แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ในการปฏิบัติจิตตภาวนาสมาธินั้น ต้องอาศัยแนวปฏิบัติตามองค์ฌานทั้ง ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา และ ๒ ข้อแรกคือ วิตก วิจาร นั้นต้องใช้ตั้งแต่ในเบื้องต้น ในขั้นบริกัมมภาวนา คือการภาวนาบริกรรม อันหมายความว่าต้องกำหนดใจถึงกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง ที่เรียกว่าเป็นอารมณ์ของสมาธิ คือเป็นที่ตั้งของสมาธิ
การยกจิตขึ้นสู่กรรมฐาน หรืออารมณ์ของสมาธิ เรียกว่า วิตก ความคอยประคองจิตไว้ให้อยู่ในกรรมฐาน หรืออารมณ์ของสมาธิ เรียกว่า วิจาร ต้องมี ๒ ข้อนี้เป็นเบื้องต้นเริ่มปฏิบัติ อันเรียกว่าบริกรรมภาวนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงวิตกคือความตรึกของจิตใจไว้เป็นอันมาก เพราะวิตกทั่วไปนั้นก็คือความตรึกนึกคิด
จนถึงได้มีพระพุทธภาษิต ตรัสตอบปัญหาที่มานพผู้หนึ่งได้กราบทูลถามว่า อะไรเป็นเครื่องผูกพันโลกไว้ โลกมีอะไรเป็นเครื่องผูกพัน อะไรเป็นที่เที่ยวไปของโลกนั้น ก็ตรัสตอบว่า โลกมีนันทิคือความเพลินเป็นเครื่องผูกพัน อันนันทิคือความเพลินย่อมผูกพันโลกไว้ และวิตกคือความตรึกนึกคิดเป็นที่เที่ยวไปของโลกนั้น ซึ่งโลกก็หมายถึงสัตว์โลก มนุษย์ก็เป็นสัตว์โลกจำพวกหนึ่ง
เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า คนเราทุกๆ คนโดยปรกติสามัญนั้น ย่อมมีนันทิคือความเพลินเป็นเครื่องผูกพันไว้ และคนเรานั้นย่อมมีวิตกคือความตรึกนึกคิดเป็นที่เที่ยวไป ดั่งจะเห็นได้ว่าจิตใจนี้ของทุกๆ คน ย่อมผูกพันอยู่ด้วยความเพลินในอารมณ์นั้นๆ ในเรื่องนั้นๆ ในสิ่งนั้นๆ และจิตใจนี้ย่อมเที่ยวไปโน่นเที่ยวไปนี่ ด้วยวิตกคือความตรึกนึกคิด คือคิดไปนั้นเอง ตัวความคิดคือวิตกจึงเป็นที่เที่ยวไปของโลก คือสัตว์โลก โดยตรงคือของจิตนี้เอง
ข้อที่ตรัสสอนให้ปฏิบัติเกี่ยวแก่วิตก
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติเกี่ยวแก่วิตกคือความคิดของใจจิตของทุกคน ว่าพระองค์เองเมื่อยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ทรงปฏิบัติแสวงหาความตรัสรู้ ได้ทรงปฏิบัติด้วยการกระทำวิตกคือความตรึกนึกคิดของพระองค์เองให้เป็น ๒ ส่วน คือให้เป็นอกุศลวิตกความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลส่วนหนึ่ง ให้เป็นกุศลวิตกคือความตรึกนึกคิดที่เป็นกุศลอีกส่วนหนึ่ง คือพระองค์ได้ทรงตั้งความเพียร เป็นผู้ไม่ประมาท คือไม่เลินเล่อเผลอเพลินมัวเมา มีสติกำหนดดูวิตกคือความคิดของพระองค์ที่เป็นไปอยู่
เมื่ออกุศลวิตกคือความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลข้อใดข้อหนึ่งบังเกิดขึ้น ก็ทรงรู้ คือเมื่อกามวิตกความตรึกนึกคิดไปในกาม คือในเรื่อง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สิ่งถูกต้องที่ใคร่ที่ปรารถนาที่พอใจ หรือด้วยอำนาจกามคือความใคร่ปรารถนาพอใจ ก็ดี ความตรึกนึกคิดไปในทางทำร้ายหมายล้างผลาญผู้อื่นใครๆ บังเกิดขึ้น ก็ทรงรู้ หรือว่าความตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียนใครๆ บังเกิดขึ้น ก็ทรงรู้ ว่าบัดนี้ กามวิตกความตรึกนึกคิดไปในกามบังเกิดขึ้น พยาบาทวิตกความตรึกนึกคิดไปในทางทำร้ายหมายล้างผลาญผู้อื่นเกิดขึ้น วิหิงสาวิตกความตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียนบังเกิดขึ้น
ความตรึกนึกคิดข้อใดข้อหนึ่งเหล่านี้ทั้งหมดเป็นอกุศล มีโทษ เป็นเครื่องดับปัญญา เป็นฝ่ายทำให้คับแค้นใจ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพานคือความดับกิเลสและกองทุกข์ เมื่อทรงพิจารณารู้จักดั่งนี้ วิตกอกุศลดั่งกล่าวก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องดับไป สงบไป และเมื่อวิตกคือความตรึกนึกคิดที่ตรงกันข้าม คือที่เป็นกุศลบังเกิดขึ้น ก็ทรงรู้ คือเมื่อความตรึกนึกคิดไปในทางออกจากกามบังเกิดขึ้น ไม่ติดอยู่ในกามบังเกิดขึ้นก็ทรงรู้ ว่านี่คือเนกขัมมวิตก ความตรึกไปในทางออก หรือเมื่อความตรึกนึกคิดไปในทางไม่ปองร้ายหมายล้างผลาญบังเกิดขึ้น แต่เป็นไปด้วยเมตตากรุณาหมายเกื้อกูล ก็ทรงรู้ หรือเมื่อความตรึกนึกคิดไปในทางไม่เบียดเบียน แต่เป็นไปในทางช่วยสงเคราะห์อนุเคราะห์บังเกิดขึ้นก็ทรงรู้
ว่าข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งหมดเหล่านี้เป็นกุศล คือเป็น เนกขัมมวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางออกจากกาม อัพยาบาทวิตกความตรึกคิดไปในทางไม่พยาบาทปองร้ายหมายล้างผลาญ อวิหิงสาวิตกความตรึกนึกคิดไปในทางไม่เบียดเบียน และก็ทรงทราบด้วยการพิจารณาว่ากุศลวิตกเหล่านี้เป็นกุศล มีอานิสงส์คือมีคุณไม่มีโทษ เป็นเครื่องเจริญปัญญา ไม่เป็นฝักฝ่ายคือทำให้คับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพานคือความดับกิเลสและกองทุกข์
ธรรมดาของจิตเป็นดั่งนี้
อนึ่ง ทรงทราบธรรมดาของจิตด้วย ว่าจิตนี้ย่อมน้อมไปได้ตาม วิตกคือความตรึก วิจารคือความตรอง กล่าวคือเมื่อตรึกตรองไปมากๆ บ่อยๆ ด้วยอกุศลวิตก คือเป็นกามวิตกบ้าง พยาบาทวิตกบ้าง วิหิงสาวิตกบ้าง จิตก็ย่อมน้อมไปในอกุศลวิตกเหล่านี้มาก ย่อมไม่น้อมไปในฝ่ายตรงกันข้ามคือฝ่ายกุศล และถ้าหากว่าตรึกตรองไปในทางกุศลมาก คือในทางเนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก จิตก็น้อมไปมากในกุศลทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น วิตกวิจารคือความตรึกความตรองของจิตนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะเป็นเหตุให้จิตใจนี้น้อมไปได้ตามทางที่วิตกวิจารไป เมื่อวิตกวิจารไปในทางอกุศลมาก จิตก็น้อมไปในทางอกุศลมาก เมื่อวิตกวิจารไปในทางกุศลมาก จิตก็น้อมไปในทางกุศลมาก เป็นธรรมดาของจิตเป็นดั่งนี้
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงคอยกำหนดดูจิตของพระองค์เอง ว่าจิตบังเกิดขึ้นอย่างไร คือมีวิตกวิจารบังเกิดขึ้นอย่างใดในจิต พระองค์มีความเพียร มีความไม่ประมาท ไม่เลินเล่อเผลอเพลิน เมื่ออกุศลวิตกบังเกิดขึ้นทรงทราบ ก็ทรงจับพิจารณาทันที ให้รู้จักว่านี่เป็นอกุศลมีโทษ เป็นเครื่องดับปัญญา เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ด้วยอำนาจแห่งสติที่กำหนด และปัญญาที่รู้ดั่งนี้ อกุศลก็ย่อมจะดับ
และเมื่อฝ่ายกุศลจิตคือกุศลวิตกบังเกิดขึ้น พระองค์ก็ทรงรู้อีกว่านี่เป็นกุศล มีคุณ เจริญปัญญา ไม่เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน คือความดับกิเลสและกองทุกข์ และเมื่อทรงรู้ดั่งนี้วิตกฝ่ายกุศลนั้นก็ย่อมจะตั้งอยู่ และย่อมจะเจริญยิ่งขึ้น
ข้อพึงปฏิบัติในอกุศลวิตก
และได้ทรงทราบความเป็นไปของจิตในขณะที่ประกอบด้วยอกุศลวิตก กับความเป็นไปของจิตในขณะที่ประกอบด้วยกุศลวิตก ว่าแตกต่างกัน และการปฏิบัติก็แตกต่างกัน คือในขณะที่จิตเป็นไปด้วยอกุศลวิตกมีกามวิตกเป็นต้น การปฏิบัติในการสำรวมระวังจิต ข่มจิต จะต้องมีมาก ( เริ่ม) ซึ่งเปรียบเหมือนอย่างคนเลี้ยงโค ที่ได้นำฝูงโคไปเลี้ยงในแถวที่สุดบ้าน ซึ่งเป็นเขตทำนา ในเดือนท้ายแห่งฤดูฝน ข้าวกล้ากำลังงอกงามอยู่ในนาทั่วไป การที่จะต้อนฝูงโคให้เดินไปตรงๆ ตามทาง ไม่ให้โคตัวใดตัวหนึ่งหันซ้ายหันขวา ไปกินรวงข้าวของชาวนานั้นเป็นสิ่งที่ทำยาก คนเลี้ยงโคต้องคอยระมัดระวังโค ต้องใช้ปฏักตีบ้างทิ่มแทงบ้าง เพื่อให้โคไม่กล้าเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไปกินข้าวของชาวนา ให้เดินตรงไปตามทาง ต้องมีความระมัดระวังกวดขันโคอย่างเต็มที่ จึงจะนำโคให้เดินไปโดยไม่แวะซ้ายขวา ไปทำข้าวของชาวนาให้เป็นอันตรายดังกล่าว เพราะกลัวที่จะถูกเจ้าของข้าวเจ้าของนาเขาโกรธแค้นขัดเคืองด่าว่าเอาบ้าง ทำร้ายเอาบ้าง ก็ปล่อยให้โคไปกินข้าวของเขา เพราะฉะนั้นจึงต้องคอยควบคุมอยู่อย่างใกล้ชิด เมื่อถึงคราวที่จะใช้ปฏักตีก็ต้องใช้ปฏักตี ใช้ปฏักแทงก็ต้องใช้ปฏักแทง บังคับให้โคเดินไปตามทาง
จิตนี้ก็เช่นเดียวกัน ในขณะที่เป็นไปด้วยอกุศลวิตกมีกามวิตกเป็นต้น ก็จะต้องมีสติควบคุมระมัดระวัง มีปัญญาคอยข่ม เพื่อให้อกุศลวิตกเหล่านั้นสงบลงมากฉันนั้น ถึงคราวที่จะต้องแนะนำจิตก็ต้องแนะนำ ถึงคราวที่จะต้องดุว่าจิตก็ต้องดุว่า เพื่อเหมือนอย่างบังคับให้จิตนี้สละอกุศลวิตกเหล่านั้น และดำเนินไปตรงทางแห่งสมาธิที่ต้องการ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติควบคุมจิตระงับจิต ในขณะที่จิตเป็นไปกับด้วยกามวิตกเป็นต้น จึงเป็นของทำยาก แต่เมื่อมีความเพียรทำจริง มีความไม่ประมาท ไม่เลินเล่อเผลอเพลิน
คือไม่มี นันทิ คือความเพลินผูกเอาไว้ ต้องพยายามละ นันทิ คือความเพลิน ซึ่งเป็นเครื่องผูกใจเอาไว้เสียด้วย จึงจะทำให้กามวิตกเป็นต้นนั้นสงบลงได้ ละเสียได้
ข้อพึงปฏิบัติในกุศลวิตก
แต่ว่าเมื่อสามารถวิตกคือตรึกนึกคิดไปในกุศลที่ตรงกันข้าม เป็นเนกขัมมวิตกเป็นต้นได้แล้ว จิตน้อมมาในทางกุศลได้แล้ว จิตก็จะมีความสงบ และดำเนินไปตรงต่อสมาธิได้ดี การที่จะต้องควบคุมจิตอย่างเข้มงวดก็ลดลง จะปฏิบัติสบายเข้า จึงเปรียบเหมือนอย่างว่า ชาวนาที่นำโคไปเลี้ยงในแถวที่สุดบ้าน ซึ่งเป็นที่นาของชาวบ้าน ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน ยังไม่ใช่เป็นฤดูเพาะปลูกไถหว่าน ก็ปล่อยให้โคเที่ยวกินหญ้าไปตามที่เหล่านั้น ส่วนคนเลี้ยงโคเองนั้นก็นั่งพักนอนพัก อยู่ที่โคนไม้บ้าง ในที่แจ้งบ้าง ไม่ต้องคอยติดตามโคอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องใช้การตีการแทงโคด้วยปฏัก เพราะว่าโคก็กินแต่หญ้าไปตามเรื่อง ไม่มีข้าวอยู่ในนาของชาวบ้านที่โคจะไปกินของเขา ทำให้เขาเสียหาย คนเลี้ยงโคจึงปล่อยโคให้กินหญ้าอยู่ตามสบาย ตัวเองก็นอนหรือนั่งใต้ต้นไม้หรือในที่แจ้ง คอยดูแต่เพียงว่าโคอยู่ที่นั่น เท่านั้น
จิตที่น้อมมาได้ในกุศลวิตกแล้วก็เช่นเดียวกัน ก็ปล่อยจิตให้ตรึกไปในกุศลได้ และตัวจิตเองนั้นก็พักอยู่ เหมือนอย่างคนเลี้ยงโคนั่งพักนอนพักอยู่ใต้ต้นไม้หรือในที่แจ้งนั้นเพียงแต่ทำความรู้ว่านั่นคือจิตที่คิด หรือนั่นคือวิตกคือความตรึก คือว่าธรรมะเหล่านั้น อันหมายความว่านั่นคือวิตกคือความตรึกที่เป็นกุศลอย่างนั้นเท่านั้น
เพราะฉะนั้น เมื่อสามารถปฏิบัติอยู่เนืองๆ บ่อยๆ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คือให้ทำความรู้จักจิตของตนที่คิดไปอย่างไร แล้วคอยจำแนกให้รู้ว่า ถ้าคิดอย่างนี้เป็นอกุศล ก็เหมือนอย่างว่าจัดเอาไว้กองหนึ่ง ส่วนหนึ่ง คิดอย่างนี้เป็นกุศล ให้รู้ดั่งนี้ก็เหมือนอย่างว่าจัดเอาไว้อีกกองหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง
คอยมีสติกำหนดดูให้รู้จัก แยกหมู่แยกกองกันอยู่อย่างนี้ พร้อมทั้งมีสติกำหนดและพิจารณา ปัญญาพิจารณาให้รู้จักโทษของฝ่ายอกุศลที่บังเกิดขึ้น อานิสงส์คือคุณประโยชน์ของฝ่ายกุศลที่บังเกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างกันดังที่ตรัสสอนไว้ดั่งนี้
ปฏิบัติดั่งนี้ก็จะเป็นเครื่องกันจิตด้วยสติหรือด้วยปัญญานั้นเอง ไม่ให้น้อมไปในฝ่ายอกุศล แต่ให้น้อมมาในฝ่ายกุศล และเมื่อทำอยู่อย่างนี้ได้เสมอๆ แล้ว ก็จะสามารถป้องกันจิตได้ มิให้น้อมไปในทางอกุศลมาก แต่ให้น้อมไปในกุศลมาก และเมื่อน้อมไปในกุศลมากเนืองๆ อยู่ดั่งนี้ ก็จะทำให้จิตอยู่ตัวในฝ่ายกุศล หรือในทางกุศลมากขึ้นๆ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป