว่าเก่า เก่าดีเท่านี้ ปัจจุบันก็ให้ดีเท่านี้ และเมื่อปฏิบัติดั่งนี้ ด้วยอาศัยฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เป็นประทีปส่องเข้าไปในจิตใจของตนเอง ให้มองเห็นจิตใจของตนเอง ให้มองเห็นความดีความชั่วในจิตใจของตนเอง ที่มีอยู่ทั้งสองอย่างดังที่กล่าวมานั้น
ไม่คบที่เป็นส่วนชั่ว คบที่เป็นส่วนดีที่เสมอกัน เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะทำให้ตนเองนั้นพูดกับตนเองเข้าใจ พูดกับตนเองปรารภศีล ปรารภสมาธิ ปรารภปัญญา ให้ตนเองเข้าใจได้ดี ให้เป็นไปได้ไม่ขัดกัน
แต่ถ้าหากว่าถ้าคบทั้งสองฝ่าย คือคบตนเองทั้งที่เป็นส่วนชั่ว คบตนเองทั้งที่เป็นส่วนดีแล้ว ตนเองก็พูดกับตนเองไม่เข้าใจ พูดกันเรื่องศีลเรื่องสมาธิเรื่องปัญญาไม่เข้าใจ เพราะตนเองที่เป็นส่วนชั่วนั้นก็จะพูดไปในด้านไม่ใช่ศีลไม่ใช่สมาธิไม่ใช่ปัญญา จะพยายามที่จะโน้มน้าวตนเองให้เป็นไปในทางชั่วในทางผิดต่างๆ เช่น ในทางฆ่าเขาบ้าง ทางลักของเขาบ้าง เป็นต้น หรือในทางที่จะบำรุงจิตใจให้สดชื่นอยู่ด้วยความสุขในทางกาม หรือในทางที่ผิดต่างๆ และจะฝึกฝนให้เกิดความรู้ความฉลาดในด้านทำชั่วต่างๆ จะฆ่าเขาอย่างไร จะขโมยเขาอย่างไร ดั่งนี้เป็นต้น ซึ่งต้องใช้ปัญญาทั้งนั้น แต่เป็นปัญญาในทางที่ผิด ฉลาดทำชั่วมาก ก็ทำชั่วได้มาก
และเมื่อตนเองที่เป็นส่วนดี ซึ่งมีสติมีปัญญาที่ถูก นึกขึ้นมาได้ในบางครั้งบางคราวเหมือนกันว่า ไอ้นี่ไม่ดี แต่ตนเองที่เป็นส่วนชั่วนั้นก็ดึงดันว่าดี และเมื่อตนเองที่เป็นส่วนชั่วนี้มีกำลังกว่า ก็จะดึงเอาตนเองที่เป็นส่วนดีนั้นคล้อยไปตาม ให้ละดี ทิ้งดีไว้ให้จมก้นบึ้งอยู่ตามเดิม แล้วก็ไปทำชั่วด้วยกัน
โลกมักจะเป็นอยู่ดั่งนี้เสมอ และโลกนี้ก็คือว่าทุกๆ คนนี้เอง ย่อมเป็นไปอยู่ดั่งนี้เสมอ แต่ถ้าหากว่าตนเองนั้นได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้ประทีปคือแสงไฟที่ทรงส่องให้มองเห็นสัจจะคือความจริง ดึงเอาความดีที่ทุกคนมีอยู่เป็นพื้นนี้ขึ้นมาได้ ทำให้มองเห็นศีล เห็นสมาธิ เห็นปัญญา ว่ามีประโยชน์มีคุณ ก็ทำให้ตนเองที่เป็นส่วนดีนี้มีพลังขึ้น
เมื่อตนเองที่เป็นส่วนชั่วโผล่หน้าเข้ามาชักชวน ก็จะไม่คบ ไม่เสวนาส้องเสพ ไม่คบหา สนิทสนม ไม่เข้าไปนั่งใกล้ไปมาหาสู่บ่อยๆ กับตนเองที่เป็นส่วนชั่วนี้ แปลว่าไม่คบกัน เมื่อไม่คบกันก็แปลว่าไม่เสวนา ไม่คบหา สนิทสนมไม่เข้าไปนั่งใกล้ ไปมาหาสู่ดังกล่าวนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ตนเองที่เป็นส่วนชั่วนั้นก็จะต้องหายไป คือว่าต้องตกจมก้นบึ้งไปแทนส่วนดีที่โผล่ขึ้นมา จะทำให้ตนเองที่เป็นส่วนดีนั้นปรากฏ
และเมื่อคบตนเองที่เป็นส่วนดีนี้ยิ่งขึ้น ทีแรกก็ปฏิบัติให้มีศีลมีสมาธิมีปัญญา เสมอกับที่เคยได้มาแล้ว เคยมีมาแล้วก่อน แล้วก็เจริญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป และคบตนเองที่เป็นส่วนที่ยิ่งๆ ขึ้นไปนี้อยู่เรื่อยๆ ไป ความชั่วที่ตกจมก้นบึ้ง และไม่มีการทำความชั่วใหม่ไปสนับสนุนเลี้ยงดู ก็จะหมดไปๆ ความดีก็จึงเจริญขึ้น ศีลสมาธิปัญญาก็จึงเจริญขึ้น ละข้อที่ไม่ใช่ศีล ไม่ใช่สมาธิ ไม่ใช่ปัญญา ไปโดยลำดับ
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทุกคนก็จะมีความเข้าใจในตนเองที่เป็นส่วนดี เข้าใจในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสั่งสอนให้ประพฤติปฏิบัติ ละชั่ว ทำดี ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส มากขึ้นไปโดยลำดับ เป็นการเจริญศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญา จะฟังเทศน์รู้เรื่อง จะฟังถ้อยคำที่ปรารภศีลสมาธิปัญญารู้เรื่อง เข้าใจ ธรรมะก็จะเป็น สันทัศนาคือจะเห็นแจ่มแจ้งขึ้น จะเป็น สมาทะปันนา ชักนำให้สมาทานถือปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้น จะเป็น สมุทเตชะนาอุดหนุนใจให้เกิดอุตสาหะพยายามปฏิบัติยิ่งขึ้น จะเป็น อสัมปะหังสนา คือว่าจะเกิดความรื่นเริงในธรรม
พูดธรรมะก็ตาม ฟังธรรมะก็ตาม อ่านธรรมะก็ตาม จะไม่เกิดความเบื่อหน่ายง่วงเหงาหาวนอน แต่ว่าจะเกิดความรื่นเริง จะได้ความไพเราะ ได้ความงดงามในธรรม ทั้งในเบื้องต้น ทั้งในท่ามกลาง ทั้งในที่สุด ไม่อิ่มไม่เบื่อ ไม่หน่ายในธรรม ดั่งนี้แสดงว่าตนเองได้คบตนเองที่เสมอกันด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา และที่ยิ่งกว่าด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา สนิทแนบแน่นขึ้นแล้ว เป็นเสวนาส้องเสพ เป็นคบหาสนิทสนม เป็นเข้าไปนั่งใกล้ไปมาหาสู่บ่อยๆ อย่างไม่อิ่มไม่เบื่อไม่หน่าย ชนิดที่เรียกว่าขาดไม่ได้
ดั่งนี้แหละคือเป็นมงคลที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า อเสวนา จะ พาลานัง การไม่ส้องเสพคบหาคนพาล ปัณฑิตา นัญจะ เสวนา การส้องเสพคบหาบัณฑิต ปูชาจะ ปูชะนียานัง การบูชาบุคคลที่ควรบูชาทั้งหลาย เพราะว่าตนเองนั้นได้บูชาถูกท่านที่ควรบูชาแล้ว คือพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ ดังที่ทุกๆ คนได้บูชากันอยู่นี้ทุกๆ วันถูกต้องแล้ว และเป็นอันได้ปฏิบัติตามมงคลข้อนี้ในทุกข้อแล้ว
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะทำให้ยังศีลสมาธิปัญญาที่ยังไม่บริบูรณ์ ให้บริบูรณ์ ยังศีลสมาธิปัญญาที่บริบูรณ์ ให้เจริญด้วยปัญญาคือความฉลาดรู้ในเรื่องนั้นๆ ก็คือทั้งศีลทั้งสมาธิทั้งปัญญานี้เอง ย่อมให้ได้ปฏิเวธปัญญา ปัญญาคือความรู้แจ้งแทงตลอด ในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี้คืออนุเคราะห์ศีลสมาธิปัญญาที่บริบูรณ์ ให้เจริญด้วยปัญญาคือความรู้ความฉลาด อันเป็นตัวปฏิเวธธรรม ธรรมะคือความรู้แจ้งแทงตลอดนี้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นญาณทัศนะความรู้ความเห็น นำให้ได้วิมุติคือความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ บางส่วนหรือทั้งหมด ชั่วคราวหรือตลอดไป ตามควรแก่ความปฏิบัติ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป