แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระพุทธเจ้าได้ทรงมีพระมหากรุณาจำแนกแจกธรรมสั่งสอน เราทั้งหลายจึงสามารถได้ทราบสติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติทางจิตอันสำคัญที่พระองค์ได้ทรงจำแนกไว้ ดังที่ได้แสดงมาโดยลำดับในหมวดกาย หมวดเวทนา หมวดจิต หมวดธรรม ซึ่งแสดงย่อยออกไปในหมวดธรรมนี้ เริ่มแต่ตรัสสอนให้รู้จักนิวรณ์ทั้ง ๕ ตรัสสอนให้รู้จักขันธ์ ๕ และจากขันธ์ ๕ ก็ตรัสสอนให้รู้จักอายตนะ ซึ่งจะได้อธิบายในวันนี้
อายตนะนั้นแปลว่าที่ต่อ มี ๒ อย่าง คืออายตนะที่ต่อภายใน กับอายตนะที่ต่อภายนอก ที่เรียกว่าอายตนะอันแปลว่าที่ต่อนั้น ก็เพราะทั้งภายในทั้งภายนอกนี้มาต่อกันเข้า
คือมาประจวบกับเข้า ไม่ใช่ต่อกับอะไรอื่น ก็ต่อกันระหว่างภายนอกและภายในนี้เอง ภายในนั้นก็ได้แก่จักขุคือตา โสตะคือหู ฆานะคือจมูก ชิวหาคือลิ้น กายะก็คือกาย มโนก็คือใจ ส่วนอายตนะที่ต่อภายนอกนั้นก็ได้แก่รูปะคือรูป สัททะคือเสียง คันธะคือกลิ่น ระสะคือรส โผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง ธรรมะคือเรื่องราว
ต้องกำหนดเอาไว้ว่าคำว่าธรรมะนี้มีใช้ได้หลายอย่าง แต่ธรรมะในที่นี้ไม่ใช่ธรรมะคือคำสั่งสอน หรือธรรมะคือคุณธรรมเป็นต้นอย่างอื่น แต่ว่าเป็นเรื่องราว เพราะว่าไม่ใช่เป็นรูปเป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะ แต่เป็นเรื่องราวของรูปของเสียงของกลิ่นของรสของโผฏฐัพพะนั้นอีกทีหนึ่ง
สัญโญชน์
อายตนะภายใน ๖ และภายนอก ๖ เป็นสิ่งที่คู่กัน ตาก็คู่กับรูป หูก็คู่กับเสียง จมูกก็คู่กับกลิ่น ลิ้นก็คู่กับรส กายก็คู่กับโผฏฐัพพะ และมโนคือใจก็คู่กับธรรมะคือเรื่องราว และพระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ รู้จักตา รู้จักรูป และให้รู้จักว่าอาศัยตาและรูป บังเกิดสัญโญชน์คือความผูกขึ้น ความผูกหรือความผูกพัน อาศัยหูกับเสียง ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูกขึ้น อาศัยจมูกกับกลิ่น ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูกขึ้น อาศัยลิ้นกับรส ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูกขึ้น อาศัยกายกับสิ่งที่กายถูกต้อง ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูกขึ้น อาศัยมโนคือใจและธรรมะคือเรื่องราว ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูกขึ้น
และตรัสสอนให้รู้จักว่าสัญโญชน์จะบังเกิดขึ้นได้ด้วยประการไร ตรัสสอนให้รู้จักว่าสัญโญชน์ที่เกิดขึ้นแล้วจะดับไปด้วยประการไร ตรัสสอนให้รู้จักว่าสัญโญชน์ที่ดับไปคือละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นอีกได้ด้วยประการไi โดยตรัสสอนให้รู้จักเหตุที่จะทำให้สัญโญชน์เกิด เหตุที่จะทำให้สัญโญชน์ดับคือละไปได้ เหตุที่จะทำให้สัญโญชน์ที่ดับคือละไปได้แล้วไม่เกิดขึ้นอีก
ความยินดียินร้าย
ในข้อนี้ก็ควรทำความเข้าใจไปตามที่ตรัสสอนไว้นี้ก่อนว่า โดยปรกตินั้นทุกๆ คน เมื่อตากับรูปมาประจวบกัน คือว่าเห็นรูปอะไรทางตา ก็จะเกิดสัญโญชน์คือความผูกพันใจ คือจิตจะผูกพันอยู่กับสิ่งที่ตาเห็นนั้น ผูกพันอยู่กับรูปที่ตาเห็นนั้น ด้วยอำนาจของความรักบ้าง ความชังบ้าง หรือว่าด้วยอำนาจของความยินดีบ้าง ความยินร้ายบ้าง หรือว่าเติมด้วยความหลงบ้าง แต่ว่าในสติปัฏฐานนี้มักจะตรัสเพียงยินดียินร้าย คือชอบหรือชัง เพราะว่าย่อมมีความหลงหนุนอยู่ทั้งสองอย่าง คือว่าหลงชอบหลงชัง จึงไม่แยกเอาความหลงไว้อีกกองหนึ่ง เอารวมเข้าด้วยกัน เอารวมเข้าด้วยกัน
(เริ่ม) ความผูกพันนี้ท่านแสดงเอาไว้ว่าเป็นตัวฉันทราคะ คือความติดด้วยอำนาจความพอใจ คือยกเอาแต่สิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่พอใจ อันเป็นกามคุณารมณ์เป็นที่ตั้งไว้เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อจะกล่าวให้หมด ก็กล่าวถึงความชัง หรือความยินร้ายไว้ด้วย เป็นความยินดีความยินร้าย แต่มักแสดงอธิบายสัญโญชน์คือความผูกพันนี้ไว้เป็นความยินดี แต่ก็หมายคลุมถึงความยินร้ายด้วย
เพราะเมื่อมีความยินดีก็ย่อมมีความยินร้าย เมื่อมีความชอบก็ย่อมมีความชังคู่กัน คือจิตใจไม่เป็นกลาง เมื่อมีจิตใจเป็นกลาง ก็จะไม่มีทั้งยินดีไม่มีทั้งยินร้าย ไม่มีทั้งชอบไม่มีทั้งชัง ไม่มีทั้งรักไม่มีทั้งเกลียด จิตใจเป็นกลางๆ
แต่ปรกตินั้นจะเกิดสัญโญชน์คือความผูกพัน ปรากฏเป็นฉันทราคะ ความติดด้วยอำนาจความพอใจ ด้วยอำนาจแห่งความติดใจยินดี หรือเรียกสั้นว่าความยินดีหรือความชอบอยู่เป็นปรกติ อาศัยหูกับเสียงก็เกิดสัญโญชน์ขึ้นดังกล่าวเช่นเดียวกัน
สติกำหนดดูสัญโญชน์
เพราะฉะนั้น จึงให้มีสติคอยกำหนดดู ในขณะที่ตากับรูปประจวบกัน คือเห็นอะไร หูกับเสียงประจวบกัน คือได้ยินอะไร ก็ย่อมจะพบว่าจิตนี้ยึดอยู่ในสิ่งที่เห็นที่ได้ยินนั้นเป็นต้น และก็ยินดีก็ยินร้าย แต่บางอย่างถ้าเป็นสิ่งที่เป็นพื้นเป็นธรรมดาสามัญ จิตก็ไม่ยึดเป็นสัญโญชน์คือผูกใจ ถ้าหากว่าจิตจะมีสัญโญชน์คือผูกใจไปทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว จะต้องมีเรื่องกลุ้มใจอยู่ในจิตใจมากมายอยู่ในวันหนึ่งๆ
เพราะในวันหนึ่งๆ นี้ ทุกๆ คนเห็นอะไรได้ยินอะไร ได้ทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะอะไร ได้คิดเรื่องอะไร นับไม่ถ้วน แต่ว่ามีเป็นอันมากที่เห็นแล้วได้ยินแล้วเป็นต้นก็ผ่านไปๆ ไม่ได้เก็บเอามาเป็นอารมณ์ในจิตใจ แต่ว่าถ้าเป็นสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ จึงจะเกิดความติดใจ หรือแม้ว่าไม่เป็นสิ่งที่น่าปรารถนาพอใจ เรียกว่าเป็นสิ่งที่มากระทบกระทั่ง ก็เกิดความกระทบกระทั่งจิต เกิดความไม่ชอบ เกิดความยินร้าย ซึ่งวันหนึ่งๆ ก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
ก็เพราะจิตนี้เองยึดเป็นสัญโญชน์ขึ้นในจิต คือว่าผูกขึ้นในจิต และเมื่อผูกขึ้นในจิตนี้ ถ้าผูกๆ ไว้น้อยก็จางไปเร็ว ถ้าผูกไว้มากก็จางไปยาก จะตั้งอยู่ในจิตใจ เป็นความผูกอยู่ในจิตใจนาน เรียกว่าหลายชั่วโมง หลายคืนหลายวัน หลายเดือนหลายปี ดั่งนี้ก็มี สุดแต่ว่าสัญโญชน์ที่จิตผูกเอาไว้นี้จะผูกไว้มากเพียงไร
และแม้สิ่งที่จิตไม่ได้ผูกเอาไว้ในทางชอบหรือในทางชังดังกล่าว เป็นสิ่งที่ประสบไปก็ผ่านๆ ไปๆ อันนี้แหละที่เรียกว่าเป็นกลางๆ คือเป็นอารมณ์ที่เป็นกลางๆ ไม่พอที่จะให้ยินดี ไม่พอที่จะให้ยินร้าย ก็ผ่านไปๆ แต่เรียกว่าผ่านไปโดยไม่รู้ ความผ่านไปโดยไม่รู้นี้จึงเรียกว่าเป็นโมหะคือความหลง เรื่องที่เป็นกลางๆ ดั่งกล่าวนี่แหละ ที่ท่านว่าเป็นที่ตั้งของโมหะคือความหลง เพราะผ่านไปๆ โดยไม่รู้
ต้นทางของสัญโญชน์
พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทำความรู้จักสัญโญชน์ ตรัสสอนให้ทำความรู้จักต้นทางของสัญโญชน์ คืออายตนะภายในอายตนะภายนอก ที่มาประสบ มาประจวบกันนั้น เป็นต้นทางแห่งสัญโญชน์คือความผูก คือใจผูก และตรัสสอนให้มีสติกำหนดดูให้รู้จัก ให้รู้จักตา ให้รู้จักรูป และให้รู้จักความผูกที่อาศัยตาและรูปนั้น โดยความผูกนั้นมาจากตาและรูปนั้น และในข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน
และในการที่พิจารณาให้รู้จักตาและรูป กับรู้จักตัวความผูกนั้น ย่อมสัมพันธ์ไปถึงสติปัฏฐานที่ตรัสมาโดยลำดับ หรือที่ปฏิบัติมาโดยลำดับด้วย ก็เพราะว่า อันอายตนะภายใน อายตนะภายนอกนั้น ก็อยู่ที่กายนี้เอง คืออยู่ในหมวดกายที่ตรัสสอนมาให้ตั้งสติกำหนดตั้งแต่เบื้องต้น และก็อาศัยเวทนาที่ตรัสมาในหมวดเวทนา อาศัยจิตที่ตรัสมาในหมวดจิต และอาศัยนิวรณ์ที่ตรัสมาในหมวดนิวรณ์ อาศัยขันธ์ ๕ ที่ตรัสมาในหมวดขันธ์ ๕ คือต้องมีกายมีเวทนามีจิต จึงจะมีตากับรูปที่มาประจวบกัน ทำให้เกิดสัญโญชน์คือความผูก
เพราะว่า อันอายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย อายตนะภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นกายโดยตรง ส่วนข้อ ๖ นั้น แม้ไม่ใช่กายโดยตรง เนื่องอยู่กับจิต คือมโนใจกับธรรมะคือเรื่องราวเนื่องอยู่กับจิต แต่ก็เป็นส่วนที่สัมพันธ์อยู่กับกาย อยู่ในหมวดที่เกี่ยวกับกาย เพราะฉะนั้น อายตนะภายในอายตนะภายนอก อันเป็นส่วนกายนี้จึงได้ปฏิบัติหน้าที่ได้ และเมื่อมีเวทนามีจิตประกอบอยู่ และเมื่อปฏิบัติหน้าที่ได้จึงจะเกิดสัญโญชน์คือความผูก และความผูกนั้นก็มาที่จิต คือผูกอยู่ที่จิต คือจิตผูกนั้นเอง
จิตผูกเพราะเวทนา
และการที่จิตจะผูกนั้น ก็เพราะเมื่ออายตนะภายนอกภายในมาประจวบกัน จะต้องเกิดเวทนา อันเป็นสติปัฏฐานข้อที่ ๒ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง และเวทนานี้บังเกิดที่ไหน ก็บังเกิดขึ้นที่กายบ้างที่จิตบ้าง แต่โดยตรงนั้นบังเกิดขึ้นที่จิต แม้ว่าจะบังเกิดขึ้นที่กายก็เนื่องจากจิต จิตจะต้องรับด้วยจึงจะเป็นเวทนา คือจิตนี้เองเป็นผู้เสวยเวทนา เป็นผู้กินเวทนา กินสุข กินทุกข์ กินกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็จิตนี้เอง ก็กินเวทนาสุขทุกข์ไม่ทุกข์ไม่สุขที่เป็นกลางๆ ในเมื่ออายตนะภายในภายนอกมาประจวบกัน คืออาศัยตากับรูปมาประจวบกัน หูกับเสียงมาประจวบกันเป็นต้น ก็เป็นเวทนาขึ้นมา ก็โดยที่จิตนี้เองเป็นผู้กิน เป็นผู้เสวยสุขทุกข์หรือเป็นกลางไม่ทุกข์ไม่สุข
เมื่อเป็นดั่งนี้ เมื่อไม่มีสติ ไม่มีปัญญาที่เป็นสติปัฏฐาน จึงเกิดสัญโญชน์คือความผูก ผูกใจผูกจิต อยู่ในเวทนาที่กินนั้น เมื่อกินสุขเข้าไปก็ชอบใจ กินทุกข์เข้าไปก็ไม่ชอบใจ กินที่เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขเข้าไปก็เฉยๆ แต่ความจริงก็กินเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่กิน แต่ว่าเฉยๆ ก็เหมือนอย่างไม่ได้กิน ก็กินไม่ทุกข์ไม่สุขเหมือนกัน
สติที่เป็นตัวสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้นเมื่อไม่ปฏิบัติให้เป็นสติปัฏฐานขึ้นในกายในเวทนาในจิตในธรรม จึงเกิดสัญโญชน์คือความผูก ผูกใจยินดี ผูกใจยินร้าย นี่เป็นตัวสัญโญชน์ หากว่าหัดปฏิบัติทำจิตให้เป็นสติปัฏฐาน คือตั้งสติกำหนด กำหนดให้รู้จักกาย ให้รู้จักเวทนา รู้จักจิต รู้จักนิวรณ์ ขันธ์ มาโดยลำดับแล้ว สติที่เป็นตัวสติปัฏฐานนี้จะทำหน้าที่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือรู้จักหน้าตาของสิ่งเหล่านี้ รู้ทั้งภายในรู้ทั้งภายนอกของสิ่งเหล่านี้
เหมือนอย่างว่าเรารู้จักต้นไม้ ก็รู้จักทั้งภายนอกทั้งภายในของต้นไม้ เช่นรู้ว่าต้นสักภายนอกก็มีเปลือกภายในก็มีแก่น ต้นกล้วยมีแต่กาบแก่นไม่มี ทั้งภายนอกทั้งภายใน คือว่ารู้จักสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดทั้งภายนอกทั้งภายในของสิ่งเหล่านี้ และอีกอย่างหนึ่งนั้นเมื่อรู้จักดั่งนี้แล้ว ตั้งสติกำหนดดู ตามดูกายเวทนาจิตธรรมข้อที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่าทุกอย่างเป็นสิ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดาทั้งนั้น อย่างกาย ตั้งแต่ลมหายใจเข้าออก เวทนาสุขทุกข์ จิตที่มีอาการเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นิวรณ์ที่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ขันธ์ที่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ล้วนแต่มีเกิดมีดับ เป็นสิ่งที่มีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีดับไปเป็นธรรมดา
ข้อที่เรียกว่าเกิดดับ
เพราะฉะนั้น การรู้จักอายตนะภายในอายตนะภายนอกที่มาประจวบกันนั้น จึงไม่ใช่รู้จักแต่เพียงว่านี่ลูกตา นี่เป็นรูปที่ตาเห็นเท่านั้น แต่ว่ารู้จักว่าทั้งตาทั้งรูปนี้เป็นกาย หรือเป็นรูป ที่มีเกิดขึ้น มีดับไปเป็นธรรมดา ตาเองรูปเองก็ดับไป เกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดา การเห็นก็เกิดขึ้นดับไปเหมือนกัน
เพราะว่า เราพูดกันว่าตาเห็น แต่อันที่จริงนั้นวิญญาณเห็น หรือว่าจิตนี้เห็น เห็นด้วยวิญญาณ คือเมื่อตารูปประจวบกันเกิดความรู้ขึ้นคือเห็น ก็คือจิตนี้เองเป็นผู้รู้ คือเป็นผู้เห็น เห็นด้วยจิต สิ่งที่เห็นกับเครื่องเห็น คือรูปกับตานั้น ทำหน้าที่เห็นทีหนึ่งก็เสร็จไปทีหนึ่ง อย่างเช่นทีแรกเห็นต้นไม้ต้นนี้ การเห็นต้นไม้ต้นนี้เกิดขึ้นดับไป ก็เห็นอีกต้นหนึ่ง ก็เกิดขึ้นดับไป แล้วเห็นอีกต้นหนึ่งก็เกิดขึ้นดับไป สิ่งที่เห็นร้อยอย่าง เห็นกันคนละวาระทั้งนั้น เพราะว่าจิตนี้จะรับอารมณ์ได้ทีละหนึ่งเท่านั้น จะรับอารมณ์ทีหนึ่งหลายอย่างไม่ได้ แต่เพราะเร็วมากจนเราไม่สามารถจะแยกได้
เหมือนอย่างว่าเมื่อดูภาพยนตร์ เห็นภาพในจอภาพยนตร์นั้นเป็นคนเดิน แต่ถ้าไปดูฟิล์มของภาพยนตร์แล้วก็จะเห็นว่า มีรูปเล็กๆ ๆ ๆ ของอาการที่คนเดินนั้น มากมายมาต่อกันเข้า เดินไปก้าวหนึ่งภาพก็เป็นภาพเล็กๆ มากมายมาต่อกัน เป็นแต่ละภาพทั้งนั้น แต่เมื่อมาฉายเข้าก็เห็นเนื่องกันเป็นอันเดียว เป็นกิริยาเดิน ทำให้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เนื่องเป็นอันเดียวกัน แต่อันที่จริงนั้นขาดเป็นท่อนๆ ท่อนๆ ท่อนๆ ทั้งนั้น จิตที่เห็นรูปก็เหมือนกัน ก็ขาดเป็นเรื่องๆ เรื่องๆ เรื่องๆ ไป แต่เพราะเร็วมากจึงรู้สึกว่าเห็นเป็นอันเดียวกัน
สันตติความสืบเนื่อง
การที่ขาดเป็นท่อนๆ นั้นก็คือเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับอยู่ในระหว่างทั้งหมด แต่ว่ามีสันตติคือความสืบต่อ จึงได้รู้สึกว่าติดต่อเป็นเรื่องเป็นราว และอายตนะของคนนั้นมีถึง ๖ ทาง เพราะฉะนั้นจิตรับอารมณ์ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ชั่วเวลาเวลาหนึ่งนาทีมากมายนับไม่ถ้วน จิตนี้จึงดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ นาทีหนึ่งนับไม่ถูกว่าเท่าไหร่ แต่ว่าแต่ละเรื่องแต่ละราวนั้น ล้วนแต่เกิดดับๆ ในระหว่างทั้งนั้น ความจริงเป็นอยู่ดั่งนี้
แต่ว่าเมื่อไม่มีสติปัฏฐาน คือไม่มีสติพร้อมทั้งญาณที่จะมองเห็นเกิดดับ จึงได้มีความยึดถือเป็นสัญโญชน์ แต่เมื่อเห็นเกิดดับแล้วจะไม่ยึดถือ เพราะว่าไม่รู้จะไปยึดอะไร สิ่งที่จะยึดนั้นล้วนแต่เกิดดับๆ ทันที ไม่มีที่จะตั้งอยู่ให้ยึด ความยึดเกิดขึ้นไม่ทัน ความชอบความชังทั้งหมดก็เกิดขึ้นไม่ทันทั้งนั้น เพราะเป็นสิ่งที่เกิดดับๆ ไม่มีอะไรที่จะตั้งอยู่
สติกำหนดรู้ ๒ ประการ
เพราะฉะนั้น สติสถานที่ต้องการนั้น จึงต้องการเป็นสติปัฏฐานที่ให้รู้จัก สิ่งที่สติกำหนดนั้น หน้าตาของสิ่งนั้น ทั้งภายนอกทั้งภายในของสิ่งนั้น เหมือนอย่างเห็นต้นไม้ก็เห็นตลอดจนถึงแก่นข้างใน เช่นต้นกล้วยก็รู้ตลอดหมด ว่าข้างในก็ไม่มีแก่น เป็นกาบไปทั้งหมด ถ้าเป็นต้นไม้แก่นก็มีแก่นอยู่ข้างใน ข้างนอกก็มีเปลือก คือมองแล้วก็มองทะลุตลอด ทั้งข้างนอกข้างในของสิ่งนั้น (เริ่ม) นี่อันหนึ่ง แล้วก็เห็นเกิดดับของสิ่งนั้นอีกอันหนึ่ง
การปฏิบัติสติปัฏฐานนั้น จึงได้ทั้งด้านที่เรียกว่าสติหรือสมาธิ สติเพื่อสมาธิ ทั้งสติเพื่อปัญญา สติเพื่อสมาธิก็คือรู้จักหน้าตาของสิ่งนั้นถี่ถ้วน สติเพื่อปัญญาก็รู้จักเกิดดับ เมื่อรู้จักเกิดดับดั่งนี้แล้วสัญโญชน์ก็ไม่เกิด ผูกไม่ทัน ไม่รู้ว่าจะผูกอะไร เพราะว่าสิ่งที่จะผูกนั้นเกิดดับหมด ต่อเมื่อไม่เห็นเกิดดับแต่เห็นว่าตั้งอยู่ นั่นแหละจึงจะผูก ผูกในสิ่งที่ตั้งอยู่นั้น ยินดีบ้างยินร้ายบ้างไปต่างๆ ดั่งนี้ไม่เป็นสติปัฏฐาน ต่อเมื่อเห็นเกิดดับ แล้วจิตไม่ผูกไม่เกิดสัญโญชน์ขึ้นจึงจะเป็นสติปัฏฐาน ต้องหัดให้เป็นสติปัฏฐานดั่งนี้แต่ข้อกายมา ทุกข้อ แล้วก็กำหนดให้ได้ในปัจจุบัน ดั่งที่ตรัสแสดงในข้ออายตนะนี้ดังที่กล่าวมา จึงจะเป็นสติปัฏฐาน
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบ แล้วฟังสวดสืบต่อไป