แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงข้อปฏิบัติ ซึ่งพระองค์ได้ปฏิบัติมาเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ก่อนจะตรัสรู้ ว่าได้ทรงปฏิบัติตั้งสติกำหนดรู้วิตกคือความตรึก ทำให้เป็น ๒ ส่วน คือเมื่อจิตวิตกคิดนึกไปในทางอกุศล ก็ทำสติกำหนดรู้ พร้อมทั้งโทษ ก็จะทำให้ความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลนั้นสงบได้ และเมื่อทรงตรึกนึกคิดไปในทางกุศล ก็ให้ทำสติกำหนดรู้ ความตรึกนึกคิดที่เป็นกุศลนั้นก็จะตั้งอยู่
ทรงทำสติกำหนดรู้ความตรึกนึกคิดในจิตของพระองค์เองให้เป็น ๒ ส่วนอยู่ดังนี้ เมื่อฝ่ายอกุศลเกิดขึ้นก็ให้รู้ว่านี่อกุศล ไม่ดี เมื่อฝ่ายกุศลเกิดขึ้นก็ให้รู้ว่านี่กุศล ดี เหมือนอย่างแบ่งออกเป็น ๒ กอง เมื่ออกุศลเกิดขึ้นก็จับใส่เข้ากองอกุศล
เมื่อกุศลเกิดขึ้นก็จับใส่เข้าในกองกุศล ทรงกำหนดรู้พร้อมทั้งโทษและคุณ เมื่อเป็นดั่งนี้ฝ่ายอกุศลก็จะสงบ ฝ่ายกุศลก็จะตั้งอยู่ และได้ทรงแสดงถึงธรรมชาติธรรมดาของจิตใจ ว่ามีปรกติที่น้อมไปตามวิตกวิจาร คือความตรึกความตรองของจิตใจนี้เอง เมื่อวิตกวิจารตรึกตรองไปในทางอกุศลมาก จิตก็น้อมไปในทางอกุศลมาก ไม่น้อมไปในทางกุศล แต่เมื่อวิตกวิจารตรึกตรองไปในทางกุศลมาก จิตก็น้อมไปในกุศลมาก ไม่น้อมไปในอกุศล
ความตรึกแม้ในทางกุศลก็อาจเกิดโทษ
และแม้ว่าจะได้น้อมจิตไปในทางกุศล ความตรึกตรองที่เป็นกุศลนั้นก็ตั้งอยู่ ก็อาจจะตรึกตรองในทางกุศลนั้นไปได้ตลอดคืนตลอดวัน แต่ว่าเมื่อวิตกวิจาร คือตรึกตรองไปแม้ในทางกุศลมากเกินไป กายก็จะบอบช้ำเมื่อยล้า จิตก็จะฟุ้งขึ้น จะเหน็ดเหนื่อย เพราะฉะนั้น การตรึกตรองไปแม้ในทางกุศลเองที่นานเกินไป มากเกินไป ก็ให้เกิดโทษได้ดั่งนี้ จึงได้ทรงหยุดตรึกตรองแม้ในทางกุศลนั้น รวมจิตเข้ามาตั้งอยู่ในภายใน สงบอยู่ในภายใน จิตก็จะตั้งเป็นสมาธิได้อยู่ในภายใน โดยมีอารมณ์เป็นอันเดียว ไม่ตรึกตรองไปมากเรื่องยืดยาว จิตก็สงบได้
ตามที่ทรงปฏิบัตินี้พิจารณาดูแล้วก็จะจับความได้ว่า ในขณะที่ได้ทรงปล่อยให้จิตวิตกวิจารคือตรึกนึกคิดไป แต่ว่าทรงมีสติตามดูจิตที่คิดไปนั้น คอยรู้จิตที่คิดไปนั้น เมื่อเป็นอกุศลก็รู้ว่านี่เป็นอกุศล มีโทษ เมื่อเป็นกุศลก็รู้ว่านี่เป็นกุศล มีคุณประโยชน์ จนถึงฝ่ายอกุศลสงบลงได้ ตั้งอยู่แต่ฝ่ายกุศล แต่ก็ปล่อยให้จิตตรึกตรองไปในฝ่ายกุศล นานเท่านานก็ตรึกตรองไปได้ ตลอดคืนก็ได้ ตลอดวันก็ได้ แต่ว่าปล่อยให้จิตตรึกตรองไปในฝ่ายกุศล นานเกินไปก็มีโทษดังกล่าว กายก็บอบช้ำกระสับกระส่าย จิตก็ฟุ้งขึ้น ไม่สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ
การปฏิบัติในขั้นบริกรรมภาวนา
ในขณะที่ปฏิบัติดั่งนี้ก็กล่าวได้ว่าเป็น บริกรรมภาวนา คือเป็นการปฏิบัติอบรมจิตฝึกจิตในทางบริกรรม คือวิตกวิจารตรึกตรองไป แต่ว่ามีสติคอยตามรู้ ตามดู ตามเห็น จิตว่าเป็นอย่างไร จนถึงเมื่อได้ทรงหยุดตรึกตรองไปแม้ในทางกุศลนั้น รวมจิตเข้ามาตั้งอยู่ในภายใน เพียงจุดเดียว
หากจะยกเอาสติปัฏฐานขึ้นมาเป็นที่ตั้ง ก็อาจยกขึ้นมาได้ว่า ตั้งสติคอยตามดูกาย เวทนา จิต ธรรม ให้รู้แต่เพียงอย่างเดียวว่า นี่กาย นี่เวทนา นี่จิต นี่ธรรม และทั้ง ๔ นั้นก็ยังมากไป ก็ให้เหลือแต่ ๑ ว่านี่กาย หรือว่านี่เวทนา หรือว่านี่จิต หรือว่านี่ธรรม เพียงอย่างเดียว และอีก ๓ อย่างนั้น ก็จะรวมกันเข้ามาเอง ให้รู้ว่านี่มีอยู่ นี่ก็คือว่ากายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ ธรรมก็ได้มีอยู่ ดั่งนี้ ก็กล่าวได้ว่าเป็น อุปจาระภาวนา ภาวนาคืออบรมทำสมาธิจิตให้มีขึ้น ใกล้ที่จะแนบแน่น และเมื่อได้รวมจิตให้เป็นสมาธิเข้ามามากขึ้น จนถึงใกล้จะแนบแน่น
ก็ใช้วิตกวิจารนี้เอง ตรึกตรองนี้เอง เป็นแต่เพียงว่าในทีแรกนั้นตรึกตรองไปมากเรื่องมากราว แม้ในทางกุศล ก็ตรึกตรองไปในเรื่องการออกจากกามต่างๆ ไม่พยาบาทปองร้ายหมายล้างผลาญต่างๆ แต่มีเมตตามุ่งดีปรารถนาดีต่างๆ ไม่เบียดเบียน แต่มีกรุณาช่วยเหลือเกื้อกูลต่างๆ มากเรื่องมากราว จิตจึงไม่รวมเป็นหนึ่ง ดังที่เรียกว่าบริกรรมภาวนานั้น
ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ
แต่ครั้นมางดวิตกวิจารไปในเรื่องต่างๆ มาก แต่ให้วิตกวิจารอยู่ในเรื่องเดียว คือตรึกตรองอยู่ถึงเรื่องกายเวทนาจิตธรรมดังกล่าวนั้น ไม่ตรึกตรองไปในเรื่องอื่น ตรึกก็คือว่ายกจิตขึ้นสู่กายเวทนาจิตธรรม หรือเพียงข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าว ตรองก็คือว่าประคองจิตไว้ให้ตั้งกำหนดอยู่ในเรื่องเดียวนั้น ก็เป็นการปฏิบัติเข้าหลักแห่งสมาธิ เป็น ขณิก-สมาธิ สมาธิชั่วขณะบ้าง เป็นสมาธิที่นานกว่าชั่วขณะบ้าง จนถึงเป็น อุปจาระ คือใกล้ที่จะแน่วแน่
( เริ่ม) ก็ต้องอาศัยวิตกวิจารนี้เช่นเดียวกัน และเมื่อรวมจิตเข้ามาดั่งนี้ ก็ย่อมจะได้สมาธิที่ดีขึ้นๆ ดังกล่าว จนเป็นอุปจารสมาธิ ภาวนาก็เป็นอุปจาระภาวนา คือเป็นภาวนาอบรมจิตใจที่ได้อุปจาระสมาธิ จิตจึงเริ่มได้ความสงบ เริ่มได้สมาธิ เมื่อมีความเพียรตั้งมั่นไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่นไม่หลงลืม กายก็สงบไม่กระสับกระส่าย จิตก็ตั้งมั่นมีอารมณ์เป็นอันเดียว ลักษณะดังที่กล่าวนี้หากจะยกเอาองค์ของฌานที่ ๑ เข้ามาประกอบ ก็ยกขึ้นได้ว่า เมื่อมี วิตก วิจาร ตรึกตรองอยู่ในอารมณ์เป็นอันเดียวเรียกว่า เอกัคคตา จิตมีอารมณ์เดียว อันเป็นลักษณะของสมาธิ ก็ย่อมจะได้ ปีติ คือความอิ่มใจความดูดดื่มใจ ได้ ความสุข คือความสบายกายสบายใจ
และเมื่อ มีปีติ มีสุข จิตที่เป็นเอกัคคตาในเบื้องต้นนั้น ก็จะเป็นเอกัคคตาคือตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นอันเดียวที่แนบแน่นเป็นอัปปนาสมาธิ เมื่อเป็นดั่งนี้ การภาวนาคือการปฏิบัติก็เป็นอัปปนาภาวนา การภาวนาที่ทำให้ได้ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ และเมื่อได้ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาพร้อมกัน ก็ชื่อว่าได้ปฐมฌาน และเมื่อมีความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่นไม่หลงลืม มีกายไม่กระสับกระส่าย สงบ มีจิตตั้งมั่นดีขึ้น ก็ได้สมาธิที่เป็นเอกัคคตานี้สูงขึ้นๆ
พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติมาโดยทางนี้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงพระองค์เอง ว่าได้ทรงปฏิบัติโดยทางนี้ ตั้งต้นแต่ได้ทรงปฏิบัติเกี่ยวแก่วิตกคือความตรึกดังกล่าว จนถึงได้อัปปนาสมาธิ ก็ทรงได้ฌาน ทรงได้วิชชา ๓ จนถึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และก็ได้ทรงแสดงถึงพระองค์ที่มีพระมหากรุณา ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ดังที่ได้ตรัสแสดงทางที่ทรงปฏิบัติมาสั่งสอน ที่นำมาเล่านี้ ได้ตรัสอุปมาธรรมะไว้ว่า
เหมือนอย่างว่า มีที่ลุ่มเต็มไปด้วยเปือกตม ในป่าใหญ่ ซึ่งเป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่เนื้อฝูงใหญ่ ก็ได้มีบุคคลที่ไม่หวังดี คือพรานมาปิดทางที่เกษมสวัสดี แต่เปิดทางที่ไม่สวัสดีให้ฝูงเนื้อนั้นออกมา ทั้งมีเนื้อต่อตัวผู้ เนื้อต่อตัวเมีย และเมื่อฝูงเนื้อได้ออกมาในทางไม่สวัสดีที่นายพรานเปิดให้นั้น ทั้งได้ถูกเนื้อต่อตัวผู้เนื้อต่อตัวเมียชักจูงอีกส่วนหนึ่ง ฝูงเนื้อจึงต้องพบกับความหายนะ คือความเสื่อมเสีย ร่อยหรอลงไปด้วยฝีมือของบุคคลที่ไม่หวังดีคือพราน แต่ว่ามีบุคคลที่หวังดีได้มาช่วยปิดทางที่ไม่สวัสดี และเปิดทางที่สวัสดีเพื่อให้เนื้อออก ทั้งได้นำเนื้อต่อตัวผู้เนื้อต่อตัวเมียออกไปเสีย ฝูงเนื้อนั้นก็มีความสวัสดี และมีจำนวนเพิ่มเติมมากขึ้น มีความผาสุก
มิจฉามรรค สัมมามรรค
และก็ได้ตรัสเป็นธรรมะว่า บุคคลที่ไม่หวังดีคือพรานนั้นก็ได้แก่มาร และป่าที่เป็นที่ลุ่มเต็มไปด้วยเปือกตมนั้นก็คือกามคุณ ฝูงเนื้อนั้นก็คือว่าสัตว์ทั้งหลาย คือว่าสัตว์โลก และทางที่ไม่สวัสดีนั้นก็ได้แก่มิจฉามรรค คือทางผิดทั้ง ๘ ได้แก่มิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด มิจฉาสังกัปปะความดำริผิด
มิจฉาวาจาเจรจาผิด มิจฉากัมมันตะการงานผิด มิจฉาอาชีวะเลี้ยงชีวิตผิด มิจฉาวายามะเพียรพยายามผิด มิจฉาสติสติ สติระลึกผิด มิจฉาสมาธิ สมาธิผิด เนื้อต่อตัวผู้นั้นก็ได้แก่ นันทิราคะ คือความยินดีติดใจด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน เนื้อต่อตัวเมียนั้นก็ได้แก่ อวิชชา คือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
ส่วนบุคคลผู้หวังดีนั้นก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และทางที่สวัสดีที่บุคคลผู้หวังดีเปิดให้นั้น ก็ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นสัมมามรรคทางชอบ อันตรงกันข้าม อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมวายามะเพียรชอบ สัมมาสติ สติชอบ สัมมาสมาธิ สมาธิชอบ ดั่งนี้
กามาวจรสัตว์
เพราะฉะนั้น สัตว์โลกนี้คือบุคคลทุกๆ คนในโลกนี้เอง จึงเป็นเหมือนอย่างฝูงเนื้อที่อยู่ในป่าอันเต็มไปด้วยเปือกตม ซึ่งเป็นที่ลุ่มอันได้แก่กามคุณ คือต่างเป็นกามาวจรสัตว์ คือหมู่สัตว์ที่หยั่งลงในกาม และถ้าหากว่าถูกอำนาจของมารมาเปิดทางผิดให้ พร้อมทั้งมีเครื่องล่อคือนันทิราคะ อันเหมือนอย่างเนื้อต่อ กับอวิชชา ซึ่งเป็นเนื้อต่อตัวผู้เนื้อต่อตัวเมีย ก็ย่อมจะออกดำเนินไปนานาในทางที่ไม่สวัสดี อันเป็นมิจฉามรรค อันเป็นทางที่ผิด ประสบความวิบัติ แต่เมื่อได้ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ได้ฟังธรรมะของพระองค์ ได้ปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน ก็ย่อมจะได้พบสัมมามรรค คือทางที่ถูกชอบ
และเมื่อปฏิบัติดำเนินไปในทางที่ถูกชอบนั้น ก็ย่อมจะมีความสวัสดี กรณียะคือกิจที่ควรทำ อันพระองค์ผู้พระศาสดาได้ทรงกระทำแก่สาวกทั้งหลายแล้ว เพราะฉะนั้น จึงให้บรรดาสาวกทั้งหลาย พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พากันเป็นผู้ไม่ประมาท เพ่งปฏิบัติทำจิตตภาวนา อบรมจิต ให้ถูกต้องตามที่ทรงสั่งสอน ก็จะเป็นผู้ที่ไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีความสุขความสวัสดี
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป