แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงโพธิปักขิยธรรม ธรรมะที่เป็นไปในฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงรวบรวมธรรมะหลายหมวด เข้ามาอยู่ในโพธิปักขิยธรรมนี้ คือประกอบด้วยสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ เป็นธรรมะถึง ๗ หมวด รวมเป็น ๓๗ ข้อ
จึงควรทำความเข้าใจว่าธรรมะ ๗ หมวด ๓๗ ข้อนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้โดยเอกเทศมาแล้วตั้งแต่ในเบื้องต้น มรรคมีองค์ ๘ ก็ได้ตรัสแสดงไว้ตั้งแต่ในปฐมเทศนา คือเทศน์ครั้งแรก อันเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางกลาง ต่อมาจึ่งได้ทรงแสดงธรรมะหมวดอื่นๆ โดยเอกเทศ เช่นสติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาท ๔ เป็นต้น
และแม้ทรงแสดงไว้โดยเอกเทศ แต่ในการปฏิบัตินั้นก็ปฏิบัติได้ตั้งแต่เบื้องต้น และรวมเข้าในทางอันเดียวกัน ซึ่งนำไปสู่ความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ด้วยกัน และเมื่อทรงแสดงไว้โดยเอกเทศแต่ละคราวๆ คราวหนึ่งก็หมวดหนึ่งๆ ในตอนหลังก็ได้ทรงประมวลธรรมะ ๗ หมวด ๓๗ ข้อนี้เข้ามาเป็นโพธิปักขิยธรรม คือเป็นธรรมะที่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ดังกล่าว
และก็สามารถกล่าวได้ว่าในทางปฏิบัตินั้น จับปฏิบัติแต่สติปัฏฐาน และก็มาสัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ ในฐานะที่ทั้ง ๔ หมวดนี้เป็นอุปการะธรรมในการปฏิบัติสติปัฏฐานให้สมบูรณ์ สติปัฏฐานจึงเลื่อนขึ้นเป็นโพชฌงค์ และโพชฌงค์จึงเลื่อนขึ้นเป็นมรรคมีองค์ ๘ หรือจะทำความเข้าใจว่าทั้ง ๗ หมวดนี้จะยกหมวดไหนขึ้นมาปฏิบัติก็ได้ และทั้งหมดนี้ก็จะเนื่องถึงกันทั้งหมด เนื่องอยู่ รวมกันอยู่เป็นอันเดียวกัน เป็นธรรมะสามัคคีความพร้อมเพรียงกันของธรรมะ นำไปสู่ความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ได้เช่นเดียวกันหมด
และเมื่อได้แสดงมาโดยลำดับ โดยนัยยะที่ว่าตั้งสติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นหลักปฏิบัติ และในการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ก็ต้องอาศัยอบรมให้มีสัมมัปปธานเพียรชอบ ให้มีอิทธิบาท ให้มีอินทรีย์ ให้มีพละ สติปัฏฐานนี้จึงจะเลื่อนขึ้นเป็นโพชฌงค์ ที่เป็นองค์ของความตรัสรู้ และเมื่อปฏิบัติในโพชฌงค์ไปจนถึงข้ออุเบกขา คืออุเบกขาโพชฌงค์ หรืออุเบกขาสัมโพชฌงค์ ก็นำให้ได้ปฏิบัติเข้าในมรรคมีองค์ ๘ และการปฏิบัติเข้าในมรรคมีองค์ ๘ นี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรียงลำดับไว้ทั้ง ๘ ข้อนี้ โดยต่อเนื่องกันไป ดั่งที่ได้ตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่งซึ่งแปลความว่า
กัลยาณมิตร
ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ความเป็นผู้คล้อยตามกัลยาณมิตร เป็นพรหมจรรย์ได้กึ่งหนึ่ง คือเป็นความประพฤติประเสริฐในพุทธศาสนา ได้ครึ่งหนึ่งของทั้งหมด
พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า อย่าได้กล่าวอย่างนั้น ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ความเป็นผู้คล้อยตามกัลยาณมิตร จักทำให้อบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้บังเกิดขึ้น คืออบรมสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ สัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะเพียรชอบ สัมมาสติระลึกชอบ สัมมาสมาธิตั้งใจชอบ ฉะนั้น ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร หรือมิตรที่ดีงาม ความเป็นผู้คล้อยตามกัลยาณมิตร จึงเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมด เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น
และก็ได้ตรัสไว้อีกว่า สัตว์ทั้งหลายที่มีชาติคือความเกิดเป็นธรรมดา มีชราความแก่ มรณะความตายเป็นธรรมดา มีโสกะ ความแห้งใจ ปริเทวะ ความคร่ำครวญใจ ทุกขะ ความไม่สบายกาย โทมนัสสะ ความไม่สบายใจ อุปายาส ความคับแค้นใจ เป็นธรรมดา คือมีทุกข์เหล่านี้เป็นธรรมดา อาศัยเรา คืออาศัยพระพุทธเจ้าผู้พระตถาคตเป็นกัลยาณมิตร ก็จะพ้นจากชาติ ความเกิด ชรา ความแก่ มรณะ ความตาย พ้นจากโสกะ ความโศกความแห้งใจ ปริเทวะ ความรัญจวนคร่ำครวญใจ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจได้ คือจะพ้นทุกข์ได้ดั่งนี้ เมื่ออาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรดั่งนี้ ก็จะปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ พ้นทุกข์ได้
ฉะนั้นจึงตรัสว่าความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร มิตรที่ดีงามคือพระพุทธเจ้า และเป็นผู้คล้อยตามกัลยาณมิตรคือพระพุทธเจ้า คือปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ จึงชื่อว่าเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมด (เริ่ม) และอีกคราวหนึ่งท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ความคล้อยตามผู้เป็นกัลยาณมิตร เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมด พระพุทธเจ้าได้ประทานสาธุการรับรองในคำกราบทูลของท่านพระสารีบุตรนั้น
อวิชชา วิชชา
และก็ได้ตรัสไว้เป็นข้อหลักว่า อวิชชาคือไม่รู้ในสัจจะที่เป็นความจริงเป็นหัวหน้า เพื่อความบังเกิดขึ้นพร้อมสรรพแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย ให้บังเกิด อหิริความไม่ละอายใจ อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่อบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดย่อมมีพร้อมแก่ผู้ที่มีอวิชชา มิจฉาสังกัปปะ คือความดำริผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด มิจฉาวาจา เจรจาผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาสังกัปปะดำริผิด มิจฉากัมมันตะ การงานผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาวาจา วาจาผิด มิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉากัมมันตะการงานผิด สัมมาวายามะ เพียรผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาอาชีวะเลี้ยงชีวิตผิด มิจฉาสติ ระลึกผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาวายามะเพียรผิด มิจฉาสมาธิ ตั้งใจผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาสติระลึกผิด ดั่งนี้
และก็ได้ตรัสในทางตรงกันข้ามว่า วิชชาคือความรู้ถูกต้องในสัจจะที่เป็นความจริง เป็นหัวหน้าเพื่อความบังเกิดขึ้นพร้อมพรั่งแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย กับทั้งหิริความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ ความเกรงต่อบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีวิชชา สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ ย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมากัมมันตะการงานชอบ สัมมาวายามะ เพียรชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาวายามะเพียรชอบสัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาสติระลึกชอบ ดั่งนี้ เป็นอันได้ทรงแสดงมรรคมีองค์ ๘ นี้โยงกันไป เป็นมรรคสมังคี คือความพร้อมเพรียงของมรรค
ฉะนั้น จุดอันสำคัญที่สุดจึงอยู่ที่ อวิชชากับ วิชชา อวิชชาคือความไม่รู้สัจจะที่เป็นตัวความจริง วิชชาคือความรู้สัจจะที่เป็นตัวความจริง เมื่อมีอวิชชาซึ่งเป็นตัวความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นความจริง ก็นำให้บังเกิดมิจฉามรรค คือทางปฏิบัติที่ผิดไปทุกข้อ เมื่อมีวิชชาคือความรู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ย่อมนำให้เกิดสัมมามรรค คือทางปฏิบัติที่ชอบ คือมรรคมีองค์ ๘ ไปทุกข้อ ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมะในพระพุทธศาสนานั้น จึงกล่าวสรุปได้ว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อรู้ คือรู้จักสัจจะที่เป็นความจริง ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อไม่รู้สัจจะที่เป็นตัวความจริง และความรู้ในสัจจะที่เป็นความจริงนี้ ก็เรียกว่าวิชชานั้นเอง เมื่อยังไม่รู้อยู่ก็เป็นอวิชชา
ความรู้หลง
และสามัญชนทั่วไปนั้นต่างก็มีอวิชชา คือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นความจริงนี้ นอนจมหมักหมมอยู่ในจิตสันดาน เพราะฉะนั้น ความรู้ที่แสดงออกมา ความรู้ที่บังเกิดขึ้นทางอายตนะมีตาหูเป็นต้น ความรู้ที่บังเกิดขึ้นอันเป็นธรรมชาติของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ จึงเป็นความรู้หลง เป็นความรู้ผิด เพราะฉะนั้น เมื่อได้มาสดับฟังธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และได้ใช้ปัญญาที่มีอยู่อันเป็นธรรมชาติของจิตของมนุษย์พิจารณา ย่อมจะทำให้ได้ปัญญา คือความรู้ที่เป็นความรู้ถูกต้อง เป็นวิชชาคือความรู้ที่เป็นความรู้จริงขึ้นโดยลำดับ
กิจของคนฉลาด
และในการปฏิบัตินี้ก็กล่าวได้ว่าผู้ปฏิบัติทุกท่านทุกคน ต่างก็ได้มีการปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ ปฏิบัติในปัญญา มาตามแนวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ตั้งแต่ในเบื้องต้น และก็กล่าวได้ว่าต้องมีตัววิชชาหรือปัญญา อันมีอยู่ตามธรรมชาติธรรมดาของมนุษย์ ซึ่งมีจิตอันเป็นธาตุรู้ที่ได้อบรมมาแล้ว เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกว่ากุศลที่แปลว่ากิจของคนฉลาด ได้แก่สามารถมีความรู้เปรียบเทียบขาวดำ ประณีตหรือเลว มีโทษไม่มีโทษ ดีไม่ดี ขึ้นโดยลำดับ อันเป็นสัจจะที่เป็นความจริงอย่างหนึ่งๆ
พระพุทธเจ้าก่อนแต่ตรัสรู้
พระพุทธเจ้าเองได้ทรงอบรมพระบารมีมาก่อนแต่ตรัสรู้ ทรงเป็นบุคคลพิเศษที่เรียกว่าโพธิสัตว์ คือเป็นสัตว์ที่จะตรัสรู้ ซึ่งเป็นผู้ที่ยังข้องอยู่ เพราะสัตตะแปลว่าผู้ข้องผู้ติด แต่ข้องติดอยู่ในความรู้เพื่อที่จะรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาสิ้นเวลาเป็นอันมาก แม้ในพระชาติที่เป็นสิทธัตถะราชกุมาร ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ จึงได้ทรงสละทางโลกทุกอย่างออกทรงผนวช ในระยะเหล่านี้ก็กล่าวได้ว่า ได้ทรงปฏิบัติพระองค์อยู่ในศีล คือความประพฤติทางกายวาจาใจ เว้นจากการก่อภัยก่อเวร อันเกิดความเดือดร้อน และมีพระทัยตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย
เมื่อได้ทรงเห็นคนแก่คนเจ็บคนตาย เห็นสมณะ จึงได้ทรงนำมาใคร่ครวญพิจารณา โดยน้อมเข้ามาถึงพระองค์เองว่า พระองค์เองก็จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายอย่างนั้น จะทรงเป็นอะไรอยู่ในโลก จนถึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์พระราชาเอกในโลก ก็จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไม่พ้นไปได้
จึงได้ทรงปรารถนาโมกขธรรม ธรรมะเป็นเครื่องหลุดพ้น โดยทรงอนุมานขึ้นในพระทัยว่า เมื่อมีแก่เจ็บตาย ก็จะต้องมีไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เหมือนอย่างมีมืดก็มีสว่าง มีกลางคืนก็มีกลางวัน คู่กัน จึงได้ทรงสลัดทางโลก ออกเสด็จบรรพชาเที่ยวแสวงหาโมกขธรรม ธรรมะเป็นเครื่องหลุดพ้น ในชั้นนี้ ก็ทรงมีศีลคือความประพฤติที่งดเว้นจากบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย ทรงมีสมาธิคือตั้งพระทัยมั่นอยู่ในโมกขธรรม และก็ทรงแสวงหา คือแสวงหาปัญญาความรู้นั้นเอง หรือแสวงหาวิชชาคือความรู้นั้นเองในโมกขธรรม ทรงปฏิบัติทุกอย่าง ทรงแสวงหาทุกๆ อย่าง ก็เพื่อให้พบกับปัญญาหรือวิชชา ซึ่งเป็นตัวความรู้ถูกต้อง หรือว่าสัจจะที่เป็นความจริงนี้เอง ไม่ใช่สิ่งอื่น
จึงกล่าวได้ว่าได้ทรงมีศีลอยู่เป็นภาคพื้น และได้ทรงมีสมาธิคือพระทัยที่ตั้งมั่นไม่เปลี่ยนแปลง และก็ทรงได้ปัญญาคือความรู้ขึ้นโดยลำดับ น้อมเข้ามารู้ที่พระองค์เอง ว่าที่ปฏิบัติไปนั้นพ้นหรือยัง ยังมีโลภโกรธหลง ยังมีราคะโทสะโมหะอยู่หรือไม่ ก็ทรงพบว่ายังไม่ทรงพบโมกขธรรม เพราะทรงปฏิบัติไปอย่างไรในสำนักของอาจารย์ก็ดี ทรงปฏิบัติเองในทุกรกิริยาก็ดี ทำเป็นอย่างยิ่ง แต่ในพระทัยเองนั้นก็ยังไม่พ้น ยังมีราคะโทสะโมหะ ยังมีโลภโกรธหลง ทรงน้อมเข้ามารู้พระองค์เอง ก็ทรงทราบด้วยพระองค์เองว่าที่ปฏิบัติไปนั้นยังไม่ใช่ทาง ยังไม่ใช่ทางก็ทรงแสวงหาเรื่อยไปตามลำดับ
ดั่งนี้เรียกว่าได้ทรงบำเพ็ญมาในศีลในสมาธิในปัญญาที่เบื้องต้นนี้เป็นลำดับมา จึงทรงไม่หลงไปในข้อปฏิบัตินั้นๆ ยึดถืออยู่ในข้อปฏิบัตินั้นๆ เมื่อยังมีกิเลสอยู่ก็แปลว่ายังไม่บรรลุโมกขธรรม เพราะจิตใจเมื่อยังมีกิเลสอยู่นี้ ตัวเองรู้สึกเองว่ามี ถึงว่าจะปฏิบัติอย่างไร ในศีลในสมาธิในปัญญาอย่างไร แม้ในพุทธศาสนานี้เอง หากว่ากิเลสยังมีอยู่ กิเลสย่อมจะแสดงออกมาให้รู้ได้ที่จิตใจตนเอง ว่ายังไม่พ้น
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติของพระองค์นั้นจึงมีพื้นฐานมาเป็นอันมาก และศีลของพระองค์ก็บริสุทธิ์ขึ้นโดยลำดับ จนถึงทรงได้สมาธิที่บริสุทธิ์ สมาธิที่ปล่อยวาง น้อมพระทัยที่เป็นสมาธิในเพื่อรู้ นี้ไปเพื่อรู้ ญาณคือความหยั่งรู้ที่เรียกว่าเป็นจักขุคือดวงตาจึงได้ผุดขึ้นในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ดั่งนี้จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ และเมื่อเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว อีกข้อต่อๆ ไปก็เนื่องกันไป ดังที่กล่าวมาในเบื้องต้นครบทั้ง ๘ ฉะนั้นสมาธิที่บริสุทธิ์ดังกล่าวนี้ ที่จะนำไปให้บังเกิดญาณคือความหยั่งรู้ ที่ผุดขึ้นในสัจจะทั้ง ๔ ได้ จึงเป็นสมาธิที่บริสุทธิ์ อันได้แก่สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์องค์แห่งความรู้ องค์แห่งความตรัสรู้ คือสมาธิ และคืออุเบกขา อันเป็นสมาธิที่บริสุทธิ์
สมาธิต้องประกอบด้วยอุเบกขา
เพราะสมาธิที่บริสุทธิ์นั้นต้องประกอบด้วยอุเบกขา คือความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ วางความยึดถืออะไรทั้งหมด ฉะนั้นจึงต้องผ่านโพชฌงค์ จนถึงสมาธิอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ซึ่งเป็นสมาธิที่บริสุทธิ์ และน้อมจิตที่เป็นสมาธินี้ไปเพื่อรู้ จักขุคือดวงตา คือญาณ คือวิชชา คือปัญญา คือความสว่างก็ผุดขึ้นในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ มรรค ๘ ก็บังเกิดขึ้นสมบูรณ์ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะเป็นโพธิปักขิยธรรม
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป